นิรนาม:
ทำไมสำนักพิมพ์การ์ตูนหลายเจ้าถึงไม่ยอมออกหนังสือให้จบๆ
คำตอบ:
มีเหตุผลหลายอย่างว่าทำไมสำนักพิมพ์การ์ตูนถึงหยุดตีพิมพ์มังงะบางเรื่องที่ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลให้มันจบๆ ไป เหตุผลที่มาตรฐานโลกก็คือ มังงะเรื่องนั้น ขายไม่ดี นั่นเอง
เพราะถ้ามังงะเรื่องนั้นขายได้น้อย แต่ต้นทุนการแปล ต้นทุนการพิมพ์ ตันทุนการแต่งภาพ ยังคงต้องตั้งอยู่ในงบเท่าเดิม มังงะเรื่องนั้นย่อมจะไม่สร้างกำไรใดๆ กลับมาให้กับคนทำงาน แถมยังเป็นการผลาญเวลา แรงเงิน และแรงกายของคนทำงานในกองบรรณาธิการอีกต่างหาก โดยเฉพาะถ้าเอาไปเทียบเคียงกับสินค้าที่มีสร้างกำไรให้กับทางสำนักพิมพ์มากกว่า
โดยส่วนใหญ่แล้วปัญหานี้จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนกับมังงะที่มีจำนวนเล่มยาวๆ มากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าส่วนใหญ่แล้ว มังงะเล่มแรกจะเป็นเล่มที่ขายได้ดีที่สุด ก่อนที่ยอดขายจะค่อยๆ ลดลง (หรืออย่างดีก็คือเสมอตัว) ตามจำนวนเล่มที่เพิ่มมากขึ้น
จริงๆ ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก และสำหรับช่วง 2-3 ปี หลังนี้ เราก็จะเห็นได้ ที่สำนักพิมพ์การ์ตูนลิขสิทธิ์เจ้าใหญ่ๆ ในประเทศไทยเองก็เลือกที่จะออกมังงะเล่มที่ขายได้ดีเป็นหลักก่อน อันเป็นผลพวงมาจากการหดตัว
นอกจากที่สงวนการออกมังงะที่ยอดขายไม่ดีแล้ว สำนักพิมพ์ในไทยยังทำการปิดตัวนิตยสารการ์ตูน รวมถึงลดจำนวนการออกหนังสือในแต่ละปีลงไป หรือแม้แต่การยอมยกเลิกสัญญาลิขสิทธิกับสำนักพิมพ์ญี่ปุ่น (ในกรณีที่เกิดขึ้นกับทาง วิบูลย์กิจ และ Nida Publishing) เพื่อลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจ กับรักษาสถานะขององค์กรไม่ให้ถึงจุดปิดตัว
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สำนักพิมพ์ต่างๆ จะดองการ์ตูนที่ขายไม่ได้ดีไว้ตลอดกาล ยุทธวิธีหนึ่งของวงการหนังสือก็คือการเว้นช่วงการตีพิมพ์หนังสือที่ทำกำไรน้อย ซึ่งระยะเวลาการเว้นช่วงนั้นอาจจะเป็น สี่เดือน, หกเดือน, สิบสองเดือน หรืออาจจะยาวนานกว่านั้นก็เป็นได้ (อย่างที่เราเห็นในประเทศไทยก็มีมังงะบางเรื่องที่เว้นช่วงการออกต่อเล่มยาวถึงระดับ 5 ปี เลยทีเดียว) การเว้นช่วงแบบนี้ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการ ‘ดอง’ แบบที่นักอ่านหลายคนเรียกขานกัน (ซึ่งเราเคยพูดถึงเรื่องนี้ครั้งหนึ่งแล้ว ใน Answerman)
แต่ในสมัยนี้ทางเลือกของสำนักพิมพ์ก็มีมากขึ้นนอกจากการระงับการตีพิมพ์ หรือ เว้นช่วงการตีพิมพ์ แล้ว บนโลกที่สมาร์ทโฟนราคาจับต้องได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และการชำระเงินค่าสินค้าบนโลกออนไลน์เป็นอะไรที่ใกล้ตัวมากขึ้น แนวทางหนึ่งที่สำนักพิมพ์การ์ตูนทั่วโลกปรับเอามาใช้ก็คือ การวางจำหน่ายหนังสือที่ทำกำไรน้อยในรูปแบบ E-Book นั่นเอง
ซึ่งจะเห็นได้ว่าการขายมังงะ E-Book ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้จะมีจำนวนมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัดก็ดังเช่น สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ที่ขยับตัวมาลงขายผลงานอย่างจริงจัง โดยมีทั้งนิตยสารแบบรายสัปดาห์ในแบบ E-Book / การออกมังงะคลาสสิค เฉพาะในแบบ E-Book เท่านั้น อาทิ ผลงานของอาจารย์เทะสึโกะ โอซามุ หรือ ข้าชื่อโคทาโร่ / การประกาศยุติการตีพิมพ์แบบเล่ม แต่ออกในฉบับ E-Book จนอวสาน อาทิ ซาโยนาระ คุณครูผู้สิ้นหวัง, ครอบครัวคนเฮี้ยน ฯลฯ
ด้วยการขยับตัวที่ชัดเจนแบบนี้ ทำให้สำนักพิมพ์อื่นๆ ก็เริ่มขยับตัวตามมากขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังมีปัญหาอื่นที่ยังทำให้ทุกสำนักพิมพ์ขยับตัวแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งเราจะพูดถึงในประเด็นต่อไป เพราะมันเป็นเเหตุผลที่ทำให้เกิด ‘ไม่ยอมออกหนังสือให้จบๆ’ ด้วยเช่นกัน ปัญหานั้นก็คือ ‘ต้นฉบับทางที่ญี่ปุ่นยังไม่ได้พิมพ์ต่อ’ ตัวอย่างเด่นๆ ของกรณีนี้ก็คงไม่พ้นมังงะเรื่อง Nana ของอาจารย์ยาซาวะ ไอ ที่เขียนถึงเล่มที่ 21 เมื่อปี 2010 ก่อนที่อาจารย์จะหยุดเขียนไปเนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพ และยังไม่มีการเขียนตอนใหม่หลังจากนั้นอีกเลย กับเรื่อง Hunter X Hunter ของอาจารย์โทงาชิ โยชิฮิโระ ที่ก็หยุดเขียนบ่อยๆ ด้วยเหตุผลสุขภาพเช่นกัน
นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ก็มีสาเหตุย่อยอื่นๆ ที่ทำให้สำนักพิมพ์การ์ตูนลิขสิทธิ์นอกประเทศญี่ปุ่นอาจจะต้อง ยุติการตีพิมพ์มังงะเรี่องนั้นๆ อาทิ นักเขียนทำการย้ายค่ายต้นสังกัดอย่างกะทันหัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะกระทบต่อสัญญาลิขสิทธิ์ที่มีก่อนหน้า ทำให้เกิดเหตุการณ์ในหลายๆ ประเทศ ที่การ์ตูนเรื่องหนึ่งพิมพ์ถึงกลางเรื่อง แล้วก็เลิกพิมพ์ ก่อนจะมาออกใหม่กับอีกสำนักพิมพ์หนึ่งแทน อย่างที่เกิดขึ้นกับผลงานเรื่อง Gunnm เป็นอาทิ
อีกกรณีหนึ่งที่กระทบต่อการออกหนังสือก็คือ นักเขียนหรือผู้แต่งมังงะเสียชีวิตระหว่างที่มีการออกผลงานอยู่ กรณีนี้นอกจากที่คนอ่านอาจจะไม่มีโอกาสได้อ่านตอนจบของมังงะเรื่องนั้นไปตลอดกาลแล้ว คนทำงานที่เกี่ยวข้องงก็ต้องารอให้จัดการงานศพเสร็จสิ้น ตามด้วยการรอเคลียร์สัญญาทางต้นสังกัดก่อนว่า ใครจะเป็นผู้ดูแลในการยืนยันการขายลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศ และในจุดนี้ทำให้สำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์นอกประเทศญี่ปุ่นก็อาจจะต้องทำการ ‘เลื่อนการตีพิมพ์ตามมารยาท’ ไปโดยปริยาย
ช่องทางสุดท้ายที่เราจะได้เห็นกันเยอะขึ้นในยุคนี้ ก็จะเป็นช่องทางการ Crowdfunding หรือที่บ้านเราจะคุ้นเคยในชื่อ ‘ลงขัน’ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้สำนักพิมพ์ยืนยันได้ก่อนว่าพวกเขามีจำนวนลูกค้าและรายได้ก้อนแรกที่มากพอแล้วจริงๆ
จากสภาพอุตสาหกรรมหนังสือในตอนนี้ เราคงบอกได้ว่า การที่สำนักพิมพ์จะไม่ยอมออกหนังสือให้จบนั้น จะเป็นเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ แต่มองในแง่ดีก็คือ ในยุคนี้ เรามีโอกาสได้อ่านหนังสือได้จับชุดมากขึ้น เพียงแค่มันอาจจะไม่ได้มาในรูปเล่มพิมพ์ หรือ อาจจะเกิดการย้ายค่ายที่ตีพิมพ์แทน ตราบเท่าที่สำนักพิมพ์ต่างๆ รู้สึกว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะซื้อสินค้าอย่างชัดเจนอยู่นั่นเอง
Leave a Reply