ของเลียนแบบ, ของปลอม, และ การละเมิดลิขสิทธิ์ ในอุตสาหกรรมมังงะและอนิเมะ

Share

ยอดตีพิมพ์ 150 ล้านเล่ม, ทำรายได้จากภาพยนตร์ไปมากกว่า 39,600,000,000 เยน มีคนดูมากกว่า 29,700,000 เยน

ตัวเลขด้านบนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผลงานเรื่อง ดาบพิฆาตอสูร นับตั้งแต่การ์ตูนแนวดาร์คแอคชั่นแฟนตาซีเรื่องดังกล่าวเริ่มตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 ก็ดึงดูดความสนใจของผู้คน, รวมไปถึงบริษัท Dydo Drinco บริษัทเครื่องดื่มจากประเทศญี่ปุ่น ที่วางจำหน่ายกาแฟกระป๋องลายลิมิเต็ดอิดิชั่นดีไซน์ดาบพิฆาตอสูร ที่่วางจำหน่ายในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2020 และทำยอดขายไปมากกว่า 50 ล้านกระป๋องในช่วงเวลาสามสัปดาห์ ทำให้รายได้ของช่วงเดือนมกราคมปี 2021 ของทางบริษัท Dydo Drinco ทำยอดได้ถึง 3,200 ล้านเยน หรือสูงกว่า 180% ของยอดรายได้ในเดือนมกราคมของปี 2020

กาแฟกระป๋อง Dydo ดีไซน์ ดาบพิฆาตอสูร
Source:DyDo

คงไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จอันล้นเหลือของ ดาบพิฆาตอสูร นำพามารายได้มหาศาลมาสู่ผู้ถือลิขสิทธิ์ โดยทั่วไปแล้วค่าสิทธิ์สำหรับเจ้าของผลงานมังงะในสังกัดของสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นมักจะอยู่ที่ราว 10% ของรายได้ที่ขายไป หากประเมินโดยคร่าวแล้ว อาจารย์ Gotouge Koyoharu น่าจะทำรายได้ไปประมาณ 5,000 ล้านเยนจากยอดขายมังงะเพียงอย่างเดียว กองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์หนังสือแห่งหนึ่งได้ให้ความเห็นว่าทาง Shueisha น่าจะได้รายได้จากเฟรนไชส์ ดาบพิฆาตอสูร ไปราว 50,000 ล้านเยน เป็นขั้นต่ำ

แต่ก็น่าเสียดายไม่น้อยที่ ‘ปรากฎการณ์ดาบพิฆาตอสูร’ ได้นำพาให้ปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นมาสู่เบื้่องหน้าของประชาชนเช่นกัน อย่างเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปี 2021 การที่ทาง Shueisha ออกมาแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับรับรู้ว่ามีผู้จำหน่ายมังงะแบบเถื่อนอยู่ในเว็บไซต์ขายของออนไลน์อย่าง Amazon หรือ Merucari

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยสำหรับการวางจำหน่ายมังงะละเมิดลิขสิทธิ์แบบเปิดเผย เพราะปกติแล้วการกระทำแบบนี้ในญี่ปุ่นมักจะเป็นกรณีวางจำหน่ายในร้านหนังสือที่มีสต็อคไม่พอเพียง โดยส่วนใหญ่แล้วร้านหนังสือในญี่ปุ่นมักจะมีหนังสือมากพอจำหน่าย แม้แต่การ์ตูนขายดีอย่าง One Piece ก็ไม่เคยมีปัญหาสต็อคขาดมือ อย่างไรก็ตาม กรณีของ ดาบพิฆาตอสูร ถือว่าเป็นเรื่องผิดวิสัยระดับที่ร้านหนังสือในญี่ปุ่นจะต้องติดป้ายแจ้งเตือนหน้าร้านว่าไม่มีหนังสือขาย เลยเกิดผลข้างเคียงที่มีเหล่าคนขายของเถื่อนเล็งเป้าหมายไปกลุ่มลูกค้าที่หาซื้อแบบเล่มพิมพ์จริงไม่ได้ มาใช้แพลทฟอร์ม E-Commerce มาขายสแกนมังงะเถื่อนแทน และจากเหตุการณ์นี้จึงทำให้ Sheisha รวมตัวกับพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมมือกันกำจัดมังงะละเมิดลิขสิทธิ์ได้อีกทางหนึ่ง

คำเตือนมังงะละเมิดลิขสิทธิ์จากทาง Shueisha
Source:@jump_henshubu

จากจุดนี้จะเห็นได้ว่า E-Commerce มีบทบาทสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องราวการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศญี่ปุ่น อย่างในช่วงเดือนุตลาคม ปี 2020 ตำรวจจังหวัดอิบารากิ ได้ทำการจับกุมชายที่ทำการขาย DVD อนิเมะแบบละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ E-Commerce แห่งหนึ่ง ผลการสอบสวนเพิ่มเติมทำให้พบช่องทางการจำหน่ายแบบลับๆ ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศมาเลเซีย ภายในเดือนเดียวกัน ตำรวจจังหวัดโตเกียวได้พบกรณีการประมูลฟิกเกอร์และเคสโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแบบละเมิดลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ประมูลสินค้าออนไลน์ และได้ทำการจับกุมผู้ทำการประมูล ที่ยอมรับว่าซื้อสินค้าดังกล่าวมาจากเว็บไซต์ E-Commerce ของประเทศอื่นและทำการขายสินค้าปลอมไปให้ลูกค้ากว่า 200 คน

กระนั้นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ในอุตสาหกรรมมังงะญี่ปุ่นก็ไม่ใช่เรื่องราวแปลกใหม่แต่อย่างใด

ในช่วงต้นของยุค 1950 มังงะของประเทศญี่ปุ่น อุดมไปด้วย ผลงานเลียนแบบ, ผลงานปลอมแปลง, และรวมเล่มแบบละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากมังงะได้กลายเป็นของที่เด็กๆ ต้องการอย่างกว้างขวาง และสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ อย่าง Kodansha กับ Shogakukan ณ เวลานั้นก็ไม่ได้ทราบถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมมังงะว่าจะเติบโตไปได้ขนาดไหน

ยุคนั้น ผู้ที่ทำมังงะละเมิดลิขสิทธิ์ คือกลุ่มสำนักพิมพ์เล็ก, ร้านเช่าการ์ตูน, หรือ ร้านขนมเล็กๆ (Dagashiya) เป็นผู้จัดทำ หนังสือดังกล่าวจะถูกเรียกว่า Kashi-Hon (หนังสือเช่า) หรือ Aka-Hon (หนังสือแดง) ตัวหนังสือเถื่อนดังกล่าวถูกตีพิมพ์นับพันเล่ม ภายในเล่มก็มีเนื้อหาหลากลาย รวมไปถึงงานการ์ตูนที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนฝั่งอเมริกา ทั้งจากฝั่ง Disney และ Hanna-Barbera แม้แต่ปรมาจารยแห่งมังงะ อย่าง Tezuka Osamu ก็ยังเคยเป็นนักเขียนในฟากฝั่ง Aka-Hon มาก่อน

มังงะ Pinocchio ที่เขียนโดย อาจารย์ Tezuka Osamu Source:Kodansha

ด้วยความที่อาจารย์ Tezuka Osamu เคยลอกลายเส้นและเรื่องราวของทาง Disney มาก่อนนี่เอง เชื่อกันว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายปีต่อมา ทาง Tezuka Productions ที่ดูแลสิทธิ์ผลงานของปรมาจารย์แห่งมังงะ ไม่ได้ทำการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผลงานเรื่อง Lion King ของทาง Disney ที่ผู้คนเห็นพ้องว่ามีเนื้อหาหลายส่วนใกล้เคียงกับผลงานเรื่อง สิงห์น้อยเจ้าป่า อย่างที่เห็นได้ชัดจากการสัมภาษณ์ของ คุณ Matsutani Takayuki ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Tezuka Productions เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ San Francisco Chronicle ว่า ‘อาจารย์เทะสึกะ น่าจะดีใจที่ได้รับรู้ว่าผลงานของตัวเองกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมสร้าง เดอะ ไลอ้อน คิง ครับ’ ซึ่งเขาคงทราบว่า ถ้าผลักดันเรื่องให้ขึ้นโรงขึ้นศาล ผลงานเก่าๆ ของอาจารย์ Tezuka น่าจะถูกหยิบมาตรวจสอบการใช้สิทธิ์เช่นกัน

และการถือกำเนิดของนิตยสารมังงะ Sunday รายสัปดาห์ในปี 1959 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์มังงะ ไม่ใช่เฉพาะการที่หนังสือการ์ตูนสามารถตีพิมพ์ได้อย่าต่อเนื่องเท่านั้น สิ่งพิมพ์ราคาประหยัด และวางจำหน่ายไปทั่วกลายเป็นแหล่งบันเทิงสำคัญสำหรับเด็ก ยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มมังงะผิดลิขสิทธิ์ จะมีใครอยากซื้อผลงานปลอมๆ กัน ถ้าหากของมีลิขสิทธิ์ก็ราคาจับต้องได้ ด้วยเหตุการณ์นี้เองทำให้ หนังสือการ์ตูนที่เป็นผลงานเลียนแบบ, ผลงานปลอมแปลง, และรวมเล่มแบบละเมิดลิขสิทธิ์ หายไปจากตลาดสิ่งพิมพ์บนดิน และกลุ่มหนังสือ Kashi-Hon ก็ถือว่าจบชีวิตโดยสมบูรณ์ในยุค 1960

เราลองสลับมุมไปมองอุตสาหกรรมฟากอนิเมะในช่วงเวลาเดียวกันบ้าง เมื่อครั้งที่อนิเมะแบบซีรีส์โทรทัศน์เรื่องแรกของโลกอย่าง เจ้าหนูปรมาณู (Tetsuwan Atom) ออกฉายในปี 1963 การ์ตูนเรื่องดังกล่าวก็กลายเป็นเป้าหมายหลักของการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทันที ความสำเร็จในด้านธุรกิจของอนิเมะซีรีส์ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการวางจำหน่ายสินค้าที่มีตัวละครหลากหลายแบบ

และเมื่อทาง Mushi Productoin บริษัทผู้ผลิตอนิเมะของอาจารย์ Tezuka สามารถถือสิทธิ์การผลิตสินค้าของ เจ้าหนูปรมาณู เอาไว้ได้จึงทำให้มีมีรายรับมหาศาลทะลักเข้าสู่บริษัทกับเหล่าคนทำงานทั้งหลาย จึงไม่น่าแปลกใจแม้แต่น้อยที่บริษัทผลิตของเล่นขนาดเล็กกับบริษัทเครื่องเขียนก็อยากจะเกาะกระแสรายได้นี้ไว้บ้าง จึงมีการทำของเลียนแบบออกมาขายตามกระแสบ้าง กระนั้นในช่วงเวลานั้นรายได้ที่ Mushi Production ได้รับจากค่าสิทธิ์ก็มหาศาลมากพอที่จะมองข้ามรายได้จากบริษัทไร้ชื่อเสียง และไม่มีการฟ้องร้องใดๆ เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

อนิเมะ เจ้าหนูปรมาณู ฉบับแรกสุด
Source: Tezukaosamu.net

นอกจากเรื่องราวในประเทศญี่ปุ่น เมื่อเสวนากันเรื่อง ของเลียนแบบ, ของปลอม, และ การละเมิดลิขสิทธิ์ ในอุตสาหกรรมมังงะและอนิเมะ แล้วก็ต้องข้ามมาพูดถึงเหตุการณ์ในประเทศเกาหลีใต้ในอดีต ณ ยุคสมัยที่ คุณปาร์ค จุงฮี (Park Chung-hee) ยึดครองอำนาจแบบเผด็จการไว้ และสั่งการให้สำนักพิมพ์ในประเทศต้องทำการวางจำหน่ายสินค้าในราคาที่ต่ำเริ่ยเตี้ยดินแบบสุดๆ นอกจากนั้นแล้วในยุคดังกล่าว หนังสือการ์ตูนจากญี่ปุ่นก็ยังถือว่าเป็นสินค้าต้องห้าม ทางแก้ของสำนักพิมพ์ในประเทศเกาหลีใต้ยุคนั้นจึงต้องใช้วิธีการ ‘ตัดต่อแก้ไข’ เนื้อหามังงะจากญี่ปุ่น มีการปรับชื่อตัวละคร, ชื่อสถานที่, และอาจจะรวมไปถึงเส้นเรื่องให้แตกต่างจากผลงานต้นฉบับ จึงทำให้ช่วงยุค 1960 ถึงตอนต้นของยุค 1990 เป็นยุคที่ ‘หนังสือการ์ตูนของปลอม’ กลายเป็นที่นิยมในเกาหลีใต้

‘การ์ตูนปลอม’ จากเกาหลีใต้ ที่นำเอา มังงะ Slam Dunk มาตัดต่อใส่หน้าตัวละคร จินมี่หมัดเหล็ก ที่วางจำหน่ายในช่วงต้นยุค 1990
Source: Obookstore

ถ้าเรื่องราวหากฝั่งมังงะอาจจะทำให้คุณขมวดคิ้วแล้ว ความสัมพันธ์ของอนิเมะ ของทางเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ก็มีอะไรน่าปวดหัวไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างโดยเร็วก็คงไม่พ้น ความคล้ายคลึงกันของผลงานอนิเมะเรื่อง Mazinger Z ของญี่ปุ่น กับ Taekwon V ที่วางจำหน่ายในปี 1976 ที่เป็นผลงานอันโดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์อนิเมชั่นของเกาหลีใต้ แม้ว่าในภายหลังตัวผู้กำกับของ Taekwon V จะยอมรับว่าผลงานของเขารับอิทธิพลมาจาก Mazinger Z แต่เขามองว่า ผลงานของเขาไม่ได้เป็นการลอกเลียนแบบแต่อย่างไร

และถ้าหากมองปริบทในยุคสมัยดังกล่าวของเกาหลีใต้ แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายควบคุมข่าวสาร แต่อนิเมเตอร์ชาวเกาหลีใต้สามารถเข้าถึงงานอนิเมะได้ไม่ยากนัก เพราะทาง Toei Animation กับ Tatsunoko Productions ว่าจ้างบริษัทในเกาหลีใต้ในการร่วมผลิตงานอนิเมะ จึงไม่แปลกนักที่อนิเมชั่นของเกาหลีใต้ในยุค 1960 ถึง 1980 จะได้รับกลิ่นอายของประเทศญี่ปุ่นมาอย่างชัดเจน และในทางกลับกันประชาชนเกาหลีใต้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานฟากนี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงงานอนิเมะมังงะจากญี่ปุ่นได้อย่างสะดวกนัก จนกระทั่งในช่วงปี 1998 ที่รัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้ได้เปิดไฟเขียวให้นำเข้า มังงะจากญี่ปุ่นเข้ามาในตลาดเกาหลีใต้แบบถูกกฏหมาย ก่อนที่งานอนิเมะจะถูกนำเข้าได้อย่างถูกกฎหมายในสองปีต่อมา

โปสเตอร์อนิเมชั่น
Source: Namu.moe

การละเมิดลิขสิทธิ์ในช่วงยุค 1960 ถึงยุค 1990 ไม่ได้เกิดขุึ้นแค่ในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ หลายประเทศในทวีปเอเซ๊ย ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง, จีน, ไต้หวัน, และประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ณ ช่วงเวลานั้น บริษัทผู้ถือสิทธิ์มังงะและอนิเมะยังไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างดุเดือดดจริงจัง เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ระดับนานาชาติ เพราะมองว่าจะต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ มากเกินไปในการดำเนินการ และมุ่งมั่นในการทำตลาดในประเทศอย่างจริงจังไปจนถึงช่วงยุค 1990

แต่ธุรกิจมังงะและอนิเมะก็ต้องปรับตัวในช่วงกลางยุค 1990 เมื่อยุคสมัยแห่งอินเตอร์เน็ตเริ่มผงาด ก็ส่งผลกระทบต่อบริษัทสื่อบันเทิงในญี่ปุ่นอย่างมาก ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งตอนนั้นยังมีคนที่เข้าใจเหตุและผลของมันไม่มากนัก อย่างไรก็ตามบริษัทในญี่ปุ่น ณ ตอนนั้นก็เริ่มตระหนักถึงโอกาสที่จะได้รายรับที่มากขึ้น ด้วยการนำเอาสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปขายยังตลาดนานาชาติ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่าง ภาพยนตร์เรื่อง Ghost In The Shell ของผู้กำกับ Oshii Mamoru ที่ฉายในปี 1996 ทำรายได้ยอดขายสูงสุดในชาร์ต Billboard ของอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นงานจากประเทศญี่ปุ่นเรื่องแรกที่สามารถทำได้ เรื่องนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของผู้ผลิตคอนเทนท์และบริษัทพัฒนาธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น น่าเสียดายที่ในช่วงเวลานั้นพวกเขายังไม่มีประสบการณ์กับความรู้ที่จำเป็นต่อการจัดจำหน่ายสินค้าของญี่ปุ่นในตลาดนานาชาติ เพราะโฟกัสกับการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศมาอย่างยาวนาน

การที่คนมีสินค้าขายของไม่เก่งนี่เองที่ทำให้กลุ่มสแกนการ์ตูนและกลุ่มแฟนซับเติบโตขึ้นอย่างเบิกบาน ตัวอย่างเช่น กลุ่มสแกนยุคสมัยใหม่อย่าง Mangascans ก่อตั้งทีมขึ้นในช่วงปี 2000 เวลาผ่านไปหกปี กลุ่มคนดังกล่าวได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เบิร์คเลย์ (University of California, Berkeley) ได้รวมตัวกันเปิดบริการชื่อ Crunchyroll เอาไว้รับชมอนิเมะแบบแฟนซับขึ้น

จนกระทั่งกลางช่วงยุค 2000 ผู้ถือสิทธิ์ของอนิเมะและมังงะได้เริ่มดำเนินการทางกฏหมายต่อเหล่าเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ตัวอย่างเช่นในช่วงปี 2006 ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการก่อตั้ง ‘สมาคมนักเขียนการ์ตูนแห่งศตวรรษที่ 21’ (21 Seiki No Comic Sakka No Kai) ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างนักเขียนมังงะและสำนักพิมพ์ที่ต้องการรักษาสิทธิ์ให้กับทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขาเองได้ทำการฟ้องร้องเว็บไซต์ 464.jp เว็บไซต์ขายหนังสือมือสองแบบออนไลน์ ด้วยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ และในปีเดียวกันนั้นฝั่งอเมริกาได้มีการก่อตั้งกลุ่ม Digital Comic Council เพื่อที่จะทำการตรวจสอบเว็บไซต์มังงะละเมิดลิขสิทธิ์ ต่อมากลุ่มนี้ได้ทำการเปิดเว็บไซต์ JManga.com ในช่วงปลายปี 2010 เพื่อเปิดให้อ่านมังงะฟรีแข่งกันกับเว็บมังงะเถื่อน

สมาคมนักเขียนการ์ตูนแห่งศตวรรษที่ 21 ถ่ายรูปร่วมกับ คุณโคอิสึมิ จุนอิจิโร่ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2004

Source: Comicnetwork.jp

น่าเสียดายที่เวลาผ่านไปราวหนึ่งทศวรรษแล้ว การต่อสู้ระหว่างผู้ถือลิขสิทธิ์กับเหล่าเว็บไซต์มังงะเถื่อนก็ยังดำเนินต่อไปไม่ต่างจากแมวไล่จับหนู แม้ว่าจะมีการจับกุมผู้ดูแลเว็บไซต์มังงะเถื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ‘Mangamura’ จนสามารถปิดเว็บดังกล่าวได้แล้ว แต่ก็ยังมีเว็บไซต์ในลักษณะคล้ายกันถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะรับมือกับเหตุกาาณ์เหล่านี้ รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นจึงทำการออกกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ในช่วงปี 2020 ที่ขยายผลให้สามารถจับกุมคนที่เจตนาอัพโหลดมังงะหรือนิตยสารแบบไม่ถูกกฎหมายได้ นอกจากนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม ปี 2021 ศาลแขวงกรุงโตเกียวได้ทำการตัดสินคดีให้เว็บไซต์สปอยล์เลอร์ ที่ลงเนื้อเรื่องของมังงะ Kengan Omega ของอาจารย์ Sandrovich Yabako โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นอาวุธสำคัญให้กับสำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์ของประเทศญี่ปุ่นในการรับมือกับเว็บไซต์มังงะเถื่อนเหล่านั้น

ถึงกระนั้น มันก็ค่อนข้างชัดเจนว่าการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้อัพโหลดไฟล์และผู้ใช้งานไฟล์เถื่อนย่อมไม่มากพอจะรับมือปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างที่เห็นได้จากการทำสำรวจในปี 2019 ของทางหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นระบุว่า มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามเพียง 6.2% เท่านั้นที่ยอมรับว่าเคยดาวน์โหลด มังงะ, นิยาย, หรือเอกสารแบบละเมิดลิขสิทธิ์ และตัวข้อมูลดังกล่าวที่เป็นการให้ผู้ร่วมตอบคำถามทำการตอบคำถามด้วยตัวเอง จึงถือเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ยาก อีกด้านหนึ่ง ทางมหาวิทยาลัยสึคุบะ, มหาวิทยาลัยโตเกียว, และ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้ร่วมกันทำการวิจัยโดยใช้เทคนิคตั้งคำถามให้อ้อมค้อมขึ้นและได้ผลการวิจัยว่า กว่า 57% ของผู้ร่วมตอบแบบทดสอบการวิจัยระบุว่าตัวของพวกเขาเคยโหลดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

ในอนาคตผู้ผลิตคอนเทนท์จากประเทศญี่ปุ่น อาจจะต้องทำการพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่กับแพลทฟอร์มที่ยินยอมเป็นโฮสต์ให้เนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ตัวอย่างที่ดีก็คือ Crunchyroll ซึ่งเปิดออฟฟิศ ณ กรุงโตเกียว ในปี 2006 เพื่อจะทำการสานสัมพันธ์กับเจ้าของลิขสิทธิ์เรื่อบต่างๆ จนสุดท้ายบริษัทก็โดนจดจำในฐานะคู่ค้าต่างชาติ เช่นเดียวกับที่แพลทฟอร์มวิดีโอออนไลน์แบบ Niconico กับ bilibili ก็ทำการฉายอนิเมะแบบเป็นทางการ ด้วยการไปเจรจาสิทธิ์กับเจ้าของสิทธิ์เจ้าต่างๆ กรณีตัวอย่างนี้จะทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาจากประเทศญี่ปุ่น อย่าง มังงะ กับ อนิเมะ จะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้

แปลและเรียบเรียงเนื้อหาจากบทความ Imitations, Fakes and Piracy in Manga and Anime โดย คุณ Furusato Takmumi ผู้ดำรงตำแหน่ง COO และนักวิจัยของบริษัท LUDiMUS บริษัทที่ปรึกษาด้านข้อมูลอุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนทที่มีฐานที่มั่นในประเทศญี่ปุ่น

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*