Answerman : คอมิคกับพวกหนังที่ทำจากคอมิคจากอเมริกาฮิตในญี่ปุ่นไหม

Share

Sarah ถาม:

คอมิค กับ หนัง ของอเมริกา เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นหรือเปล่า ? ฉันรู้ว่าตอนนี้เรามีคอมิคจากอเมริกาถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะมาหลายเรื่องแล้วอย่าง X-Men กับ Blade เพราะฉะนั้นที่ญี่ปุ่นคงมีความสนใจเรื่องนี้บ้างใช่ไหมคะ ? แล้วหนังสือการ์ตูนคอมิคจากอเมริกาในญี่ปุ่นได้รับความนิยมหรือเปล่าคะ ? มันมีงานการ์ตูนในญี่ปุ่นเกี่ยวกับคอมิคที่ไม่ถูกสร้างเป็นอนิเมะจัดขึ้นที่นั่นบ้างไหม?

Answerman ตอบ:

ตลาดเล็กที่มีอีเวนท์ใหญ่มาจัด

ภาพจาก – kyodonews.net

คอมิคในญี่ปุ่นยังถือว่าเป็นตลาดเฉพาะแต่มีความสำคัญ ถ้าจะให้เห็นภาพชัดๆ ขอยกจำนวนคนที่เข้าไปชมงาน Tokyo Comic Con ครั้งที่สองที่จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตัวงานมีคนเข้าร่วมงานราว 43,000 คนเท่านั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยหากเทียบกับงานอย่าง AnimeJapan ที่มีคนเข้าชมถึง 143,000 คน หรืออย่างฝั่ง Comiket ที่มียอดผู้เข้างานราวครึ่งล้านคน พอฟังตัวเลขคนเข้างานแล้วอาจจะแปลกใจว่า แล้วทำไมถึงยังมีการจัดงานเฉพาะกันอีก อาจจะเพราะว่าตลาดคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่พยายามเสพของละเมิดลิขสิทธิ์เยอะขนาดนั้น รวมถึงสื่อของญี่ปุ่นหลายเรื่องก็พยายามออกไปตีตลาดอเมริกามากขึ้น (อย่าง Bakugan ที่ตีตลาดอเมริกาแตกมาก่อนแล้ว)

แม้ว่าตลาดมังงะของญี่ปุ่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เหลือที่ว่างสำหรับการ์ตูนชาติอื่นๆ แต่ก็ยังมีแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นที่รู้จักตัวละครจากคอมิคอเมริกา มากกว่าอ่านตัวคอมิคเอง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับพื้นที่อื่นบนโลก รวมไปถึงในอเมริกาเองที่มีแค่แฟนส่วนน้อยที่ทำการอ่านคอมิคแบบจริงจัง แต่คนส่วนมากจะรู้จักตัวละครเด่นๆ รวมถึงเส้นเรื่องหลักๆ จากสื่ออื่นๆ ที่วางจำหน่ายมาในช่วงหลายสิบปีนี้

 

คอมิคอเมริกา มาสู่แดนอาทิตย์อุทัยอย่างไร และใครในญี่ปุ่นที่เป็นติ่งคอมิก ?

Ono Kosei (คนขวา) ผู้แปลคอมิกให้คนญี่ปุ่นได้อ่าน/ ภาพจาก – Japan Media Arts Festival

ที่ว่าคนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับตัวละครจากคอมิกของอเมริกาอยู่แล้ว ก็เพราะตัวคอมิกเคยทำตลาดในญี่ปุ่นมานานนับตั้งแต่ช่วงต้นของปี 1950 ที่ Superman ได้ถูกนำมาขายในประเทศญี่ปุ่นอันเป็นผลพวงของกระแสบูมของวัฒนธรรมป๊อปอเมริกาที่เข้ามาในช่วงหลังสงครามครั้งที่สอง ก่อนที่ในช่วงปลายปี 1960 ถึงช่วงต้น 1970 นิตยสารคอมิกอเมริกาเริ่มถูกนำมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ก่อนที่จะมีนิตยสารในยุคนั้นตีพิมพ์คอมิกอเมริกา ลงควบคู่กับมังงะออกขายในช่วงนั้น ณ ยุคนั้นเองมีนักวิชาการหนุ่มอย่าง Kosei Ono ได้ทำการผลัก ทำการแปล และเป็นผู้ตีพิมพ์ Spider-Man, Fantastic Four และ Captain America หลังจากนั้นคอมิคอจากโลกตะวันตกหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องดังๆ และเรื่องที่อินดี้ก็ถูกนำมาตีพิมพ์หรือถูกนำมาขายในประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่ว่าร้านหนังสือทุกร้านจะวางจำหน่ายหนังสือเหล่านี้ จะมีร้านหนังสือดังๆ ที่นำเข้าหนังสือภาษาอังกฤษพร้อมพวกอาร์ตบุ๊คมาขาย

แล้วแฟนคลับหลักๆ ของหนังสือกลุ่มนี้เป็นใคร หลายๆ ท่านอาจจะคิดไว้แล้วว่า กลุ่มนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นนั่นไงล่ะที่เป็นแฟน เพราะพวกเขามักจะหาแรงบันดาลใจจากศิลปินคนอื่นๆ ทั่วโลก (และนักเขียนเหล่านี้มักจะลงรายละเอียดในหน้าสนทนาภายในเล่ม) หลังจากหนังสือคอมิกอเมริกาวางจำหน่ายในญี่ปุ่นระยะหนึ่งแล้ว นักเขียนมังงะในญี่ปุ่นยังได้ถูกจ้างให้มาเขียนการ์ตูนคอมิคอเมริกาฉบับดัดแปลงให้เข้ากับคนอ่านในญี่ปุ่น ตัวอย่างเด่นๆ ที่พอจะยกตัวอย่างให้ฟังได้ก็ดังเช่น หนังสือการ์ตูน Spider-Man ที่เขียนโดย Ryoichi Ikegami (และแต่งเรื่องโดย Kosei Ono) ที่ออกตีพิมพ์ในช่วงปี 1970, Batman ที่เขียนโดย Katsuhiro Otomo (ผู้เขียน Akir) และ Kia Asamiya (ผู้เขียน Silent Mobius) ส่วนนักเขียนคนดังๆ หลาย Masakazu Katsura (ผู้เขียน Zetman, I’s), Nobuhiro Watsuki (ผู้เขียน ซามูไรพเนจร) เคยพูดอยู่หลายครั้งว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากคอมิคอเมริกา

 

แล้วแบบนี้หนังซูเปอร์ฮีโร่จะเป็นอย่างไรบ้างในญี่ปุ่น ?

MCU ตีตลาดได้ทั่วโลก แล้วในญี่ปุ่นล่ะ ?

หนังระดับบล็อกบัสเตอร์จำนวนมากของอเมริกาที่มาพร้อมการทำตลาดอย่างยิ่งใหญ่อลังการตอนนี้กลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ที่ความนิยมครอบคลุมไปทั่วโลกแล้ว เช่นเดียวกันกับในประเทศญี่ปุ่น กระนั้นก็ใช่ว่ากระแสนี้จะช่วยให้หนังที่สร้างจากคอมิกทำรายได้ดีในแดนอาทิตย์อุทัย เรื่องนี้ดูได้จากรายได้ภาพยนตร์ในญี่ปุ่นประจำปี 2017 อย่าง Spider-Man: Homecoming ทำรายได้แค่อันดับที่ 16 ยอดน้อยกว่าหนังฝรั่งหลายเรื่องอย่าง Beauty and the Beast, Despicable Me 3, Star Wars : The Last Jedi และ Pirates of the Carribean: Dead Men Tell No Tales… นอกจากนั้นยังมีกำแพงสูงแกร่งอย่าง ภาพยนตร์ยอดนักสืบจิ๋วโคนันภาคล่าสุด, ภาพยนตร์โดราเอม่อนภาคล่าสุด, กินทามะ ฉบับหนังคนแสดง และ โปเกมอนภาคล่าสุด พอจะเห็นภาพใช่ไหมครับว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่จากคอมิคอาจจะทำรายได้ไม่แย่มาก แต่ก็ไม่สามารถไปถึงระดับท็อปได้ในตลาดประเทศญี่ปุ่น ลองดูได้จากรายชื่อด้านล่างนี้ครับ

อันดับรายได้ภาพยนตร์ที่สร้างจากคอมิก ปี 2017

ชื่อเรื่อง อันดับในอเมริกา      อันดับในญี่ปุ่น     
Wonder Woman #3 #38
Guardians of the Galaxy Vol. 2 #4 #48
Spider-Man: Homecoming #6 #16
Thor: Ragnarok #8 #47
Justice League #10 #38
Logan #11 #69
The LEGO Batman Movie #16 #139
Source: Box Office Mojo

หนังจากคอมิคที่ทำรายได้สูงกว่า Spider-Man อาจจะเพราะมีความเชื่อมโยงกับคนญี่ปุ่นมากกว่า (อาจจะเพราะ Homecoming เป็นภาครีบูท ‘อีกแล้ว’) อย่างในปี 2012 ภาพยนตร์ Avengers ก็สามารถข้ามไปติด 10 อันดับภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดของของญี่ปุ่นได้ในปี 2012 แต่ส่วนใหญ่ภาพยนตร์ฮีโร่ก็จะไปได้แค่ระดับกลางๆ ไม่ถึงขั้นปังเปรี้ยงหรือเจ๊งสนิท

นอกจากคอมิคกับหนังโรงที่สามารถเข้ามาทำตลาดในญี่ปุ่นแล้ว ฮีโร่จากคอมิคอเมริกาก็มีโอกาสได้สร้างเป็นซีรีส์ออกฉายทางทีวีในประเทศญี่ปุ่นด้วย อย่างในช่วงปลายปี 1970 ทาง Marvel ได้ทำสัญญากับทาง Toei เพื่อใช้สินทรัพย์ไปสร้างสื่อใดก็ได้อย่างอิสระเป็นเวลาสามปี ผลก็คือทาง Toei ได้สร้างซีรีส์ Spider-Man ในแบบหนังแปลงร่างขึ้นมา (Spider-Man ในซีรีส์เปลี่ยนแปลงที่มาและคนที่แปลงร่างเป็นไอ้แมงมุมคือ Takuya Yamashiro ไม่ใช่ Peter Parker) Toei ยังทำการดัดแปลงคอมิคจากทาง Marvel เรื่อง The Tomb Of Dracula มาเป็นอนิเมะ Dracula: Sovereign Of The Damned ในปัจจุบันนี้้ก็มีการดัดแปลงคอมิกของทาง Marvel มาเป็นอนิเมะอยู่อย่างเรื่อง Marvel Future Avengers ที่กำลังจะออกฉายซีซั่นที่สองในประเทศญช่วงฤดูร้อนนี้

คอมิคอเมริกากลายเป็นสื่อบันเทิงที่ปรากฎตัวในหลายช่วงอายุคนของประเทศญี่ปุ่น แต่การที่มันไม่เคยฮิตระเบิดติดตลาด มันก็อาจจะเพราะที่ว่างทางการการตลาดสำหรับคอมิคอเมริกามีอยู่เพียงไม่มากนักนับตั้งแต่ที่การ์ตูนคอมิคมาแตะเท้าในประเทศญี่ปุ่นแล้วนั่นล่ะ

 

เรียบเรียงจาก : Answerman – Are American Comics Popular In Japan?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*