บริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ประกาศแจ้งเรื่องการฟ้องคดีในประเทศสหรัฐอเมริกา

Share
ภาพจาก – Itmedia.co.jp

ในช่วงเช้าของวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561 ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น ทางบริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ผู้จัดทำและถือสิทธิของผลงาน “อุลตร้าแมน” ได้ทำการแถลงข่าวเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทางบริษัท ซึบูราญ่า เป็นผู้ชนะคดี พร้อมส่งจดหมายแถลงข่าวออกให้สาธารณชนได้รับทราบซึ่งจดหมายดังกล่าวมีเนื้อความตามคำแปลที่ปรากฎอยู่ด้านล่างนี้

 


 

วันที่ 24 เมษายน 2561

บริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด

เรียน ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน

 

ประกาศแจ้งเรื่องการฟ้องคดีในประเทศสหรัฐอเมริกา (คำพิพากษาให้ชนะคดี)

ในคดีพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างบริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “บริษัท ซึบูราญ่า”) กับบริษัท ยูเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “บริษัท ยูเอ็ม”) และพวก ศาลแขวงกลางประจำมลรัฐแคลิฟอร์เนียได้มีคำพิพากษาว่าสัญญาฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 ซึ่งฝ่ายบริษัท  ยูเอ็มและพวกได้นำมากล่าวอ้างมิใช่สัญญาที่แท้จริง อีกทั้งศาลยังยอมรับข้อกล่าวอ้างของบริษัท ซึบูราญ่า ทั้งหมด โดยนอกจากจะยอมรับว่าบริษัท ซึบูราญ่า เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะเผยแพร่ผลงาน “อุลตร้าแมน” นอกประเทศญี่ปุ่น แล้ว ยังยอมรับสิทธิของบริษัท ซึบูราญ่า ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิดลิขสิทธิ์ อีกด้วย โดยรายละเอียดมีดังต่อไปนี้

 

1.ศาลและวันที่มีคำพิพากษา

ศาลแขวงกลางประจำมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

วันที่ 18 เมษายน 2561 (เวลา ณ สถานที่มีคำพิพากษา)

 

2.ความเป็นมาจนถึงปัจจุบัน

  บริษัท ยูเอ็มได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่ระบุถึงข้างต้นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการใช้ชุดผลงาน “อุลตร้าแมน” ภายนอกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบริษัท ซึบูราญ่า เป็นผู้สร้างสรรค์และมีลิขสิทธิ์โดยกล่าวอ้างว่า บริษัท ยูเอ็ม เป็นผู้มีสิทธิในผลงานและบริษัท ซึบูราญ่า ได้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 ทางบริษัท ซึบูราญ่า จึงได้ทำการฟ้องแย้งต่อบริษัท ยูเอ็ม และบริษัทต่าง ๆ ซึ่งได้ทำสัญญาขอใช้สิทธิจากบริษัท ยูเอ็ม โดยขอให้ศาลพิพากษาว่าบริษัท ซึบูราญ่า เป็นผู้มีสิทธิและเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งได้มีการดำเนินคดีต่อเนื่องมาโดยลำดับ

บริษัท ยูเอ็ม กล่าวอ้างว่าตนได้รับสิทธิในผลงานชุด “อุลตร้าแมน” ทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่นมาจากนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย นักธุรกิจชาวไทย ตามสัญญาซึ่งได้ทำขึ้นในปี 2519 โดยนายโนโบรุ ซึบูราญ่า ผู้แทนของบริษัท ซึบูราญ่า ทั้งนี้ทางบริษัท ซึบูราญ่า ได้ปฎิเสธมาตลอดว่าสัญญาฉบับนี้มิใช่สัญญาที่ทำขึ้นจริง ประเด็นพิพาทในคดีนี้จึงมีว่าเอกสารที่มีลายมือชื่อและตราประทับของนายโนโบรุ ซึบูราญ่า นี้ เป็นสัญญาที่ทำขึ้นแท้จริงหรือเป็นสัญญาปลอม

กรณีพิพาทระหว่างบริษัท ซึบูราญ่า กับบริษัท ยูเอ็ม และนายสมโพธิได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี

ในปี 2539 ซึ่งเป็นปีถัดจากปีที่นายโนโบรุ ซึบูราญ่า อดีตผู้แทนบริษัท ซึบูราญ่าได้ถึงแก่กรรม นายสมโพธิได้นำเอกสารซึ่งอ้างว่าลงลายมือชื่อของนายโนโบรุ ซึบูราญ่าในปี 2519 มาแสดงต่อบริษัท ซึบูราญ่า อย่างกะทันหัน พร้อมทั้งได้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิที่ใช้ประโยชน์ในผลงานชุด “อุลตร้าแมน” ได้ทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่นโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา เอกสารที่นายสมโพธินำมาแสดงมีเพียงหนึ่งหน้าและมิได้นำเอกสารต้นฉบับมาแสดง ในเอกสารฉบับนั้นมีข้อความพื้นฐานที่ระบุไว้ไม่ถูกต้องหลายจุดไม่ว่าจะเป็นชื่อของบริษัท ซึบูราญ่า ชื่อผลงานของชุดผลงาน “อุลตร้าแมน” จำนวนชิ้นของผลงาน ฯลฯ ซึ่งหากเป็นเอกสารที่นายโนโบรุ ซึบูราญ่า ทำขึ้นจริงย่อมจะไม่มีทางผิดพลาดอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าตอบแทนการอนุญาตใช้สิทธิ อีกทั้งมิได้มีข้อตกลงอื่น ๆ ทางธุรกิจการให้ใช้สิทธิซึ่งควรจะมีอยู่ในเอกสารดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาประมาณ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งเป็นปีที่เอกสารฉบับนี้ถูกกล่าวอ้างว่าได้ทำขึ้นจนถึงหนึ่งปีให้หลังจากการเสียชีวิตของนายโนโบรุ ซึบูราญ่า ก็ไม่ปรากฏว่ามีการใช้สิทธิตามเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีการกล่าวถึงการมีอยู่ของเอกสารฉบับนี้เลย แม้แต่ครั้งเดียว

ภายหลังปี 2519 บริษัท ซึบูราญ่า ได้ใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อสร้างสรรค์ชุดผลงาน “อุลตร้าแมน” และทำการเผยแพร่ไปทั่วโลกจนกลายมาเป็น        แบรนด์ที่รู้จักในระดับนานาชาติ ตรงกันข้ามในช่วงเวลาเดียวกันนั้นนายสมโพธิและพวกไม่เคยกล่าวอ้างถึงความมีอยู่ของเอกสารและสิทธิแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งนายสมโพธิยังมิได้ทำการขยายธุรกิจเกี่ยวกับชุดผลงาน “อุลตร้าแมน” ในระดับโลกแต่อย่างใด นับแต่ปี 2519

ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้น บริษัท ซึบูราญ่า จึงได้ต่อสู้คดีกับนายสมโพธิและบริษัท ยูเอ็ม ซึ่งอ้างว่าได้สืบทอดสิทธิต่อมาจากนายสมโพธิ

ด้วยความเชื่อมั่นว่าเอกสารที่ทำขึ้นนั้นเป็นเอกสารปลอม

กรณีที่ว่าเอกสารที่ทำขึ้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่นั้น ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการต่อสู้คดีในประเทศญี่ปุ่น ไทย และจีน ในประเทศญี่ปุ่นนั้น บริษัท ซึบูราญ่า ได้ร้องขอให้พิสูจน์ลายมือชื่อโดยศาลเพื่อพิสูจน์ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม แต่มิได้มีการพิสูจน์ลายมือเกิดขึ้นและได้มีคำพิพากษาว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้ว่าจะมิได้มีการตรวจสอบยืนยันเอกสารต้นฉบับแต่อย่างใด ในประเทศไทยได้มีการพิสูจน์ลายมือชื่ออันเป็นผลให้ศาลยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ทำให้บริษัท ซึบูราญ่า ชนะคดีทั้งหมด โดยคดีอาญาเกี่ยวกับเอกสารปลอมในประเทศไทยนั้น ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วว่านายสมโพธิกระทำผิดทางอาญา ส่วนในประเทศจีนแม้จะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้บริษัท ซึบูราญ่า ชนะคดี แต่ศาลชั้นสูงขึ้นไปมิได้ยอมรับผลการตรวจสอบลายมือที่ได้กระทำในประเทศไทยด้วยเหตุผลว่าเป็นกระบวนการที่กระทำในต่างประเทศ และมิได้มีการพิสูจน์ลายมือในประเทศจีนส่งผลให้มีคำพิพากษาให้บริษัท ซึบูราญ่า แพ้คดี  อนึ่ง เนื้อหาคำพิพากษาของศาลในประเทศจีนและญี่ปุ่นยอมรับเพียงแต่สิทธิการใช้อย่างจำกัดที่ใช้ได้กับชุดผลงานในช่วงต้นของยุคปีโชวะ เท่านั้น  นอกจากนี้บริษัทขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าบริษัทจะชนะหรือแพ้คดีในคำพิพากษาของประเทศใด ๆ ก็ตาม การเป็นเจ้าของสิทธิของบริษัท ซึบูราญ่า นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการยอมรับและมิได้มีการโต้แย้ง

3.คำพิพากษาของศาลในประเทศสหรัฐอเมริกา

ในกระบวนพิจารณาคดีในประเทศสหรัฐอเมริกา มีกระบวนการซึ่งมิได้มีการกระทำในประเทศอื่น ๆ มาก่อน กล่าวคือกระบวนการค้นหาความจริงซึ่งเรียกว่า ดิสคัฟเวอรี โดยสืบค้นและนำเอกสารจำนวนมาก รวมทั้งประวัติการติดต่อสื่อสารของคู่ความทั้งสองฝ่ายมาสืบวิเคราะห์โดยใช้เวลานาน ผลลัพธ์ที่ได้คือข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ได้ถูกสืบค้นขึ้นใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏชัดเจนมาก่อนในการพิจารณาคดีในประเทศอื่น ๆ ที่ผ่านมา อีกทั้งยังได้มีกระบวนการดีโพซิชั่น (การให้ถ้อยคำของพยานโดยมีการสาบานก่อนการพิจารณาและตัดสินคดี) กับพยานบุคคลของคู่ความทั้งสองฝ่ายซึ่งมีจำนวนหลายคน และพยานผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ลายมือ รวมไปถึงการนำสืบพยานบุคคล  ทั้งนี้นายสมโพธิซึ่งเป็นบุคคลที่รู้เรื่องราวมากที่สุดได้ปฏิเสธไม่ยอมรับคำฟ้องคดีในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยปราศจากเหตุผล อีกทั้งปฏิเสธที่จะมาศาลในฐานะพยานอีกด้วย

ภายหลังกระบวนการพิจารณาข้างต้น ศาลได้มีคำพิพากษาว่าสัญญาลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 ซึ่งอีกฝ่ายยกขึ้นเป็นหลักของข้ออ้างสิทธินั้น มิใช่สัญญาที่แท้จริงซึ่งลงลายมือชื่อโดยนายโนโบรุ ซึบูราญ่า และประทับตรา สัญญาจึงไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาในประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวซึ่งให้บริษัทชนะคดีในทุกข้อหาครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นผลรวมความสำเร็จของการต่อสู้คดีที่มีมาเป็นเวลายาวนาน

 

4. ข้อคิดเห็นของบริษัท ซึบูราญ่า

คำพิพากษาของศาลข้างต้นได้ยอมรับข้อเรียกร้องของบริษัท ซึบูราญ่า ทุกข้อ การชนะคดีในทุกข้อหาในครั้งนี้เป็นผลมาจากความอุตสาหะเป็นอันมากในการนำสืบพยานหลักฐานอย่างละเอียดซึ่งใช้เวลานาน และการสืบพยานบุคคลจำนวนมาก พร้อมกับการให้ความเห็นเกี่ยวกับการพิสูจน์ลายมือของผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นคำพิพากษาที่มีความน่าเชื่อถืออย่างสูงเป็นอย่างยิ่ง ด้วยคำพิพากษานี้ บริษัท ซึบูราญ่า จึงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเผยแพร่ผลงาน อุลตร้าแมนไปยังต่างประเทศอย่างเต็มที่ต่อไป

ทางบริษัทจึงใคร่ขอขอบพระคุณบริษัทคู่ค้า บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ที่นิยมชมชอบในชุดผลงานอุลตร้าแมนทุกท่านในความอนุเคราะห์ที่จะมีให้แก่ บริษัท ซึบูราญ่า สืบไป มา ณ ที่นี้

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ (ภาษาอังกฤษ)

https://en.tsuburaya-prod.co.jp/

 

ติดต่อสอบถาม บริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์

お問い合わせページ

 

 

 

1 Trackbacks & Pingbacks

  1. อยู่บนโลกได้แค่ 3 นาที แต่อยู่ในศาลนับสิบปี ศาลสหรัฐฯ ชี้ ‘อุลตร้าแมน’ ไม่เคยเป็นของคนไทย ใ

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*