Answerman – รางวัลไอสเนอร์คืออะไร?

Share

คำถาม:

รางวัลไอสเนอร์ คือรางวัลอะไร สำคัญอย่างไร? ทำไมถึงมีประกาศทุกครั้งที่งาน Comic-Con ที่ San Diego?

คำตอบ:

รางวัลไอสเนอร์ หรือ Eisner Awards มีชื่อเต็มๆ ว่า Will Eisner Comic Industry Awards เป็นรางวัลสำหรับบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนโดยเฉพาะ และในช่วงหลายปีหลังนักเขียนมังงะชาวญี่ปุ่นก็มักจะได้รับรางวัลจากงานนี้ ถ้าไม่ใช่รางวัลหนังสือการ์ตูนยอดเยี่ยมประจำปี ก็จะมีข่าวชื่อของนักเขียนชื่อดังที่จะได้ไปประดับชื่ออยู่ในหอเกียรติยศของรางวัลนี้ แต่กว่าที่รางวัลนี้จะมาเป็นมาตรฐานระดับที่พอจะบอกได้ว่าเป็น ‘รางวัลออสการ์ของอุตสาหกรรมการ์ตูนในอเมริกา’ รางวัลนี้ก็ผ่านอะไรมาหลากหลายที่เราจะมาเสริมรายละเอียดให้กับคำตอบของคำถามในวันนี้

ก่อนจะมาเป็น Eisner Awards เคยมี Kirby Awards มาก่อน

Will Eisner กับภรรยา Ann / ภาพจาก – https://www.comic-con.org

แนวคิดการแจกรางวัลให้กับบุคลากรในวงการการ์ตูนมีมานานแล้วในอเมริกา ความจริงแล้วรางวัลในลักษณะนี้ที่เปิดแจกเป็นรางวัลแรกคือรางวัล Shazam Awards แต่รายการดังกล่าวได้ปิดตัวลงไปในปี 1975 และการแจกรางวัลก็เว้นวรรคไปหลายปี จนกระทั่งปี 1985 ที่นิตยสาร Amazing Heroes ได้ตัดสินใจจะเป็นสปอนเซอร์ให้การแจกรางวัลแล้วก็ก่อตั้งรางวัล Kirby Awards หรือ Jack Kirby Comics Industry Award ขึ้นมาในปี 1985 โดยให้ผู้ที่ต้องการโหวตต้องเอาฉลากที่แนบในนิตยสารแล้วโหวตผู้ชนะที่ต้องการแล้วส่งไปทางทีมงาน ก่อนที่จะมีการประกาศรางวัลในงาน Comic-Con International: San Diego

รางวัลถูกตั้งชื่อตาม แจ็ค เคอร์บี้ (Jack Kirby) นักวาดการ์ตูนที่ถือว่าเป็นตำนานในอเมริกาคู่กับ สแตน ลี (Stan Lee) และเมื่อครั้งที่แจกรางวัล ตัวของ แจ็ค เคอร์บี้ ก็จะเป็นผู้มอบรางวัลด้วยตัวเอง รางวัลนี้ถูกแจกอยู่ไม่นานนักแค่ในช่วงปี 1985 – 1987 เนื่องจากทาง เดฟ โอลบริช (Dave Olbrich) บ.ก. ของนิตยสาร Amazing Heroes มีปัญหากับทาง สำนักพิมพ์ Fantagraphics ว่าใครเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการใช้ชื่อรางวัลนี้กันแน่ และผลของการถกเถียงเรื่องนี้ทำให้ ทางสำนักพิมพ์ไปจัดงาน Harvey Award ที่เน้นการแจกรางวัลให้กับหนังสือการ์ตูนอเมริกา

ส่วน เดฟ แยกมาจัดงาน Eisner Awards นับตั้งแต่ปี 1988 ที่แรกเริ่มก็เน้นการแจกรางวัลให้กับหนังสือการ์ตูนภายในอเมริกาเช่นกัน ก่อนที่รางวัลจะมั่นคงขึ้นและเริ่มแจกรางวัลให้กับบุคลากรในวงการหนังสือการ์ตูนจากประเทศอื่นๆ ที่มีการตีพิมพ์ฉบับอเมริกาออกมาในภายหลัง

 

30 ปีของการแจกรางวัล กับการค่อยๆ เปิดพื้นที่ให้การ์ตูนจากซีกโลกตะวันตก

หลังจากที่รางวัลถูกแยกออกมาเป็น รางวัลไอสเนอร์ แล้ว ทางเดฟ โอลบริช ก็ยังใช้แพทเทิร์นเดียวกันกับก่อนหน้า โดยการตั้งชื่อรางวัลตาม วิลล์ ไอสเนอร์ (Will Eisner) หนึ่งในกลุ่มนักเขียนการ์ตูนยุคแรกของสหรัฐอเมริกา ผู้สร้างผลงาน The Spirit และทำให้คำว่า ‘Graphic Novel’ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งตัวของ วิลล์ ไอสเนอร์ ก็มามอบรางวัลให้ผู้ชนะรางวัลทุกปี จนกระทั่งนักเขียนท่านนี้เสียชีวิตไปในช่วงต้นปี 2005

ในช่วงปี 1988-1989 นั้นการแจกรางวัลไม่ได้ประกาศในงาน Comic-Con International: San Diego และในปี 1990 ก็มีการงดมอบรางวัลไปหนึ่งครั้งอันเป็นผลพวงจากการที่คะแนนโหวตมีปัญหา ก่อนที่ตัวงานจะมีการสลับสับเปลี่ยนให้ แจ็คกี้ เอสทราด้า (Jackie Estrada) มาเป็นประธานคณะกรรมการการจัดงานและตัวงานก็ได้ย้ายมาประกาศผลงานในงาน Comic-Con International: San Diego ตั้งแต่ปี 1991 มาจนถึงตอนนี้

ในด้านการแจกรางวัล ตอนแรกๆ รางวัลไอสเนอร์ก็ไม่ต่างกับรางวัลสายอุตสหากรรมหนังสือการ์ตูนอื่นๆ ในอเมริกาที่เน้นการมอบรางวัลให้กับผลงานภาษาอังกฤษเป็นหลัก เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อปี 1998 ได้มีการเปิดรางวัลสาขา Best U.S. Edition of International Material ที่ทำให้นักเขียนการ์ตูนนอกอเมริกาได้มีโอกาสได้สร้างชื่อบนเวทีนี้และในปีนั้นที่ผลงานเรื่อง Gon (ใช่ครับเจ้าตัวเหลืองๆ คล้ายไดโนเสาร์นั่นล่ะ) ก็ได้รับรางวัล Best U.S. Edition of Intern ational Material พร้อมกับ Best Humor Publication ทำให้ผลงานมังงะแสดงประกายโดดเด่นออกมา

Ototo No Otto ผู้ชนะรางวัล Best U.S. Edition of International Material – Asia ประจำปี 2018

หลังจากนั้นมังงะญี่ปุ่นก็ได้รับรางวัลในสาขา Best U.S. Edition of Intern ational Material เป็นระยะๆ อย่างเช่น Star Wars: A New Hope – Manga (1999), ฤทธิ์ดาบไร้ปรานี (2000), ซามูไรพ่อลูกอ่อน (2001), Akira (2002), Buddha ของอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ (2004-2005) ด้วยปริมาตรมังงะที่ตีตลาดโลกมากขึ้น ทางรางวัลไอสเนอร์จึงจัดรางวัลแยกขึ้นมาเป็น Best U.S. Edition of International Material – Japan ในปี 2007 ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็น Best U.S. Edition of International Material – Asia ในปี 2010 ที่ไม่ได้รับเฉพาะมังงะจากญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการ์ตูนจากชาติอื่นในเอเซียอย่างจีน, เกาหลี ฯลฯ ได้มีโอกาสได้รับรางวัลอันทรงเกียรติด้วย

ผลงานของอาจารย์ทากาฮาชิ รูมิโกะ นักเขียนญี่ปุ่นที่ได้ลงชื่เข้าสู่หอเกียรติยศรรางวัลไอสเนอร์ในปี 208

อีกหนึ่งรางวัลสำคัญของรางวัลไอสเนอร์ก็คือ หอเกียรติยศของรางวัลไอสเนอร์ (The Will Eisner Award Hall of Fame) ที่จะบรรจุชื่อบุคลการสำคัญสำหรับวงการการ์ตูนเอาไว้ ที่ในช่วงแรกก็ไม่ต่างกับในส่วนของรางวัลที่ตั้งใจอุทิศพื้นที่ให้กับบุคลากรชาวอเมริกามากกว่า หรือถ้าเป็นคนชาติอื่นก็จะเป็นคนที่เขียนการ์ตูนในอเมริกาแต่ไม่ได้เกิดบนพื้นดินอเมริกาเท่านั้น แต่เรื่องนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปในปี 2002 เมื่อทางคณะกรรมการของรางวัลไอสเนอร์ได้ตัดสินใจให้นำชื่อของ อาจารย์เทะสึกะ โอซามุ เข้าสู่ หอเกียรติยศของรางวัลไอสเนอร์ ทำให้นักเขียนการ์ตูนชาติอื่นๆ มีโอกาสได้ถูกจดจำในฐานะนักวาดการ์ตูนที่สร้างประวัติศาสตร์ รางวัลในส่วนหอเกียรติยศนี้จะต่างกับรางวัลหลักเล็กน้อย ตรงที่คนทั่วไปสามารถส่งชื่อบุคลากรในอุตสาหกรรมการ์ตูนให้กับทางคณะกรรมการไปใช้ตัดสินได้ด้วย อาทิ กรณีของอาจารย์ทากาฮาชิ รูมิโกะ ที่ได้รับรางวัลนี้ได้ปี 2018 ก็เป็นรายชื่อที่ได้มาจากการโหวตของบุคคลทั่วไปนั่นเอง

ความสำคัญของรางวัลไอสเนอร์ในปัจจุบัน

ภาพจาก – https://www.comic-con.org

เดิมทีรางวัลไอสเนอร์งานประกาศรางวัลแล้วมอบให้ ก็ถือว่าจบไป ก่อนที่ตัวงานได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นเชิงงานเลี้ยงที่มีท้ังการมอบรางวัลไอสเนอร์ และรางวัลเกียรติยศอื่นๆ อย่าง Inkpot Award และจากเดิมที่ตัวงานนั้นเหมือนจะเป็นพื้นที่ของคนในอุตสาหกรรมทำหนังสือ ก็กลายเป็นไฮไลท์หนึ่งที่มีคนติดตามในงาน Comic-Con International: San Diego ไม่แพ้พาเนลของค่ายหนังดังๆ และที่สำคัญตัวหนังสือที่ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นการคัดเลือกจากผู้ชำนาญการหลายท่าน ก็เป็นการยืนยันต่อผู้อ่านว่า หนังสือที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ย่อมต้องมีดีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาของเรื่อง หรือบางทีอาจจะเป็นด้านแพคเกจจิ้งที่ชวนให้สะสมเก็บเอาไว้เป็นอาทิ

และด้วยการปรับเปลี่ยนของรางวัลในช่วงหลายปีหลังที่มีผลงานทั้งสายแมส, สายอินดี้ และเปิดรับผลงานจากหลายๆ ชาติมากขึ้น (ขอให้ตีพิมพ์ในอเมริกาเป็นพอ) เรื่องเหล่านี้นั้นทำให้ตัวรางวัลไอสเนอร์มีความใกล้เคียงรางวัลออสการ์มากขึ้น ส่งผลให้บุคลากรที่เหนื่อยยากกับการเข็นงานเหล่านั้นออกมาก็จะได้รับความชื่นชม และนักอ่านทั่วโลกหลากสไตล์สามารถติดตามรางวัลไอสเนอร์ได้อย่างสบายใจมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนดังจากซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออกก็มีสิทธิ์คว้ารางวัลดังกลับบ้านไปได้นั่นเอง

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*