Answerman – ทำไมเขาถึงไม่ทำอนิเมะออริจินัลให้มากกว่านี้?

Share

rajkovic ถาม:

ทำไมสตูดิโออนิเมชั่นในญี่ปุ่นถึงชอบทำอนิเมะที่ดัดแปลงจาก ไลท์โนเวล, เกม หรือ มังงะ แต่ดันทำอนิเมะแบบออริจินัลน้อยกว่าล่ะ? เพราะว่ามันใช้เวลาในการทำงานแล้วก็ใช้ทุนน้อยกว่าในการสร้างหรือดัดแปลงผลงานที่มีอยู่แล้วอย่างนั้นหรือเปล่า?

Answerman ตอบ:

ขอเริ่มต้นอธิบายก่อนว่าสตูดิโออนิเมชั่นในญี่ปุ่นตามปกติจะทำงานอยู่สองแบบ นั่นก็คือ ทำงานตามว่าจ้าง กับ สร้างผลงานออริจินัลของตัวเอง ในเชิงรายละเอียดงานทั้งสอบแบบนั้นจะมีอะไรที่แตกต่างกันอยู่ไม่น้อยตามรายละเอียดดังนี้ครับ

 

‘ทำงานตามว่าจ้าง’

อนิเมะที่เป็นการ ‘ทำงานตามว่าจ้าง’ เป็นลักษณะงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมอนิเมะ เป็นลักษณะงานที่ต้องมีคณะกรรมการสร้างอนิเมะมาทำการว่าจ้างสตูดิโอ โดยมีราคาต้นทุนตั้งไว้อยูในใจ หลังจากนั้นเมื่อคณะกรรมการตัดสินใจได้แล้วว่าจะใช้งบเท่าไหร่ พวกเขาก็จะเลือกสตูดิโออนิเมชั่นมารับงาน และเมื่อเหตุผลหลักของการทำอนิเมะผ่านระบบคณะกรรมการสร้างอนิเมะนั้นมักจะเป็นการทำเพื่อโปรโมท มังงะ, หนังสือ หรือเกม ที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว เพราะงั้นจะไม่มีการพูดคุยเรื่องขั้นตอนสร้างานต้นฉบับในช่วงนี้

ตัวอย่างที่ดีว่าทำไมงานดัดแปลงจึงง่ายกว่า ก็คือ Full Metal Alchemist ที่เต็มไปด้วยการสร้างตรรกะมากมายใหม่ให้กับเนื้อเรื่อง

ด้วยความที่ว่างานแนว ‘ทำงานตามว่าจ้าง’ เป็นอะไรที่ค่อนข้างตรงตัว งานที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตามจะกลายเป็นพื้นฐานในการเขียนบทและออกแบบงานทั้งหมด ถ้างานต้นฉบับมีภาพประกอบอยู่ (ในกรณีที่ไม่ใช่งานวรรณกรรมร้อยแก้ว) ภาพจากงานต้นฉบับก็จะถูกใช้อ้างอิงดีไซน์ในการสร้างอนิเมะ ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร เครื่องจักรในเรื่อง ธีมและฉากหลังของเรื่อง ฯลฯ ด้วยความที่การ ‘สร้างโลก’ ให้ผู้ชมเชื่อถือได้นั้นเป็นงานที่ท้าทายและกินเวลาการทำงานอย่างมาก การที่มีต้นฉบับที่จัดการเรื่องนี้มาแล้วจึงทำให้งานของทีมงานสร้างอนิเมะทำงานง่ายขึ้นอย่างมาก

 

‘สร้างผลงานออริจินัลของตัวเอง’

A.I.C.O. Incarnation เป็นตัวอย่างหนึ่งของอนิเมะออริจินัลที่สนุกและเรื่องราวจบในตัว เนื่องจากได้เงินทุนจากฝั่ง Netflix ที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องเครียดบางเรื่องในการสร้างงาน

สำหรับอนิเมะแบบออริจินัลนั้น สตูดิโออนิเมะจะสร้าง (หรือช่วยผู้สร้างหน้าพัฒนางาน) คอนเซปท์ของอนิเม เมื่อขั้นตอนนี้เรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นการพยายามหาคนมาระดมทุน เพราะการสร้างงานโดยใช้ทุนตัวเองนั้นเป็นเรื่องยากมากๆ ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของบริษัททื่รายได้ดีมากๆ (อย่าง Netflix) หรือ ตัวคุณมีเงินเหลือใช้จริงๆ งานส่วนนี้ยากเย็นมากมาย เมื่อการพัฒนางานส่วนนี้จบลงแล้วก็จะเป็นการเอางานไปขายให้สปอนเซอร์ที่สนใจ เพื่อที่ว่าบริษัทเหล่านั้นจะร่วมลงทันแล้วก็มานั่งร่วมเป็นคณะกรรมการสร้างอนิเมะ ซึ่งขั้นตอนที่เหมือนจะง่ายๆ เร็วๆ อันนี้อาจจะกินเวลาเป็นปีก็ได้ และสปอนเซอร์ที่มาร่วมลงทุนก็อาจจะเกิดอาการกังขาเมื่อการพัฒนาอนิเมะไม่เป็นไปตามเป้า ต่อให้ตัวงานพัฒนาไปอย่างราบรื่นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา สปอนเซอร์เหล่านี้ก็จะส่งเสียงให้ทีมงานสร้างเดินเกมไปในเส้นทางที่ ‘ปลอดภัย’ ในการสร้างรายได้ด้วยการพยายามบีบให้อนิเมะออกมาในแนวที่คล้ายๆ กับงานที่ออกมาก่อนแล้ว ซึ่งถ้าสปอนเซอร์มาออกลายนี้ก็กลายเป็นแนวสร้างอุปสรรคให้กับทีมงานพัฒนางานอนิเมะซะง้ัน

Samurai Flamenco งานออริจินัลที่ทำให้ Manglobe เดินทางสู่การล้มละลาย / ภาพจาก – https://usa.newonnetflix.info/

การสร้างผลงานออริจินัลของตัวเองยังมีความเสี่ยงแบบดาบสองคมอีกด้วย ถ้าอนิเมะออริจินัลฮิตติดตลาดขึ้นมา สตูดิโออนิเมชั่นก็จะได้เฮกับกำไรมากมายที่พุ่งเข้ามา แต่ถ้าอนิเมะเจ๊ง การลงทุนลงแรงมาก็สูญเปล่า ด้วยความที่การทำงานออริจินัลของตัวเองมีความเสี่ยงในการลงทุนมากขนาดที่ทำให้บริษัทสามารถล้มเหลวทั้งในด้านชื่อเสียงและรายได้ในระดับที่สตูดิโออนิเมชั่นสามารถเจ๊งได้ง่ายๆ จึงเป็นผลทำให้การสร้างานแนวออริจินัลออกมาในตลาดน้อยลง (อย่างที่มีข่าวลือว่าจากการที่ Samurai Flamenco เจ๊งสนิท ส่งผลให้สตูดิโออนิเมชั่น Manglobe นั้นไม่สามารถทำกำไรได้อีกเลยแม้จะรับงานนอกหลังจากนั้นมาเพื่ออุดรายได้ที่เสียไปก็ตามที่ จนสุดท้ายก็ต้องยื่นล้มละลายในที่สุด)

ซันไรส์ คือสตูดิโออนิเมชั่นเจ้าหนึ่งที่มีทั้งทุนและทีมงานที่พร้อมคิดอนิเมะออริจินัลมากมาย

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครกล้าหาญทำอนิเมะแบบออริจินัลอยู่แล้ว บางสตูดิโอก็ถนัดนักในการสร้างผลงานแนวดังกล่าว ตัวอย่างเช่น Sunrise: ที่งานส่วนหนึ่งเป็นงานใหม่สด ยกตัวอย่างเช่น กันดั้ม (ที่ยังเข็นภาคใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องออกมาได้เรื่อย), Cowboy Bebop หรือ Tiger & Bunny, Satelight ที่รับทั้งงานนอกและสร้างงานของตัวเอง ซึ่งทำได้ดีทั้งสองด้าน อย่างอนิเมะเรื่อง Junshiki Pandora ที่ คุณคาวาโมริ โชจิ เป็นคนสร้างผลงาน และในขณะเดียวกันตอนนี้ Satelight ก็มีอนิเมะเรื่อง Caligula ที่ดัดแปลงมาจากเกมมือถือ

ทว่า ในปัจจุบันนี้ สตูดิโออนิเมชั่นในญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะทำงานรับจ้าง หรือ ดัดแปลงผลงานมาจากสื่ออื่นเสียมากกว่า (แม้แต่ Sunrise ก็เถอะ) ด้วยความที่มีปริมาณงานให้ทำอยู่มาก, ทีมงานไม่ต้องเหนื่อยหนักจนเกินไป (ในธุรกิจที่บุคลากรเหนื่อแทบเป็นแทบตายอยู่แล้ว) และที่สำคัญการทำงานที่ได้เงินรายได้แน่นอนมันก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับบริษัทด้วยนั่นเอง

เรียบเรียงจาก: Answerman – Why Aren’t More Original Anime Made?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*