Answerman : ไหงรายการทีวีชอบใช้เพลงอนิเมะหรือเกมอ่ะ ? Revisit

Share

จากช่วงสัปดาห์นี้ที่มีคำถามเรื่องการใช้เพลงในรายการทีวีของประเทศไทย เราจึงขอหยิบเอา Answerman ที่เคยตอบคำถามเรื่องการใช้เพลงตามรายการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ชอบหยิบยกเอาเกมประกอบภาพยนตร์ฝรั่ง หรือ อนิเมะ หรือ เกม มาใช้งานในรายการ แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่มีนักแต่งเพลงประกอบจำนวนมากก็ใช้เพลงประกอบรายการวาไรตี้ และเราจะเพิ่มเติมข้อมูลใหม่เข้าไปด้วยครับ

 

Henpaku ถาม :

ฉันสังเกตว่ารายการทีวีประเทศญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่มักจะเป็นสายบันเทิงที่จับเอาดาราคนดังมาแข่งอะไรประหลาดๆ) ใช้เพลงประกอบจากอนิเมะอยู่หลายเพลงเลยทีเดียว จริงๆ แล้วรายการที่ฉันดูเมื่อหลายวันก่อนใช้เพลงของเรื่อง Majestic Prince แล้วบางครั้งก็ได้ยินเสียงเอฟเฟคท์ที่เคยใช้ใน กันดั้ม หรือ อีวานเกเลี่ยน เพลงประกอบของอนิเมะเรื่องต่างๆ เหมือนจะถูกเปิดในรายการ ทั้งรายการที่ดังยันรายการที่ค่อนข้างจะโนเนม ใครเป็นคนดูแลเรื่องนี้ ? แล้วมันมีขั้นตอนยังไง? นี่รวมอยู่ในค่าสิทธิทั้งหมด หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อครั้ง?

 

Answerman ตอบ :

เมื่อผู้ผลิตรายการอยากจะใช้เพลง ไม่ว่าจะในรายการทีวี หรือ ภาพยนตร์ พวกเขาจะต้องทำการเคลียร์สิทธิ์ทางกฎหมายอยู่สามขั้นตอน สิทธิ์อย่างแรกก็คือ “สิทธิ์ในการนำเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Performance Rights)” หรือสิทธิ์ที่เพื่อจะใช้หรือทำการแสดงเพลง ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม (ไม่ว่าจะแบบคัฟเวอร์หรือการอัดเสียงร้องใหม่) ให้สาธารณชน แม้ว่าจะทำการแสดงแบบส่วนตัว หรือผ่านการออกอากาศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สิทธิ์ในลักษณะนี้ค่อนข้างง่ายในการได้รับมือ ขอเพียงคุณจ่ายค่าสิทธิให้ใครก็ตามแต่ที่ดูแลสิทธิ์เหล่านี้ในประเทศต่างๆ ซึ่งมักจะเป็นบริษัทกลางที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันค่ายเพลงในประเทศอีกทีหนึ่ง่

JASRAC ชื่อที่คนอ่านการ์ตูนน่าจะเคยเห็นกันบ้างในหน้าหนังสือการ์ตูน หน้าที่ของหน่วยงานคือการดูแลสิทธิ์ต่างๆ ของเพลงในประเทศญี่ปุ่น ทั้งในด้านเนื้อเรื่องและทำนอง

อย่างเช่น ในอเมริกาจะมีหน่วยงาน ASCAP (American Society of Composers, Authors and Publishers) ในญี่ปุ่นจะมี JASRAC (Japanese Society for Rights of Authors, Composers and Publishers) ที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยเวลาอ่านการ์ตูน ในแคนาดาผ่านหน่วยงาน SOCAN ส่วนฝั่งสหราชอาณาจักรจะเป็นหน่ยงานชื่อ PRS

ในบ้านเรานั้นไม่ได้มีหน่วยงานแยกย่อยเหล่านี้มาตั้งสาขาโดยตรง แต่มีบริษัทที่เป็นสมาชิกของกลุ่มดูแลสิทธิ์ของเพลงต่างๆ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงาน อย่าง บริษัท เอ็มพีซี มิวสิค จำกัด รับหน้าที่เป็นตัวแทนเจ้าของสิทธิ์เหล่านี้อีกทีหนึ่ง ซึ่งตัวบริษัทนั้นเป็นสมาชิกของ สมาพันธ์นักแต่งเพลงนานาชาติ CISAC (International Confederation of Societies of Authors and Composers) กับ สมาพันธ์ธุรกิจลิขสิทธิ์ดนตรี IFPI (The International Federation of Phonographic Industry)

ดังนั้นถ้าใครอยากใช้งานเพลงของสมาชิกในกลุ่มเหล่านี้ก็สามารถชำระเงินให้ หน่วยงานข้างต้นที่เรากล่าวถึงไป โดยที่พวกเขาจะทำการเก็บค่าสิทธิของเพลงต่างๆ จากการนำไปใช้งานสาธารณะ ก่อนที่จะนำเอาเงินค่าสิทธิเหล่านี้ไปให้กับผู้แต่งเพลงอีกครั้ง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีระบบราคาที่มีหลักและเหตุผลอย่างมากในการกระทำการเก็บค่าสิทธิ์

สิทธิ์ที่สองที่จะต้องทำการขอก็คือ “สิทธิ์ในการนำเพลงไปประกอบกับภาพเคลื่อนไหว (Synchronization Rights)” สิทธิ์ตัวนี้เป็นสิทธิ์ในการนำเพลงไปตัดต่อรวมกับภาพยนตร์ หรือคลิปวิดีโอที่มีเพลงประกอบ การเจรจาสิทธิ์นี้ ซึ่งการเจรจาลิขสิทธิ์แบบนี้จะถูกแยกกันทั้งฝั่งผู้ดูแลลิขสิทธิ์ของเพลงเหล่านั้น รวมถึงค่ายเพลงที่เป็นเจ้าของเพลงที่คุณอยากจะนำไปใช้งาน

ลิขสิทธิ์ประเภทที่สองนี้มักจะเก็บค่าใช้ลิขสิทธิ์การใช้งานต่อครั้ง แบ่งแยกไปตามลักษณะพื้นเพของตัวผลงาน และจำนวนเพลงที่จะใช้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เพลงในคลิปความยาว 30 วินาที สำหรับรายการทอลค์โชว์ในทีวีชุมชนท้องถื่นที่ไม่ได้ออกอากาศที่อื่นนอกจากพื้นที่จังหวัดเล็กๆ นั้นจะมีค่าลิขสิทธิ์ที่มีราคาถูกกว่าการใช้เพลงความยาว 30 วินาที เพลงเดียวกันในภาพยนตร์ฮอลลีวูดแน่นอน

สิทธิ์อย่างที่สามที่จะต้องขอก็คือ “สิทธิ์ในการบันทึกลงสื่อชนิดใดก็ตาม (Mechanical Rights)” หรือสิทธิ์ในการบันทึกเพลงไปจำหน่ายต่อไม่ว่าจะเป็นลักษณะแผ่น CD หรือแบบดิจิตอลก็ตาม ลิขสิทธิ์ส่วนนี้มักจะเป็นสิทธิ์ที่เกี่ยวกับค่ายเพลงต่างๆ สิทธิ์ส่วนนี้มีความจำเป็นต่อการขายแผ่น DVD, Blu-ray หรือแม้แต่แบบดิจิตอลที่มีเพลงอยู่ในเรื่อง และที่สำคัญก็คือสิทธิ์ส่วนนี้จำเป็นต่อการออกอากาศรายการต่างๆ ด้วย

ตัวอย่างการจ่ายสิทธิ์เพลงในประเทศไทยผ่านบริษัทตัวแทนที่รับสิทธิ์

มันมีขั้นตอนทางด้านกฎหมายจำนวนมากที่ต้องจัดการ แหงล่ะว่ามันยุ่งยากมาก แต่สำหรับรายการทีวีที่ไม่ได้มีเป้าหมายจะออกอากาศนอกญี่ปุ่นหรือทำเป็นแผ่น DVD, Blu-ray ค่าสิทธิ์สำหรับรายการเหล่านั้นย่อมถูกกว่าการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ด้วย แล้วถ้าคุณเป็นรายการโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่น มันก็ย่อมเป็นการง่ายยิ่งขึ้นสำหรับการขอสิทธิ์จากค่ายเพลงในประเทศกันเองมาใช้ประกอบรายการ เพราะไม่มีปัญหาด้านภาษาหรือปัญหาด้านวัฒนธรรม และไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลถึงความแตกต่างกันของวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมประเทศอื่นที่ต้องไปซื้อสิทธิ์เพลง

อนิเมะ นั้นถือเป็นรายการจำนวนมากที่มีกำหนดการออกฉายในญี่ปุ่นอยู่ทุกปีไป และเพลงที่ใช้ประกอบอนิเมะก็เป็นดนตรีประกอบฉาก (Incidental Music) ด้วยเหตุนี้ฝ่ายดูแลดนตรีในรายการโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่นจึงมักจะหยิบเอาเพลงประกอบของอนิเมะและมักจะหาเพลงที่น่าสนใจมาใช้กับฉากที่ประหลาดหรือฉากตลกๆ ในรายการทีวี แน่นอนว่านักแต่งเพลงอย่าง Sagisu Shiro ผู้แต่งเพลงประกอบให้อีวานเกเลี่ยนเคยแต่งเพลงที่น่าจดจำได้มากมาย แต่ฝ่ายดูแลดนตรีในรายการโทรทัศน์ก็ไม่ได้พยายามหาเพลงแบบลงลึกมากนักและมักจะใช้เพลงดังๆ ที่เหมาะสมเสียมากกว่า

เมื่อฝ่ายดูแลดนตรีในรายการโทรทัศน์เลือกเพลงที่จะใช้ได้เสร็จแล้ว แล้วก็ไล่เคลียร์เรื่องสิทธิ์จนเรียบร้อย นักแต่งเพลงกับค่ายเพลงก็มักจะแฮปปี้กับค่าสิทธิ์ที่ได้รับ เพราะเงินรายได้เหล่านี้จะทำให้พวกเขาสามารถไปสร้างผลงานใหม่ๆ ต่อได้ นักแต่งเพลงบางท่านมักจะได้กินค่าสิทธิ์อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยเหตุผลที่ว่าเงินที่จ่ายกับเพลงที่ได้มันเวิร์คกับรายการที่จะต้องใช้ ด้วยเหตุนี้ต่อให้เป็นเพลงของอนิเมะที่ถูกลืมไปแล้วแต่เพลงประกอบในเรื่องนั้นยังคงสร้างรายได้อยู่อย่างต่อเนื่องนับทศวรรษ จึงไม่น่าแปลกนักที่วงการดนตรี (ประกอบ) ของอนิเมะถึงมีการพัฒนาและแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง

 

กรณีการซื้อสิทธิ์เพลงในประเทศไทย

ในประเทศไทยการจ่ายสิทธิ์ทั้งสามอย่างนี้อาจจะจบที่ บริษัท เอ็มพีซี มิวสิค จำกัด ที่เรากล่าวถึงข้างต้น หรืออาจจะไปจบที่ค่ายเพลงผู้ถือสิทธิ์เพลงในปัจจุบัน และที่เป็นไปได้อีกกรณีก็คือการจ่ายค่าสิทธิ์ตรงกับผู้ที่ถือแต่งเพลงที่เป็นผู้ครอบครองสิทธิ์แล้ว ดังนั้นก่อนจะจ่ายค่าสิทธิ์เพลงใดๆ ก็อาจจะต้องเช็คก่อนว่าลิขสิทธิ์เพลงนั้นตกไปอยู่กับฝ่ายใดกันบ้าง

ค่ายเพลงญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกของ IFPI

ส่วนในกรณีของค่ายเพลงญี่ปุ่นนั้น ในไทยก็สามารถจ่ายค่าสิทธิ์ผ่านผู้ดูแลอย่าง บริษัท เอ็มพีซี มิวสิค จำกัด  ที่เป็นสมาชิกของทาง IFPI ได้เช่นกัน เพราะในกลุ่มนี้มีค่ายเพลงอย่างญี่ปุ่น อย่าง Avex, King Record, Nippon Columbia, Nippon Crown, Pony Canyon, Pryaid Records, Sony Music, Teichiku, Tokuma, Universal, VAP, Victor, Warner Music เป็นสมาชิกอยู่ด้วย

และค่ายในไทยอย่าง Sony Music (ประเทศไทย), Universal Music (ประเทศไทย) และ Warner Music (ประเทศไทย) ที่หลายๆ ทีก็ได้รับสิทธิ์จากต่างประเทศมาทำลิขสิทธิ์ในไทย ก็เป็นสมาชิกของ IFPI เช่นกัน

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หน่วยงานขนาดใหญ่มีกำลังทรัพย์มากและต้องจ่ายสิทธิ์ค่าใช้เพลงรายปีอยู่แล้วจะหยิบยกเอาเพลงที่อยู่ในเกมหรืออนิเมะ หรีอ หนัง ที่ค่ายเพลงข้างต้นเป็นผู้จัดจำหน่าย มาปรากฎอยู่ในรายการทีวีของประเทศไทย (แฟนเพลง Hans Zimmer น่าจะได้ยินเพลงในละครไทยบ๊อยบ่อยครับ) และนอกจากที่จะจ่ายเป็นเงินค่าซื้อสิทธิ์แล้ว บางกรณีทางผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงอาจจะใช้วิธีการบาร์เตอร์ (Barter) หรือการแลกเปลี่ยนการใช้เพลงกับสิทธิ์อย่างอื่น อย่างการลงชื่อในโฆษณาหรือดีลงานตามแต่ตกลงกันหลังไมค์ ซึ่งก็มีขั้นสุดถึงขั้นที่ว่าเจ้าของสิทธิ์ให้ใช้เพลงฟรีๆ ไปเลยก็มี เพราะงั้นบางทีก็บอกได้ยากว่ารายการในบ้านเรา ‘เอาเพลงมาใช้แบบฟรีๆ หรือเปล่า’

แต่ถ้าเป็นกรณี ‘ลอกเพลง’ ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สมควรประณามอยู่ดีนะ

เรียบเรียงจาก : Answerman – How Do Japanese TV Shows Use So Much Anime Music?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*