Answerman – ทำไมอนิเมะยุค 1980 ถึงดูมีงบสร้างมากกว่าสมัยนี้

Share

Jacob ถาม:

ผมลองย้อนไปอนิเมะที่สร้างขึ้นในช่วงยุค 1980 แล้วมันก็ทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งที่อยากรู้มาตลอด ผมเคยได้ยินจาก Podcast รวมไปถึงตามพาเนลในงานใหญ่ๆ ว่ามีการทุ่มเงินลงไปในอุตสาหกรรมอนิเมะช่วง 1980 ตัวอย่างที่ผมได้ยินบ่อยๆ ก็คือ เรื่องของกลุ่มผู้ตั้ง Gainax ที่ตอนนั้นเป็นกลุ่มเด็กเรียนไม่เรียนจบอายุในช่วง 20 ปีแต่กลับได้เงินก้อนใหญ่มาจากภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง The Royal Space Force Wings of Honnêamise ที่ถือว่าเป็นภาพยนตร์อนิเมะที่ใช้งบการสร้างมากที่สุดจนกระทั่งเรื่อง เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร (Princess Momonoke) มาทำลายสถิติในภายหลัง รวมไปถึงโปรเจคท์อื่นๆ ที่พวกเขาได้เงินมาสร้างงานที่มีคุณภาพหลากหลายแบบ ต่างกับสมัยนี้งานตอนนั้นสร้างขึ้นโดยไม่มีกลุ่มคนดูที่ขัดเจนหรือมีแผนการสร้างเฟรนไชส์ข้างเคียง คำถามของผมก็คือ ทำไม ณ ตอนนั้นสตูดิโออนิเมะถึงได้งบจำนวนมากในการสร้าง OVA, ภาพยนตร์ และทีวีซรีส์ ? พวกเขาได้เงินมาจากไหน ? ทำไมถึงดูมีการควบคุมการสร้างในตอนนั้นน้อยกว่าในตอนนี้ล่ะ ?

Answerman ตอบ:

Nausicaä of the Valley of the Winds อนิเมะที่ถือว่าเป็นตัวแทนของยุค 1980 ได้อย่างดี / ภาพจาก – IMPAwards.com

ถ้าคุณไปถามโอตาคุที่ญี่ป่นให้บรรยายเกี่ยวกับยุค 1980 พวกเขาจะต้องพูดถึง ซีรีส์ หรือ ภาพยนตร์ ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนั้นแน่ๆ เพราะยุคดังกล่าวเป็นยุคที่ มิยาซากิ ฮายาโอะ เพิ่งก้าวเท้ามาเป็นผู้กำกับภายนตร์อนิเมะ เป็นยุคที่การ์ตูนหุ่นยนต์ยึดครองวงการ ไหนจะมี กันดั้ม ยัน มาครอส โดแกรม ยัน โกไลอ้อน ลากยาวไปถึง โวทอมส์ แล้วก็หุ่นอื่นที่ ใช้เงินของบริษัทของเล่นมาเป็นทุนในการเล่าเรื่องสงครามที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็ยังเป็นยุคที่การทำตลาดขายโฮมวิดีโอ ทำให้สามารถทดลองการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ และปล่อยจินตนาการสุดล้ำเลิศลงไปในงานได้ หรือถ้ามองย้อนกลับไปแล้วก็ถือว่ายุคนั้นเป็นยุคทองสำหรับอนิเมะจริงๆ

ภาพจาก – https://beardedgentlemenmusic.com/

แต่ถ้าคุณไปถามคนญี่ปุ่นที่ไม่ได้ติดตามเรื่องการ์ตูนเลยว่ายุค 1980 เป็นอย่างไร สิ่งที่พวกเขาน่าจะบอกกลับมาคงเป็นเรื่องที่ยุคดังกล่าว ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในจุดที่ธุรกิจบูมที่สุดเท่าที่เคยมีมา การส่งออกกำลังฮอท ญี่ปุ่นผลิตสินค้าทั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์, มอเตอร์ไซค์ และของเล่น ไปยังทุกพื้นที่ทั่วโลก จากผู้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ได้กลายมาเป็นประเทศที่มีบทบาทเด่นบนเวทีเศรษฐกิลโลก ทำยอด GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สูงเป็นอันดับที่สองของโลก จนถูกขนานนามช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็น Japan Economic Miracle

ผลจากธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างมาก เศรษฐีหน้าใหม่ชาวญี่ปุ่นทยอยซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างชาติ (ส่วนใหญ่มักจะเป็นสนามกอลฟ์) บุกเข้ากวาดซื้อกิจการของอเมริกา (จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านญี่ปุ่นในอเมริกา อย่างในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน)

เมื่อตอนปี 1985 เงินเยนแข็งค่าอยู่ 250 เยน ต่อ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ วิศวกรรมและฝีมือการผลิตของญี่ปุ่นก็อยู่ในระดับที่ดี เรื่องเหล่านี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีแต้มต่อในเชิงการรับงานผลิตสินค้าจากต่างประเทศ ก้อนเงินมหาศาลถูกเทเข้าสู่ตลาดห้นของญี่ปุ่นในระดับทะลุเพดานไปมากโข บริษัทส่วนใหญ่จึงได้รับเงินมาโดยไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรกับมันดี

ด้วยเหตุข้างต้นที่กล่าวไปทำให้บริษัทต่างๆ ที่คิดว่าตัวเองโชคดีมีเงินเข้า พยายามหาที่ลงทุนเพิ่มเติม แต่เมื่อรายได้วิ่งเข้ามาจากทุกทิศ นักลงทุนบางคนก็มีความเบ๊อะบ๊ะขึ้นมาแรงๆ ด้วยการเอาเงินไปลงทุน หรือ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ อย่างไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่พวกเขากำลังจะลงเงิน หรือถ้าบอกว่าพวกเขาก็แค่เฮละโลไปลงทุนกับ ‘ธุรกิจใหม่มาแรง’ ที่สุดท้ายก็ไม่ได้แรงขนาดนั้น (เหตุการณ์คล้ายๆ กับ บิทคอยน์ ในปัจจุบัน)

Baldios เป็นอนิเมะหุ่นยุค 1980 ที่ตั้งใจทำพลอทจริงจัง แต่โดนตัดจบไปเพราะของเล่นไม่ป๊อปนัก / ภาพจาก – https://animehodai.my.softbank.jp

การลงทุนแบบใช้หัวคิดน้อยก็เกิดขึ้นกับวงการอนิเมะในช่วงยุค 1980 บริษัทของเล่นปล่อยสินค้าไลน์ใหม่ๆ แบบรีบสุดๆ โดยมีการผลิตอนิเมะออกมาส่งเสริมการขายให้กับสินค้าพวกนั้น เนื้อหาในอนิเมะเลยไม่ค่อยเป็นที่สนใจเท่าไหร่นัก (มู้ดประมาณว่า “อยากจะทำอนิเมะแนวมืดมน ดิสโทเปีย โดยอิงเรื่องทำลายล้างสิ่งแวดล้อมโลกงั้นเหรอ? เอาสิ แค่มีหุ่นยนต์ของบริษัทเราก็พอแล้ว”)

MD Geist งานอนิเมะคุณภาพสูงที่่เกิดขึ้นในยุค 1980 แต่งานมีความเป็นแนวทดลองจนสุดท้ายบริษัทผู้ผลิตปิดตัวลงไป / ภาพจาก – http://www.otakuusamagazine.com

แล้วก็อย่าลืมด้วยว่าว่า ณ เวลานั้น สื่อบันเทิงสำหรับรับชมตามบ้านอย่าง VHS (วิดีโอเทปแบบสามัญ), เลเซอร์ดิสก์, เทปเบต้า (Beta Tape) และ เทป VHD เป็นเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมที่ต้องการเนื้อหามาจูงใจให้คนซื้อ บริษัทที่สนับสนุนสื่อแต่ละประเภทเลยพยายามลงทุนสร้างงานเพื่อดึงคนดูให้มาเสพสื่อ ซึ่งก็มีบริษัทบางบริษัทที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่นกลุ่มบริษัทที่กลายเป็น Bandai Visual แต่ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าอื่นๆ อย่าง HIRO Media ที่เลิกกิจการไปอย่างรวดเร็วหลังสร้างงานชั้นเยี่ยมอย่าง MD Geist กับ Roots Search เยี่ยมออกมา แต่ก็มีบริษัทอีกส่วนหนึ่งที่ผลิตงานคุณภาพต่ำออกมาเช่นกัน และตลาด OVA ในช่วงแรกก็เติบโตแบบมหาศาล ก่อนที่จะมีบริษัทหลายแห่งตามรอยกันมาทำ จนเกิดภาวะล้นตลาดแล้วผลิตงานขยะที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อนที่จะปิดตัวลงไป

การลงทุนแบบไม่ยั้งคิดแบบนี้ สุดท้ายก็ก่อให้เกิดสภาพ ‘เศรษฐกิจฟองสบู่’ ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของยุค 1990 และทำให้ธุรกิจของญี่ปุ่นล้มครืนลง แถมยังมีเรื่องอื่นๆ ซัดสาดตามมาจนญี่ปุ่นไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีกหลายทศวรรษ

เมื่อธุรกิจฟุบตัวลงอย่างกะทันหัน นั่นก็กลายเป็นยุคมืดของวงการอนิเมะด้วยเช่นกัน บริษํทอนิเมะหลายแห่งต้องปิดตัวลงไปในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนบริษัทที่เหลืออยู่ก็ต้องตั้งหลักใหม่ การสร้างงานแบบใช้ทุนสูงที่เคยเห็นในช่วงยุค 1980 ได้ถูกชะลอตัวลงไป ด้วยเหตุที่ว่างานส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ก่อกำไรขนาดนั้น (แม้แต่งานสุดอลังการอย่าง Akira ก็ยังไม่ได้มีรายได้จากการฉายในประเทศมากนัก เป็นอาทิ) บริษัทต่างๆ เริ่มมายืนพื้นกับผลงานที่ขายได้มากขึ้น เริ่มทำการสำรวจตลาดชัดเจนขึ้น และกลายเป็นการทำงานที่คนดูสมัยนี้คุ้นตาขึ้นนับแต่บัดนั้น

แล้วถ้าถามว่ามีโอกาสไหมที่อุตสาหกรรมอนิเมะจะกลับมาถึงยุคทองแบบที่เกิดขึ้นในยุค 1980 เราคาดว่าอาจจะมีงานส่วนหนึ่งที่ได้รับเงินจากนายทุนในยุคปัจจุบัน ที่อาจจะไม่สนคนดู หรือ อาจจะไม่ประสาธุรกิจอนิเมะ แต่เชื่อว่าสภาพที่ทั้งตลาดตื่นตัวไปด้วยอะไรอลังการๆ คงไม่ได้กลับมาอย่างกว้างขวางแบบนั้นอีกแล้ว

เรียบเรียงจาก: Answerman – Why Were Anime Budgets So Big In The 80s?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*