Answerman: บริษัทญี่ปุ่นยุคนี้ โหดเหี้ยมปานนั้นเชียวหรือ ?

Share

Jacob ถาม:

ผมเพิ่งได้ดูการ์ตูนที่เพิ่งปล่อยใน Netflix เรื่อง Aggretsuko ที่จำลองชีวิตการทำงานของเหล่า ออฟฟิศเลดี้ ในประเทศญี่ปุ่นยุคปัจจุบันนี้ ในซีรีส์หัวหน้าของเธอได้ถูกนำเสนอเป็นหมูน้ำหนักเยอะที่คอยกดดันและดูถูกคนอื่น ตัวละครตัวนี้ถูกนำเสนอทั้งในเรื่อง คุกคามทางเพศแบบเก่าๆ, เผด็จการ, หัวเก่ารับมือได้ยากแบบไดโนเสาร์อย่างผู้บริหารสมัยเก่าที่ผมเคยเห็นในการ์ตูนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในตอนหลังๆ ตัวละครดังกล่าวขอโทษกับตัวละครเอกและพยายามอธิบายว่าในช่วงยุค 1980 หัวหน้าของพวกเขานั้นนิสัยเสียยิ่งกว่านี้อีก คำถามของผมก็คือ บริษัทญี่ปุ่นสมัยนี้ก็ยังไม่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนอีกหรือ? สไตล์การทำงานแบบบริหารอยู่บนหอคอย ได้เปลี่ยนเป็นแนวทำงานให้ใกล้เคียงการทำงานที่เท่าเทียมและสมดุลย์กันกับแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือยัง? หรือว่าอะไรๆ จะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยในออฟฟิศญี่ปุ่นยุค 1980 นอกจากเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ?

Answerman ตอบ:

ถ้าคุณเคยเห็นภาพการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นยุคเก่าผ่านทาง อนิเมะ, หนัง หรือ รายการทีวี มาก่อนแล้วตั้งคำถามว่าในยุคนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากยุค 1980 บ้าง เรื่องที่เปลี่ยนก็คงจะเป็นเรื่องอย่างการสูบบุหรี่ควันขโมงเต็มออฟฟิศ ที่ตอนนี้จะไม่มีให้เห็นง่ายๆ อีกแล้ว ด้วยความที่ว่าคนสูบบุหรี่สมัยนี้จะต้องไปสูบบุหรี่ในพื้นที่เฉพาะ (ซึ่งจะมีระบบระบายอากาศแยกออกจากห้องอื่น) หรือถ้าอย่างในที่่สาธารณะ ก็หาที่สูบได้ยากเย็นขึ้นอาจจะมีก็ร้านอาหารไม่กี่แห่งที่ยังยอมให้สูบบุหรี่ภายในตัวร้าน แต่ก็มีแยกโซนคนสูบกับไม่สูบอยู่ดี

อีกส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุค 1980 ก็คือการที่ผู้หญิงได้กลายมาเป็นพลังสำคัญในการทำงานบ้างแล้ว เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กฎหมายความเท่าเทียมกันระหว่างเพศได้ผ่านการบังคับใช้ และมีการออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมตามมาอีกส่วนหนึ่ง เรื่องนี้ยังมีผลพวงมาจากการหดตัวของแรงงานในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการเดินหน้าเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัยแบบบเต็มตัวทำให้แรงงานกว่า 43% ในประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้หญิง (เทียบกับ 36% เมื่อปี 1986) ถึงอย่างนั้นระบบของบริษัทหลายๆ แห่งก็ยังคงมีกำแพงทางเพศให้เห็นอยู่ จึงทำให้มีผู้หญิงจำนวนน้อยที่จะสามารถไปไกลระดับที่เป็นผู้บริหารได้

 

เข้าใจธรรมชาติของวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นๆ

การทำงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่นอาจจะยากเกินความเข้าใจของชาวโลก เนื่องจากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นนั้นการทำงานอยู่ยาวเกินเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มเติมถือว่าเป็นการพิสูจน์ความภักดีต่อบริษัทแบบหนึ่ง, ใครที่ขอกลับบ้านก่อนคนแรกเป็นเรื่องน่าอับอายอย่างยิ่ง แล้วก็ต้องลาป่วย ลากิจให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็จะยิ่งดีงามเข้าไปอีก

อย่างในอนิเมะเรื่อง Aggrestsuko สะท้อนภาพการทำงานของ OL หรือ “Office Lady” แบบที่ Answerman เคยรับทราบมาได้อย่างดี งานที่เหล่า OL ส่วนใหญ่ต้องรับผิดชอบก็จะเป็นงานจิปาถะ จนเหมือนว่าสาวๆ กลุ่มนั้นจะต้องทำงานจิปาถะเหล่านี้ให้กับทั้งแผนก หรือบางทีเป็นการรับจ็อบปลีกย่อยให้ทั้งบริษัทไปเลย ผลก็คือ OL มักจะได้รับงานประจำ จำพวกเสริฟ์ชา/กาแฟให้กับหัวหน้าผู้ชาย และกลุ่ม OL ก็มักจะมีเครื่องแบบในการทำงานต่างหาก (จริงๆ ผู้ชายก็จะต้องใส่สูท ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นเครื่องแบบเช่นกัน)

ด้วยตำแหน่งงานของ OL มักจะเป็นตำแหน่งที่ตันในการเติบโต เพราะทางบริษัทมักจะตั้งความคาดหวังว่าสุดท้ายกลุ่มสาวๆ ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ก็จะแต่งงานแล้วก็ลาออกไปมีลูกอยู่ดี ทำให้ไม่มีการเปิดช่องทางเติบโตในอนาคตทางการงานแต่อย่างใด แล้วก็ไม่มีใครแคร์เรื่องการเหยียดเพศกันเสียด้วย จนปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นมาในบริษัท หรือ ธุรกิจ ที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนาน ค่อนข้างโชคดีนิดหน่อยสำหรับอุตสาหกรรมอนิเมะที่มีผู้หญิงหลายๆ คน ได้ขึ้นเป็นระดับผู้บริหารของสตูดิโอ กับ บริษัทที่เป็นสายผลิตอนิเมะต่างๆ ในช่วงหลายปีนี้ และทำให้ผู้หญิงมีความสำคัญในสายงานอยู่ไม่น้อย (แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าเท่าเทียมกันอยู่ดี)

 

เหยียดเพศ กับ คุกคามทางอำนาจ ปัญหาที่น่าจะแก้ยากของการทำงานในญี่ปุ่น

ปัญหาด้านเหยียดเพศในบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นในยุคปัจจบันนั้น อาจจะถือว่าแย่ลงกว่ายุค 1980 หรือยุคโชวะ ที่เรื่อง Agresstsuko เทียบเสียด้วยซ้ำ ด้วยความที่ว่าตลาดของแรงงานนั้นหดตัวลงตามยุคสมัย ทำให้บริษัทต่างๆ ตัดสินใจจ้างคนน้อยลง และคาดหวังให้คนที่ทำงานอยู่ต้องทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งผู้หญิงที่บางคนอาจจะเจอคำพูดที่ว่า ‘ถ้าหวังให้ชายหญิงเท่ากัน ก็ต้องทำงานแบบเดียวกันได้’ แล้วก็จะมีการกดดันให้พนักงานหญิงทำงานหนักจนเกินเลย

ทุกๆ ปีเราจึงจะได้เห็นข่าวพนักงานประจำหลายคนในญี่ปุ่นตัดสินใจจบชีวิตของตนเองเนื่องจากไม่สามารถจะทนทำงานนอกเวลา (และไม่ได้รายได้เพิ่ม) อีกต่อไป — แม้ว่าการทำงานนอกเวลาจะถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นบางในบางครั้ง แต่ในทางมารยาทของบริษัทญี่ปุ่นจะมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ตัวเลือกหลัก และเป็นการทำให้บริษัทเสียหายที่ต้องจ่ายค่าจ้างล่วงเวลาให้ จนทำให้พนักงานหลายคนตั้งใจไปตอกบัตรลงเวลาเข้าออกตามปกติแต่อยู่ทำงานเกินเวลาเพื่อไม่ให้แผนกหรือบริษัทจะต้องเดือดร้อน

ปัญหานี้ในญี่ปุ่นแย่หนักจนถึงขั้นที่ สื่อมวลชน หรือ นักกิจกรรมต่างๆ ต้องทำการประณามบริษัทที่บีบคั้นพนักงานภายในทำงานหนักจนถึงจุดแตกหักกลุ่มนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบ อย่างปีที่แล้วสื่อมวลชนกับนักเคลื่อนไหวได้ทำการระบุบริษัทกลุ่มหนึ่งว่าเป็น ‘แบล็คคอมพานี (Black Company)’ อาทิ บริษัทสื่ออย่าง NHK, Panasonc รวมไปถึงบริษัทก่อสร้างหลายแห่ง, บริษัทขนส่งสินค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต และบริษัทด้านเภสัชกรรม ถ้าย้อนไปปี 2016 มีบริษัท Dentsu โฆษณาชื่อดัง นั้นถูกยกตำแหน่งแชมป์ในฝั่ง แบล็คคอมพานี ไป  ส่วนบริษัทในสายงานอุตสาหกรรมอนิเมะ แม้ว่าจะยังไม่โดนจัดหมวดเข้าเป็นแบล็คคอมพานี แต่ก็มีชื่อเสียให้ได้ยินจนเฉียดจะเข้าข่ายอยู่แล้ว

อีกหนึ่งปัญหาที่มีมากในฝั่งบริษัทของญี่ปุ่นก็คือ การกลั่นแกล้งรุ่นน้อง หรือ ลูกน้อง ตัวอย่างเช่นร้านอาหารเฟรนไชส์ Watami ที่เคยถูกจัดให้เป็นแชมป์ในการเป็นแบล็คคอมพานีสองปีติดกัน หลังจากที่พนักงานของร้านอาหารฆ่าตัวตายของผู้จัดการร้านอาหารเจ้านี้ที่ต้องทำงานตั้งแต่ เจ็ดโมงเช้าถึงเที่ยงคืนโดยไม่มีช่วงพักหรือราวๆ 119 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งยังมีรายงานตามออกมาว่า ทางผู้บริหารของร้านอาหารเจ้านี้ได้เขียนไว้บนซองใส่ค่าจ้างของพนักงานเอาไว้ว่า ‘แกน่าจะพิจารณายอดขายเดือนนี้ด้วยการฆ่าตัวตายไปซะ’ (ผู้บริหารคนดังกล่าวปฏิเสธที่จะพบหน้าหรือขออภัยครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตจากการจบชีวิตของตนเอง จนกระทั่งถูกฟ้องศาลในเวลาต่อมา)

 

บริษัทควรเปลี่ยนแปลง แต่ใครจะมาช่วยปรับเปลี่ยน ?

เล่ามายาวขนาดนี้ไม่ใช่ว่าบริษัทญี่ปุ่นทุกอย่างจะเป็นโรงเชือดพนักงานอย่างไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด แค่บริษัทส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนขนาานใหญ่ในปัญหาความโปร่งใสของการใช้งานพนักงานแบบผิดๆ นี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าทางรัฐจะมีแนวคิดให้ลดชั่วโมงการทำงานลง แต่ก็ไม่เคยสนับสนุนหรือเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานแบบเป็นรูปธรรมเท่าไหร่นัก (อาจจะเพราะตัวคนในวงการเมืองเองก็ยังคุ้นเคยกับการทำงานแบบเก่าๆ เช่นกัน) ในช่วงนี้ก็อาจจะต้องคาดหวังให้ผู้บริหารยุคใหม่ที่เข้ามาพร้อมเปลี่ยนแปลงองค์กรจากภายในกันเอง ก่อนที่พวกเขาจะถูกระบบกลืนกินแล้วคุ้นชินกับการใช้อำนาจแบบคนรุ่นเก่าไปในที่สุด

แม้ว่าแฟนอนิเมะกับมังงะหลายๆ คนอาจจะมีความฝันที่จะได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่น อันเป็นต้นกำเนิดของงานมังงะกับอนิเม แต่ด้วยปัญหาสารพัดสารเพเหล่านี้ รวมไปถึงว่าถ้าเป็นชาวต่างชาติก็จะมีชาวญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่งที่แอนตี้ชาวต่างชาติอยู่ กลายเป็นว่าจะมีเหตุลำบากในการทำงานเพิ่มเติมจากการคุกคามทางเพศ และ คุกคามทางอำนาจ ที่กล่าวถึงไปข้างต้นแล้ว ด้วยเหตุนี้ ชาวต่างประเทศที่เคยไปเรียนหรือไปทำงานมาก็มักจะกลับสู่ถิ่นเกิด เพราะบริษัทที่อยู่บนแดนอาทิตย์อุทัยยังต้องใช้เวลาปรับตัวให้กับการทำงานที่สอดคล้องกับยุคใหม่อีกมากนี่เอง

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*