Answerman – ทำไมคนเขียนคนแต่งการ์ตูนในญี่ปุ่นถึงไม่ชอบเผยตัวออกสื่อ ?

Share

Federico ถาม:

ทำไมคนเขียนคนแต่งการ์ตูนยุคหลังๆ ถึงชอบเก็บตัวมากนัก จนถึงขั้นที่ว่าเราแทบจะหารูปของพวกเขาไม่ได้เลยเนี่ย ? คนเขียนคนแต่งการ์ตูนทศวรรษก่อนไม่เห็นมีปัญหาที่จะโดนสัมภาษณ์, ไปออกรายการ, โดนถ่ายรูป และหลายต่อหลายคนที่รู้จักงานของพวกเขาก็รู้ว่าพวกเขาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่พอยุคนี้ดันใช้นามปากกา, ไม่ยอมให้ถ่ายรูป, แฟนๆ ไม่เคยรู้ว่าชื่อจริง หรือแม้แต่เพศ ตัวอย่างก็แบบคนแต่งเรื่อง Death Note ไง

ทำไมถึงกลายเป็นแบบนี้ล่ะ ? กลัวจะโดนสตอลค์งั้นเหรอ หรือเขียนการ์ตูนนี่กลายเป็นอาชีพน่าอายไปแล้ว ? พวกเขาอายที่จะเป็นคนปกติเลยต้องซ่อนตัวเอาไว้เพื่อให้ดู “ฮิปสเตอร์” ขึ้นหรือไง ? ฉันไม่ค่อยเข้าใจมันเลย ?

Answerman ตอบ:

คนเขียนคนแต่งการ์ตูน เขาใช้นามปากกามาตั้งแต่กาลก่อนแล้ว

อย่างแรกเลยผมไม่เห็นด้วยกับคำตอบของคุณเท่าไหร่ที่ว่าครั้งหนึ่งคนเขียนการ์ตูนเป็นบุคคลสาธารณะ ถึงแม้ว่าจะมีนักเขียนบางท่านที่เป็นเช่นนั้น (อย่างเช่น อ. เทะสึกะ โอซามุ) คนเขียนและคนแต่งการ์ตูนโดยทั่วไปก็นิยมที่จะทำตัวไม่โดดเด่นมากนัก ส่วนใหญ่ก็จะแสดงตัวหรือออกความเห็นของตัวเองด้วยการเขียนรูปการ์ตูนแทนตัวเองไปในหน้า ‘จากผู้แต่ง’ มากกว่า

อาจารย์ Nagai Go ผู้วาด Mazinger Z นี่ก็ใช้นามปากกาตั้งแต่กาลก่อน

แถมนักเขียนหลายคนก็ยังนิยมใช้ นามปากา แทนชื่อจริง แถมยังทำมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วด้วย อาทิ นักเขียนรุ่นเก่าอย่าง อาจารย์ Monkey Punch ผู้วาด ลูแปง, Nagai Go ผู้วาด Mazinger Z / นักเขียนรุ่นกลางแบบ Shirow Masamune ผู้วาด Ghost In The Shell, Asamiya Kai ผู้วาด Silent Mobius / นักเขียนรุ่นหลังอย่าง Kubo Tite ผู้เขียน Bleach, Arakawa Hiromu ผู้เขียน Silver Spoon / ผู้แต่งเรื่องอย่าง Shin Kibayashi ก็ใช้นามปากกาหลากหลาย อย่าง Amagi Seimaru, Ando Yuma, Aoki Yuya, Ryomen Ryo ฯลฯ

เหตุดั้งเดิมที่ทำให้คนเขียนคนแต่งการ์ตูนเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวเพราะ อาชีพเหล่านี้เดิมทีไม่ได้ถูกมองเป็นอาชีพที่เจิดจรัสนัก และตัวคนเขียนคนแต่งก็เลือกที่จะใช้ชีวิตเงียบๆ อย่าลืมว่าพวกเขาเหล่านี้ใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่อยู่บนโต๊ะ ในออฟฟิศเล็กๆ ทำการเขียนภาพ หรือแต่งเรื่อง ไม่บนกระดาษ ก็บนคอมพิวเตอร์ และบุคลากรสายอาชีพนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ร่ำรวยพอจะจ้างใครมาเป็นผู้ช่วย ช่วงเวลาการทำงานของพวกเขาจึงยิ่งยืดยาว และต้องทำงานไล่เดดไลน์ที่ไม่มีวันจบสิ้น

Kibayashi Shin ชายผู้อยู่เบื้องหลังเนื้อเรื่องของ คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา / Bloody Monday / Psychometrer Eiji / Knight in The Area สิงห์สนาม ฯลฯ
ภาพจาก – Oricon.co.jp

ส่วนเหตุผลที่พวกเขาใช้นามปากนั้นก็มีต่างๆ นานา อย่างเช่น อาจารย์ Arakawa Hiromu ที่การ์ตูนด้วยลายเส้นแบบโชเน็นจ๋าๆ เลี่ยงบาลีด้วยการเปลี่ยนเสียงอ่านคันจิ ว่ากันว่า ใช้นามปากกาเพื่อกันไม่ให้คนเอาเรื่องเพศมาติงงาน / อาจารย์ Tite Kubo ที่มีชื่อสกุลจริงว่า Noriaki Kubo มีข่าวลือว่าเพราะเขาเป็นลูกชายนักการทูตจึงพยายามใช้นามปากกาเพื่อเลี่ยงว่าใช้อำนาจการเมืองจนได้ดี หรืออย่างกรณีของ Shin Kibayashi ก็ตั้งใจใช้นามปากกาแต่งเรื่องในสไตล์ที่ต่างๆ กันไปในแต่ละชื่อ ฯลฯ

 

ถึงดังมาก ก็ยังไม่อยากออกสื่อ

ส่วนนี้อาจจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่แตกต่างเพราะของญี่ปุ่นกับอีกหลายๆ ชาติ รวมไปถึง โอตาคุ ในประเทศญี่ปุ่นนั่นก็มีบางส่วนที่น่ากลัวจริงๆ การหลบตัวภายใต้นามปากกาหรือให้รู้รายละเอียดส่วนตัวต่อสื่อน้อยๆ จะทำให้ชีวิตของพวกเขาปลอดภัยขึ้น (ลองนึกสภาพว่าถ้า อาจารย์เออิจิโร่ โอดะออกหน้าออกตาแล้วมีโอตะที่ขาดสติบุกไปถึงบ้านแกให้แกรีบเขียนตอนจบออกมาดูนะครับ) หรือถ้าพูดในแง่ร้าย คนเขียนคนวาดการ์ตูนนั้นออกจะเป็นเนิร์ดมืออาชีพที่ต้องการชีวิตสงบอยู่กับงานมากกว่า

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนเขียนคนแต่งหนังสือยอดนิยมจะไปออกสื่อ อย่างเช่น อาจารย์ทากาฮาชิ รูมิโกะที่ครั้งหนึ่งนั้นถือได้ว่าเป็นนักเขียนที่ออกงานขายดีมากที่สุดในญี่ปุ่น แต่คลิปการสัมภาษณ์ของเธอกลับหาได้ยากยิ่ง หรืออย่าง อาจารย์เออิจิโร่ โอดะ ที่เคยออกให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ก็ยังมีการเซ็นเซอร์หน้าตาปัจจุบันของแกเสียอย่างนั้น

Konomi Takeshi Surprise Live …เซอร์ไพรส์จริงๆ ล่ะครับเจอคนเขียนการ์ตูนจัดคอนเสิร์ตเนี่ย

แต่ก็มีบ้างเหมือนกันสำหรับนักเขียนบางคนที่ไม่เขินอายในการออกสื่อ หรือบางทีก็เกาะกระแสสื่อเพื่อขายผลงานต่อ อย่าง อาจารย์โคโนมิ ทาเคชิ ที่ไปไกลถึงขั้นออกคอนเสิร์ตเดี่ยวของตัวเอง (ใช่ครับ คนเขียนเทนนิสตบกันเอาตายนั่นล่ะ) หรือบางท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องเขียนงานมากเท่าตอนแรกเริ่ม ก็จะออกสื่อมากขึ้นอย่างอาจารย์โทริยาม่า อากิระ ผู้เขียน Dragon Ball หรือ อาจารย์คิชิโมโตะ มาซาชิ ผู้เขียน Naruto

อีกส่วนที่ไม่ควรลืมก็คือสื่อญี่ปุ่นโดยทั่วไปนั้น ทำงานแตกต่างกับสื่อของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และการใช้รูปบนสื่อเหล่านั้นหลายครั้งต้องขออนุญาตจากเจ้าตัวหรือต้นสังกัดเสียก่อน การลงแบบปาปารัสซี่นั้นก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สื่อเหล่านี้โดนฟ้องง่ายกว่าหลายประเทศทั่วโลก

 

มันคงจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน

การไม่เปิดเผยตัวยังเป็นอะไรที่สังคมญี่ปุ่นใช้งานมันมากกว่าหลายๆ ประเทศทั่วโลก แม้แต่การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในญี่ปุ่นก็ยังนิยมจะไม่ลงชื่อหรือสมัครชื่อจริง ทำให้เว็บอย่าง Facebook ไม่สามารถเจาะตลาดญี่ปุ่นได้อย่างสมบูรณ์ (คนที่ใช้มักจะเป็นคนที่มีการติดต่อกับคนต่างชาติ หรือถ้าเล่นกันเองในประเทศก็ยากที่พวกเขาจะลงรูปคนแม้แต่รูปตัวเอง)

และก็คงจะเป็นเรื่องปกติอีกหลายสิบปีที่เราอาจจะไม่ได้เห็นหน้าคนเขียนคนแต่งการ์ตูนที่เราชอบเลย แม้ว่านักเขียนคนนั้นอาจจะจากลาโลกใบนี้ไปแล้วก็ตาม

 

เรียบเรียงจาก – Answerman: Why Do Manga Artists Prefer To Stay Anonymous

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*