Bill ถาม :
ทำไมการ์ตูนลิขสิทธิ์ถึงดูไม่ค่อยยอมบอกว่าหนังสือหมดหรือว่าจะเลิกพิมพ์กัน ? มันไม่มีทางที่คนซื้อจะเดาได้เลยนะว่าหนังสือจะหมดเมื่อไหร่ รู้ตัวอีกทีก็คือตอนที่มีคนเอามาขายมือสองออนไลน์กันแพงๆ แล้วน่ะ
Answerman ตอบ :
ในฐานะคนซื้อ เรามักจะคิดเองเออเองว่าสินค้าที่วางขายตามหน้าร้านอย่าง หนังสือ (ทั้งนิยายและการ์ตูน), แผ่น DVD, แผ่น Blu-ray, แผ่นเกม ฯลฯ สามารถแจ้งกันชัดๆ ว่า ‘ยังมีของเหลือ’ หรือ ‘จะผลิตเพิ่ม’ ไม่งั้นก็บอกว่า ‘ของหมดแล้ว’ หรือ ‘ลอยแพ’ ไปเลยให้มันเคลียร์ แต่สำหรับผู้ผลิตแล้วคำพูดที่ว่าไม่สามารถบอกได้ง่ายแบบนั้นครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสินค้าลิขสิทธิ์ที่ผู้จัดทำลิขสิทธิ์นั้นได้ทำการขอสิทธิ์การขายมาจำหน่ายในประเทศ หรือพื้นที่โดยรอบเขตนั้น ตัวสัญญาลิขสิทธิ์นี้มักจะมีอายุอยู่ราวๆ 5-10 ปี (แต่ก็เคยเห็นกรณีที่ซื้อสิทธิ์ระยะสั้นแค่สองปีผ่านตามาบ้างเช่นกัน) หลังจากตกลงรายละเอียดลิขสิทธิ์แล้ว ผู้ถือสิทธิ์ก็จะสามารถผลิตสินค้าได้ในช่วงเวลานั้น
และเมื่อจำหน่ายสินค้าจนใกล้จะถึงขอบเขตที่สัญญาระบุไว้ ตามปกติบริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์กะจะมาวางแผนและเตรียมเสวนาสัญญากันใหม่ว่าจะขยับขยายอะไรกับทางเจ้าของลิขสิทธิ์ไหม หรือถ้าคิดว่าจะไม่ทำอะไรต่อแล้ว ส่วนใหญ่บริษัทจัดทำสินค้าลิขสิทธิ์ก็จะตัดสินใจทำการ ‘เทกระจาด’ ลดราคาหมดหน้าตักเพื่อเคลียร์สินค้าให้ได้ก่อนจะหมดสัญญา
คราวนี้ส่วนที่ยุ่งยากก็คือ มันมีความแตกต่างกันระหว่าง ‘สินค้ายังเหลืออยู่’ กับ ‘สัญญายังเหลืออยู่’ เพราะผู้ถือลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ จำเป็นจะต้องผลิตสินค้าในปริมาณขั้นต่ำตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ แน่นอนว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วยิ่งผลิตสินค้ามากขึ้นก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตต่อชิ้นลดลง ดังนั้นการผลิตสินค้ารอบแรกจึงมักจะผลิตในยอดที่สูงสุดเอาไวก่อน ส่วนการทำสินค้ารอบสองมักจะทำยอดต่ำมากๆ อาจจะประมาณ 500 ชิ้น แม้ว่าการผลิตแค่ 500 ชิ้น อาจจะใช้ทุนในการผลิตเท่ากับ 1000 ชิ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าต้นทุนของล็อตผลิตซ้ำมีราคาค่างวดมากเป็นอย่างน้อยเท่าตัวถ้าเทียบกับการผลิตรอบแรกนั่นเอง
เรื่องนี้ทำให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ที่จะต้องผลิตสินค้าต้องคิดมากอยู่ทีเดียว ถ้าผลิตของออกมาน้อยไปต้นทุนก็จะบานโดยไม่จำเป็นจนแทบจะไม่ได้กำไร ถ้าผลิตมากไปนอกจากที่จะต้องเสี่ยงว่าสินค้าจะจมขายไม่ออกแล้ว ยังต้องเสียเงินค่าเก็บสินค้าอีกต่างหาก และการผลิตโดยไม่คำนึงถึงการหมุนเงินหรือผลลัพธ์ใดๆ เลยก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ถือลิขสิทธิ์หลายเจ้าเจ๊งมาแล้ว (ในอเมริกาก็มี ADV Manga ที่บริหารจนต้องขายสินทรัพย์ให้บริษัทอื่นไปทำต่อ หรืออย่างในไทยก็มีทาง Boomtown ที่เปิดแล้วปิดตัวอย่างรวดเร็ว)
พอมาฟอร์มนี้ ถ้าจำเป็นจะต้องผลิตแผ่นซ้ำ พิมพ์หนังสือซ้ำ ผู้ถือลิขสิทธิ์ที่จะต้องผลิตสินค้าก็ต้อง ‘ประเมินจากยอดขาย’ ว่าสินค้าตัวไหนขายดี ก็ผลิตตัวนั้นซ้ำได้ ส่วนเรื่องไหนที่ขายได้ไม่เท่าไหร่ ดูเหมือนจะฮิตแต่ยอดไม่วิ่ง ก็จะถูกชะลอการผลิต (หรือถ้าพูดแบบบ้านๆ ก็คือ ‘ดอง’) ต่อให้ ‘สัญญายังเหลืออยู่’ สินค้าที่ขายไม่ออกก็จะถูกปรับเป็น ‘สินค้าที่ไม่มีการผลิตเพิ่ม’ ไปโดยนัย เพราะผู้ถือลิขสิทธิ์เห็นแล้วว่า ทำต่อ ณ จุดๆ นี้ยังไงก็เจ๊ง ขอเวลาอีกสักพักเผื่อจะสามารถปรับแผนงานให้ดีขึ้นแล้วค่อยย้อนกลับมาผลิต หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้อง ‘ลอยแพ’ ไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะตัวสัญญาหมดเวลาพอดี
ปัญหาการผลิตซ้ำนี้ มักจะเกิดในฝั่ง หนังสือการ์ตูน, ไลท์โนเวล หรือ นิยาย มากกว่าแผ่นอนิเมะ ด้วยเหตุที่ว่าอนิเมะมีเนื้อหาต่อกันค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะในยุคหลังที่อนิเมะพยายามทำออกมาไม่ให้จำนวนตอนเฟ้อเกิน 26 ตอน ต่อหนึ่งซีซั่น เท่าไหร่นัก แถมฟอร์มของอนิเมะก็แสดงทรงออกมาเห็นชัดเจนจนทำให้คาดการณ์การผลิตได้ง่าย
ตรงกันข้ามกับสิ่งพิมพ์ที่หลายครั้งคาดเดาได้ยากว่าเรื่องจะจบลงเมื่อไหร่ และยอดขายสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่นั้นจะยอดดีที่สุดสำหรับการขายหนังสือเล่มแรก (ด้วยเหตุผลที่ว่า หลายคนที่ไม่ได้กะตามก็ลองซื้อมาอ่านแนวเรื่องก่อน เป็นอาทิ) และยอดจะค่อยๆ ตกลงเรื่อยๆ จนถึงสักราว เล่ม 4-5 ก็จะเห็นทรงแล้วว่ายอดนิ่งๆ ที่ควรผลิตอยู่ที่เท่าไหร่
แล้วถ้าเกิดดวงซวยเจอหนังสือที่เล่มแรกฟอร์มไม่เอาอ่าวเสียเลย แถมกระแสในเน็ตก็เงียบกริบอีก หรือถ้าไร้โชคสุดๆ เรื่องนั้นดันมีจำนวนเล่มที่ยาวไกลเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดอีก หรืออีกกรณีก็คือ ยอดเล่ม 1 ดีมากๆ ระดับที่สั่งพิมพ์ซ้ำได้ แต่เล่มต่อไปยอดขายหายไปกว่าค่อน
คราวนี้ฝั่งผู้ถือลิขสิทธิ์ก็เกิดอาการปวดหัวแน่นอน ว่าพวกเขาจะยอมแบกต้นทุนสูงพิมพ์ครั้งละไม่เกิน 500 เล่ม เพื่อรับผิดชอบต่อผู้อ่าน หรือจะทำการ ‘ดอง’ ไว้ก่อนจนกว่าจะสามารถได้เงินทุนก้อนใหม่มาผลิตได้ หรือเลือกที่จะ ‘ลอยแพ’ หรือถ้ากรณีเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทตัวเองก็ใช้ตัวเลือก ‘ตัดจบ’ ไปเป็นอาทิ
ปัญหาที่ว่าไปในย่อหน้าที่แล้วนั้นเกิดขึ้นเป็นปกติของวงการสิ่งพิมพ์แทบจะทั้งโลก และปัจจุบันก็ไม่ได้มีทางแก้ที่ได้ผลสนิทใจเท่าใดนัก ถ้าสำหรับฝั่งอเมริกาและยุโรป อาจจะใช้ระบบ ระดมทุนสาธารณะ หรือ Crowdfunding สำหรับการ์ตูน/ไลท์โนเวล สายหลักและเป็นงานคลาสสิกนั้นจะเห็นได้ว่าการระดมทุนค่อนข้างได้ผล แต่ถ้าเป็นงานเฉพาะทางขึ้นก็จะพบว่าการระดมทุนนั้นจะสำเร็จได้ยาก
และยังมีข้อจำกัดทางด้านลิขสิทธิ์ ที่บางครั้งก็มาจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือบางครั้งก็มาจากตัวผู้เขียน (หรือทายาท ในกรณีที่คนเขียนดั้งเดิมเสียชีวิตไปแล้ว) ก็ทำให้การระดมทุนแบบนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ทุกเรื่อง
ที่กล่าวไปยาวๆ ด้านบนนั่นคือกรณีที่เป็นหนังสือขายไม่ดี แต่ถ้าเป็นกรณีหนังสือที่ยอดขายดีอยู่แล้ว ก็จะมีการต่อรองสัญญากับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งบางครั้งการเจรจานี้ก็อาจจะจบง่ายๆ แบบคุยกับเพื่อน แล้วก็ทำการผลิตซ้ำได้ทันที แต่ในหลายๆ กรณีก็การคุยกันก็จะวุ่นวายมากขึ้น ทั้งยังอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการออกเล่มต่อ จนทำให้เกิดภาวะ ‘ดองเทียม’ เพราะเจรจาสัญญาไม่จบจนพิมพ์เล่มไม่ได้
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนที่กล้าออกมาประกาศต่อสาธารณชนว่า พวกเขากำลัง ‘ดอง’ สินค้า หรือพวกเขาตัดสินใจ ‘ลอยแพ’ แล้ว เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ในวันหน้าได้ การประกาศล่วงหน้าอาจจะกลายเป็นดราม่าจนเกิดผลเสียในอนาคตอีก
และคำถามที่ว่า ทำไมไม่ประกาศว่าสินค้าหมดไปแล้ว เพราะหลายๆ ที ในระบบธุรกิจสิ่งพิมพ์ เรามักจะได้เห็น ‘ปาฏิหาริย์’ อยู่บ่อยๆ อาทิ สินค้าที่ส่งไปหน้าร้านค้าจำนวนมากจนเข้าใจว่ามันสูญหายไปแล้วเกิดกลับมาอย่างกะทันหัน หรืออยู่ๆ ทางโกดังเก็บสินค้าค้นพบว่ามีของซุกอยู่ในซอกหลืบ หรือในแง่กลับคือ สินค้ามีพร้อมจัดจำหน่ายแต่วันดีคืนดีคนเขียนบอกว่า ‘ไม่อยากให้ทำลิขสิทธิ์ละ’ เลยต้องติดหล่มอยู่ในขั้นตอนการเจราจา จนเกิดภาวะ ‘ดองเทียม’ ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน
เพราะแบบนี้กว่าที่บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์หรือบริษัทที่ไปซื้อลิขสิทธิ์ จะประกาศว่าลอยแพ หรือ จะดอง ก็ต้องประกาศกันตอนที่ ‘คุยกันทุกอย่างไปจนเสร็จสิ้นแล้ว’ เพื่อให้ทุกอย่างมันคอนเฟิร์มแน่นอนกันเสียก่อนนั่นเอง
เรียบเรียงจาก : Answerman – Why Don’t Manga Publishers Announce When Books Go Out Of Print?
ที่ไม่เข้าใจคือ
ประกาศเลิกพิมพ์แล้ว มีมาตอบด้วยว่าเดินต่อในแบบรูปเล่มไม่ไหวแล้ว
แต่ทำไมยังเห็นประกาศ LC ใหม่ ๆ แถมยัง Reprint เรื่องเก่า ๆ อีก
แต่ดันลอยแพเรื่องที่ใกล้จะจบแล้ว อีกไม่กี่เล่มก็จบแล้วโดนลอยซะงั้น -*-