Answerman – ‘บรรณาธิการมังงะ’ ในญี่ปุ่น กับ ต่างชาติ ทำตัวแตกต่างกันอย่างไร

Share

คำถาม:

‘บรรณาธิการมังงะ’ ในญี่ปุ่น กับ ต่างชาติ ทำตัวแตกต่างกันอย่างไร

Answerman ตอบ:

ถึงจะเป็น บรรณาธิการเหมือนกัน และอาจจะมีรายละเอียดงานบางอย่างใกล้เคียงกัน แต่ บรรณาธิการมังงะ ในประเทศญี่ปุ่น กับ ประเทศอื่นๆ ที่ซื้อสิทธิ์มังงะมาจัดทำย่อมมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อยทีเดียว

โทริชิมะ คาซุฮิโกะ บ.ก. ที่ถือว่าเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต ผู้คอยผลักดันมังงะเรื่องดังของโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์หลายเรื่อง / ภาพจาก – Forbes.com

ฝั่งบรรณาธิการมังงะของญี่ปุ่นนั้น จะต้องทำงานในการสร้างผลงานมังงะใหม่ๆ พวกเขาต้องทำการค้นหานักเขียนหน้าใหม่, คอยฟูมฟัก, คอยหาจุดเด่นและทักษะ เพื่อสร้างผลงานใหม่ๆ หรือ ช่วยกันพัฒนาเรื่องที่มีการเขียนอยู่ในตอนนี้ เมื่อตัวงานกำลังจะออกตีพิมพ์ ก็ต้องคอยดูแลว่างานดังกล่าวควรจะตีพิมพ์ในนิตยสารแบบรายสัปดาห์ หรือ รายเดือน รวมถึงว่าพวกเขาจะต้องคิดแผนการตลาดสำหรับการโปรโมชั่นฉบับรวมเล่มด้วย

ส่วนบรรณาธิการมังงะในประเทศอื่นๆ ที่ทำการซื้อสิทธิ์มังงะมาจากประเทศญี่ปุ่นนั้น โดยหลักจะต้องทำหน้าที่ติดต่อกับบริษัทที่ญี่ปุ่น ในการหางานชิ้นใหม่เพื่อมาจัดทำในประเทศปลายทาง ซึ่งบางครั้งอาจจะ ตัวคนในกองบรรณาธิการมังงะอาจจะเคยอ่านผลงานที่สนใจจะซื้อสิทธิ์มาก่อน หรืออาจจะมีการได้รับต้นฉบับจากสำนักพิมพ์ในญี่ปุ่น (กรณีที่มีการติดต่องานกันมาระดับหนึ่งแล้ว) แล้วก็พิจารณาเลือกต้นฉบับจากหนังสือเหล่านั้น

เมื่อทำการซื้อลิขสิทธิ์แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของกองบรรณาธิการก็จะเริ่มเอาตัวต้นฉบับมาเตรียมจัดทำเป็นภาษาปลายทาง นับตั้งแต่จะคิดว่า มังงะแต่ละเรื่อง จะใช้คนแปลคนไหนที่เหมาะสมกับสำนวนของเรื่อง, ต้องดูแลว่าการรอต้นฉบับ (ไฟล์สำหรับตีพิมพ์) จะต้องมาถึงกองบรรณาธิการเมื่อไหร่, ส่งงานให้กราฟฟิกแก้ไขไฟล์ต้นฉบับ (แปลงตัวอักษรให้เป็น หรือ อาจจะเป็นการเซ็นเซอร์ในบางเรื่อง), เช็คว่ามังงะแต่ละเรื่องควรจะออกในรูปแบบ รูปเล่ม ลักษณะกระดาษ จะจำหน่ายแค่แบบ E-Book อย่างเดียวหรือไม่ หรือบางกรณีก็ต้องดูแลว่าจะทำการ Simul-Pub หรือ พิมพ์ตอนล่าสุดออกมาพร้อมญี่ปุ่นได้หรือไม่ และในหลายๆ กรณีบรรณาธิการใหญ่ของฝั่งมังงะจะเป็นคนที่ตรวจปรูฟ/รายละเอียดคำแปลเองด้วย และแน่นอนว่า บรรณธิการมังงะ ก็ต้องช่วยดูแลเรื่องการตลาดในการขายหนังสือของพวกเขาเองด้วย อย่างการเขียนบล็อก, ลงรายละเอียดสินค้าในเว็บไซต์, ปล่อยตัวอย่างยั่วน้ำลาย หรืออาจจะไปพบปะลูกค้าตามงานอีเวนท์ต่างๆ เป็นอาทิ

ในวันนี้เรามีความเห็นจาก Carl Horn บ.ก.จากทาง Dark Horse Comics เกี่ยวกับความแตกต่างกันของ บรรณาธิการมังงะในญี่ปุ่นกับประเทศอื่นๆ ให้ฟังกันด้วย

“อันนี้เป็นลักษณะโดยทั่วไปนะครับ บรรณาธิการมังงะในญี่ปุ่นจะเริ่มงานตั้งแต่ยังไม่มีมังงะออกมาตีพิมพ์ (ตัวอย่างเช่น นับตั้งแต่ บ.ก. คุยกับคนเขียนมังงะตั้งแต่ยังเป็นคอนเซปท์หรือเป็นแค่เนม) ในขณะที่บรรณาธิการในอเมริกา (และประเทศอื่นๆ) ที่ซื้อสิทธิ์จ จะเริ่มทำงานในจุดที่หนังสือถูกวางจำหน่ายในญี่ปุ่นแล้ว

ที่บอกว่า ‘ลักษณะโดยทั่วไป’ ก็เพราะมีอยู่บ้างเหมือนกันที่ บรรณาธิการมังงะในญี่ปุ่นจะจับงานที่เคยตีพิมพ์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาขายเป็นเล่มๆ อาทิ เว็บมังงะ, โดจินชิ หรือแม้แต่ในกรณีที่ผลงานที่อาจจะเคยตีพิมพ์ในก่อนในญี่ปุ่น โดยสำนักพิมพ์อื่น หรือผู้ถือสิทธิ์คนอื่น ที่อาจจะยุติการตีพิมพ์ไปแล้ว เพราะสำนักพิมพ์ดังกล่าวปิดกิจการ หรือตัวนักเขียนได้กลายเป็นผู้ถือสิทธิ์แทน

และในบางครั้ง บรรณธิการในอเมริกา (และประเทศอื่นๆ) ก็อาจจะไม่ได้เริ่มงานด้วยการรอซื้อสิทธิ์จากมังงะที่รวมเล่มแล้วเพียงอย่างดี มีอยู่บางกรณีที่บรรณาธิการมังงะจากต่างประเทศทำงานร่วมกับบรรณาธิการญี่ปุ่น ในการเข็นงานของนักเขียนบางคนให้ออกมาตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ แต่แม้ว่าจะทำหนังสือจากมังงะที่วางขายอยู่แล้วในญี่ปุ่น รูปแบบของสื่อที่วางขายในประเทศปลายทางไม่จำเป็นต้องออกมาในลักษณะเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยๆ ก็คือมังงะที่ตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษมักจะออกมาเป็นรูปแบบออมนิบัส (Omnibus) ขนาดใหญ่ แต่มังงะเล่มดังกล่าวอาจจะออกขายในรูปแบบรวมเล่ม ทังโคบง (Tankobon) ในญี่ปุ่น (แต่ในญี่ปุ่นก็มีการทำไซส์ออมนิบัสอยู่บ้างเช่นกัน และในบางคราวเวอร์ชั่นอังกฤษก็อาจจะแบ่งเล่มแบบทังโคบง แต่ทำไซส์ใหญ่กว่าต้นฉบับญี่ปุ่น ฯลฯ)

อีกส่วนที่เป็นคอนเซปท์ที่แตกต่างกันมากๆ ของ บรรณาธิการมังงะในญี่ปุ่นกับประเทศอื่นๆ ก็จะเป็นการที่ โดยส่วนใหญ่แล้วมังงะที่ตีพิมพ์นอกประเทศญี่ปุ่น มักจะถูกจัดทำหรือจัดขายโดยโฟกัสไปทีละเรื่อง ในทางกลับกันอุตสาหกรรมังงะมักจะเป็นการขายมังงะยกทั้งประเภท อย่างที่ในญี่ปุ่นมีนิตยสารรวมมังงะแอนโธโลจี, มังงะไพ่นกกระจอก ทั้งเล่มเป็นอาทิ ดังนั้นเมื่อบรรณาธิการมังงะในญี่ปุ่น คิดจะสร้างผลงานขึ้นมาใหม่สักเรื่อง พวกเขาจะไม่มองแค่การสร้างมังงะแบบเดี่ยวๆ เรื่องเดียวเท่านั้น พวกเขาต้องคิดว่ามังงะเรื่องใหม่นั้นจะเข้ากับมังงะเรื่องอื่นๆ ในนิตยสารเล่มเดียวกันด้วย การมาคิดการตลาดแยกอีกทีนั้นมักจะเกิดขึ้น (หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย) ก็เมื่อมีการรวมเล่มฉบับมังงะออกมาขายแล้ว

ด้วยเหตุผลที่บรรณาธิการหลายประเทศนอกญี่ปุ่นอาจจะมองมุมมองของอุตสาหกรรมมังงะไม่ขาด แล้วนิยมจะซื้อลิขสิทธิ์แบบแยกเรื่องมาก็จะลืมคิดไปว่า มังงะที่ถูกเขียนโดยมืออาชีพนั้นไม่ได้ถูก ‘เปิดไฟเขียว’ ในการสร้างเพื่อให้เขียนแบบเรื่องเดียวๆ เท่านั้น แต่เป็นมังงะที่ออกมาควบคู่กับผลงานอื่นๆ อีก 10-40 เรื่อง (แล้วแต่นิตยสารที่ตีพิมพ์) ที่จะปรากฎตัวออกมาพร้อมในรายสัปดาห์, รายสองสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นรายเดือนก็ตามแต่

เมื่อภาพรวมเป็นเช่นนี้ บรรณาธิการมังงะในญี่ปุ่นจะมองการดูแลผลงานเป็นภาพรวมต่อนิตยสารทั้งเล่มก่อน แล้วจึงมองแบบแยกเรื่องทีหลัง ซึ่งก็เหมือนกับการที่สถานีโทรทัศน์วางแผนการฉายรายการกับแขกรับเชิญในรายการสัปดาห์นั้นอย่างไร มีความสมดุลย์ต่อรายการที่ฉายในช่องหรือไม่ ไม่ใช่แค่มองเพียงรายการใดรายการหนึ่งเท่านั้น”

บ.ก. ยูตะ บรรณาธิการของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาที่สุดในฝั่ง บ.ก. มังงะของประเทศไทย / ภาพจาก / Voice TV

(ทั้งนี้ ถ้าในกรณีของประเทศไทยก็จะมีการมองภาพรวมที่แตกต่างจากอเมริกาเล็กน้อย อาจจะเพราะในสมัยก่อนนั้นประเทศไทยเองก็มีนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์วางขายอยู่มาก และทำให้การซื้อลิขสิทธิ์ของแต่ละสำนักพิมพ์จะสอดคล้องกับแนวทางของนิตยสาร แต่เมื่อนิตยสารการ์ตูนในไทยหายจากตลาดไป ก็ใช่ว่าลักษณะการทำงานของสำนักพิมพ์จะเปลี่ยนไป จึงทำให้แต่ละสำนักพิมพ์มีลายเซ็นในการทำงานอย่างชัดเจน อาทิ สยามอินเตอร์คอมิกส์ จะเน้นการทำมังงะสายโชเน็น ไม่ว่าจะมาจากฝั่งสำนักพิมพ์ใดก็ตาม แต่ก็พอจะมีการ์ตูนเซย์เน็นกับโชโจอยู่บ้างเพราะเคยจัดทำนิตยสารแนวดังกล่าวเมื่อครั้งอดีต, บงกช จะโฟกัสหนักไปที่มังงะสายโชโจ หรือ ที่เรียกกันอย่างคุ้นปากว่า การ์ตูนตาหวาน เพราะทำนิตยสารการ์ตูนแนวนั้นมานาน

วิบูลย์กิจยังคงโฟกัสกับแนวที่ได้รับความนิยมในยุค 1990-2000 เป็นหลัก แต่ก็มีการหยิบงานแนวอื่นมาแทรกบ้างเป็นครั้งคราว และจะต่างจาก รักพิมพ์ ที่จะโฟกัสมังงะเทรนด์ที่อยู่หลังปี 2000 มากกว่า และช่วงนี้ก็มีมังงะของ อ.อิโต้ จุนจิ เป็นไฮไลท์ เดกซ์เพรสจะทำงานแบบ Mix Media คือมีทั้งมังงะ อนิเมะ กับนิยาย อยู่บ่อยครั้ง, เฟิรส์ทเพจ จะมีงานสาย 18+ เยอะกว่าเป็นเอกลักษณ์ หรืออย่าง Phoenix ก็จะโฟกัสงานจากทาง Kadokawa ที่ทำ Mix Media ทั้งในอดีตและอนาคต เป็นอาทิ)

เรียบเรียงจาก: Answerman – What exactly does a “manga editor” do

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*