ผู้เขียน โจสิงห์สังเวียน และ สมาคมนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น ออกมาบอกแฟนๆ ว่าอย่าเข้าเว็บอ่านเถื่อน

Share

เว็บไซต์ข่าว NHK ของทางญี่ปุ่นได้โพสต์ตอนแรกของซีรีส์รายงานข่าวเกี่ยวกับการอ่านมังงะละเมิดลิขสิทธิ์ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา ในรายงานตอนแรกนี้มีความเห็นจากอาจารย์ จิบะ เท็ตสึยะ ผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง โจ สิงห์สังเวียน พร้อมกับแถลงการณ์จากทาง สมาคมนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น หรือ Japan Cartoonists Association (JCA) ที่อาจารย์จิบะ เป็นประธานอยู่ ก่อนที่ทางเว็บไซต์ทางการของ JCA จะขึ้นแถลงการณ์ในเว็บไซต์ของตนเองเมื่อวันพุธที่่ผ่านมา

ในรายงานข่าวขอทาง NHK อาจารย์จิบะ ได้ออกมาสัมภาษณ์ว่า :

“ผมยินดีอย่างยิ่งที่จะมังงะได้ถูกนำไปอ่านในหลายๆ รูปแบบ แต่ถ้าหากอ่านมัน (มังงะ) ในเว็บไซต์เถื่อน มันก็จะไม่มีการออกฉบับรวมเล่ม นิตยสารก็จะขายไม่ได้ และถ้าเกิดเหตุแบบนั้นขึ้น การหาข้อมูล การรวบรวมวัตถุดิบก็จะเป็นไปไม่ได้ แม้ว่านักเขียนจะมีไอเดียที่ดี, มีตัวละครที่ดี และสามารถสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ แต่ในตอนนี้ก็มีนักเขียนมังงะที่ไม่สามารถสร้างผลงานได้อีกต่อไปแล้ว”

อาจารย์จิบะยังได้กล่าวว่าเว็บไซต์อ่านการ์ตูนเถื่อนมีผลต่อนักเขียนยุคใหม่มากกว่า อาจารย์กล่าวว่า นักเขียนหน้าใหม่กำลัง “ตายลงอย่างช้าๆ” เนื่องจากการอ่านเถื่อน ตัวอาจารย์จึงร้องขอนักอ่านไม่ให้อ่านในเว็บไซต์ที่ผิดกฏหมาย

ส่วนแถลงการณ์ของทาง JCA ได้กล่าวถึงการอ่านมังงะแบบละเมิดลิขสิทธิ์ที่ขยายตัวอย่างมากในตลาดดิจิตอล ทางสมาคมได้กล่าวว่าสมาชิกของสมาคมนั้นพึงพอใจที่งานของนักเขียนอย่างพวกเขาได้รับความนิยมและมีผู้คนชื่นชอบ ทางสมาคมยังบรรยายว่านักเขียนกับนักอ่านก็เหมือนกับการสร้างแวดวงหนึ่งขึ้นมา ก่อนที่แถลงการณ์จะระบุต่อไปว่า “น่าเสียดายที่เหตุการณ์หลายอย่างในช่วงนี้ทำให้นักเขียนอย่างพวกเราหลุดออกจากแวดวงนั้นมีจำนวนมากขึ้น แต่ความจริงก็คือเว็บไซต์เถื่อนเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ในการผลิตผลงานและตัวเว็บกลับกัดกินผลประโยชน์ทั้งปวง” ทาง JCA ยังเชื่อด้วยว่าหากคนยังใช้งานเว็บไซต์เถื่อนต่อไป “วัฒนธรรมญี่ปุ่นหลากแง่มุมก็จะสูญเสียพลัง” และอาจจะถูกทำลายลงได้ในที่สุด

บทความของทาง NHK ระบุว่า จากการสำรวจของทาง Video Research Interactive ได้พบว่าคนญี่ปุ่นใช้งานเว็บเถื่อนมากขึ้นและยอดยังพุ่งทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ ทาง Video Research Interactive ได้ระบุว่าผู้เข้าใช้งานเว็บเถื่อนสูงมากขึ้นในเดือนตุลาคมปีก่อน และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานราว 230,000 คนที่ใช้งานเว็บเถื่อนเหล่านั้น ในกลุ่มนั้นมี 42% เป็นกลุ่มวัยรุ่น 21% เป็นคนวัย 40 ปี และอีก 19% เป็นคนวัย 50 ปี

 

NHK ยังรายงานว่าตลาดการ์ตูนดิจิตอลในญี่ปุ่นกำลังขยายตัวมากขึ้นในช่วงหลายปีหลังมานี้ สมาคมนิตยสารและผู้ผลิตหนังสือและกองบรรณาธิการของญี่ปุ่น หรือ AJPEA ได้ออกรายงานในปี 2017 ว่าตลาดการ์ตูนดิจิตอลของญี่ปุ่นมียอดขายสูงถึง หนึ่งล้านเจ็ดหมื่นหนึ่งแสนล้านเยน อย่างไรก็ตามทาง กระทรวงการคลังของทางญี่ปุ่นเคยออกรายงานในปี 2014 ว่าการละเมิดลิขสิทธิก่อความเสียหายต่อวงการการ์ตูนญี่ปุ่นโดยประมาณอยู่ที่ ห้าหมื่นล้านเยน และทางกระทรวงเชื่อว่าความสียหายที่แท้จริงอาจจะมีมากกว่านั้น

บทความของ NHK ยังกล่าวถึงปัญหาของการละเมิดลิขสิทธิ์จากเว็บไซต์เถื่อนต่างๆ เอาไว้ว่า การผลิตซ้ำและการเผยแพร่ผลงานโดยไม่ได้ขออนุญาตเป็ฯเรื่องที่ผิดกฎหมายในญี่ปุ่น แต่การอ่านการ์ตูนในเว็บเถื่อนเฉยๆ กลับถูกมองว่าไม่ผิดเท่าใดนัก นอกจากนั้นทาง NHK ยังออกความเห็นเกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกไซเบอร์เนื่องจากเว็บไซต์อ่านการ์ตูนเถื่อนมักจะมีโปรแกรมที่อาจจะทำให้อุปกรณ์ของผู้เข้าชมเว็บดังกล่าวได้รับอันตรายได้

ยอดขายของหนังสือแบบเล่มจริงในญี่ปุ่นลดลงไปมากกว่า 12% เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักเขียนการ์ตูนทุกคนจะเชื่อว่าเว็บไซต์เถื่อนเป็นตัวที่ทำให้ยอดขายลดลง อย่างเช่น อาจารย์โยชิดะ ทาคาชิ ผู้เขียนมังงะเรื่อง Yareta Kamo Iinkai ที่เชื่อว่าการกำจัดเว็บไซต์การ์ตูนเถื่อนเป็น “เรื่องที่ไร้ความหมายและไม่สร้างสรรค์” เพราะเขาคิดว่าการพัฒนาบริการอ่านมังงะแบบออนไลน์ให้ดียิ่งขึ้นต่างหากที่จะทำให้แฟนๆ เปลี่ยนใจมาอ่านหนังสือแบบถูกกฎหมายได้

Source: NHK (link 2link 3; 田辺幹夫, 西村敏) via Yaraon!

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*