Answseman : คนญี่ปุ่นใช้สื่อสังคมออนไลน์อะไรกัน ?

Share

Kimi ถาม:

ฉันเห็นว่า Fate/Grand Order เซิร์ฟอเมริกาที่เปิดมานี่ทำการสื่อสารกับแฟนเกมได้มากในฝั่ง Facebook แต่ฝั่งญี่ปุ่นนี่ใช้ Twitter เสียมากกว่า เลยทำให้คิดว่า – สื่อสังคมออนไลน์ตัวไหนที่ฮิตในญี่ปุ่น ? พอจะมีข้อมูลคนในงานสื่อสังคมออนไลน์ให้ติดตามด้วยไหม ?

Answerman ตอบ:

การใช้สื่อสังคมออนไลน์อาจจะแตกต่างนิดหน่อยจากที่อื่นบนโลกนี้ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างอย่างชัดเจนเท่าใดนัก จริงๆ แล้ว สื่อสังคมออนไลน์อาจจะเติบโตมาในทิศทางที่ต่างกว่าชาติอื่นๆ แต่ในช่วงหลายปีหลังมานี้พวกเขาก็เริ่มเล่นอะไรเหมือนกับชาวโลกมากขึ้น

mixi – ระลอกแรกของสื่อโซเชียลในญี่ปุ่น

ภาพจาก – digitalintheround.com

กระแสสังคมออนไลน์บูมครั้งแรกในญี่ปุ่นเกิดขึ้นที่เว็บไซต์ mixi ที่เดิมทีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1997 ในฐานะเว็บไซต์ค้นหางาน ก่อนที่ทางเว็บจะขยับมาเปิดตัวสื่อสังคมออนไลน์ในปี 2004 ปีเดียวกับทาง Facebook ที่หลายคนคุ้นเคย mixi แตกต่างจากสื่อสังคมออนไลน์เจ้าอื่นในญี่ปุ่นอยู่ในหลายๆ ด้าน เนื่องจากชาวญี่ปุ่นใช้อินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่สมัยฝาพับยังครองเมือง mixi จึงออกแบบระบบให้ใช้งานได้สะดวกมากๆ บนมือถือ และเพราะเบราเซอร์บนมือถือในสมัยนั้นยังใช้งานได้อย่างจำกัดจำเขี่ยหากเทียบกับปัจจุบัน (อย่าลืมว่านี่เป็นช่วงเวลาก่อนที่ iPhone จะเปิดตัวถึงสามปี)

mixi เป็นบริการที่สงวนไว้สำหรับชาวญี่ปุ่นเท่านั้น การลงทะเบียนจำเป็นต้องใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่น และไม่มีบริการในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ แถมยังเคยเป็นบริการที่ต้องได้รับการรับเชิญมาหลายปี เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากจะเข้าร่วมก็ต้องให้เพื่อนส่งโค้ดสำหรับสมัครเข้ามาใหม่ พอจะอธิบายได้ว่า mixi นั้นมีส่วนคล้ายๆ กับ MySpace หรือ เป็น Hi5 กับ Exteen ผสมปนเปกัน ตัวเว็บจะมีทั้งส่วนเขียน บล็อก, เขียนรีวิว, โพสท์เพลง สร้างอัลบั้มรูปภาพและสร้างกลุ่ม ทั้งยังมีการแสดงว่า 100 คนสุดท้ายที่เข้าชมหน้า mixi ของคุณเป็นใคร ซึ่งอาจจะทำให้คนไม่สบายใจเกี่ยวกับการถูกตามอ่านก็ได้ และด้วยจำนวนคนที่ใช้งานเยอะนี้ทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ ต้องตามเทรนด์ของ mixi ไปใช้งานด้วย

ภาพจาก – gematsu.com

ถ้ายังจำได้ OZ ที่เป็นระบบสื่อสังคมออนไลน์ในอนิเมะเรื่อง Summer Wars จริงๆ แล้วใช้พื้นเพมาจาก mixi นั่นเอง ครั้งหนึ่ง Mamoru Hosoda ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องดังกล่าวเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาคิดว่าการที่ mixi ได้รับความนิยมอย่างมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะความ ‘ไร้ตัวตน’ บนโลกออนไลน์ที่บริการของ mixi มอบให้ผู้ใช้งาน ผู้คนในโลกแห่งนั้นมักจะเรียกคนอื่นด้วย User ID ของอีกฝ่าย, ไม่เคยอ้างถึงชื่อจริงๆ และโพสท์ภาพของตัวเองน้อยมาก ชาวเน็ตญี่ปุ่นถือว่าเป็นคน “ขี้อาย” ในโลกไซเบอร์ และยินดีที่จะไม่พูดถึงตัวตนในอินเตอร์เน็ต

 

Facebook – คลื่นลูกใหม่ที่ไล่ตาม mixi

ภาพจาก – dualshockers.com

ปัจจุบัน mixi ก็ยังมีผู้ใช้งานอยู่ แต่บอกได้ยากว่าพวกเขาเหลือจำนวนผู้ใช้งานเท่าไหร่กันแน่ ตัวเว็บไซต์ได้รับความนิยมพุ่งสูงสุดในช่วงปี 2012 หลังจากนั้นกระแสของสมาร์ทโฟนก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกได้ถึงความล้าหลังของ mixi ถ้าเทียบกับคู่แข่งคนอื่นๆ ในตลาดจนผู้ใช้เกิดความเบื่อหน่าย (จนถึงจุดที่ทำให้เกิดคำศัพท์ “mixi tsukare” หรือ “ภาวะล้า mixi / หน่าย mixi” ขึ้นมา) ครั้งหนึ่ง mixi เคยมียอดผู้ใช้งานสูงถึง 30 ล้านคน แต่ทางบริษัทหยุดเผยตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานหลังจากที่ยอดลดลงมามากว่า 50% และในปัจจุบันนี้ ตัวบริษัทผู้ให้บริการ mixi ก็ผันตัวมาเป็นผู้ให้บริการเกมมากขึ้น อย่างเกม Monster Strike ของพวกเขาได้รับความนิยมอย่างมาก (จนถูกสร้างเป็นอนิเมะสำหรับออกฉายบนเว็บไซต์และมีภาพยนตร์ตามออกมา) ตัวเกมมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 40 ล้านครั้ง (ส่วนตัวเกมเวอร์ชั่นอเมริกากลับปิดบริการไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่่ผ่านมาเนื่องจากตัวเกมไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก)

ภาพจาก – collider.com

เมื่อความนิยมของ mixi ลดลง ในปี 2011 กระแสของ Facebook ก็เข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะหลังจากภาพยนตร์อ้างอิงประวัติการก่อตั้ง Facebook อย่างเรื่อง The Social Network ออกฉาย ก็ทำให้คนญี่ปุ่นมีความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ตัวนี้มากขึ้น รวมถึงมีความสนใจที่อยากจะเสวนาสานสัมพันธ์กับผู้ใช้นอกประเทศญี่ปุ่นยิ่งขึ้น ทว่าทาง Facebook ที่มีนโยบายให้ใช้ชื่อ-นามสกุลจริง ทำให้ในช่วงแรกๆ ผู้ใช้ญี่ปุ่นหลายคนใช้งาน Facebook เป็ฯลักษณะทางการ ลงรูปเฉพาะเรื่องเป็นการเป็นงาน ในลักษณะเดียวกับ Linkedln (บริการสังคมออนไลน์ที่ลงรายละเอียดด้านการงาน ซึ่งคนญี่ปุนก็แทบจะไม่มีใครใช้)

แต่ในทุกวันนี้ Facebook มีผู้ใช้เหนือกว่า mixi ด้วยยอดผูู้สมัครใช้งานราว 29 ล้านผู้ใช้งานในญี่ปุ่น จากยอดเมื่อเดือนกรกฎาคปี 2017 ส่วน Twitter ที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับ Facebook เปิดตัวในญี่ปุ่นออกจะเป็นคนออกตัวช้าเพราะเพิ่งมียอดผู้ใช้งานราว 26 ล้านคนในช่วงไม่กี่ปีนี้ (แล้วแต่ว่าตรวจสอบกับข้อมูลเจ้าไหน)

ทิศทางของสื่อสังคมออนไลน์ในญี่ปุ่นปัจจุบัน

ภาพจาก – techinasia.com

ในขณะที่ตัวเลขของผู้ใช้งาน Facebook กับ Twitter ในญี่ปุ่นจะดูเยอะนั้น แต่ความจริงยอดผู้ใช้งานราวๆ 29-30 ล้านผู้ใช้งาน เป็นจำนวนเพียงแค่ 23% ของประชากรในญี่ปุ่นเท่านั้น ถ้าเทียบกับตัวเลข 47 ล้านผู้ใช้งาน จากประชาการ 70 ล้านคนในประเทศไทย หรือราวๆ 67% ของประชากรชาวไทย หรือ ผู้ใช้งาน 202 ล้านคน หรือกว่า 62% ของประชากรของอเมริกาแล้วก็ถือว่าตัวเลขในฝั่งญี่ปุ่นเป็นตัวเลขที่ไม่มากเท่าใดนัก

ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้อะไรกับเราบ้าง ? อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ทราบว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการสื่อสังคมออนไลน์เต็มรูปแบบ อย่างที่ชาติอื่นๆ นิยมนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นจำนวนผู้ใช้แอพพลิเคชั่นอย่าง LINE มีคนใช้งานในญี่ปุ่นมากกว่า 71 ล้านผู้ใช้งาน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากกว่า 56% ของจำนวนประชากรญี่ปุ่น แต่ LINE นั้นทำตัวเป็นแพลทฟอร์มมากกว่าการเป็น โปรแกรมแชท หรือ สื่อสังคมออนไลน์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีการเชื่อมต่อกับเกม รวมถึงบริการอื่นๆ อีกด้วย แต่ส่วนนี้ก็คงจะช่วยตอบคำถามได้ว่า ตอนนี้คนญี่ปุ่นนิยมติดต่อบนโลกออนไลน์ด้วยโปรแกรมไหนนะครับ

Sources:
http://www.digitalintheround.com/japan-mixi-facebook/
https://en.wikipedia.org/wiki/Monster_Strike
http://www.demystifyasia.com/mixi/
https://en.wikipedia.org/wiki/mixi
https://mixi.co.jp/en/company/history/index.html
http://www.pocketgamer.biz/asia/news/66373/mixi-financials-q1-fy18/
https://www.statista.com/statistics/381839/twitter-users-japan/
https://www.statista.com/statistics/304831/number-of-facebook-users-in-japan/
https://www.statista.com/statistics/560545/number-of-monthly-active-line-app-users-japan/
https://venturebeat.com/2015/11/28/5-things-us-techies-need-to-know-about-japans-social-media-ecosystem/

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*