จับเข่าเปิดใจ ก่อนไประเบิดศึกเวทมนตร์! กับบทสัมภาษณ์ คุณมินามิคาวะ ทัตสึมะ ผู้กำกับ FAIRY TAIL The Movie -DRAGON CRY-

Share

ฤดูใบไม้ผลิ 2017 มีอนิเมะเรื่องดังเข้าฉายพร้อมๆ กัน ชนิดที่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ในบรรดาผลงานเหล่านั้น มีเรื่องไหนบ้างล่ะที่โดดเด่นเป็นพิเศษ? แต่ละเรื่องล้วนแต่น่าจับตาดูความเคลื่อนไหวหลังจากนี้กันทั้งนั้น และสำหรับไตเติ้ลลำดับที่ 27 นี้ก็คือ “FAIRY TAIL The Movie -DRAGON CRY-“

“FAIRY TAIL” คือการ์ตูนอนิเมชั่นแนวแฟนตาซีที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนต้นฉบับของอาจารย์มาชิมะ ฮิโร่ ซึ่งลงตีพิมพ์ใน “นิตยสารโชเน็นแม็กกาซีนรายสัปดาห์” นอกจากจะถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะแล้ว FAIRY TAIL ยังถูกนำไปสร้างในรูปแบบของสื่อรูปแบบอื่น อาทิ เกม RPG สำหรับสมาร์ทโฟน “FAIRY TAIL โกคุมาโฮรันบุ” (ลงในระบบปฏิบัติการ iOS / Android) จนกลายเป็นที่นิยมของแฟนๆ อย่างมาก และผลงานภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องที่ 2 สำหรับการ์ตูนเรื่องนี้ ก็มีกำหนดฉายพร้อมกันทั่วประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 6 พฤษภาคมที่จะมาถึง

ผลงานชิ้นนี้สร้างโดย A-1 Pictures ซึ่งเป็นทีมงานเดียวกันกับที่ดูแลภาค TV ซีซั่น 1 โดยได้ คุณมินามิคาวะ ทัตสึมะ ซึ่งเคยฝากฝีมือใน “Love Live! Sunshine!!” และ “Attack on Titan” มาทำหน้าที่ผู้กำกับ ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดคุยกับผู้กำกับมินามิคาวะถึงจุดที่น่าสนใจในผลงานเรื่องนี้กัน

“FAIRY TAIL The Movie -DRAGON CRY-“

กิลด์จอมเวทที่รับทำงานต่างๆ ตั้งแต่ตามหาของจนกระทั่งปราบปิศาจ ในบรรดากิลด์เหล่านั้นมีกิลด์ที่รวมเอาจอมเวทซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาอยู่ด้วยกัน จนกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นั่นก็คือ “กิลด์แฟรี่เทล” จอมเวทในสังกัดอย่างผู้ใช้เวทปราบมังกร หรือ ดราก้อนสเลเยอร์  นัตสึ (ให้เสียงพากย์โดย : คาคิซากิ เท็ตสึยะ) พร้อมกับคู่หูคู่ซี้ แฮปปี้ (ให้เสียงพากย์โดย คุกิมิยะ ริเอะ) และเพื่อนร่วมกิลด์อย่างเช่นลูซี่ (ให้เสียงพากย์โดย ฮิราโนะ อายะ) หรือ เอลซ่า (ให้เสียงพากย์โดย โอฮาระ ซายากะ) และ เกรย์ (ให้เสียงพากย์โดย นาคามูระ ยูอิจิ) ที่ร่วมต่อสู้ผจญภัย จนกระทั่งพัฒนาเติบโตเป็นจอมเวทฝีมือดีที่ทุกคนให้การยอมรับ

อยู่มาวันหนึ่ง คฑาเวทมนตร์ “น้ำตามังกร(ดราก้อนคราย) ที่เก็บบูชาในวิหารแห่งราชอาณาจักรฟิโอเล่ได้ถูกซัช กบฏแห่งราชอาณาจักร (ให้เสียงพากย์โดย ไซโต้ จิโร่) แย่งชิงไป และส่งต่อไปอยู่ในมือของราชาอานิมุสแห่งราชอาณาจักรสเตลล่า (ให้เสียงพากย์โดย ฟุรุคาวะ มาโคโตะ) โดยดราก้อนครายเป็นคฑาที่สถิตความโกรธแค้นของเหล่ามังกรที่ถูกคร่าชีวิตโดยน้ำมือมนุษย์ มีพลังเร้นลับที่ว่ากันว่าสามารถล้างโลกได้ทั้งใบซ่อนอยู่

นัตสึและเพื่อนๆ กิลด์แฟรี่เทลที่ได้รับการว่าจ้างให้ไปนำคฑาที่ถูกชิงไปกลับคืนมาได้ไล่ติดตามซัชและลักลอบเข้าไปยังราชอาณาจักรสเตลล่า ในระหว่างกระต่อสู้ช่วงชิงคฑาดราก้อนคราย พวกเขาได้พบกับ โซเนีย (ให้เสียงพากย์โดย ยูกิ อาโอย) นักไสยเวทผู้รับใช้ของ อานิมุส เป้าหมายของอานิมุสที่ต้องการดราก้อนครายมาเป็นของตนคือ? ความลับของโซเนียผู้ปรารถนาช่วยเหลืออาณาจักรคือ? ท่ามกลางความนึกคิดมากมายที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน แฟรี่เทลได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อกอบกู้โลกจากมหันตภัยในครั้งนี้แล้ว

“FAIRY TAIL” ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ฉบับหนังสือการ์ตูนมาตั้งแต่ปี 2006 แม้เวลาจะผ่านไปมากกว่า 10 ปี แต่กระแสความนิยมที่มีต่อเรื่องนี้ก็ยังไม่เสื่อมคลาย แม้ในต้นฉบับจะเข้าสู่บทสุดท้ายของเรื่องราวแล้ว แต่ในภาคมูฟวี่จะยังเป็นเหตุการณ์ช่วงต้นกำเนิด(รูท) ก่อนหน้าที่จะไปถึงบทสุดท้ายของเรื่องราว ในส่วนของเนื้อเรื่องในภาคมูฟวี่คราวนี้คุณมาชิมะ ฮิโระได้เขียนทั้งภาพและสตอรี่บอร์ดสำหรับใช้ผลิตภาคมูฟวี่เป็นจำนวนมากกว่า  200 หน้าจนได้เป็นออริจิน่อลสตอรี่อย่างสมบูรณ์แบบ ภาพโปสเตอร์วิชช่วลจะเป็นภาพของนัตสึที่กลายเป็นมังกรไปครึ่งตัวที่มาพร้อมกับคำโปรย “พลังนั้น, คือความหวังหรือการทำลายล้าง” ส่วนใน PV ก็มาพร้อมประโยคที่ว่า “ลืมตาสู่ขุมพลังที่แท้จริง” เรื่องราวของนัตสึที่ถูกมังกรเลี้ยงจนเติบโตมาเป็นดราก้อนสเลเยอร์ คงจะเป็น หัวใจสำคัญของเนื้อหาในครั้งนี้

“FAIRY TAIL The Movie -DRAGON CRY-” Trailer

เสน่ห์ของ “FAIRY TAIL The Movie -DRAGON CRY-” ผ่านปากคำของผู้กำกับ มินามิคาวะ ทัตสึมะ ในเรื่องจะยังมีตัวละครออริจิน่อลที่ไม่อยู่ในฉบับหนังสือการ์ตูน อย่างเช่นอานิมุส, โซเนีย และเหล่า “ทรีสตาร์” ในสังกัดของกองทัพราชอาณาจักรสเลล่า ปรากฏตัวกันอย่างคับคั่ง อานิมุสกับโซเนีย มีความเกี่ยวข้องกับพวกนัตสึอย่างไร? จะเกิดอะไรขึ้นกับนัตสึในภาคนี้บ้าง? หลากหลายเรื่องราวที่อยากรู้ เราไปถามจากปากผู้กำกับ มินามิคาวะ ทัตสึมะ กันเลยดีกว่า

Q : “FAIRY TAIL” เป็นเรื่องดังที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องจนครบรอบ 10 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้วในการมากำกับภาคมูฟวี่ของการ์ตูนเรื่องนี้มีความกดดันอะไรบ้างมั้ยครับ?
อยากให้ช่วยเล่าความรู้สึกตอนที่ได้รับการติดต่อให้มาทำงานชิ้นนี้ให้ฟังหน่อยครับ
คุณมินามิคาวะ ทัตสึมะ (จากนี้เรียกย่อคุณมินามิคาวะ)
อนิเมะที่มาจากต้นฉบับมาจากหนังสือการ์ตูนแบบนี้ยิ่งเป็นเรื่องดังมากเท่าไหร่ ในการสร้างเป็นอนิเมะจะมีจุดที่ไม่เหมือนกันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงื่อนไขในการทำงานก็ดี หรือมุมมองในเรื่องที่มีความแตกต่างไปจากช่องในหนังสือการ์ตูน ยิ่งดังแฟนที่ติดตามก็มีมากคนที่รู้สึกสังเหตุเห็นความแตกต่างเหล่านี้ก็จะมีมากตามไปด้วย

Q : ส่วนที่นอกเหนือจากในช่องการ์ตูนผู้อ่านต้องจินตนาการเอาเองสินะครับ
คุณมินามิคาวะ
ในสิ่งที่ผู้อ่านจินตนาการอยู่ ผมต้องมาขบคิดว่าอันไหนน่าจะมีเยอะที่สุด แต่สุดท้ายมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราความเหมาะสมว่าอย่างไหนเหมาะที่สุด ซึ่งการตีความตรงนี้เป็นอะไรที่ยากมากครับ การจะเข้าถึงจินตนาการของคนอื่นได้มากน้อยแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่กดดันผมมากที่สุดในการทำงานครับ

Q : ที่ผ่านมา “FAIRY TAIL” เคยสร้างเป็นการ์ตูน TV ซีรี่ส์ 2 ครั้งกับภาคมูฟวี่อีก 1 ครั้ง ถ้าเทียบกับ “DRAGON CRY” ในคราวนี้ ผลงาน 3 ชุดก่อนหน้านี้มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้างครับ
คุณมินามิคาวะ
ตอนผมรับงานมาทำ ผมจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลงานที่ผ่านมาก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องดังที่มีประวัติยาวนาน ต้องดูทั้งในแง่ของอนิเมและหนังสือการ์ตูนว่าจะให้ภาพออกมาประมาณไหนถึงจะเหมาะ ตรงนี้จึงต้องเก็บข้อมูลกันละเอียดนิดนึงครับ
กรณีของ “FAIRY TAIL” ซึ่งตีพิมพ์ฉบับหนังสือการ์ตูนมาถึงเล่ม 60 กว่าแล้ว ถ้าไปย้อนเปิดดูจะเห็นเลยว่าภาพในเล่ม 1 กับเล่ม 30 มีรายละเอียดต่างๆ เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งถ้าสร้างเป็น TV อนิเมซีรี่ส์ยาว พวกเซ็ตติ้งจะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ตรงตามนั้นไปด้วย “FAIRY TAIL” ภาค TV อนิเมแม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปแก้ไขในส่วนของเซ็ตติ้งเหล่านั้นแต่ด้านภาพจะมีความต่างกับในปัจจุบันอยู่หลายส่วน ดังนั้นหนนี้จึงต้องแก้ไขเซ็ตติ้งตัวละครกันใหม่หมดยกชุดครับ

Q : จะได้ให้ตรงกับในหนังสือการ์ตูนตอนใหม่ๆ ที่ออกล่าสุดอย่างงั้นสินะครับ
คุณมินามิคาวะ
ใช่ครับ แผนงานที่ต้องใช้เวลาสร้างกันยาวนาน มันจะเกิดการเหลื่อมล้ำกันขึ้นจากตอนที่เริ่มสร้างกับตอนปัจจุบัน ตรงนี้ผมต้องหารือกับคุณยามาดะ ยูโกะ ผู้ออกแบบตัวละครที่ใช้ในงานคราวนี้อยู่หลายครั้งเพื่อปรับให้ดูลงตัวเหมาะสมที่สุด ซึ่งต้องดูหมดทุกรายละเอียด บางจุดที่ “เมื่อก่อนมันเคยเป็นแบบนี้ แต่หลังๆ มันกลายเป็นแบบนี้แล้ว” อันนี้ก็ต้องตามเช็คกันให้หมดครับ นอกจากนี้ งานคราวนี้อาจารย์มาชิมะ ฮิโระผู้เขียนยังมาช่วยเป็นโปรดิวเซอร์คุมงานด้วยตัวเองด้วย จึงเรียกได้ว่าเก็บละเอียดทุกเม็ด เชื่อว่าแฟนๆ จะไม่ผิดหวังในส่วนตรงนี้อย่างแน่นอนครับ

เรื่องสตอรี่บอร์ดของอาจารย์มาชิมะ ฮิโระหนากว่า 200 หน้า

Q : ได้ยินมาว่าเนื้อเรื่องในตอนนี้ ใช้สตอรี่บอร์ดที่อาจารย์มาชิมะ ฮิโระเขียนขึ้นกว่า 200 หน้าเป็นเค้าโครง อันนี้ไม่ทราบว่ามันมีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้างครับ?
คุณมินามิคาวะ
ทีแรกตกลงกันไว้ว่าให้เขียนมาเป็นบทภาพยนตร์มีภาพประกอบนิดๆ หน่อยๆ แต่พอได้เห็นงานที่ส่งมาถึงมือ กลายเป็นสตอรี่บอร์ดที่ไว้ใช้เขียนการ์ตูนได้จริงๆ ซะงั้น(ฮา) เขียนมาร่วมๆ 200 หน้า ก็ประมาณการ์ตูนรวมเล่ม 1 เล่มพอดี ช่องคำพูดก็เขียนมาเป็นลายมือหมด สรุปก็คือมาเป็นเนมต้นฉบับการ์ตูนนั่นล่ะครับ

Q : อึ้งกันเลยทีเดียวนะครับแบบนี้(ฮา) ตามปกติเวลาสร้างอนิเมจะขึ้นโครงด้วยสตอรี่บอร์ดสำหรับบอกเล่าเนื้อเรื่องคัทซีนต่างๆ แต่พอมาเป็นเนมการ์ตูน ขั้นตอนการทำงานของทีมงานคงจะต่างไปจากทุกทีแน่ แบบนี้ทีมงานไม่งงแย่เลยเหรอครับ?
คุณมินามิคาวะ
ตามปกติในการวางบทจะคำนวณตามจำนวนคัทที่เขียนไว้ในสตอรี่บอร์ดว่าจะต้องเขียนบทกี่แผ่นถึงจะพอดีสำหรับอนิเมฉาย TV ยาว 20 นาที ซึ่งถ้าไม่คำนวณตรงนี้ออกมาเป็นสตอรี่บอร์ดไว้ก่อน งานที่เสร็จออกมามันจะล้นไปจากความยาวที่ฉายได้ชนิดที่ว่ากู่ไม่กลับเลยครับ พองานหนนี้ส่งมาเป็นเนมเราไม่สามารถเอาช่องการ์ตูนมาคำนวณเป็นความยาวได้แบบทุกที ยกตัวอย่างฉากสู้ ถ้าเป็นในช่องหนังสือการ์ตูนเราสามารถทำให้มันจบได้ใน 2 ช่อง ในขณะที่ความเป็นจริงฉากนั้นจะต้องโจมตีใส่กันถึง 5-6 ครั้ง ซึ่งพอสร้างเป็นอนิเมเราก็ต้องเพิ่มจำนวนคัทแทรกเข้าไประหว่างนั้น ความยาวของหนังก็จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เลยทำให้คำนวณตรงนี้ยากหน่อยครับ

Q : แบบนี้นี่เอง ภาพกับตัวหนังสือมันไม่เหมือนกันสินะครับ
คุณมินามิคาวะ
แต่ว่า การที่เขียนบอกเล่ามาเป็นภาพแบบนี้ ก็ช่วยให้เราเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าอาจารย์มาชิมะต้องการอะไรแบบไหนอย่างไร ซึ่งอันนี้นับว่าเป็นข้อดีในการทำงานได้เช่นกัน ถึงเราจะโยงเนื้อเรื่องเสร็จหมดแล้ว แต่มีฉากที่ไม่อยากตัดทิ้งเราก็จะพิจารณาตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าอาจารย์อยากให้เก็บฉากนี้ไว้หรือไม่อย่างไรครับ

Q : อาจารย์มาชิมะเข้ามามีส่วนกำกับการทำงานมากน้อยแค่ไหนครับ?
คุณมินามิคาวะ
นอกจากบทที่เขียนขึ้นตามเนมของอาจารย์ แล้วตกลงนัดแนะการทำงานกันแล้ว พวกเซ็ตติ้งต่างๆ รวมไปถึงสตอรี่บอร์ด ก็จะผ่านการตรวจเช็คของอาจารย์ด้วย บางครั้งก็มาช่วยตัด “เอาตรงนี้ออกหน่อยก็ได้นะครับ” เรียกได้ว่าให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดีครับ

Q : เรียกว่าตรวจงานกันละเอียดยิบเลย ไหนยังต้องเขียนงานส่งรายสัปดาห์อีกงานน่าจะยุ่งสุดๆ เลยนะเนี่ย…
คุณมินามิคาวะ
ในสัปดาห์นึงเราจะนัดวันประชุมงานกันทีนึง แล้วคุยกันให้จบในวันนั้นไปเลย ส่วนเนมอันที่เขียนมาให้ได้ยินว่าใช้เวลาเขียนทั้งหมด 2 สัปดาห์ครับ

Q : เท่าที่เคยได้ยินมา อาจารย์มาชิมะมักจะปั่นงานเต็มสปีดให้เสร็จเพื่อจะได้มีเวลาไปเล่นเกมที่ชื่นชอบ แบบนี้ต้องถือว่าเป็นนักเขียนคนนึงที่ทำงานเสร็จเร็วมากๆ เลยล่ะครับแบบนี้
คุณมินามิคาวะ
ครับ เคยได้ยินมาแบบนั้นเหมือนกัน(ฮา) แถมยังทุ่มเทตั้งใจให้กับงานชิ้นนี้เป็นพิเศษด้วย จะว่าไปแล้ว การที่พวกผมมาสร้างหนังแบบนี้ ก็เหมือนกับให้คนอื่นเข้ามาจัดทำจัดการกับผลงานของตัวเอง และเพราะเป็นผลงานตัวเอง ความตั้งใจที่อยากให้ทำงานออกมาดีเลยสื่อตรงมาจนสัมผัสได้เลย ตอนประชุมงานกันก็มีขอให้ช่วยวาดภาพสดให้ดู บางครั้งก็ขอให้ช่วยดูสตอรี่บอร์ดที่ทำไปถึงกลางทางแล้ว แล้วก็แก้กันสดๆ หน้างาน บางซีนต้องแก้ใหม่ยกแผงเลยก็มีครับ(ฮา) ดังนั้นแล้ว เรื่องคุณภาพของงานที่เสร็จออกมาจึงรับรองได้ว่าไม่ธรรมดาแน่นอนครับ

การรับมือกับงานในวงการกำกับภาพยนตร์ชิ้นแรกคือ?

Q : ผู้กำกับมินามิคาวะซึ่งผ่านงานการกำกับบทแสดงมาแล้วมากมาย อาทิ “Love Live! Sunshine!!” หรืออย่าง “กินทามะ (ซีซั่น 3)” แต่เพิ่งจะได้มาคุมด้านกำกับเต็มตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้ ช่วยเล่าความรู้สึกความยากง่ายในการทำงานคราวนี้ให้ฟังหน่อยครับ
คุณมินามิคาวะ
งานกำกับบทแสดงกับงานผู้กำกับอนิเม ผมคิดว่ามันไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนะ เพราะส่วนมากก็เรียกฝ่ายกำกับบทเท่ากับผู้กำกับรายตอนกันอยู่แล้ว ขั้นตอนการทำงานจึงไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากมายขนาดนั้น  ถ้าจะมีต่างก็คือสั่งงานคนอื่นได้มากกว่าที่เคยทำ ถ้าเป็นทุกทีงานของผมจะเริ่มหลังจากสตอรี่บอร์ดที่ใช้กำกับบทเสร็จแล้ว ผมจะไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับฝ่ายเขียนบท แต่พอเป็นผู้กำกับแล้ว ต้องเข้าไปดูในส่วนบทภาพยนตร์ด้วย เพื่อที่จะได้เอามาทำเป็นสตอรี่บอร์ดต่อ ถึงแม้จะมีเรื่องให้คิดให้ทำมากกว่าทุกที แต่ก็สามารถคุมงานในภาพรวมได้ นั่นคือจุดที่แตกต่างครับ ในทางกลับกัน แรงกดดันที่มีต่อผลงานที่จะเสร็จออกมาก็เยอะตามไปด้วยครับ(ฮา)

Q : แต่งานในภาค TV กับภาคมูฟวี่มันน่าจะต่างกันอยู่พอสมควรนะครับ
คุณมินามิคาวะ
ก็ใช่ครับ เทียบกับงานฉาย TV ผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานภาคมูฟวี่อยู่แค่ไม่กี่เรื่อง ซึ่งต่อให้เป็นคนในแวดวงวงการอนิเม ก็ไม่บ่อยนักที่จะได้ทำงานในลักษณะนี้ และการได้เข้ามาทำงานตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเกียรติและเป็นหน้าเป็นตาให้กับตัวเองอย่างยิ่ง นอกจากนี้ งานภาคมูฟวี่ยังต่างกับ TV ซีรี่ส์ ตรงที่ผู้ชมต้องเสียเงินค่าบัตรค่าเดินทางมาชมถึงที่ ยิ่งทุกวันนี้มีการจัดอันดับบ็อกซ์ออฟฟิศเป็นเครื่องประเมินความสำเร็จที่เห็นผลกันอย่างรวดเร็วด้วย นอกจากชื่อเสียงความสำเร็จ คือหน้าที่ความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง บางคืนทำเอาผมนอนไม่หลับเลยก็มี(ฮา)

Q : ความกังวลใจในการทำงานกำกับภาพยนตร์ชิ้นแรกนี้ล่ะครับ?
คุณมินามิคาวะ
ก็มีเรื่องที่ไม่คุ้นเคยในการทำงาน อย่างปล่อยดนตรีตรงไหนหรือรายละเอียดในบทก็ดี สมัยทำงานฝ่ายกำกับการแสดง อันไหนที่ไม่เคยตามผู้กำกับเข้าไปประชุมด้วย ผมก็จะไม่รู้เรื่องไม่มีประสบการณ์จนอดกังวลไม่ได้ “แบบนี้ต้องทำไงเนี่ย…” แต่ด้วยความที่ได้ทำงานกันเป็นหมู่คณะ ถ้าสื่อสารรายละเอียดที่ต้องการไม่ผิดเพี้ยนซะอย่างก็คงไม่มีปัญหามั้ง? ผมคิดงั้นนะ(ฮา) แต่การเป็นผู้กำกับมันก็มีสิ่งที่มีแต่ผู้กำกับเท่านั้นที่ทำได้อยู่ แล้วในงานคราวนี้จะมีฉากย้อนความแบบพิเศษใส่เข้ามาในเรื่องด้วย ซึ่งฉากนี้จะต้องมีการใช้เทคนิคพิเศษในการแสดงผลด้วย ซึ่งขั้นตอนการทำงานที่ไม่เหมือนกับฉากปกติแบบนี้ คืองานของผู้กำกับที่มีแต่ผู้กำกับเท่านั้นที่จะทำได้ครับ

Q : มีส่วนที่เป็นสีสันในแบบของผู้กำกับมินามิคาวะอยู่ด้วยรึเปล่าครับ
คุณมินามิคาวะ
ปกติผมจะไม่ไปเที่ยวบอกคนอื่นว่า “ผมถนัดอันนี้ครับ” เพราะถ้าพูดไปแล้วผมจะถูกคนที่ทำด้านนั้นๆ จับตามอง ซึ่งไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ไม่ว่าจะแนวแอ็คชั่นหรือแก๊กตลกก็ดี ในแง่ของผลลัพธ์การที่ได้ไปทำงานเรื่องต่างๆ อาจจะทำให้คนคิดไปว่าเราถนัดแบบนั้นแบบนี้ แต่โดยส่วนตัวของผมเอง ผมไม่เคยคิดที่จะเน้นไปทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ อยากจะคงแนวทางของตัวเองที่รับงานได้หมดไม่ว่าแนวไหน แต่ก็ไม่ได้เก่งกาจขนาดที่จะเอาไปคุยโม้ได้ว่าเราเก่งอันนี้หรอกนะครับ(ฮา) ถ้าจะมากประสบการณ์หน่อยก็คงการ์ตูนแนวชีวิตประจำวันกระมัง ถ้าจะมีที่ชอบเป็นการส่วนตัวก็คงเป็นแนวภูตผีปิศาจ แทนที่จะพูดว่าเป็นสีสัน คงต้องบอกว่าใส่ส่วนที่ทำให้คุณภาพงานในแบบการ์ตูนฉายโรงให้มันมีเพิ่มมากขึ้นมากกว่าครับ

เรื่องราวที่ส่งต่อไปยังบทสุดท้ายที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหน

Q : ถ้าพูดถึง “FAIRY TAIL” คนน่าจะนึกถึงภาพของการ์ตูนที่มีตัวละครมากมายมาชุมนุมมีบทบาทร่วมกันเป็นอันดับแรก เท่าที่ได้ชมจากตัวอย่างแล้วการดำเนินเรื่องราวในคราวนี้ดูจะเน้นไปที่ตัวของนัตสึเป็นหลัก ในคราวนี้จะมีการเปิดเผยความลับของนัตสึระหว่างเรื่องอย่างงั้นเหรอครับ?
คุณมินามิคาวะ
ใช่ครับ คอนเซ็ปท์ของเรื่องราวในครั้งนี้จะโฟกัสไปที่นัตสึเต็มๆ ครับ ทีแรกตั้งใจว่าจะให้มีตัวละครออกโรงมากกว่านี้ แต่แบบนั้นจะทำให้จุดที่เราอยากโฟกัสมันจืดจางลงไป ผมเลยปรึกษาหารือกับอาจารย์มาชิมะ จนได้เป็นเรื่องราวที่ดำเนินเหตุการณ์โดยใช้ตัวละครไม่ต้องมากนัก แทนที่จะพูดว่าเป็นเรื่องราวอดีตของนัตสึ น่าจะพูดว่าเป็นการนำเอาเหตุการณ์ในหนังสือการ์ตูนที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้มาแง้มให้ดูก่อนนิดนึงมากกว่า ส่วนที่เล่าถึงอดีตก็มีครับ แต่เนื่องจากอันนั้นเป็นประเด็นที่พูดถึงใน “FAIRY TAIL” อยู่แล้วผมก็จะไม่ไปเน้นตรงนั้นมากเกินไป ที่จะมีคือหยอดลูกเล่นนิดหน่อยเป็นการแง้มเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งอันนั้นจะโยงเข้ากับเนื้อเรื่องและเสริมส่วนที่ไม่ได้ถูกพูดถึงเข้ากับเหตุการณ์ในต้นฉบับด้วยครับ

Q : อย่างนี้นี่เอง ตอนนี้ฉบับหนังสือการ์ตูนได้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายแล้ว ถ้าได้มาชม “DRAGON CRY” ก็จะยิ่งเข้าใจและสนุกกับฉบับหนังสือการ์ตูนมากขึ้นงั้นสินะครับ
คุณมินามิคาวะ
นั่นสินะครับ พออ่านแล้วนึกภาพย้อนไปถึงฉากในภาคมูฟวี่มันจะยิ่งออกรสออกชาติเป็นพิเศษนะผมว่า(ฮา)

Q : แล้วธีมหลักของภาคมูฟวี่นี้ล่ะครับ
คุณมินามิคาวะ
ธีมหลักก็จะเหมือนกับฉบับหนังสือการ์ตูนคือ “สายสัมพันธ์กับพวกพ้อง” เรื่องสายสัมพันธ์ของชาวคณะกิลด์ “แฟรี่เทล” จะยังคงมีเหมือนเดิมทุกอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงครับ

Q : เรื่องราวในตอนนี้ จะมีตัวละครออริจิน่อลอย่างโซเนีย (ให้เสียงพากย์โดย : ยูกิ อาโอย) และอานิมุส (ให้เสียงพากย์โดย : ฟุรุคาวะ มาโคโตะ)เข้ามามีบทบาท ไม่ทราบว่าตัวละครเหล่านี้เป็นตัวละครแบบไหนเหรอครับ?
คุณมินามิคาวะ
พวกเค้าเป็นตัวละครที่มีลักษณะตรงข้ามกับนัตสึและพวกลูซี่แต่อย่างที่บอกเมื่อครู่ว่าเนื้อเรื่องในตอนนี้จะเน้นโฟกัสไปที่นัตสึ พวกเค้าเหล่านั้นจะเข้ามามีบทบาทในฐานะของตัวละครที่มีส่วนต่างๆ แตกต่างตรงกันข้ามกับนัตสึอย่างสิ้นเชิงครับ

Q : หมายถึงนัตสึมีอานิมุส ส่วนลูซี่มีโซเนียเป็นตัวละครที่ตรงข้ามกับตัวเองงั้นเหรอครับ?
คุณมินามิคาวะ
เปล่าครับ หมายถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างตัวละครทั้ง 2 ตัวครับ ซึ่งอันนี้จะแตกต่างกับ “สายสัมพันธ์” ที่พูดไว้เมื่อครู่นี้ ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันต่างๆ จะตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งพอได้ดูแล้ว คนดูก็จะย้อนนึกขึ้นมาใหม่ว่า “เออแฮะ ถ้างั้นแล้วพวกนัตสึล่ะ” พอกลับไปอ่านฉบับหนังสือการ์ตูนก็จะยิ่งอินกับเรื่องราวได้ง่ายขึ้นไปด้วย

Q : ช่วยพูดถึงลูกเล่นและจุดน่าสนใจในภาคมูฟวี่นี้ให้ฟังหน่อยครับ
คุณมินามิคาวะ
ด้วยความที่เป็นภาคมูฟวี่ภาคที่ 2 พวกผมก็ต้องพัฒนาในส่วนเทคนิคการผลิตให้ทันสมัยขึ้น ทำให้คุณภาพงานที่ออกมาดูดีอย่างผิดหูผิดตา ส่วนเอฟเฟคท์เวทมนตร์คาถาก็ตระการตาอลังการงานสร้าง รวมทั้งมังกรซึ่งเป็นคำบอกใบ้ให้เห็นกันในโปสเตอร์ ครั้งนี้ผู้ชมจะได้เห็นศัตรูขนาดมหึมาที่ไม่ค่อยมีให้เห็น มาปรากฏตัวในเรื่องด้วย แฟนๆ ที่อยากมาดูฉากต่อสู้แอ็คชั่นคิดว่าคงจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอนครับ

Q : สุดท้ายช่วยกล่าวอะไรถึงผู้ชมที่อ่านอยู่หน่อยครับ
คุณมินามิคาวะ
นับตั้งแต่ที่ TV ซีรี่ส์จบไปในปี 2016 ภาคนี้จะเป็นอนิเมที่สร้างใหม่หลังจากห่างหายไป 1 ปี ทั้งผมและทีมงานทุกคนทุ่มเทตั้งใจทำงานกันอย่างสุดฝีมือ จนได้เป็นผลงานภาพยนตร์ที่น่าพึงพอใจชิ้นนี้ที่จะมาตอบสนองความต้องการของแฟนๆที่รอชมพร้อมกับคาดหวังว่าภาคใหม่หลังจากห่างหายไป 1 ปีจะออกมาเป็นยังไงนะ? ได้ติดตามกันอย่างสนุกสนาน ถ้ายังไงก็ไปชมกันที่โรงภาพยนตร์กันเยอะๆ นะครับ

Q : วันนี้ต้องขอบคุณมากเลยนะครับ

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*