Answerman : คนวงในติดตามรายละเอียดอนิเมะเยอะแยะตาแป๊ะไก่อย่างนั้นได้อย่างไร ?

Share

Nathan ถาม :

ผมเป็นแฟนอนิเมะมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90 แล้วเพิ่งกลับมาดูอนิเมะตามปกติหลังจากหยุดไปช่วงปี 2004 แต่มาตอนนี้เนี่ยทุกอย่างมันเปลี่ยนไปมาก แบบหน้าข่าวของทาง Anime News Network ก็เต็มไปด้วยอนิเมะชื่อที่ไม่คุ้นเคยทั้งนั้น ผมพยายามย้อนดูอนิเมะในช่วงราวๆ สิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะดูเรื่องไหนเป็นเรื่องเป็นราวดี ก็เลยเริ่มสุ่มดูจากเรื่องที่มีอยู่บน Netflix / Hulu ก่อนจะใช้ระบบแนะนำ “ถ้าคุณชอบเรื่องนี้” บนเว็บไซต์ myanimelistแล้ว แต่ก็ผมว่าผมทุ่มแรงไปเสียเปล่าสำหรับการกระทำเรื่องแบบนี้ แล้วตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี ผมอยากจะให้คนมาช่วยแนะนำหรือชี้ทางสว่างว่าผมควรปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของสังคมการ์ตูนที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ผมสามารถตามโลกการ์ตูนได้ทันอีกครั้ง ว่ามีอะไรออกมามใหม่ แล้วสามารถหาอนิเมะเรื่องที่เหมาะกับรสนิยมแบบผม

 

Answerman ตอบ :

เอาจริงๆ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าผมจะมีคำตอบดีๆ ให้กับคุณหรือเปล่า ในกรณีที่คุณต้องถอนตัวไปจากโลกฟากการ์ตูนเสียนาน กระแสความนิยมและนิสัยการเสพการ์ตูนของคนเราก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้าเทียบง่ายๆ ก็จากเดิมที่การรับชมอนิเมะเสมือนการเดินทางไปร้านอาหารที่ดูดีแล้วจ่ายเงินเพื่อรับความสำราญ เหมือนกับการรับชมอนิเมะจำนวนตอนไม่มากนักสักเรื่องหนึ่ง กลายมาเป็นสไตล์ร้านบุฟเฟต์ที่มีของมาเติมเรื่อยๆ  แต่ก็ปนเปไปด้วยของหวานอันแสนอร่อย, ของคาวที่พอกินเอาอิ่มได้ แล้วก็ของที่สุนัขยังไม่กล้ารับประทาน

ภาพรวมข้อมูลของอนิเมะแต่ละซีซั่นที่คนดูการ์ตูนน่าจะคุ้นเคย คงเป็นการยากสำหรับคนดูยุคนี้ที่จะรับชมอนิเมะทุกเรื่องในซีซั่นให้หมดได้ด้วยตัวคนเดียว

มีเรื่องหนึ่งที่สามารถบอกให้คุณสบายใจได้ก็คือ ไม่ใช่แค่คุณเท่านั้นที่พบกับปัญหานี้ เพราะมันมีการ์ตูนใหม่ๆ ออกมาให้รับชมจำนวนมากในช่วงหลายปีหลัง จนแทบจะไม่มีใครติดตามรับชมมันแทบทุกเรื่องแล้ว ต่อให้เป็นแฟนเดนตาย หรือแม้แต่คนวงใน (บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับวงการการ์ตูนต่างๆ) ถ้าคุณลองนับจำนวนอนิเมะซีซั่นต่อเนื่องและเรื่องสั้นที่มีเข้ามาต่อเนื่อง จะพบว่าทุกซีซั่นจะมีอนิเมะภาคใหม่ออกฉายราว 50 เรื่อง ต่อเนื่องกันมาอย่างน้อย 4 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะมีการ์ตูนจำนวนหนึ่งที่ทุกๆ คนรู้จัก แล้วก็มีอีกจำนวนมากที่คนแทบจะลืมเลือนมันไปจากสมองนับตั้งแต่มันยังฉายไม่จบเสียด้วยซ้ำแต่กว่าที่อนิเมะพวกนั้นจะออกอากาศ ไม่มีทางเลยที่คนจะรู้ว่าอนิเมะเรื่องไหนจะเป็นเรื่องที่ดี แน่นอนมันจะมีบางเรื่องในทุกๆ ซีซั่นที่หลายๆ คนรอรับชมมันด้วยความคาดหวัง แล้วหลายๆ ครั้งก็มีอนิเมะนอกสายตาที่มาเซอร์ไพรส์คนดู – ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือแง่ร้ายก็ตาม

ถ้าเวลาของคุณมีค่าดั่งทองล่ะก็ ผมขอแนะนำให้คุณรออนิเมะใหม่ๆ พวกนั้นฉายให้จบเสียก่อน แล้วค่อยฟังกระแสจากคนที่ดูจนจบก่อนก็ได้ แล้วถ้ารสนิยมของคุณมีแนวโน้มตรงคนกลุ่มใหญ่ที่ชอบเรื่องไหนค่อยเข้าไปรับชมตรงนั้น อย่างโพลล์ของ Anime News Network ที่ถามว่า “อนิเมะเรื่องที่คุณ ชอบ และ ไม่ชอบ ในซีซั่นนี้” ก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการติดตามเรื่องที่มีความนิยม (คอลัมน์ส่วนนี้ยังไม่ถูกแปลเป็นภาษาไทย – ผู้เรียบเรียง) ถึงผมจะบอกแบบนี้แต่บางครั้งบางคราว แนวเรื่องที่เราสนใจจริงๆ อาจจะตกสำรวจไปก็ได้ ดังนั้นผมขอสนับสนุนให้คุณลองอ่านรีวิวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วพยายามหานักวิจารณ์ที่มีรสนิยมใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณเป็น แต่ว่านักวิจารณ์ที่ไม่โดนใจคุณก็สามารถให้ข้อมูลเพื่อให้คุณกลับไปตัดสินใจได้

แล้วมันจะยิ่งดีขึ้นถ้าคุณมีเพื่อนเป็นคนเสพอนิเมะสักกลุ่มหนึ่งแล้ว ให้คุณลองไปเสวนากับพวกเขาดูซึ่งพวกเขาจะบอกได้ทันทีว่าเรื่องอะไรกำลังมาในช่วงนี้ ต่อให้คุณไม่ได้ชอบอนิเมะแนวเดียวกับเพื่อนคุณ อย่างน้อยคุณก็ยังตั้งเป้าได้ว่าอนิเมะเรื่องไหนเป็นอย่างไร ควรคาดหวังก่อนชมมากขนาดไหน หรือถ้าคุณจะลองถามพวกเซียนอนิเมะในทวิตเตอร์ก็ใช้หลักการแบบนี้ได้เหมือนกัน

ระหว่างที่คุณขุดค้นควานหาอนิเมะไปเรื่อยๆ มันคงเลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะได้พบอนิเมะที่ทำให้คุณผิดหวัง ก็อย่าไปเสียใจกับมันนานมากแล้วลองหาเรื่องที่ใช่ต่อมา แล้วถ้าคุณติดตามอนิเมะมาตั้งแต่ยุค 90 เดาว่าคุณคงจะอายุอยู่ในช่วง 30-40 แล้ว บางทีคุณอาจจะมีงานสำคัญ หรือมีลูกหลานให้เลี้ยงแล้ว นั่นหมายความว่าคุณอาจจะไม่มีเวลาให้เสียมากนัก ถ้าไปดูอนิเมะเรื่องไหนแล้วไม่ถูกใจ ก็ไม่ต้องเสียดายมันมากครับ

ที่ Answerman กล่าวไปข้างต้นนั้นคือส่วนสำหรับคนทั่วไปในการหาข้อมูลของอนิเมะแต่ละเรื่อง ส่วน คนวงใน (บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับวงการการ์ตูนต่างๆ) นั้นส่วนหนึ่งก็ดูข้อมูลจากข่าวสารต่างๆ ใกล้เคียงกับส่วนของนักวิจารณ์ที่ Answermanได้กล่าวไป และจะโฟกัสดูว่าทีมงานในอนิเมะเรื่องที่ประกาศมาใหม่ เคยมีผลงานอะไรมาก่อนหรือไม่

เมื่อตอนเปิดเผย Key Visual แรก แทบไม่มีใครคาดคิดถึงกระแสความดังของเรื่องนี้

ตัวอย่างที่ทำให้คนทำงานต้องจับสังเกตสตาฟ อาทิ Yuri On Ice จากที่ตอนแรกไม่ค่อยมีคนสนใจนัก เพราะดูแล้วเป็นแนวแฟนเซอร์วิสสูง พอเช็คว่าผู้กำกับเป็นคนเดียวกับ ‘ชื่อของเธอคือ มิเนะ ฟูจิโกะ’ ภาคแยกของซีรี่ส์ลูแปง รุ่นที่ 3 ที่อาจจะไม่น่าสนใจสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตาม แต่เมื่อลงรายละเอียดไปชมรีวิวของหลายๆ ฝั่งก็จะพบเพิ่มเติมว่าอนิเมะเรื่องดังกล่าวถูกสื่อหลายเจ้านิยามเป็น ‘อนิเมะที่งดงามที่สุดในปี 2012’ และเมื่อเช็คต่อไปอีกพบว่าอาจารย์คุโบะ มิทสึโร่ ผู้วาดการ์ตูนเรื่อง ‘ทคคิว ผู้พิทักษ์ทะเลลึก’ นักเขียนการ์ตูนสายหาข้อมูลระดับถึงลูกถึงคนเป็นคนวางคอนเซปท์ของเรื่อง คนทำงานส่วนหนึ่งก็พอจะนึกออกแล้วว่าอนิเมะเรื่องนี้ ไม่ได้มาแค่ขายหนุ่มๆ หน้าตาดีเป็นแน่

อีกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ สาวน้อยเวทมนตร์มาโดกะ ที่เปิดตัวมาใช้ลายเส้นของอาจารย์อาโอกิ อุเมะ ผู้วาดการ์ตูนเรื่อง หอป่วนก๊วนตัวแสบ ก็ทำให้คนดูหลายคนคิดว่าต้องสดใสน่ารักแน่นอน แต่เมื่อมองว่า Shaft เป็นสตูดิโอจัดทำอนิเมะ และมีชายชื่อ อุโรโบชิ เก็น เขียนบท … หลายท่านที่พอจะคุ้นชื่อหลังนี้ก็รู้ตัวแล้วว่ากำลังโดนทีมงานสร้างอนิเมะกวนบาทาในการโปรโมทอยู่ แล้วพอถึงเวลาฉายจริง ทุกคนก็คงจะจดจำ ‘ตอนที่ 3’ ของเรื่องนี้ได้อย่างดี และหลายคนก็สามารถจดจำชื่อ เก็นไปอีกนานแสนนาน

แน่นอนว่า ส่วนที่เราพูดถึงเมื่อครู่ไม่ต้องเป็นคนวงในก็ตรวจสอบกันได้ เพียงแต่คนวงในจะติดนิสัยมองยาวไปจนถึงจุดนี้ อีกส่วนที่ถือว่าเป็นสิทธิของคนวงในจริงๆ ก็คือ การได้รับชมตัวอย่างของอนิเมะก่อนออกฉายนั่นเอง

ธุรกิจอนิเมะ (รวมถึงมังงะ) ก็เหมือนกับธุรกิจภาพยนตร์ครับ ผลงานส่วนใหญ่นั้นจะต้องมีการวางแผนตลาดระดับหนึ่งให้ และมักจะมีตัวอย่างของเรื่องนั้นๆ ไปให้บริษัทต่างๆ ได้รับชม ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทสปอนเซอร์บ้าง สถานีโทรทัศน์บ้าง หรือบริษัทผู้ซื้อลิขสิทธิ์บ้าง  ที่ต้องมีตอนตัวอย่างนี้ก็เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นได้ลองดูก่อนว่าผลงานที่จะขายในอนาคตนั้นมีทรงไปทางไหน น่าลงทุนไหม มีส่วนไหนที่สามารถเข้าไปร่วมปรับได้ หรือบางครั้งก็ชี้ช่องให้ทีมงานอนิเมะปรับปรุงให้เรื่องดียิ่งขึ้น หรือ ทำให้ขายของเล่นที่จะออกในช่วงอนิเมะฉายได้ดีขึ้น

แม้จะได้ดูตัวอย่างก่อน แต่ถ้าไม่มีความรู้เลยก็อาจจะเจอกรณีแบบนี้

ทั้งนี้ ถึงจะมีตัวอย่างมาให้เสพก่อน ก็ไม่ได้แปลว่าจะยืนยันว่าคนวงในจะสามารถฟันธงได้ว่าอนิเมะทึ่เอามาให้ดูกันนั้นจะดีจริงๆ ถ้าจะยกตัวให้ชวนขำก็คงเป็น อาจจะมีคนได้ดูตัวอย่าง สาวน้อยเวทมนตร์มาโดกะ ก่อนก็จริง แต่ถ้าตัวอย่างมีไม่ถึงตอนที่ 3 คนวงในกลุ่มนั้นก็คงไม่สามารถเห็นบรรยากาศทั้งหมดของเรื่องได้ หรืออย่างในมังงเรื่อง เหล่าผู้สร้างกันดั้ม ได้บอกเล่าว่า ผู้กำกับโทมิโนะ โยชิยูกิ หลอกให้เจ้าของเงินทุนเข้าใจผิดว่าอนิเมะเรื่อง ‘อีเดี้ยน’ นั้นเป็นเรื่องของเด็กขับหุ่นรวมร่างธรรมดาๆ … ด้วยเหตุนี้ คนวงใน เองจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ประกอบเพื่อให้เห็นชัดว่าผู้สร้างอนิเมะอยากนำเสนออะไรด้วย

แล้ว คนวงในตัวจริง จะไปดูตัวอย่างอนิเมะก่อนจะออกฉายได้ที่ไหน ? ก็มีอยู่หลายกรณีทีเดียว ตัวอย่างที่เราพอจะบอกเล่าให้ฟังได้ก็จะเป็นตามเหตุการณ์นี้

ภาพจาก : www.anime-japan.jp
  • งานธุรกิจการ์ตูนอย่างเช่น Tokyo International Anime Fair, Anime Contents Expo, AnimeJapan, Tokyo Anime Award Festival ฯลฯ ซึ่งานเหล่านี้จะมีการวันให้นักธุรกิจเข้าชม ซึ่งหลายครั้งจะเปิดตัวอนิเมะก่อนใคร และบางงานไม่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าชม
  • งานตลาดภาพยนตร์อย่าง เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ที่จะมีงานสำหรับส่วนธุรกิจก็เป็นตลาดที่ทำการขายอนิเมะหลายเรื่องโดยเฉพาะฝั่งภาพยนตร์
  • บริษัทที่ติดต่อกับทางญี่ปุ่นเป็นประจำอยู่แล้ว หลายครั้งจะได้รับตัวอย่างอนิเมะจากญี่ปุ่นส่งตรงมาถึงบริษัท
  • บังเอิญไปเยี่ยมชมบริษัทผู้ผลิตแล้วทางบริษัทก็เปิดให้ดูตัวอย่างดื้อๆ
  • ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศสักระยะหนึ่งแล้ว และต่อให้คุณเป็นพนักงานภายในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำอนิเมะ ก็ใช่ว่าพนักงานทุกๆ คนจะได้ไปเดินในงานแบบนี้  เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากมากที่จะมีกรณีที่บริษัทที่จัดทำอนิเมะหรือผู้เกี่ยวข้อง อย่างผู้กำกับของอนิเมะเรื่องนั้นๆ ออกมาบอกกันดื้อๆ กับคนนอก ว่าผลงานเรื่องใหม่จะเป็นอย่างไร มีฉากรุนแรงขนาดไหน เพราะนอกจากจะเป็นการเผยความลับของบริษัทแล้ว ยังอาจจะโดนฝ่ายการตลาดของบริษัทที่จัดทำอนิเมะหงุดหงิดใส่ด้วยเหตุ การไปเล่าอะไรให้คนอื่นฟังแบบนั้นมันมีผลทำให้แผนการตลาดในภายภาคหน้าพังครืนไปนั่นเอง

แล้วแบบนี้แปลว่า คนวงใน จะได้ดูอนิเมะทุกเรื่องไหม ส่วนนี้ก็ต้องตอบว่า ก็ไม่ทุกเรื่อง แต่จากจุดที่เราเล่ารายละเอียดไปก็ถือว่ามีข้อมูลให้คนวงในสามารถเอาไปต่อยอดทำงานกันต่อได้แล้ว แล้วก็เหมือนกับการลงทุนในทุกธุรกิจ ที่สามารถมีเหตุการณ์เกิดขึ้นได้เสมอ อย่างเช่น อนิเมะเรื่อง Kemono Friends ที่ดูจากฟอร์มแล้วน่าจะอยู่ในสภาพทรงๆ เพราะตัวเกมต้นฉบับก็ปิดบริการไปแล้ว ตัวละครก็ดูไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่จู่ๆ อนิเมก็ดังเปรี้ยงมากจนสร้างกระแสความนิยมไปทั่วตลาด ถึงระดับที่สามารถทำให้เปิดเกมใหม่โดยอ้างอิงจากตัวอนิเมะอีกครั้ง

เพราะมันยังมีอะไรเกิดความคาดเดาอยู่เรื่อยนั่นเอง ทำให้วงการอนิเมะยังสนุกสนานอยู่เสมอแม้ว่าซีซั่นหนึ่งๆ จะมีจำนวนอนิเมะออกมาเยอะแยะตาแป๊ะไก่ขนาดนี้

เรียบเรียงจาก : Answerman – How Do You Keep Up With So Much Anime?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*