หนังสือพิมพ์ Tokyo Keizai ชี้สาเหตุที่อนิเมเตอร์มีรายได้น้อยมาจากการที่สตูดิโออนิเมะมีปัญหาด้านการบัญชี

Share

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Tokyo Keizai ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมอนิเมะ เมื่อวันพุธที่ 29 กรกฎาคม ปี 2020 โดยใช้ข้อมูลจากบุคคลในอุตสาหกรรมที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ประเด็นหลักของบทความดังกล่าวก็คือไวรัสโควิด-19 ทำให้ปัญหาด้านการบัญชีและการเงินของอุตสาหกรรมอนิเมะที่มีตั้งแต่เก่าก่อนเห็นชัดขึ้น

ตามแหล่งข่าวที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตอนิเมะหลายแห่งนั้นมีปัญหาในการบริหารจัดการการเงิน ‘ผู้บริหารสตูดิโอผลิตอนิเมะหลายคนอ่านงบดุลไม่เป็น, ไม่สามารถเข้าใจแคชโฟลว์ที่ไหลเข้าและออกจากบริษัท, ไม่เข้าใจถึงการบริหารเงินสำรองภายใน, และสนใจแต่การใช้ชีวิตจากการรับรายได้แบบเดือนชนเดือนเท่านั้น ดังนั้นเมื่อสตูดิโออนิเมะไม่มีเงินสด พวกเขาจะต้องรับงานสร้างอนิเมะเพิ่มเพื่อรับเงินมัดจำการทำงานล่วงหน้า แม้จะรู้ว่าการรับงานเพิ่มขึ้นนั้นจะเกินกำลังของสตูดิโอก็ตามที จากนั้นพวกเขาก็จะประสบปัญหาในการผลิตงาน, และความโกลาหลก็เกิดขึ้นในที่ทำงาน รากเหง้าของปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมอนิเมะมาจากการที่ฝ่ายบริหารขาดความสามารถในการวางแผนล่วงหน้าและการปรับปรุงด้านสถานการณ์การเงิน’

ถึงจะยังไม่มีสตูดิโอผลิตอนิเมะเจ้าไหนประกาศล้มละลายในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แผร่กระจาย แต่แหล่งข่าวก็ระบุว่า มันเป็นเรื่องของเวลาเท่านั้นว่าที่ไหนจะปิดตัว เพราะมีบริษัทผู้ผลิตอนิเมะกว่า 40% มีบัญชีติดเลขตัวแดง นอกจากนั้นสตูดิโออนิเมะในปัจจุบันนี้จะรับโปรเจคท์ที่มีการวางแผนงานล่วงหน้า 2-3 ปี แต่เมื่อคณะกรรมการผู้ผลิตอนิเมะเริ่มเห็นว่ารายได้ตกเป้า, งานอีเวนท์ถูกยกเลิก, และรายรับจากช่องทางอื่นๆ ไม่เข้ามา ก็จะทำให้สตูดิโออนิเมะได้รับการว่าจ้างในการสร้างงานชิ้นต่อไปน้อยลง และด้วยระบบ ‘คณะกรรมการผู้สร้างอนิเมะ ที่เกิดจากหลายบริษัทรวมตัวระดมทุนการสร้างเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านการเงิน แต่ระบบดังกล่าวก็ทำให้สตูดิโอผู้ผลิตอนิเมะไม่สามารถทำการลงทุนสร้างสินทรัพย์ของตัวเองได้ และจำต้องปฏิบัติตัวตามความต้องการของคณะกรรมการ

ในบทความดังกล่าวได้ยกตัวอย่างของสตูดิโออนิเมะที่ควบคุมการเงินของตัวเองอย่างเต็มที่มาหนึ่งแห่งนั่นก็คือทาง Khara ที่ก่อตั้งโดยคุณ Anno Hideaki ผู้สร้าง Evangelion ที่ตั้งแต่ก่อตั้งสตูดิโอตัวคุณ Anno คุ้นเคยกับการบริการด้านบัญชีแล้ว จึงทำให้สตูดิโอสามารถใช้เงินทุนของบริษัท 100% ในการผลิตภาพยนตร์ Rebuild Of Evangelion อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่จะหาบุคลากรสายผลิตที่มีทักษะในด้านการบริหารธุรกิจไปด้วย

อีกปัญหาหนึ่งที่บทความนี้ระบุว่าเป็นปัญหาในอุตสาหกรรมอนิเมะ ก็คือการพัฒนาบุคลากร และ แผนการฝึกบุคลากร ในบทความดังกล่าวถกประเด็นที่ว่าการสร้างผลงานที่ฮิตนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนที่งานที่เคยผลิตและไม่สามารถอ้างอิงรายงานความสำเร็จของทีมงานในอดีต อย่างที่ตัวบทความยกตัวอย่าง คุณ Shinkai Makoto ก็เคยผลิตอนิเมะ Garden Of Words ที่ทำรายได้ราว 150 ล้านเยน ก่อนที่จะสร้างภาพยนตร์อนิเมะ Your Name ที่กวาดรายได้ไปมากกว่า 25,000 ล้านเยน

ในตัวบทความของทาง Tokyo Keizai มองว่า คุณ Makoto Shinaki และ คุณ Kawaguchi Noritaka ที่เห็นศักยภาพของคุณ Shinkai ตั้งแต่ภาพยนตร์ Voice Of A Distant Star และมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์ของคุณ Shinkai ใช้เวลาหลายปีในการรวบรวมทีมงาน และพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้อำนวยต่อการสร้างอนิเมะที่ได้รับความนิยม ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาก็คือการยอมลงทุนเงินจำนวนหนึ่งในการสร้างแผนการฝึกบุคลากร

ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง เพราะสตูดิโออนิเมะที่มีปัญหาด้านการเงิน ก็จะติดอยู่ในวังวนที่รับงานมากเกินไป จนมีการผลิตอนิเมะคุณภาพต่ำ จนทำให้ไม่สามารถสร้างผลงานฮิต และยากที่จะต่อรองกับนักลงทุนในการขอเงินเพิ่ม นอกจากนั้นแล้วอุตสาหกรรมอนิเมะก็ก้าวเข้าสู่สังคมคนชรา (ตามข้อมูลของทาง JAniCA หรือ สมาคมผู้สร้างงานอนิเมชั่นญี่ปุ่น ที่ทำการสำรวจเมื่อปี 2019 ระบุว่า มีบุคลากรราว 16.5% ทำงานในอุตสาหกรรมมามากกว่า 30 ปี) ก็จะทำให้คุณภาพของงานอนิเมะในระยะยาวนั้นตกลงไปอีก ถ้าหากไม่มีการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่แบบวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ในบทความก็ทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมอนิเมะนั้นไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด และทางแหล่งข่าวก็ยังมีความหวังว่าสตูดิโออนิเมะหลายแห่งจะทำการบริการจัดการด้านการเงินได้ดีขึ้นในอนาคต ‘ยังมีหลายคนที่จับประเด็นไปที่ปัญหาด้านการทำงานหนัก และ ปัญหาอื่นๆ ในการผลิตอนิเมะ แต่ฉันคิดว่าอุตสาหกรรมอนิเมะเป็นอุตสาหกรรมที่ดี เพราะคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมมีความรู้สึกร่วมในการทำงานร่วมกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งฉันคิดว่านั่นเป็นข้อแตกต่างที่เด่นัชดที่สุดหากเทียบกับบริษัทในสายงานอื่น อุตสาหกรรมอนิเมะเป็นอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยเดดไลน์จำนวนมาก และรายได้ยังต่ำอยู่ อย่างไรก็ในฐานะมนุษย์แล้ว คนที่คุณทำงานด้วยเป็นอย่างไร และอะไรที่ทำให้คุณพึงพอใจ น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ฉันระลึกถึงเรื่องนี้ได้อีกครั้งก็เพราะผลจากไวรัสโคโรน่านี้แหละ’

Source: Tokyo Keizai (Natsuhiko Ujiie)

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*