Answerman – ทำไมไม่พากย์เสียงอนิเมะก่อนทำงานอนิเมชั่น

Share

James ถาม:

ก่อนหน้านี้ Answerman เคยบอกว่า จุดที่แตกต่างการในการทำงานระหว่างอนิเมชั่นของฝั่งตะวันตก กับ ฝั่งญี่ปุ่น ก็คือขั้นตอนการพากย์เสียง ฝั่งตะวันตกจะทำการพากย์เสียงกันก่อนแล้วค่อยทำงานอนิเมชั่นให้สอดคล้องกับการพากย์ที่เกิดขึ้น แต่ในฝั่งญี่ปุ่นจะทำกันหลังงานอนิเมชั่นเสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตามวิธีการพากย์เสียงแบบฝั่งตะวันตกจะเปิดโอกาสให้ขั้นตอนการพากย์มีอิสระและมีขั้นตอนในการอัดเสียงที่หลากหลายกว่า (คือมีการเอื้อให้ปรับเปลี่ยนบทหรือปรับเปลี่ยนอารมณ์ของการพากย์) แล้วทำไมอนิเมชั่นของฝั่งญี่ปุ่นถึงไม่ใช้ระบบการพากย์แบบนี้บ้างล่ะ?

Answerman ตอบ:

ง่ายมากครับ: เพราะการพากย์หลังเขียนงานอนิเมชั่นแล้วมันถูกกว่าและเร็วกว่า

การพากย์ของ Frozen ก็เกิดขึ้นก่อนงานอนิเมชั่นจะเสร็จสิ้นทั้งหมด / ภาพจาก – Time.com

คือการ ‘อัดเสียงล่วงหน้า’ (Pre-Lay) แบบสไตล์การทำงานอนิเมชั่นของฝั่งตะวันตก (อย่างงานของดิสนีย์) จะต้องใช้เวลาในการทำงานก่อนหน้านาน อย่างแรกก็คือบทภาพยนตร์จะต้องทำให้เสร็จสิ้น, จากนั้นจึงทำการอัดเสียง แล้วถึงเป็นการตัดต่อจากนั้นผู้ดูแลการสร้างอนิเมชั่นจะต้องทำการตรวจสอบเสียงพากย์แล้วทำการคุมการเขียนอนิเมชั่นปากให้ตรงกับการจับเสียงพากย์ — ขั้นตอนที่น่าเบื่ออย่างแรง หลังจากทำงานข้างต้นที่กล่าวถึงเสร็จทุกอย่างแล้ว จึงจะสามารถก้าวเข้าสู่งานอนิเมชั่นได้ ถ้าเกิดงานส่วนแรกล่าช้า หรือผิดพลาดไปสักนิดหนึ่ง การทำงานขั้นต่อไปก็จะมีปัญหามากมายทันที เพราะนักพากย์ได้ทำการพากย์เสียงไปก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งแล้วการจะปรับเปลี่ยนอะไร ณ จุดนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานส่วนอื่นๆ อีกมาก

แต่ในการทำงานแบบนี้ก็จะมีข้อดีอยู่ในการปรับแก้จังหวะของการเดินเข้าเรื่องได้อย่างราบรื่น และบางครั้งก็ทำให้ฉากบางฉากโดดเด่นขึ้น อย่างการที่เพลงดังของอนิเมชั่นจากทางดิสนีย์หลายๆ เรื่อง นั้นเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ อย่างเพลง Part Of Your World ของเรื่อง Little Mermaid กับ Do You Want To Build A Snwoman ของ Frozen เกือบถูกคัดออก จนขั้นตอนการเดินเรื่องในการทำงานขั้นแรกดูติดขัด เลยมีการกลับมาดูงานพากย์และมีการใส่เพลงเหล่านี้เชื่อมโยงเรื่องราวมากขึ้น

ส่วนการทำงานฝั่งอนิเมะนั้นถูกเซ็ตตัวไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1960 ตั้งแต่สมัยอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ ยังทำงานหนักอยู่ ว่างานแนวนี้จะเป็นงานที่ต้องส่งให้ทันตารางฉายโทรทัศน์ และด้วยความที่ว่าการเขียนงานอนิเมชั่นนั้นเป็นขั้นตอนที่เสียเวลามากที่สุด ทีมงานทำอนิเมะในญี่ปุ่นจึงไล่เคลียร์งานส่วนนี้เป็นอย่างแรก และการเขียนบทก็จะถูกจัดการไปพร้อมๆ กับการวาดอนิเมชั่น แล้วถ้าเกิดปั่นงานกันไม่ทันจริงๆ ก็จะต้องมี ‘รียูส’ งานอนิเมชั่น, เปิดฉากระลึกชาติ, แพนกล้องช้าจ่อเข้าที่หน้าตัวละคร รวมไปถึงการอัดฉากอื่นๆ ซึ่งบางครั้งก็จะปรับบทให้ฉากเหล่านี้มีเหตุผลขึ้น พอปั่นงานในการทำอนิเมชั่นจนเสร็จสิ้นแล้ว (อย่างน้อยก็ถึงขั้นร่างภาพนะ) จุดนี้นี่เองที่นักพากย์จะมาอัดเสียงของพวกเขาเองกันอีกทีหนึ่ง

ขั้นตอนการทำงานแบบคนละฟากฝั่งกับโลกตะวันตกนี้ จนไม่น่าเชื่อว่านักพากย์สามารถใส่เสียงให้อารมณ์ตรงกับบทและภาพที่ยังไม่เสร็จ ถือว่าเป็นกิจวัตรที่เกิดขึ้นมาแล้วนานหลายทศวรรษ ผู้กำกับการพากย์ จึงเป็นตำแหน่งงานอีกหนึ่งตำแหน่งที่สำคัญ บางครั้งผู้เขียนบทก็จะมาอยู่ที่หน้าการพากย์ด้วยเพื่อมีการปรับหรือตัดคำให้สอดคล้องกับการพากย์โดยที่ไม่เสียหายต่อพลอทเรื่องก่อนหน้าและหลังจากนนี้ ยังไม่นับว่ามีบางจังหวะที่คนพากย์ก็ทำการด้นบทสดๆ แม้ว่าจะมีช่องว่างไม่มากนักในการลงเสียง และยิ่งนานวันฝั่งญี่ปุ่นก็ยิ่งเก่งกาจในการทำงานแบบนี้ รวมกับว่าการทำงานในยุคนี้ที่ทำงานอนิเมชั่นแบบดิจิตอลมากขึ้นก็ทำให้มีการปรับแก้รายละเอียดอีกเล็กน้อยหลังพากย์เสียงเสร็จได้ด้วย

การพากย์เสียงแบบญี่ปุ่นนี้ จึงกลายเป็นเสน่ห์ และความยากลำบากให้กับการพากย์ทับในภาษาอื่น อย่างการพากย์เสียงในไทยก็ต้องลุ้นเล็กๆ น้อยๆ ว่าที่หน้าห้องพากย์จะมีคนคุมพากย์และผู้แปลไปร่วมงานหรือไม่ ซึ่งถ้ามีก็สามารถปรับแก้บทให้อารมณ์และใจความคงเดิมไว้กับตัวต้นฉบับ (ใช่ครับ เป็นการทำงานที่ไม่ต่างกับฝั่งญี่ปุ่นมากนัก) แต่ถ้าไม่มีคนคุมงานที่ประสบการณ์มากพอก็อาจจะต้องลุ้นสภาพกันเล็กน้อยว่างานพากย์จะหลุดกรอบขนาดไหน อย่างน้อยในการพากย์เสียงสมัยนี้ก็โชคดีกว่าสมัยก่อนที่จะมีไฟล์เสียงแยกมาต่างหากไม่ต้องพากย์ทับเสียงเอฟเฟคท์เดิม และการอัดเสียงแบบดิจิตอลก็ทำให้สามารถขยับแก้ไขเสียงที่ผิดพลาดแบบเล็กๆ น้อยๆ ได้ง่ายกว่าสมัยก่อนที่จะพลาดแล้วพลาดเลย

ทั้งนี้ แม้ฝั่งอนิเมชั่นตะวันตกจะใช้การพากย์เสียงก่อนทำอนิเมชั่น แต่เวลาพากย์เสียงขายในชาติอื่นๆ (อย่างไทย) โดยส่วนใหญ่ก็ใช้ขั้นตอนในการพากย์แบบใกล้เคียงกับการพากย์ของญี่ปุ่นอยู่

การที่พากย์เสียงก่อนทำอนิเมชั่น กับ การพากย์เสียงหลังอนิเมชั่นนั้น เกิดขึ้นจากการงบทุนทำงานที่ต่างกัน และกำหนดเวลาทำงานที่ต่างกัน จึงเกิดความแตกต่างกันขึ้นมานั่นเอง

เรียบเรียงจาก: Answerman – Why Doesn’t Anime Record Voices Before Animating?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*