นักข่าวนักสายอุตสาหกรรมอนิเมะในญี่ปุ่นชวนตั้งคำถาม ว่าอนิเมะจากญี่ปุ่นอาจมีภาวะไม่ทันโลกภายนอก ?

Share

คุณ Sudo Tadashi นักข่าวสายอุตสาหกรรมอนิเมะและนักวิเคราะห์ได้เขียนบทความลงบทเว็บไซต์ ITMedia เมื่อวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม ปี 2020 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับปัญหาที่อุตสาหกรรมอาจจะเผชิญหน้าอยู่ในช่วงที่พยายามบุกตลาดโลก ใจความสำคัญของบทความดังกล่าวก็คือคำถามที่ว่า ‘อุตสาหกรรมอนิเมชั่นของญี่ปุ่นได้รับผลร้ายจาก กาลาปากอสซินโดรม (Galápagos Syndrome) อยู่หรือเปล่า?’

กาลาปากอสซินโดรม เป็นศัพท์ที่ชาวญี่ปุ่นใช้เรียก สินค้าที่มีขายทั่วโลกแต่มีพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีการพัฒนาสินค้าขึ้นมาเฉพาะไม่เหมือนกับชาวโลก คล้ายเคียงกับการที่เกาะกัลลาปากอส มีสัตว์ป่ากับพืชพรรณ แบบ เต่ายักษ์กัลลาปากอส ที่เจอได้เฉพาะบนเกาะเท่านั้นอยู่ แต่ในแง่ธุรกิจนั้นอาการคนี้งอาจจะเป็นผลดีหรือผลร้ายกับสินค้าก็ได้

อย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีคนใช้ฟีเจอร์โฟน (โทรศัพท์ฝาพับ) อยู่มาก แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวทั่วโลกจะใช้สมาร์ทโฟนกันหมดแล้ว

คุณ Sudo ได้เปิดประเด็นว่า ด้วยสไตล์ของภาพที๋โดดเด่น ทำให้อนิเมะจากประเทศญี่ปุ่นได้รับความนิยมและถูกส่งไปขายนอกประเทศนับตั้งแต่ช่วงปี 1960 ที่มีผลงานเด่นอย่าง เจ้าหนูปรมาณู ในช่วงปี 1990 มี Akira กับ Ghost In The Shell ที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดความโดดเด่นเฉพาะตัวของอนิเมะ และทำให้กระแสความนิยมของอนิเมะยังเติบโตต่อมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผันผ่านไป หลายประเทศก็เริ่มผลิตผลงานอนิเมชั่นที่ลักษณะใกล้เคียงกับอนิเมะจากญี่ปุ่นมากขึ้น แทนที่อนิเมะจากญี่ปุ่นจะทำการตั้งมาตรฐานใหม่ให้กับชาวโลกในอนาคต อย่างที่ ฮอลลีวูด หรือ ดิสนีย์ ทำได้ในอดีต มาตอนนี้อนิเมะของญี่ปุ่นที่เคยได้รับผลดีจากจากกาลาปากอสซินโดรม เริ่มจะได้รับผลเสียหายจากอาการดังกล่าวเพราะ งานอนิเมชั่นจากชาติอื่นๆ นอกจากญี่ปุ่นอาจจะตอบสนองความต้องการของผู้ชมทั่วโลกมากกว่า

สิ่งที่คุณ Sudo นำเสนอไว้ในบทความต่อจากนั้นก็คือ สิ่งที่อนิเมะจากญี่ปุ่นควรจะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สไตล์ภาพ หรือเนื้อหาที่ต้องปรับให้โดนใจผู้ชมทั่วโลก แต่จุดใหญ่ที่สุดที่อนิเมะญี่ปุ่นควรปรับเปลี่ยนก็คือการสร้าง ความหลากหลาย (Diversity) ให้เพิ่มมากขึ้น และต้องเปิดรับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างชาติมากขึ้น ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้วัฒนธรรมของคนอื่นที่คุณ Sudo ยกมาบอกเล่า ก็คือฉากที่ OVA โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ ฉบับปี 1993 ซึ่งมีฉากดีโออ่านหนังสือ แต่ทีมงานผู้ผลิตอนิเมะได้ใส่เนื้อหาของคัมภีร์อัลกุรอานเข้าไปจนทำให้ทาง Shueisha ที่เป็นต้นสังกัดของมังงะต้นฉบับต้องออกแถลงการณ์ขอโทษในปี 2008

‘มันเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะรับรู้ว่ามีผู้คนจำนวนมากรับชมอนิเมะในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และคนดูเหล่านั้นก็มีพื้นเพภูมิหลังที่หลากหลายแตกต่างกันไป’ คุณ Sudo ยังเขียนต่อไปว่า ‘มีบางสิ่งที่เป็นข้อห้ามที่คนญี่ปุ่นอาจจะไม่รับทราบมาก่อน และพวกเราควรจะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้ถี่ถ้วนมากขึ้น’

คุณ Sudo ยังได้พูดถึงอีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญก็คือ ความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness) อย่าง การหลีกเลี่ยงการแสดงความรุนแรงต่อเด็กในสื่อ, การนำเสนอบทบาททางเพศให้เท่าเทียม, และการลบล้างอคติต่อ เพศ วัย และ เชื้อชาติ เรื่องเหล่านี้ คุณ Sudo มองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความหลากหลายของผู้คนบนโลก แต่เกิดจากช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องที่เคยทำได้ในสมัยก่อน มาถึงในยุคนี้อาจจะไม่ควรทำต่อไปแล้วก็ได้ ซึ่งคุณ Sudo ยังมองว่าจุดนี้เป็นประเด็นที่แยกออกจาก การบุกสู่ตลาดโลก และ กาลาปากอสซินโดรม

ประเด็นต่อมาที่คุณ Sudo ชี้เป้า ก็คือในขณะที่มีคนญี่ปุ่นอาจจะกังวลกับสไตล์เฉพาะตัวของอนิเมะ แต่ตอนนี้โลกได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แทนที่จะกังวลว่างานจะขายไปต่างประเทศได้หรือไม่ อนิเมะจากญี่ปุ่นก็ได้ก้าวข้ามกำแพงทางวัฒนธรรม และทำให้ตอนนี้หลายประเทศเริ่มสร้างงานอนิเมชั่นที่ได้รับอิทธิพลจากอนิเมะแล้ว ซึ่งคุณ Sudo ได้ยกตัวอย่างว่า หัวข้อ ‘อนิเมะ’ ของทาง Netflix ในตอนนี้ ไม่ได้เป็นการบอกว่างานชิ้นนั้นผลิตที่ญี่ปุ่น แต่เป็นการบ่งบอกสไตล์ของงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการทำสไตล์ภาพแบบอนิเมะญี่ปุ่น สไตล์เอกลักษณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกเฉพาะตัวอย่างการที่ตัวละครมีดวงตากลมโต ก็กลายเป็นเรื่องที่ผู้สร้างอนิเมชั่นทั่วโลกคุ้นชินไปแล้ว

‘ประเทศญี่ปุ่นไม่ค่อยอยากเปลี่ยน แต่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความเป็นเอกลักษณ์ของอนิเมะญี่ปุ่น ที่เคยโดนมองว่ามีกาลาปากอสซินโดรม ก็ได้กระจายตัวไปทั่วโลก และความเป็นเอกลักษณ์นั้นก็เริ่มเจือจางลงไป’ คุณ Sudo ให้ทรรศนะว่า ‘การที่สไตล์วาดภาพแบบญี่ปุ่นแพร่กระจายไปทั่วโลกถือว่าเป็นสัญญาณแห่งความสำเร็จสำหรับวัฒนธรรมญี่ปุ่น สไตล์นี้เคยมีแค่ญี่ปุ่นที่สร้างได้แต่ตอนนี้ก็มีชาติอื่นทำได้ ซึ่งทำให้การเป็นผู้นำของญี่ปุ่นถูกลดทอนลงและนั่หมายถึงการมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น’

อย่างไรก็ตาม คุณ Sudo ไม่เชื่อว่าอนิเมะจากญี่ปุ่นสูญเสียจุดเด่น แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อนิเมะที่ญี่ปุ่นผลิตจะเริ่มแพ้คู่แข่งจากชาติอื่น และคำว่าอนิเมะจะถูกลดทอนความสำคัญเป็นแค่สไตล์ และสาเหตุที่อาจจะนำมาสู้ผลลัพธ์สุดเลวร้ายนี้ก็คือการที่ความสำเร็จอย่างมากในยุคก่อนหน้านั่นเอง

แล้วอนาคตของอนิเมะญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร? ถ้าหากว่าสไตล์ภาพของอนิเมะแบบญี่ปุ่นได้ก้าวข้ามกำแพงทางวัฒนธรรมไปแล้ว คุณ Sudo แนะนำว่า ฝ่ายสร้างสรรค์และฝ่ายผลิตจากฝั่งญี่ปุ่นสามารถรับผลประโยชน์จากการก้าวข้ามพรมแดนเหล่านี้ได้ คุณ Sudo ได้เสนอแนวทางในการทำอนิเมะร่วมกับกลุ่มสังคมที่รับเอาการสร้างงานแบบอนิเมะไปโดยไม่ต้องสนใจเชื้อชาติที่มาของทีมงานมากขึ้น อย่างที่คุณ Sudo ลงท้ายไว้ว่า

‘เมื่ออนิเมะสามารถยอมรับคนทำงานและวัฒนธรรมจากต่างชาติได้ การผลิตอนิเมะก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดที่ญี่ปุ่น อาจจะเคยมีการสร้างงานระดับนานาชาติที่ล้มเหลว แต่ในกลุ่มผู้สร้างอนิเมะที่ไม่มีความขัดแย้งด้านวิสัยทัศน์แนวทางการผลิตงาน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างทีมจากผู้คนทั่วโลกได้

ความสำเร็จของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเองก็มาจากการแพร่กระจายของวัฒนธรรมอเมริกา และด้วยความสำเร็จที่ชัดเจนจึงทำให้บุคลากรที่มีความสามารถกระหายที่จะไปยังฮอลลีวูด และผู้คนก็ข้ามน้ำข้ามทะเล ทั้งยังนำเอาทำประเพณีของแต่ละคนไปสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ตามแนวทางของตนเอ ณ ที่แห่งนั้น อนิเมะญี่ปุ่นก็สามารถเข้มแข็งขึ้นและเฟื่องฟูมากกว่านี้ได้ ด้วยการเชื่อมโยงเข้าหาบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลก’

Source: ITMedia (Tadashi Sudo) via Renato Rivera Rusco

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*