Piotr ถาม:
ผมเป็นแฟนของการ์ตูนแนวลิเกอวกาศ (Space Opera) แล้วผมก็รู้สึกสงสัยมาหลายปีแล้วว่า สมัยนี้พวกเขาไม่ค่อยทำอนิเมะแนวนี้กันแล้วเหรอ ? ดูเหมือนว่า ‘ยุคทอง’ ของอนิเมะแนวนี้จะหมดลงไปตั้งแต่ทศวรรศก่อนแล้วเหรอ ปีที่แล้วผมเห็นว่ารายการทีวีฝั่งโลกตะวันตกเริ่มปลุกผีซีรีส์แนวลิเกอวกาศแล้ว (Star Trek, Orville ฯลฯ) แล้วเรายังจะพอคาดหวังอะไรจากฝั่งอนิเมะได้บ้างไหม ? หรือคนญี่ปุ่นยุคนี้เขาไม่นิยมตะลุยโลกอวกาศกันอีกแล้ว ?
Answerman ตอบ:
ตัวจุดกระแสความนิยมลิเกอวกาศ – Star Wars / การแข่งขันระหว่างอเมริกากับรัสเซีย และ บริษัทของเล่น
ความจริงเราของต้องแยกแยะก่อนว่า เรื่องแนว ลิเกอวกาศ นั้นเป็นกลุ่มแยกย่อยของแนว ไซไฟ (Sci-Fi, Sci Fiction) ที่เน้นเรื่องราวการเดินทางไปในห้วงอวกาศอันไกลโพ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เหนือจริงหรืออิงความเป็นจริงบ้าง และเรื่องราวจะใกล้เคียงกับเนื้อเรื่องแต่งยุคเก่าที่มีตัวละครเอกเป็นฮีโร่ที่ออกเดินทางไปประสบพบเรื่องต่างๆ ไม่ก็เป็นวีรบุรุษของเรื่องไม่ต่างกับนิยายยุคเก่า
และยุคทองของการ์ตูนแนวลิเกอวกาศนั้นไม่ได้อยู่ที่ช่วงกลางยุค 1980 ในจังหวะที่การ์ตูนแทบทุกเรื่องที่ออกฉายจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เพราะความจริงลิเกอวกาศได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปลายยุค 1970 และด้วยการมาถึงของ Star Wars ที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก ทำให้ทางญี่ปุ่นก็คลั่งไคล้เรื่องแนวนี้และผลิตผลงานฮิตออกมาหลายเรื่อง ดังเช่นการ์ตูน รถด่วนอวกาศ 999 กับ กัปตันฮาร์ล็อก ของ Leiji Matsumoto (ซึ่งมีพหุภพเป็นของตัวเอง) ไปจนถึง คอบร้าเห่าไฟสายฟ้า ลามมาจนถึง กันดั้ม หรือ แม้แต่ มาครอส ซึ่งบูมขึ้นมาในช่วงนั้นเป็นผลพวงของการจุดกระแสของ Star Wars
อีกส่วนหนึ่งเชื่อกันว่า ลิเกอวกาศ ได้รับความนิยม เป็นเพราะยุคสมัยที่อเมริกากับรัสเซียแข่งขันกันด้านความก้าวหน้าทางอวกาศ ซึ่งสร้างหลักชัยพร้อมกับเทคโนโลยีจำนวนมากให้กับคนในยุคนั้นทำให้ผู้คนยิ่งเชื่อว่าการตั้งรกรากในอวกาศอยู่ใกล้แค่เอื้อม และทำให้บริษัทของเล่นที่เป็นแหล่งเงินทุนรายใหญ่ของการสร้างอนิเมะยิ่งยินดีถ้าทำของเล่นโหนกระแสยุคสมัยได้ (ใดๆ ในโลกการ์ตูนล้วนเกี่ยวกับบริษัทของเล่น ครับ)
ความซบเซามาเยือน และ การปรับเปลี่ยนของลิเกอวกาศในยุคปัจจุบัน
เมื่ออนิเมะนั้นสามารถเล่าเรื่องแนวไซไฟได้อย่างดี (เพราะการทำยานอวกาศและฉากระเบิดแบบหนังคนแสดงมันใช้งบเยอะ) และทำให้อนิเมะแนวลิเกอวกาศ แปรสภาพมาเป็นแนวไซไฟ และมีอายุยืนยงมากกว่า 15 ปี และเริ่มมีความอิ่้มตัวในช่วง ปลายปี 1980 ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นแนว ตลกอวกาศในช่วงปี 1990 (อย่าง Irresponsible Captain Tylor, Tenchi Muto ฯลฯ) และแนว การเมืองอวกาศ (อย่าง Legend of Galactic Heroes, Crest of the Stars ฯลฯ)
เมื่อเวลาผ่าน การปล่อยกระสวยอวกาศถึงจุดสิ้นสุด ความนิยมในการสำรวจอวกาศเริ่มร่อยหรอ และผู้คนเริ่มเห็นความเป็นไปไม่ได้ในการสำรวจอวกาศระยะไกล เพียงแค่เดินทางไปยังดาวอังคารก็ดูยากเย็นเกินแกง ทำให้ผู้คนเริ่ม ‘ไม่อิน’ กับเรื่องราวในห้วงอวกาศเท่าไหร่นัก
และด้วยเหตุนั้นทำให้อนิเมะแนวไซไฟในช่วงหลัง ปี 2000 จะลดความเป็น ลิเกอวกาศ ลงไป แล้วมาเล่าเรื่องที่ใกล้ตัวมนุษย์มากขึ้น อย่างเช่น Aldnoah.Zero, Terra Formars, ēlDLIVE, Space Brothers, Total Eclipse และ กันดั้ม ภาคใหม่ๆ ที่ยังมีความเป็นไซไฟอยู่ แต่ลดความเป็นลิเกอวกาศลง แล้วมาพิจารณากับความจริงมากขึ้น (อย่างประเด็นของ ปัญหาผู้อพยพและทหารเด็กของ Mobile Suit Gundam IRON-BLOODED ORPHANS) และมีปริมาณที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดถ้าเทียบกับช่วง 1980 ที่แทบทุกเรื่องจะเล่าเรื่องด้วยแนวไซไฟ
อนาคตของเรื่องแนวลิเกอวกาศ
ด้วยความที่ข่าวคราวของการสำรวจอวกาศนั้นในยุคนี้ก็ไม่อู้ฟู่เหมือนยุคเก่าแล้ว รวมถึงว่าการพยายามจะปลุกชีพซีรีส์ฮิตๆ ด้านลิเกอวกาศ อย่าง เรือรบอวกาศยามาโต้ หรือ กัปตันฮาร์ล็อก ในแบบหนังโรงคนแสดงก็ไม่ได้รับความสำเร็จมากนักในวงกว้าง (จะเหลือลุ้นก็เป็น คอบร้าเห่าไฟสายฟ้า ฉบับฮอลลีวูด อีกเรื่อง) ดังนั้นในช่วงนี้เราคงไม่ได้เห็นอนิเมะแนวลิเกอวกาศกลับมาบูมกันอีกสักพัก แต่เราคงจะได้เห็นอนิเมะกับมังงะแนวไซไฟที่สอดคล้องเกี่ยวกับโลกปัจจุบัน แบบที่ Psycho-Pass เคยทำมาก่อนเสียมากกว่า
หรือไม่งั้นเราคงต้องรอดูว่า Space-X จะประสบความสำเร็จจนมีการพัฒนาสื่อบันเทิงให้เกาะกระแสตามด้วยก็ได้นะ
Leave a Reply