Answerman : ตอนรีแคปในอนิเมะมีไว้เพื่ออะไรกันแน่ ?

Share

Joshua ถาม:

ผมสงสัยเกี่ยวกับผลดีผลเสียของอนิเมะตอนรีแคป (Recap) ที่ยำเอาตอนเก่ามาเล่าซ้ำอ่ะครับ การทำตอนแบบนี้ออกมามันมีประโยชน์อะไร แล้วทำไมถ้าสตูดิโออนิเมะทำแบบนี้ออกมาระหว่างที่ฉายอยู่เขาถึงว่ามันเป็นเรื่องไม่ดีนักอะครับ

Answerman ตอบ:

เป้าหมายของการทำตอนรีแคป

One Piece คืออนิเมะในยุคปัจจุบันหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่มีการวางแผนจัดทำตอนรีแคป ถึงขั้นเขียนใหม่ไว้ด้วย

สำหรับอนิเมะที่ฉายกันยาวๆ ตอนรีแคปนี่เป็นตอนที่จำเป็นมากๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นอนิเมะจากหนังสือการ์ตูนที่มีตอนเสริมที่แต่งเข้ามาใหม่มากๆ ตอนรีแคปจะเป็นการย้ำเตือนว่าเนื้อหาหลักของเรื่องจะเป็นอย่างไร และจะทำให้คนที่เพิ่งมาดูเข้าใจว่าเรื่องก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร (ถึงจะเป็นยุคที่รับชมอนิเมะออนไลน์ได้แล้ว ตอนรีแคปก็ยังจำเป็นสำหรับการฉายทางทีวีอยู่)

ถึงอย่างนั้น ตอนรีแคปที่ถูกวางแผนจัดทำและมีกำหนดฉายล่วงหน้าด้วยจุดประสงค์ข้างต้น มีอยู่เพียงไม่มากเท่านั้น เพราะในความจริงแล้ว อนิเมะตอนรีแคปมักจะเกิดขึ้นจากเหตุฉุกละหุกเสียมากกว่า

เหตุเกิดของการทำตอนรีแคป

ต้องเข้าใจก่อนว่า การทำอนิเมะฉายรายสัปดาห์นั้นจะต้องใช้การหมุนเวียนของทีมงานอนิเมเตอร์ ตัวอย่างเช่น ทีม A อาจจะดูแลอนิเมะตอนที่ 1, 4, 7 และ 11 / ทีม B ดูและตอนที่ 2, 5, 8 และ 12 ฯลฯ แต่ละทีมจะมีผู้กำกับประจำตอน ผู้กำกับอนิเมชั่น ผู้ดูแลงานคีย์อนิเมชั่น ผู้จัดทำสเปเชียเอฟเฟคท์ของทีมตัวเอง ซึ่งแต่ละทีมก็จะพยายามปั่นงานออกมาให้ทันเดดดไลน์ที่กระชั้นชิด และการพยายามรักษาคุณภาพงานให้ทันเดดไลน์มันเป็นอะไรที่ยากเย็นมากเพราะพร้อมจะเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา (อย่างเช่น ทีมงานป่วย, อนิเตอร์วาดดีไซน์ที่ออกแบบมาอลังการไม่ทัน, เปลี่ยนบทกะทันหัน ฯลฯ)

ทีมงานเหล่านี้มักจะปั่นงานจนถึงนาทีสุดท้ายหรือหลายทีก็เกินนาทีสุดท้ายไปหลายระยะ เอาจริงๆ การทำงานอนิเมะนั้นการส่งงานก่อนวันฉายจริงหนึ่งวัน หรือแม้แต่เสร็จงานมันวันที่ฉายนี่ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรเลย อาการคลั่งเพราะปั่นงานไม่ทันจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับสายงานนี้ แถมยังต้องปั่นงานตอนต่อไปที่กำลังจะฉายอีกต่างหากซึ่งสุดท้ายก็มีโอกาสที่จะปั่นงานไม่ทันด้วยความวายวอดที่เกิดขึ้นนี้

ดังนั้นเหตุในการสร้างตอนรีแคปขึ้นมาก็คือ …พวกเขาปั่นงานไม่ทันเดดไลน์สุดท้าย… แม้ว่าจะพยายามท้าทายตัวเองไปมากแล้ว แต่ก็มีเหตุที่ไม่ควรเกิดขึ้น จนต้องมีผู้ฝืนใจไปบอกความจริงว่า ตอนที่จัดการอยู่ไม่สามารถออกฉายได้ตามกำหนด ถือว่าเป็นการยกธงขาวของทีมผู้สร้างอนิเมะอย่างแท้จริง

ความวินาศจากการมีตอนรีแคปที่ไม่ได้วางแผน

พอยืนยันแล้วว่าปั่นงานตอนใหม่ไม่ทัน มือตัดต่อของทีมก้ต้องหยิบจับเอาเนื้อหาทั้งหมดมายำใหม่ให้ได้ความยาว 22 นาทีเพื่อทำเนื้อหา ‘เหตุการณ์ก่อนหน้านี้’ ไปออกอากาศแทน เรื่องนี้จริงๆ ส่งผลเสียต่อทุกคนที่เกี่้ยวข้องกับอนิเมะเรื่องดังกล่าว เพราะมันเป็นการบอกสาธารณะชนว่าทีมงานไม่สามารถจัดการงานได้ทันท่วงที แถมยังรู้ไปทั่ววงการทันทีว่ามีความพังเกิดขึ้น สตูดิโอที่สร้างก็เสียชื่อ ผู้กำกับหลักก็มัวหมอง และคณะกรรมการผู้สร้างอนิเมะก็จะกริ้วกันทั้งโต๊ะ ด้วยเหตุที่ว่า เงินลงทุนสร้างอนิเมะขนาดยาวเรื่องหนึ่งพังบรึ้มไปหนึ่งตอนโดยแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรกลับมาเลย

คนดูเองก็รู้ตัวเช่นกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ แฟนคลับที่อดตาหลับขับตานอนรอดูแล้วเจอว่าเป็นตอนรีแคปก็อาจจะแหนงเหนืองจนไม่ยอมดูต่อ หรือไม่ก็เอาไปโวยวายในกลุ่มเพื่อน ถ้าหนักหน่อยก็ก่อดราม่าจัดเต็มกันไปเลย

ความเสียหายยังกระจายวงกว้างกลับไปยังทีมที่เกี่ยวข้องท่านอื่นๆ เพราะการปล่อยอนิเมะฉายทางทีวีเนี่ยมันต้องจองช่วงเวลาออกอากาศ เพื่อที่จะกำหนดจำนวนตอนและเวลาที่จะออกอากาศ อย่างแน่นอน การมีตอนรีแคปเข้ามาแล้วจะส่งผลกระทบต่อตอนที่ทีมงานอื่นเขียนจนเกือบเสร็จไปแล้ว ซึ่งมักจะเป็นตอนที่ไม่ต่อกันกับตอนก่อนที่จะรีแคป เพราะงั้นเนื้อเรื่องจะไม่ต่อเนื่อง ภาพก็จะงงๆ ก็ต้องมีการตัดทอนแก้บทกันกะทันหัน และต้องวาดแก้ให้สอดคล้องกับเรื่องใหม่ที่เขียนไปแล้วอีก ผลกรรมลำเค็ญก็จะวนเวียนกลับไปหาทีมงานต่อไป

 

สำหรับ Answerman แล้วการได้เจอตอนรีแคปในอนิเมะที่จำนวนตอนไม่ยาวมากนัก (กลุ่มที่ฉายไม่เกิน 24-26 ตอน) ก็จะรู้สึกบีบหัวใจแทนทีมงานทุกคน แม้ว่าการสร้างตอนรีแคปอาจจะไม่จำเป็นต้องเกิดความวิบัติหลังฉากเสมไป (ตามที่กล่าวไปช่วงต้นว่าบางเรื่องตั้งใจจะทำตอนรีแคปล่วงหน้าแล้ว) แต่ถ้าพูดกันตามปกติแล้ว ถ้ามีการทำตอนรีแคปขึ้นมา ก็แปลว่ามีความเละเทะเกิดขึ้นเสมอ และมันคงเป็นวันที่เลวร้ายมากๆ สำหรับพนักงานที่เกี่ยวข้องทุกคน

 

เรียงเรียงจาก : Answerman – What Is The Purpose Of Recap Episodes?

1 Trackbacks & Pingbacks

  1. Answerman – ทำไมอนิเมะตอนใหม่ๆ หลายเรื่องในสมัยนี้มักจะเลื่อนการฉาย? – DexNews

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*