Answerman – ทำไมมังงะของฝั่งอเมริกาถึงตีพิมพ์แบบ Omnibus ที่เป็นฉบับรวมเล่มขนาดใหญ่ที่ปนหลายเล่มในเล่มเดียว เยอะนัก

Share

คำถาม:

ทำไมมังงะแบบ Omnibus ถึงวางขายเยอะจนกลายเป็นเหมือนเรื่องปกติของสำนักพิมพ์ในอเมริกาทุกวันนี้ไปแล้ว? ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เคยวางจำหน่ายมังงะแบบรวมเล่มปกติมาก่อนนะ แต่การออกมังงะฉบับพิมพ์ซ้ำในยุคนี้ หรือมังงะที่ไม่เคยตีพิมพ์ภาษาอังกฤษมาก่อน ทางสำนักพิมพ์มักจะเลือกออกแต่แบบ Omnibus แล้วก็ไม่เคยคิดจะออกรวมเล่มแบบปกติเป็นทางเลือกเลย

 

Answerman ตอบ:

ตัวอย่างมังงะขนาด Omnibus เรื่อง Oh My Goddess! ฉบับอเมริกา เมื่อวางเทียบกับตัวนิตยสารมังงะของญี่ปุ่น / ภาพจาก – https://www.darkhorse.com/

เทรนด์การออกมังงะแบบ Omnibus ในอเมริกา มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกับการออกมังงะเรื่องเก่าๆ ที่มีจำนวนเล่มเยอะๆ (อย่างเช่น เสน่ห์สาวข้าวปั้น ของทาง Yen Press ซึ่งออกฉบับใหม่ที่อ้างอิงจากฉบับ Kanzenban ในญี่ปุ่น) มังงะเรื่องที่ยังเขียนอยู่ในปัจจุบันแต่มีจำนวนเล่มในญี่ปุ่นมากกว่าสิบเล่มแล้ว (ตัวอย่างเช่น โอตาคุปั่นสะท้านโลก ของทาง Yen Press ที่ญี่ปุ่นมีจำนวนรวมเล่มทะลุ 60 เล่มไปแล้ว หรือ Vinland Saga ของทาง Kodansha Comics ที่ญี่ปุ่นจำนวนรวมเล่ม เกิน 20 เล่ม) และมังงะที่ ไม่เคยตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษมาก่อน ที่ส่วนมากมักจะเป็นมังงะแนวคลาสสิค อย่างเช่น มังงะของอาจารย์นากาอิ โก (Devil Man กับ Cutie Honey) และ อาจารย์มัตสึโมโต้ เลย์จิ (เรือรบอวกาศยามาโตะ หรือ กาแลกซี่เอ็กซ์เพรส 999)

มังงะ โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ แบบ Omnibus ของทาง Viz Media ที่จัดทำออกมาโดยไม่ได้อิงต้นฉบับของทางญี่ปุ่นเลย / ภาพจาก – https://www.viz.com/

ตัวอย่างอื่นๆ ที่พอจะบอกเล่าได้อีกก็จะมี มังงะในแบบ ‘VIZ Big’ ของทาง Viz Media ที่ออกฉบับรวมเล่มของเรื่องเก่าๆ ที่เคยตีพิมพ์มาก่อนแล้วอย่าง Vagabond ของอาจารย์อิโนะอุเอะ ทาเคฮิโกะ หรือ มังงะแนวโชเน็นรุ่นคลาสสิกแบบ Dragon Ball ของอาจารย์โทริยามะ อากิระ หรือ โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ ที่ทาง Viz Media วางจำหน่ายในแบบ Omnibus และเป็นฉบับรวมเล่มสไตล์ของตัวเองไม่ได้อ้างอิงตามแบบญี่ปุ่น

ฝั่ง Kodansha Comics ในอเมริกา ก็ออกมังงะขนาดใหญ่ในลักษณะ Omnibus อยู่หลายเรื่อง อาทิ ผ่าพิภพไททัน หรือ Fairy Tail Master’s Edition ส่วนทาง Vertical Comics ก็เคยวางจำหน่าย Blame! แบบ Master Edition

นอกจากนี้ยังมีมังงะแบบ Ommibus 3-In-1 (รวมเล่ม 1 เล่ม ของอเมริกา เป็นการวมจากรวมเล่ม 3 เล่ม ของญี่ปุ่น) อย่าง One Piece, Naruto, Bleach, สับขั้วมาลุ้นรัก และ Skip Beat! ของทาง Viz Media หรือ Berserk Deluxe Edition กับ ฤทธิ์ดาบไร้ปรานี ของทาง Dark Horse Comics ก็วางจำหน่ายในแบบ Omnibus ซึ่งถ้าคิดราคาแล้วจะถูกกว่าฉบับแยกเล่มที่เคยตีพิมพ์มาก่อนด้วย

ถ้าเช่นนั้นมังงะแบบ Omnibus มีหน้าที่อะไรในตลาดมังงะของอเมริกา? คำตอบก็คือ มีหน้าที่หลายอย่าง อาทิ การวางจำหน่ายในฐานะหนังสือปกแข็งคุณภาพสูงสำหรับสะสมต่อเนื่องให้ครบชุุด / เป็นหนังสือที่ออกมาตีพิมพ์เพราะผู้ถือสิทธิ์ตัวผลงาน (ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน หรือ สำนักพิมพ์ในญี่ปุ่น) ไม่อนุญาตให้จัดทำแบบ E-Book / เป็นการยั่วให้นักอ่านที่เคยเก็บหนังสือชุดแรกแบบครบชุดไปแล้วกลับมาซื้อชุดใหม่และเนื่องจากปรับขนาดใหม่ รวมถึงอาจจะมีการจัดเล่มแบ่งตอนใหม่ให้อรรถรสการอ่านราบรื่นขึ้น / บางครั้งการออกมังงะแบบ Omnibus ในอเมริกาก็มีเหตุผลจากการที่สำนักพิมพ์ที่ขายสินค้าอยู่สามารถทำตลาดกับผลงานเรื่องเดิมโดยที่ทำราคาการขายมังงะได้มากขึ้น หากเทียบกับการออกมังงะรวมเล่มแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง

แล้วก็มีกรณีของ Sailor Moon Eternal Edition ของทาง Kodansha Comics ที่วางจำหน่ายฉบับตีพิมพ์ใหม่เป็นแบบ Omnibus ส่วนหนึ่งก็เพื่อตีตลาดของมังงะแนวโชโจ ให้มาทำรูปเล่มใหญ่บ้าง, ใช้กระดาษที่ดีขึ้นในการตีพิมพ์, เพิ่มเติมหน้าสี และมีการปรับคำแปลใหม่ และการจัดทำรูปเล่มใหม่หมดนี้่ก็สร้างข้อได้เปรียบเล็กน้อยด้วยการที่คนอ่านที่มาเห็นหนังสือนี้ตามร้าน ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่านี่คือเวอร์ชั่นใหม่ที่มีการแก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นการง่ายกว่าสำหรับคนที่ต้องการเก็บสะสม หากเทียบกับกรณีที่ทาง Kodansha Comics ตัดสินใจตีพิมพ์ในรูปแบบเดิมซ้ำ แล้วมีการแก้ไขคำแปลโดยไม่มีอะไรระบุอยู่ด้านนอกเล่ม

เรายังมีความเห็นจาก Erik Ko ตัวแทนจากแผนกมังงะของทาง Udon Entertainment เกี่ยวกับเทรนด์ของ Omnibus อีกด้วย

‘ผมคิดว่าหนังสือแนว ทูอินวัน (2-In-1) หรือ Omnibus กำลังเติบโตขึ้น แล้วก็ดูเหมือนว่าลูกค้ามีความยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นนิดหน่อยแต่ได้หนังสือเล่มที่หนากว่าซื้อรวมเล่มแบบแยกเล่ม’

หนังสือแบบปกแข็ง หรือ ฉบับสะสม ก็ยังเป็นที่ต้องตาต้องใจ ห้องสมุด ที่เป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ในตลาดอเมริกาเหนือ เพราะปกแข็งนั้นมีความทนทานกว่าแบบปกอ่าน ซึ่งนั่นเป็นข้อดีสำหรับห้องสมุดที่มีคนมายืมหรือมาอ่านหนังสือแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การที่ราคาหนังสือต่อเล่มลดลง สำหรับการวางขายแบบ ทรีอินวัน (3-In-1) หรือ ทูอินวัน ยังทำให้รู้สึกว่ามังงะที่มีจำนวนเล่มมากๆ ดูไม่น่ากลัวและมีราคาการเก็บที่รับได้สำหรับนักอ่านหน้าใหม่ที่อยากจะลองอ่านมังงะยาวๆ ด้วย

และการจำหน่ายหนังสือแบบ Omnibus ยังช่วยแก้ไขปัญหาสองประกาศสำหรับร้านหนังสือและลูกค้าด้วยก็คือ ลดพื้นที่จัดเก็บ และ ช่วยจำกัดกรอบความสนใจของนักอ่านได้ดี

ซึ่งคุณ Erik Ko ก็ได้พูดถึงประเด็นเหล่านี้เช่นกัน

‘ดูเหมือน มังงะที่มีจำนวนรวมเล่มน้อย จะได้รับการสนับสนุนจากร้านขายหนังสือและแฟนๆ มากกว่า พวกเรารู้ดีว่า ยิ่งหนังสือมีจำนวนเล่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้ลูกค้าสนใจหนังสือเรื่องนั้นน้อยลง แล้วก็ร้านค้าก็พยายามเลือกหนังสือที่มีจำนวนเล่มยาวไว้แค่ไม่กี่เรื่อง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ร้านหนังสือ หรือ ห้องสมุด มีพื้นที่จัดเก็บหนังสืออยู่จำกัด การที่จะวางหนังสือที่มีความยาว 30 เล่มขึ้นไปนั้นจึงเป็นเรื่องยาก การรวมหนังสือหลายเล่มมาไว้ในหนังสือเล่มหนาเล่มเดียว จึงเป็นการดีกว่าสำหรับการ ‘ลงทุน’ ในการลดภาระของลูกค้าและร้านค้า’

แล้วก็เป็นที่ทราบกันดีสำหรับอุตสาหกรรมการ์ตูนว่า มังงะเล่มแรกคือเล่มที่ขายได้ดีที่สุด และยอดขายของมังงะจะลดลงเรื่อยๆ ตามจำนวนฉบับรวมเล่มที่เพิ่มมากขึ้น  เพราะหลายคนอาจจะลองซื้อเล่มแรก เพื่อเช็คว่าโครงเรื่องเป็นอย่างไร ดังนั้นถ้าเรื่องหรือภาพไม่โดนใจคนอ่าน ลูกค้ากลุ่มหนึ่งก็พร้อมจะเลิกซื้อ — หรือบางทีจังหวะการออกมังงะแต่ละเล่มนั้นใช้เวลานาน ก็ทำให้มีการเลิกซื้อต่อ — บางคราว คนที่ตามเก็บก็ลืมมันซะดื้อๆ ว่า ซื้อมังงะไปถึงเล่มไหนแล้ว ก็เลยพาลเลิกซื้อไปเหมือนกัน

แต่ไม่ว่าสาเหตุของการหยุดซื้อจะเป็นอย่างไรก็ตาม มันก็ยังส่งผลเหมือนเดิมว่า ยิ่งมังงะมีจำนวนเล่มมากขึ้น ความเสี่ยงที่่เล่มหลังๆ จะขายได้น้อยจนไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็ยิ่งสูงขึ้น หรือถ้ายังมีการเข็นออกต่อมา ยอดตีพิมพ์ก็มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ จนอาจจะยากสำหรับการเก็บสะสม ซึ่งการตีพิมพ์น้อยลงแบบนี้ก็ไม่เป็นผลดีต่อสำนักพิมพ์เช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า การออกไม่ครบก็จะทำให้ลูกค้าที่รอซื้อไม่มั่นใจในการทำงานของสำนักพิมพ์เช่นกัน

Banana Fish ของ Viz Media ที่กลับมาพิมพ์ซ้ำในรูปแบบเดิมไม่ได้ปรับเป็น Omnibus ตามยุคสมัย / ภาพจาก – https://www.animenewsnetwork.com

อย่างไรก้ตาม ก็ไม่ใช่ว่า มังงะทุกเรื่องที่ออกในอเมริกาก็ไม่ได้วางจำหน่ายแบบ Omnibus เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ทาง Viz Media ก็ยังออกมังงะเรื่อง Banana Fish ของอาจารย์โยชิดะ อาคิมิ รับกระแสอนิเมะในรูปแบบแยกเล่มปกติอยู่เช่นเดิม

โดยสรุปแล้ว การที่สำนักพิมพ์ในอเมริกาตัดสินใจวางจำหน่ายมังงะในแบบ Omnibus ก็เพื่อให้มังงะเรื่องที่มีจำนวนเล่มมหาศาล ยังสามารถวางขายในตลาดได้อย่างต่อเนื่อง / เพื่อจูงใจนักอ่านหน้าใหม่ให้ตามอ่านได้อย่างง่ายขึ้น และเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนของทางสำนักพิมพ์เองด้วย เพราะตลาดการขายหนังสือในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันนั่นเอง

 

เรียบเรียงจาก: Answerman – What’s With All The Omnibus Releases?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*