ปัญหาค่าแรงบุคลากรในอุตสาหกรรมอนิเมะที่ต่ำเกินไปนั้นกลายเป็นประเด็นที่ถูกจดจำได้ในระดับนานาชาติ และประเด็นดังกล่าวก็ได้ถูกยกมาพูดถึงในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2022 เมื่อคุณ Moriyama Hiroyuki สมาชิก พรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หรือ CDP ได้ตั้งกระทุ้ถามว่า ‘ผมได้รับทราบเรื่องของค่าจ้างอนิเมเตอร์ในประเทศจีนนั้น มีมูลค่าสูงกว่าประเทศญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ทราบว่าสมาชิกในที่ประชุมได้รับทราบเรื่องนี้แล้วหรือไม่’
เพื่อตอบกระทู้คำถามนี้ ทางโฆษกรัฐบาลจึงได้ยกเอารายงานของ สมาคมผู้สร้างงานอนิเมชั่นญี่ปุ่น (Japan Animation Creators Association – JAniCA) ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 2019 ที่ระบุว่า รายได้เฉลี่ยของอุตสาหกรรมอนิเมะญี่ปุ่น มียอดเพิ่มขึ้น แต่ภายในรายงานดังกล่าวก็ระบุเช่นกันว่า กลุ่มบุคลากรในช่วงอายุ 20 ปี เป็นกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
โฆษกรัฐบาลยังได้กล่าวว่า เพื่อรับมือปัญหาข้างต้นทาง สำนักงานวัฒนธรรม ภายใต้สังกัด กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของประเทศญี่ปุ่นได้ทำการลงทุนในโครงการอบรมที่ตั้งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีทักษะที่อายุน้อยแล้ว คุณ Moriyama Hiroyuki ได้โต้กลับในประเด็นดังกล่าวว่า แม้ว่ารายได้ภาพรวมของบุคลากรในอุตสาหกรรมอนิเมะจะเพิ่มขึ้นจริง แต่รายได้ขั้นต้นสำหรับคนทำงานในวัย 20 ปีตอนต้นนั้น ก็ยังต่ำอยู่ในระดับ 1,100,000 เยน ต่อปี (ประมาณ ปีละ 311,000 บาท) และยังเรียกร้องให้ทาง Cool Japan จัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง
ทวิตเตอร์ทางการของพรรค CDP ยังได้ทำการโพสท์คลิปของการโต้คารมในประเด็นดังกล่าวเอาไว้ด้วย
คุณ Irie Yasuhiro ผู้กำกับอนิเมะ Fullmetal Alchemist: Brotherhood และเป็นตัวแทนของทาง JAniCA ได้แสดงความเห็นของประเด็นการพูดคุยในการประชุมคณะรัฐมนตรีข้างต้น ด้วยการชี้ประเด็นไปที่ว่า ‘รายได้เฉลี่ยต่อปี’ ที่อยู่ในรายงานของ JAniCA ที่ถูกยกมาอ้างอิงนั้น นับรวมเอารายได้ของคนทำงานกลุ่ม ผู้กำกับ และ โปรดิวเซอร์ ด้วย แต่มุมมองของทาง JAniCA อยากให้มองปัญหาไปที่กลุ่ม อนิเมเตอร์ที่ทำการวาดภาพ In-Between กับ คีย์อนิเมเตอร์ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่หนึ่งล้านเยนมากกว่า
อย่างไรก็ตาม คุณ Irie ก็มองว่า การได้นำรายได้บุคลากรทั้งอุตสาหกรรมอนิเมะมาเทียบเคียงกันเป็นเรื่องที่เหมาะสมและหวังว่าทาง JAniCA จะสามารถทำงานเพื่อส่งมอบข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมผ่านการสำรวจครั้งต่อไปในอนาคต
และคุณ Irie ยังได้ระบุว่า ‘เนื่องจากคนทำงานและบริษัทผู้ผลิตอนิเมะ เริ่มรู้สึกถึงอันตราย รวมถึงมีความเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้ของกลุ่มอนิเมเตอร์ การปฏิรูป(ด้านรายได้)จึงสามารถเริ่มต้นขึ้นได้ แต่มันยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องทำต่อไปครับ’
สำนักงานวัฒนธรรม ของประเทศญี่ปุ่น เคยเปิดโครงการ ‘Young Animator Training Project’ ในปี 2010 ที่ตั้งเป้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมอนิเมชั่นของญี่ปุ่น และแก้ปัญหาในเรื่องของความกังวลในการผลิตอนิเมชั่นเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ ผลงานจากโครงการนี้ได้แก่ Little Witch Academia, Death Billiards (ที่ถูกพัฒนาเป็นอนิเมะ Death Parade ในภายหลัง) และ Ongaku Shojo
ตัวโครงการอบรม Young Animator Training Project ที่เน้นการฝึกฝนอนิเมเตอร์รุ่นใหม่นี้ เดิมทีเคยรู้จักกันในชื่อว่า ‘Anime Mirai’