Answerman : ทำไมเว็บชมการ์ตูนออนไลน์ถึงรวมตัวกันเป็นเว็บเดียวไม่ได้ ?

Share

xNightshade 22 ถาม :

ฉันมีคำถามง่ายๆ มาถามคุณ ทำไมเว็บดูการ์ตูนออนไลน์ทั้งหลายแหล่เขาถึงไม่รวมตัวกันเป็นเว็บเดียวแล้วก็คิดค่าบริการรายเดือนทีเดียวไปเลยล่ะ ? ฉันเชื่่อว่านี่เป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ยังไปดูในเว็บเถื่อนเลยนะ แล้วทำไมบริษัทถึงยอมให้เงินไหลไปหาเว็บพวกนั้นล่ะ ? ถ้าทำตามที่ฉันบอกนะ มันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องลิขสิทธิ์ของอนิเมะแต่ละเรื่องที่ต้องถูกแบ่งจ่าค่าสิทธิ์ไปทีละเว็บอีกต่างหาก

Answerman ตอบ :

สิ่งที่คุณนำเสนอมาให้บริษัทที่จัดทำลิขสิทธิ์อนิเมะแต่ละเจ้าเลิกแข่งกันแล้วมารวมตัวกันอยู่ภายใต้บริการเว็บเดียวอ ย่างที่ Funimation หรือ Crunchyroll ทำกันอยู่ในตอนนี้ เพื่อที่คนดูแบบคุณจะได้มาดูกันที่เว็บเดียวในราคาย่อมเยา ผมเข้าใจได้นะว่าคุณอยากได้อะไรแต่มันเป็นไอเดียที่ไม่เวิร์คเลยในการทำจริง

มันก็ออกจะตลกเล็กๆ ที่สมัยก่อนผู้บริโภคอยากจะให้มีการแข่งขันกันเพื่อไม่ให้มีใครดัมพ์ราคาขายให้สูงขึ้นจนเกินจริง และทำให้ทุกฝั่งฝ่ายต้องทำสินค้าที่คุณภาพดีที่สุดออกมา เพราะถ้าตัวเองทำมาดีไม่พอ คู่แข่งในตลาดก็จะทำสินค้าดีกว่าออกมาในราคาต่ำกว่าแน่ และเพราะการแข่งขันนี้เองที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องทำการพัฒนาสินค้าเพื่อให้ลูกค้าพอใจมากที่สุด เพราะถ้าทำของออกมาแย่กว่าลูกค้าก็จะเทไปหาอีกเจ้าแน่ๆ

หรือว่าง่ายๆ คือการแข่งขันในระบบทุนนิยมนี้ทำให้ตลาดสินค้ามีความสดใหม่อยู่ตลอดเวลา หากไม่มีการแข่งขันกันแล้วก็จะเกิด ภาวะผูกขาด ที่บริษัทสามารถทำงานช้าๆ ไม่ต้องเร่งขาย ไม่ต้องพยายามทำของออกมาดีๆ มีเหตุผลหลายๆ อย่างที่ การผูกขาด นั้นไม่ดีต่อผู้บริโภคและสุดท้ายก็มักจะใช้อำนาจบีบผู้บริโภคด้วย ถ้าเทียบง่ายๆ ให้ลองนึกถึงช่องเคเบิ้ลท้องถิ่นที่อาาจจจะเลือกหนังที่เจ้าของช่องชอบจนไม่มีแนวอื่นฉายเลย

ตัวอย่างภาพบริการในโลกออนไลน์ที่ Google ผูกขาดไว้เสียเยอะ / ภาพจาก – Euronews.com

เรื่องหนึ่งที่ชวนแปลกใจในยุคอินเตอร์เน็ตทั่วถึงกัน (หรือจะเรียกว่า ยุค 4.0 ก็ไม่น่าผิดนัก) ก้คือชาวเน็ตมักจะชอบภาวะผูกขาดเสียมากกว่า ถ้าไม่เห็นภาพอยากให้ลองนึกถึงเว็บไซต์ที่ให้บริการแบบเดียวกัน แต่อาจจะไม่ได้นิยมหรือเป็นผู้นำด้านทำการตลาดสิครับ อย่างเวลาจะหาข้อมูลอะไร ทุกคนก็จะนึกถึง Google, เวลาสมัครเมล์ก็นึกถึงแค่ Gmail ถ้าจะดูคลิปแคสเตอร์เล่นเกม สมัยนี้ก็จะนึกถึง Twitch กัน แต่ถ้าดูคลิปอย่างอื่นก็จะนึกถึง Youtube ก่อน เวลาซื้อของออนไลน์ Amazon ก็จะเป็นเว็บเดียวที่คุณเลือก และถึงจะมีเว็บอื่นๆ มาแข่งอยู่บ้างแต่ในสมัยนี้เว็บที่ให้บริการคล้ายๆ กัน ก็จะกลายเป็นเว็บไซต์ขนาดเล็กขายของเฉพาะทาง ไม่ค่อยจะมีบริษัทใหญ่มาอาจหาญแข่งขันกันเหมือนแบบที่เคยมีการแข่งขันในยุคก่อนหน้านี้เสียแล้ว

จริงอยู่ว่าบริการออนไลน์เหล่านี้ อาจจะให้การบริการที่ดีมากๆ แต่ในขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้ก็แอบบีบคอการใช้งานของผู้บริโภคไปในตัว อย่างการที่เว็บเหล่านี้เอาข้อมูลของลูกค้าไปขายให้กับบริษัทโฆษณาจนสามารถทำการปล่อยสื่อโฆษณาให้ตรงกับการใช้ชีวิตของลูกค้ามากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนการรับข่าวสารของลูกค้ามากขึ้น ถ้าเกิดว่าบริษัทเหล่านี้มีคู่แข่งตัวจริงเข้ามาร่วมสังเวียนด้วย พวกเขาก็คงจะทำการเปิดเผยข้อมูลในการกระทำหลังฉากมากขึ้น (ทั้งขั้นตอนการส่งสินค้า, การขายข้อมูลลูกค้า ฯลฯ) แต่เรื่องนั้นคงจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายเพราะ ณ เวลานี้ ลูกค้าก็ยังไม่มีตัวเลือกอื่น

แล้วถ้า การผูกขาด แบบที่ว่าไปนั้นมาถึงฝั่งการดูการ์ตูนออนไลน์จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ? จริงๆ มันคาดการณ์ได้ยากอยู่ บางทีตอนแรกเริ่มอาจจะไม่มีปัญหาอะไรและทุกอย่างก็เป็นไปอย่างราบรื่น แต่พอผ่านไประยะหนึ่งบริษัทที่ทำการฉายเจ้าเดียวก็อาจจะเริ่มรู้สึกพอใจจนไม่พยายามทำอะไรจนกินแรงเกินตัวแล้ว เพราะ ณ ตอนนี้ที่หลายบริษัททำการ Simulcast อนิเมะให้ฉายพร้อมกับญี่ปุ่นนั้นต้องเร่งขั้นตอนการทำงานมากมาย ทั้งการเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์, การแปล, การขอไฟล์งาน, การแปลงไฟล์ การพากย์ และการเตรียมไฟล์ความยาวหลายชั่วโมงให้พร้อมออนไลน์ Answerman ขอฟันธงล่วงเลยว่าถ้ามีการผูกขาดก็จะทำให้มีการเอาอนิเมะมาฉายช้าลง ซึ่งจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นได้เงินค่าลิขสิทธิ์ลดลงอย่างมากด้วย

เหตุผลหนึ่งในการก่อตั้ง Daisuki ก็คือความพยายามคานอำนาจการผูกขาดการฉายอนิเมะออนไลน์ของ Crunchyroll

ในยุคนี้บริษัทผู้ผลิตอนิเมะในญี่ปุ่นสามารถทำการขึ้นค่าขายสิทธิ์ในการฉายให้กับทางบริษัทนอกประเทศอย่างอิสระ ถ้าเกิดไม่มีการแข่งขันกันนั้นค่าสิทธิ์เหล่านี้จะถูกลดลงอย่างทันทีทันควัน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตอนิเมะในญี่ปุ่นก็ใส่ใจเรื่องนี้มาก อย่างเมื่อหกปีที่แล้วที่มีแค่ Crunchyroll ให้บริการเฉพาะในฝั่งอเมริกา ทางญี่ปุ่นก็พยายามเปิด Daisuki ออกมาเพื่อคานอำนาจ แต่เนื่องจากการบริหารและจัดการที่ไม่ดีทำให้ Daisuki ต้องปิดตัว แต่ก็ยังเป็นจังหวะที่ผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ เข้าร่วมการแข่งขันพอดี

หรือถ้าเทียบกับในฝั่งไทย ถ้าย้อนไปในยุคที่แผ่น DVD และ VCD ยังพอขายได้ จะเห็นภาพว่าไม่มีใครได้ลิขสิทธิ์แบบผูกขาดอย่างชัดเจน เช่นถ้าค่ายหนึ่งได้เรื่องดังๆ ไปสัก 3 ใน 5 เรื่องแล้ว จะมีอีกสักค่ายที่ได้เรื่องดังๆ 2 เรื่องไป เพราะทางญี่ปุ่นจะไม่ยอมขายสิทธิ์ให้เจ้าแรกผูกขาดเพียวๆ

ในยุคนี้่ Answerman คาดว่า ผู้ให้บริการรับชมอนิเมะ หรือ หนังและซีรี่ส์แบบออนไลน์ทั้งหมดนั้นแทบจะไม่มีโอกาสร่วมมือกันได้ อย่างทาง Amazon ก็จะไม่ยอมทำงานร่วมกับ Crunchyroll และ Funimation อย่างที่สังเกตได้ว่า Anime Strike ก็ทำการซื้อสิทธิ์เพื่อฉายอนิเมะเฉพาะบริการของตนเองอยู่หลายเรื่อง (หรือในญี่ปุ่นก็เป็นการร่วมลงทุนสร้างซีรีส์ใหม่แบบ Kamen Rider Amazons) เพราะเป้าหมายของ Amazon ต้องการจะแข่งขันกับผู้ให้บริการระดับ Netflix ไปเลย

หรืออย่าง Hulu ในอเมริกาก็มีงานของ Viz Media ที่อาจจะไม่ถูกเจ้าอื่นซื้อหรือสงวนไว้เฉพาะช่องทางตัวเองมาฉาย (ซึ่ง Viz Media เป็นบริษัทที่ Sheisha กับ Shogakukan เป็นเจ้าของอีกทอด) และเรายังไม่ได้พูดถึงผู้ให้บริการฉายอนิเมะออนไลน์ในพื้นที่อื่นๆ ที่จะไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้หากมีการผูกขาดฉายอยู่ที่เว็บเดียวขึ้น (หรือถ้าอธิบายให้ง่ายเข้าก็คือ ผู้ชมชาวไทยอาจจะต้องรอ ‘หลายปี’ เพื่อจะได้ชมอนิเมะเรื่องใดๆ ก็ตามหากมีการผูกขาดขึ้น)

และด้วยความแตกต่างกันมากของจุดยืนกับเป้าหมายแต่ละบริษัททำให้เป็นไปได้ยากมากๆ ในทางทฤษฏีที่ทุกบริษัทจะมารวมตัวกันเพื่อฉายอนิเมะร่วมกัน

ภาพจาก – Thumbsup.in.th

กระนั้นคุณก็พอจะบอกได้ว่า การมีตัวตนของเว็บเถื่อนนั้นถือว่าเป็นรูปแบบการแข่งขันอย่างหนึ่งได้ แถมยังเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอีกต่างหาก (เพราะเว็บเถื่อนไม่ต้องเสียค่าสิทธิ์ใดๆ เลยก่อนแปล) จริงอยู่ว่าถึงภาวะตลาดแบบนี้จะไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับชมอนิเมะทุกเรื่องในราคาที่ถูกได้ แต่ก็อยากให้นึกถึงสภาพนิเวศของการทำธุรกิจซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน และสภาพนิเวศนั้นนั่นเองที่ทำให้มีการแข่งขันกันสร้างบริการที่ดีในราคาที่สมเหตุสมผลและทำให้ทุกฝ่ายสามารถมีเงินใช้ในวันพรุ่งได้นั่นเอง

 

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*