Answerman – อะไรหรือใครที่แบ่งประเภทมังงะเป็น โชเน็น หรือ โชโจ ?

Share

Juno016 ถาม:

มังงะ (รวมถึงสื่ออื่น) เขาแบ่งกลุ่มแยกประเภทยังไงหรือคะ ? อย่างพวก “โชโจ” กับ “โจเซย์” แล้วก็กลุ่มอื่นๆ อื่น เห็นอยู่ชัดๆว่า มีบางเรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่ระหว่างหลายประเภท แต่ว่าในญี่ปุ่นเขามีวิธีการแบ่งรทุกๆ กลุ่ม (หรือเกือบทุกกลุ่ม) บ้างไหม ? มีวิธีการแบบทางการในการแบ่งประเภทไหม หรือจะมีวิธีการที่ไม่มีคำอธิบายแต่คนส่วนใหญ่ก็รู้กันในการแบ่งแยกประเภทของการ์ตูน ?

Answerman ตอบ:

ต้องเข้าใจก่อนว่ามังงะมีประเภทไหนบ้าง  หากแบบแบบง่ายๆ ประเภทมังงะก็คงจะเป็นเช่นนี้ โชเน็น (Shonen) สำหรับเด็กผู้ชาย โชโจ (Shojo) สำหรับเด็กผู้หญิง เซย์เน็น (Seinen) สำหรับผู้ใหญ่เพศชาย โจเซย์ (Josei) สำหรับผู้ใหญ่เพศหญิง และ งานสำหรับเด็ก (Kodomo-muke)

สมัยนี้การจะฟันธงว่ามังงะเป็นแนวไหนจากการดูแต่สภาพภายนอก  หรือ เอาแค่ดูจากลายเส้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก อย่าง มังงะโชเน็นหลายเรื่องก็ตั้งใจออกแบบเอามาเอาใจนักอ่านผู้หญิงอย่างเรื่อง Prince Of Tennis หรือ Kuroko No Basket, มังงะที่ดูเป็นโชโจก็สามารถบู๊ดุเดือดได้อย่างผลงานของ Clamp หรืองานของ อาจารย์วาดะ ชินจิ, ปัจจัยที่ทำให้มังงะเป็นแนวผู้ใหญ่จนกลายเป็นแนว โจเซย์ หรือ เซย์เน็น ก็มีประเด็นเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนบ้างนัก อย่าง Berserk ที่หลายคนก็ยังมองว่าเป็นแนวโชเน็นแต่อยู่ในโทนดาร์คแฟนตาซี แล้วก็ยังมีนักเขียนหลายๆ คนที่ทำงานหลายๆ แนวแตกต่างกันไปตามช่วงวัยในการทำงาน

ถึงเส้นจะหวานแหวว แต่มังงะเรื่องนี้ถูกจัดอยู่ในประเภท Seinen / ภาพจาก – Amazon.com

แต่การแบ่งแยกว่า มังงะ (หรือไลท์โนเวล ที่สุดท้ายโดนดัดแปลงมาเป็นอนิเมะ) ขึ้นอยู่กับว่า นิตยสารตั้งต้นที่ผลงานเหล่านั้นลงตีพิมพ์อยู่เป็นนิตยสารแนวใด ตัวอย่างเช่น : คุณอาจจะบอกกับคนอื่นว่า “เนี่ย ฉันดูอนิเมะเรื่อง เส้นทางชีวิต ลิขิตหัวใจ (Koi Wa Ameagari No You Ni) มาแหละ มันเป็นแนวโชโจ แน่ๆ เลย” ด้วยสไตล์เส้นสวยๆ และวาดดวงตาของตัวละครแบบวิ้งวับแถมยังเป็นเรื่องราวรักหวานแหวว แต่คุณอาจจะถูกใครสักคนสะกิดบอกว่า “จริงๆ เส้นทางชีวิต ลิขิตหัวใจ เป็นมังงะแนวเซย์เน็นต่างหาก เพราะว่ามันตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารแนวเซย์เน็น”

สรุปแล้วการแยกประเภทนั้นขึ้นอยู่กับต้นสังกัดที่มาของมังงะ (หรือไลท์โนเวล) แต่ละเรื่องนั่นเอง

เหตุของการแยกประเภท

เหตุผลในการแบ่งแยกประเภทนิตยสารที่ตีพิมพ์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนซื้ออ่านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแบ่งกลุ่มโฆษณาสินค้า ว่าจะเป็นวิดีโอไอดอลหรือเป็นเครื่องสำอาง ซึ่งบรรณาธิการของนิตยสารแต่ละเล่มจะต้องสร้างภาพลักษณ์กับเรื่องราวของนิตยสารให้ไปในทางเดียวกัน ด้วยการให้นักวาดการ์ตูนปรับภาพและเนื้อเรื่องให้สอดคล้องกับสไตล์หรือแนวเรื่องที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่กลุ่มผู้อ่าน และทำให้ซีรีส์ใหม่ๆ ได้รับความนิยม เมื่อซีรีส์ได้รับความนิยมก็จะทำให้โฆษณาเข้ามาสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่อ่านเป็นการต่อไป

ปกของนิตยสารจัมพ์ในแต่ละยุคที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มเป้าหมายที่พวกเขาอยากจะขาย

ความต้องการแบบที่กล่าวไปนั้นทำให้การแบ่งประเภทของมังงะแบ่งแยกได้ยากขึ้นอีกขั้น โดยเฉพาะนิตยสารเล่มอย่าง Shonen Jump ที่ต้องการกระจายกลุ่มผู้อ่านให้มากที่สุด (จากเดิมที่เน้นให้เด็กชายวัยเรียนอ่าน หลังๆ ก็ปรับให้อ่านได้ทั้งชายหญิงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนปลาย) และพยายามเพิ่มยอดขายยอดตีพิมพ์รายสัปดาห์ให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยอดเหล่านี้ลดลงไปเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผันเปลี่ยนไป จนพอจะบอกได้ว่าอีกหน่อย มังงะอาจจะยังมีชีวิตรอดต่อไปได้อยู่ แต่ประเภทของนิตยสารจะแยกยากขึ้นอีก

 

ปัญหาของการแบ่งประเภท

ระบบการแบ่งแยกประเภทของ มังงะ, อนิเมะ และ ไลท์โนเวลนั้นค่อนข้างจะตกยุคไปแล้ว แต่เพราะเดิมทีก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มนี้เคยถูกแบ่งขายแบบนั้นมาโดยตลอด และยังมีการ์ตูนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจขายแบบระบุเพศของลุ่มลูกค้าอยู่ แต่การแยกประเภทหนังสือตามเพศของผู้อ่าน โดยเฉพาะในฝั่งการ์ตูนก็ทำให้เกิดความน่าเสียดายที่การ์ตูนดีๆ ส่วนหนึ่งไม่มีวันไปถึงผู้อ่านอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างเช่น นักอ่านเพศชายก็มักจะเลี่ยงมังงะแนว โจเซย์ ที่มีเส้นพลิ้วไหวไปก่อนแม้ว่าเรื่องราวจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งก็ตามที

Answerman คาดหวังว่าในอนาคตเราจะสามารถหาระบบการแบ่งแยกการ์ตูนที่ดีกว่าการแยกด้วยเพศและอายุ เฉกเช่นเดียวกับปัญหาความเท่าเทียมกันทางเพศในเรื่องอื่นๆ แต่ว่ากันตามตรง ตอนนี้เราก็ยังไมมีวิธีการที่ดีกว่านี้ในการแยกประเภทการ์ตูนแล้ว อาจจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้อ่านหรือสื่อที่ต้องแนะนำมังงะเรื่องที่ดีเข้าสู่ผู้อ่านโดยไม่ต้องใส่การแบ่งประเภทตามเพศต่อไป

 

สรุปความจาก – Answerman: What Makes A Manga Shonen Or Shoujo?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*