อายุเป็นเพียงตัวเลข เมื่อนักเขียนมังงะวัย 91 ปี คืนสังเวียนด้วยผลงานชิ้นใหม่

Share

อาจารย์ Watanabe Masako อาจจะเป็นชื่อนักเขียนมังงะทีนักอ่านยุคปัจจุบันอาจจะไม่คุ้นเคยนัก แต่เธอไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับวงการมังงะ และอาจจะเป็นคนที่เขียนเรื่องราวมามากมายกว่านักเขียนมังงะหลายคน เธอเปิดตัวครั้งแรกด้วยผลงาน ‘Suama-Chan’ เมื่อปี 1952 ที่ได้ทางสำนักพิมพ์ Wakagi-shobou เป็นผู้ตีพิมพ์ฉบับรวมเล่ม ตอนนั้นอาจารย์ Watanabe เป็นคุณแม่มือใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของอาจารย์ Tezuka Osamu ผ่านไปหลายสิบปี อาจารย์มีผลงานมากกว่า 100 ชิ้น และในปัจจุบันนี้ อาจารย์ Watanabe ในวัย 91 ปี ก็กำลังจะปล่อยผลงานมังงะเรื่องใหม่ชื่อ Himegoto ที่จะตีพิมพ์บนแอพพลิเคชั่น ‘Manga Mee’ ของทาง Shueisha

‘พอมองย้อนกลับไปในหลายปีก่อน ก็มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น แต่ดิฉันไม่เคยคิดว่าการวาดมังงะเป็นเรื่องยากเลย แปลกใช่ไหมคะ’ อาจารย์ Watanabe กล่าว ‘ไม่รู้ว่าฉันเห็นแก่ตัวไปหรือเปล่า? ยังมีเรื่องอีกมากที่ฉันเขียนไว้ในสมุดสเก็ตช์ที่ดิฉันอยากจะวาดออกมา ไม่มีอะไรมอบความสุขมากกว่าการสร้างงานของตัวเองแล้วค่ะ ฉันมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขด้วยการใช้ชีวิตอยู่กับมังงะ ต้องขอขอบคุณเทพเจ้า ขอบคุณพระพุทธเจ้า และแฟนๆ ของฉันทุกคนที่อำนวยพรดิฉันด้วยชีวิตเช่นนี้ ดิฉันรู้สึกดีใจจริงๆ ค่ะ’

ผลงานเรื่องใหม่ของอาจารย์ Watanabe เป็นเรื่องของ Miya ที่แต่งงานอย่างมีความสุขและใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ทเมนท์ที่อยู่ในย่านชิโระคาเดนไดของกรุงโตเกียว แต่ชีวิตของ Miya ก็เปลี่ยนไปอย่างกะทันหันเมื่อได้เจอเพื่อนเก่าจากสมัยเรียนชั้นมัธยมฯ ต้น

อาจารย์ Watanabe ยังเขียนด้วยว่า ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ช่วยของเธอจนทำให้เธอสามารถเขียน Himegoto ได้อย่างราบรื่น

อาจารย์ Watanabe เป็นนักเขียนมังงะที่ถนัดเขียนมังงะแนว Shojo และ Josei อาจารย์เคยชนะรางวัล Shogakukan Manga Award ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นในปี 1971 ด้วยผลงานเรื่อง Glass No Shiro (ปราสาทแก้ว) และมังงะเรื่อง Hitori Matsuri ได้ถูกดัดแปลงเป็นซีรี์สคนแสดง, อาจารย์ Watanabe ยังเคยได้รับรางวัลจากกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น จากเวทีประกวดรางวัล Japan Cartoonists Association Awards ครั้งที่ 31 และในปี 2006 อาจารย์ Watanabe เป็นนักเขียนหญิงคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ที่จะมอบให้กับบุคลากรอุทิศตนในด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, ส่งเสริมวัฒนธรรมของญี่ปุ่น, ช่วยพัฒนาสวัสดิภาพในวงการที่เกี่ยวข้อง, หรือช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันอาจารย์ Watanabe ยังเป็นประธานของ Japan Cartoonists Association (JCA – สมาคมนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น) อีกด้วย

Source: Mainichi Shimbun’s Mantan Web

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*