Answerman – เป็นปกติหรอกเหรอที่อาจารย์ผู้เขียนมังงะ จะมีผู้ช่วยที่ไม่ได้รับเครดิตมาช่วยงาน?

Share

คำถาม:

เป็นเรื่องปกติของฝั่งมังงะหรือเปล่าที่ทีมงานหรือผู้ช่วยจะไม่ได้รับเครดิต? แล้วถ้าสมัยนี้เขาไม่ให้เครดิตจริงๆ คนอ่านทั่วไปคิดยังไงกันบ้างเนี่ย?

คำตอบ:

อย่างแรกเลย ผู้ช่วย ไม่เคยถึงขั้นไม่ได้รับเครดิตใดๆ เลยนะ ขณะที่คนอ่านรายสัปดาห์อาจจะไม่ได้เห็นการขอบคุณทีมงานเท่าไหร่ แต่ถ้าซื้อฉบับรวมเล่มจะเห็นอยู่เป็นประจำว่า นักเขียนมังงะแทบทุกคนจะถือโอกาสยกหน้าหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นหน้าแถมท้ายเล่มในการลงชื่อขอบคุณทีมงาน แล้วหลายเล่มก็มักจะให้ผู้ช่วยเขียนหน้าของตัวเองลงไป รวมไปถึงว่าผู้ช่วยยังถูกพูดถึงบ่อยๆ ในส่วนหน้าที่บอกกล่าวถึงชีวิตประจำวันของตัวนักเขียนในพื้นที่หน้าแถม ถ้ามีโอกาส ตัวอย่างที่น่าจะเห็นได้ชัดๆ ดังเช่น ช่วง SBS ของเรื่อง One Piece หรือถ้าในมังงะสายโชโจ ก็จะมีช่องที่คนเขียนเกริ่นเรื่องกับขอบคุณผู้ช่วยอยู่เป็นเรื่องปกติธรรมดา

ที่หลายๆ ครั้ง ดูเหมือนว่าพวกนักเขียนจะไม่ให้เครดิตอะไรผู้ช่วย ก็เพราะกลุ่มผู้ช่วยนั้นนิยมจะใช้นามปากกา หรือไม่ก็ ชื่อเล่น ที่ถูกเรียนในที่ทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของนักเขียนมังงะที่พยายามโลว์โปรไฟล์ตัวเอง และการเลือกใช้ชื่อปลอมแบบนั้น ก็ถือว่าเป็นความต้องการส่วนหนึ่งจากตัวเหล่าผู้ช่วยเองด้วย

ระเบิดพร้อมโลโก้กลุ่มโจรสลัดหมวกฟางที่โผล่ใน ซามูไรพเนจร / ภาพจาก –
http://onepiece.wikia.com/

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอีกมากที่นักเขียนกับผู้ช่วยมีความไว้เนื้อเชื่อใจ และมีความรู้สึกขอบคุณกันและกันอย่างชัดเจน จนมีการส่งงานให้ผู้ช่วยได้วาดต่อ ตัวอย่างอาทิ อาจารย์อาโอยาม่า โกโช ที่ให้ อาจารย์ ยามางิชิ เอย์จิ ผู้ช่วยที่ไว้ใจ มา Detective Conan โคนัน ภาคพิเศษ, อาจารย์อิเคโมโตะ มิกิโอะ ผู้วาด โบรูโตะ ก็เป็นผู้ช่วยของอาจารย์คิชิโมโตะ มาซากิ ที่เป็นผู้เขียน นารูโตะ นินจาคาถาโอ้โหเฮะ มาอย่างยาวนาน ซึ่งผู้เขียนเรื่องหลักทั้งสองเรื่องก็เคยโปรโมทผลงานและระบุว่าผู้ช่วยทั้งสองคนเป็นนักวาดที่พวกเข้าไว้ใจได้มาก หรือถ้าย้อนไปดูมังงะยุคก่อนหน้านี้ อย่าง อาจารย์โอดะ เออิจิโร่ ผู้เขียน One Pieece กับ อาจารย์ทาเคอิ ฮิโรยูกิ ผู้เขียน Shaman King ต่างเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์วาทสึกิ โนบุฮิโระ ซึ่งตัวอาจารย์วาทสึกิเคยวาดโลโก้กลุ่มโจรสลัดหมวกฟางเข้าไปในเรื่อง ซามูไรพเนจร และกล่าวชื่นชมอาจารย์ทาเคอิในหน้าแถมอยู่หลายครั้ง เป็นอาทิ

และถ้าถามว่านักเขียนมังงะทุกคน มีผู้ช่วยไว้ใช้งานหรือไม่ คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับสภาพเนื้องาน ผลงานของนักเขียนบางคนอาจจะต้องการแค่ให้เพื่อนแวะเวียนมาช่วยงานในช่วงที่งานหนักๆ แต่นักเขียนบางคนก็ต้องเปิดออฟฟิศให้ผู้ช่วยมานั่งทำงานกันอย่างเต็มรูปแบบ กระนั้นก็พอจะพูดได้ว่า งานผู้ช่วยนักเขียนมังงะถือว่าเป็นงานที่ไม่แปลกหูแปลกตาสำหรับประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุุ่มนักเขียนรายสัปดาห์ที่ต้องปั่นงานอย่างน้อยที่สุด 17-20 หน้า ต่อสัปดาห์ และอาจจะต้องปล่อยพลังมากว่านั้นเมื่อถึงคราวจำเป็น การมีผู้ช่วยจึงเป็นเรื่องที่ขาดเสียไม่ได้

ตัวอย่างมังงะที่ทำให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยดีกับการมีอยู่ของอาชีพผู้ช่วย / ภาพจาก – Facebook Fanpage: Siam Inter Comics

ส่วนคำถามที่ว่า ‘คนอ่านทั่วไปคิดยังไงกันบ้าง’ เกี่ยวกับผู้ช่วยนักเขียนมังงะ เราคงตอบแบบชัดเจนไม่ได้ว่าผู้คนทั้งหมดคิดอย่างไร แต่สำหรับคนที่ตามอ่านมังงะรายสัปดาห์ ตามสะสมแบบรวมเล่มเป็นประจำ พวกเขาจะคุ้นเคยกับระบบผู้ช่วยนี้อยู่แล้ว และพวกเขาก็เข้าใจดีว่าการวาดมังงะนั้นกินแรงและเวลามากกว่าที่คาด ทั้งยังเป็นการยากที่นักวาดจะซัดงานเองด้วยตัวคนเดียวในการเขียนมังงะลงนิตยสารรายเดือนหรือรายสัปดาห์ ดังนั้นถ้าผู้ช่วยสามารถช่วยปิดงานให้ทันออกตีพิมพ์ตามตารางเวลาได้นั้นเป็นเรื่องที่ดีและน่าขอบคุณอย่างมาก ในขณะเดียวกันการที่ผู้ช่วยมาทำงานกับนักเขียนมังงะมืออาชีพก็เป็นการฝึกตนให้เข้าใจการเขียนงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมมังงะมากขึ้น ทั้งยังบันไดก้าวแรกสู่การพัฒนางานตัวเองเตรียมไว้ตีพิมพ์ในเวลาต่อๆ ไป

มังงะของ Shunsuke Kakuishi ที่ผลักดันเรื่องการจ่ายค่า O.T. ให้ผู้ช่วยนักเขียน จนกลายเป็นกระแสสังคมในหมู่นักเขียนมังงะขึ้นมาในช่วงต้นปี 2018

จริงอยู่ว่าในช่วงสองสามปีให้หลังนี้ มีอดีตผู้ช่วยออกมาพูดถึงปัญหาการได้รับค่าจ้างไม่ยุติธรรมบ้าง หรือใช้แรงงานเกิดกฎหมายกำหนดบ้าง แต่จากการที่อดีตผู้ช่วยเหล่านั้นยังได้รับการสนับสนุนจากนักเขียนที่ตัวเองเคยเป็นผู้ช่วยมาก่อน นั่นย่อมหมายถึงว่าผู้ผลิตงานในอุตสาหกรรมนี้กำลังพยายามที่จะแก้ปัญหาการทำงานหนักจนเกินไปที่ค้างคามานานจนกลายเป็นความเคยชิน ให้กลายเป็นการทำงานที่แฟร์ต่อทุกภาคส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ

และวัฒนธรรมนี้ยังเป็นวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยความที่ว่าถ้าเป็นประเทศอื่นๆ นักเขียนอาจจะยังไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะจ้างผู้ช่วยอย่างจริงจังแบบญี่ปุ่น หรือ ฝั่งอเมริกาก็มีความเป็นผู้ช่วยที่แตกต่างจากฝั่งญี่ปุ่นอยู่ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยแบบไหน พวกเขาก็สมควรชื่นชมกลุ่มนักเขียนผู้ช่วยเหล่านั้นที่ช่วยผลักดันให้งานการ์ตูนเรื่องต่างๆ ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าไม่มีพวกเขา พวกเราที่เป็นคนอ่านก็อาจจะไม่ได้รับชมงานที่สนุกๆ เช่นกัน ขอบคุณพวกคุณทุกคนมากๆ ครับ

เรียบเรียงจาก: Answerman – Is It Common For Mangaka To Have A Lot Of Uncredited Assistants?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*