Answerman : ทำไม ‘มังงะ’ ถึงไม่ค่อยทำฉบับสี่สี ?

Share

Jose : ถาม

ผมคิดว่าการเขียนมังงะน่าจะ (หรือเคย ?) ใช้ต้นทุนในการผลิตถูก และมังงะมักจะใช้กระดาษดาษกากๆ ในการพิมพ์รวมเล่ม ดังนั้นเลยไม่มีการพิมพ์หน้าสี แต่ทำไมทางสำนักพิมพ์ถึงไม่จัดทำฉบับสีตอนทำรวมเล่มแล้วออกขายพร้อมกับฉบับปกติล่ะ พวกโอตาคุเดนตายต้องยอมซื้อเล่มสีแน่ๆ

Answerman ตอบ:

ประวัติของมังงะ กับภาพสี่สี่ โดยสังเขป

ภาพ Chōju-jinbutsu-giga ที่ถือว่าเป็นมังงะเรื่องแรกในญี่ปุ่น / ภาพจาก – Suntory.cmo

มังงะ เป็นสื่ออย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มาตั้งแต่กาลก่อน แรกเริ่มเดิมทีเชื่อว่ามังงะชุดแรกของญี่ปุ่นเกิดขึ้นจากภาพชุด Choju Jinbutsu Giga ที่เขียนสัตว์ประเภทต่างๆ อย่าง กบ กระต่าย  ลิง ซึ่งในตอนนั้นถูกเขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนและวิพากษ์สังคมสงฆ์ยุคนั้นที่ออกจะใช้ชีวิตอย่างอู้ฟู่เกินควร

ส่วนมังงะในยุคสมัยใหม่ที่เป็นการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ในช่วงแรกของถูกผลิตขึ้นมาโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสื่อบันเทิงที่สามารถซื้อหาได้ในราคาถูก (โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนญี่ปุ่นต้องการความบันเทิง) ซึ่งในตอนนั้นการพิมพ์ภาพสี่สี่เป็นสื่อที่ ไม่มีทางที่คนจะซื้อหาได้  และหลังจากนั้น มังงะ ก็ถูกตีพิมพ์เป็นแบบรายสัปดาห์และรายเดือนบนกระดาษคุณภาพต่ำ ทำให้การพิมพ์สี่สีไม่เคยอยู่ในรากฐานการผลิตของพวกเขา

ข้ามมาถึงในปัจจุบันนี้ที่การพิมพ์แบบสี่สีไม่แพงเท่าสมัยโน้นแล้ว (แต่ก็ยังแพงอยู่) เมื่อผู้อ่านหลายคนอ่านการ์ตูนจากหน้าจอ ที่มีการลงสีเอาไว้แล้ว (รวมถึงแบบ E-Ink ด้วย) แล้วทำไมไม่ทำมังงะให้เป็นสี่สีมันทุกเรื่องทุกเล่มเลยล่ะ ?

 

การทำงานของคนเขียนการ์ตูนกับภาพสี

ตัวอย่างภาพสีในมังงยุคปัจจุบัน ที่มักจะถูกเขียนในกรณีพิเศษ ภาพตัวอย่างนี้เป็นภาพตอนแรกของการ์ตูนเรื่อง Mujirushi ของอาจารย์ Naoki Urazawa

ถึงแม้ว่าการเขียนมังงะในปัจจุบัน จะมีการเขียนหน้าสี หรือ สี่สีทั้งตอนแล้วก็จริง (ซึ่งตามปกติเป็นการเขียนในเหตุการณ์พิเศษ อย่างเช่น ในกรณีที่ได้ลงหน้าปกของนิตยสาร หรือเข้าเนื้อหาช่วงสำคัญ ฯลฯ) แต่หน้าสีเหล่านั้นจะเป็นการลงสีของตัวคนเขียนเอง ที่จะต้องใช้เวลาและความทุ่มเทลงไปอย่างมาก และด้วยความที่ปกติคนเขียนการ์ตูนก็ต้องทำงานไล่กวดเดดไลน์ที่กระชั้นชิดตลอดเวลาอยู่แล้ว การกระโจนเข้ามาวาดภาพสีด้วยนี้ถือว่าเป็นภาระเพิ่มเติมจนอาจจะกระทบกับการทำงานปกติด้วย ลองถามคนวาดภาพคนไหนก็ได้ว่า การลงสีนั้นเป็นงานที่ต้องทุ่มเทอย่างมาก มันไม่ใช่แค่การเปิด Photoshop แล้วเลือกสีมาเทใส่ภาพ หลายๆ ครั้งการลงสีนั้นใช้เวลาเยอะไม่แพ้กับการวาดภาพเฉยๆ หรือบางครั้งอาจจะกินเวลามากกว่านั้นอีก

และคนเขียนการ์ตูนมักจะหวง (หรือห่วง) งานของตัวเขาเอง แม้ว่าพวกเขาจะมีลูกมือมาช่วยตัดเส้น ลงตัวอักษณ แปะสกรีนโทน แต่งานเหล่านั้นก็ต้องได้รับคำสั่งและแนะนำจากทางตัวคนเขียนตัวจริงอย่างใกล้ชิด และการ “จ้างผู้ช่วยเพิ่ม” เพื่อมาลงสีให้ทุกหน้าก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสียเท่าไหร่ สำหรับศิลปินที่พึงพอใจที่นำเสนอผลงานมาในแบบขาวดำมาตั้งแต่เริ่้ม การที่ต้องมานั่งกำกับผลงานให้ออกมาในเวอร์ชั่นลงสีให้ออกมาในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันนั้นเป็นงานที่บ้าคลั่งมากนัก แล้วเมื่อคนอ่านส่วนมากกับคนเขียนก็ยังคุ้นเคยกับ มังงะขาวดำ การจะเพิ่มงานให้มากข้ึนก็คงไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก

ภาพจาก – Comicsgrid

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความพยายามที่จะจัดจำหน่าย มังงะแบบสี่สีเอาเสียเลย อย่างเช่น หนังสือการ์ตูน Akira ฉบับที่ทาง Marvel เป็นผู้จัดทำ หรือพวก Vomic / Motion Comic ที่จับเอามังงะแบบภาพนิ่งมาตัดต่อให้เกิดบรรยากาศคล้ายๆ เป็นงานภาพอนิเมชั่นและให้นักพากย์มาลงเสียง แต่การลงสีในงานเหล่านี้มักจะลงสีทับเส้นและภาพเดิมไป ซึ่งถ้าลงสีไม่ดี หรือไปลงสีการ์ตูนเก่าที่ไม่ได้จัดภาพจัดไฟล์ในโปรแกรมแบบ Photoshop หรือ Illustrator  มาก่อน ภาพที่ได้ก็จะมืดเกินจริงไปเล็กน้อย ด้วยเหตุนี้ทำให้มีนักเขียนการ์ตูนบางท่านออกตัวห้ามทางสำนักพิมพ์ (ทั้งในบ้านเกิด หรือ ผู้ทื่ซื้อสิทธิ์ไปทำต่อ) ห้ามเอาไปลงสีใหม่ทุกกรณี

 

อนาคตจะเป็นไปได้ไหมที่มังงะแบบลงสีจะได้รับความนิยม

เมื่อมังงะเป็นงานที่เกิดขึ้นจาการเป็นสื่อขาวดำมาตั้งแต่ต้น และเมื่อคนทำงานกับคนอ่านก็ยังคุ้นเคยกับรูปแบบนี้ ด้วยข้อจำกัดของการทำมังงะแบบขาวดำนี่เองที่ทำให้เกิดการตีพิมพ์ระยะยาวขึ้นได้ Answerman เชื่อว่า ในอนาคตคงมีความพยายามที่จะทดลองทำซีรี่ส์มังงะลงสีแบบเต็มตัว (อย่างที่เกิดขึ้นแล้วกับ Web Comic) และคงจะมีการทดลอใส่อะไรแปลกใหม่เข้าไปให้มังงะได้มีความสดใหม่มากขึ้น แต่เมื่อธรรมชาติดั้งเดิมของ “มังงะ” คือการวาดภาพขาวดำอยู่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นคงจะมาถึงช้าเสียหน่อย

 

เรียบเรียงจาก : Answerman – Why Isn’t Manga Made In Color Editions?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*