คำถาม:
ทำไมมังงะในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถึงทำเป็นหน้าขาวดำ
คำตอบ:
ตอบแบบรวบรัดได้ว่า ทำแบบขาวดำ ถูกกว่า เร็วกว่า ตีพิมพ์ได้ง่ายกว่า
ถ้าเอารายละเอียดในเชิงการพิมพ์ เวลาพิมพ์หนังสือขาวดำ คุณแค่เตรียมเพลท (แม่พิมพ์) แบบขาวดำไว้เพียงประเภทเดียว เตรียมไฟล์ที่คมชัดมากพอ ก็จะสามารถส่งพิมพ์โดยแทบจะไม่เกิดปัญหาใดๆ แต่ถ้าคุณต้องการจะพิมพ์แบบสี่สี คุณจะต้องเตรียมเพลทสำหรับการพิมพ์สีเพิ่มเข้าไปอีกสามสี คุณจะต้องทำไฟล์สำหรับพิมพ์ให้พร้อม และคุณจะต้องเช็คดีๆ ว่าไฟล์ทำสีมาถูกแบบหรือไม่ โรงพิมพ์จะพิมพ์ออกมาแล้วมีสีตรงกับไฟล์ไหม ต้องระวังว่ามีสีธรรมดาหรือสีพิเศษ และที่ตามมาแน่นอนก็คือต้นทุนในการพิมพ์ที่สูงขึ้นนั่นเอง
อีกส่วนที่เป็นต้นทุนที่สำคัญที่ทำให้ราคาหนังสือพุ่งได้ง่ายๆ ก็คือ ‘กระดาษ’ คือถ้าเป็นสมัยก่อนการ์ตูนคอมิคของอเมริกาที่พิมพ์สี่สีทั้งเล่มจะใช้กระดาษคุณภาพเดียวกับที่ใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์ซึ่งถือว่าเป็นกระดาษที่มีราคาถูก แต่ผลเสียก็คือสีอาจจะเพี้ยนงาน ตัวเล่มอาจจะเกิดอาการเหลืองอย่างชัดเจน แต่ในสมัยนี้กระดาษมีให้เลือกใช้หลายประเภท หลายแบรนด์มากขึ้น (อย่างกระดาษ Greenread ถือว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์เหล่านั้น) บางประเภทเหมาะกับหน้าสีขาวดำ บางประเภทมักจะเหมาะกับหน้าสี่สี บางประเภทฟู บางประเภทบาง บางประเภทหนัก บางประเภทเบา เลยทำให้หนังสือการ์ตูนในสมัยนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก
อย่างที่ในอนิเมะจากมังงะเรื่อง Gaikotsu Shotenin Honda-san เคยเทียบเคียงให้ดูว่า มังงะในญี่ปุ่นถึงจะมีเล่มใหญ่กว่า แต่น้ำหนักกลับพอจะยังยกไหว ต่างกับหนังสือฝั่งอเมริกาที่เล่มบางกว่ามากแต่หนักจนยกแทบไม่ขึ้น แม้ว่าจำนวนหน้าของหนังสือทั้งสองเล่มอาจจะเท่ากันเป๊ะก็ตาม
เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิมพ์มังงะแบบสี่สี ราคากระดาษก็จะพุ่งขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงน้ำหนักของหนังสือก็จะมากขึ้น นำพาไปสู่การจัดส่งที่จะต้องถูกคิดราคาแพงขึ้นตามน้ำหนักไปโดยปริยาย
แต่ถ้าคุณมองว่าทางออกของปัญหานี้คือการจัดทำมังงะสี่สีแบบ E-Book อย่างที่เว็บคอมิกของฝั่งเกาหลีใต้ชอบทำสิ ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่เลวทีเดียว ทว่าการลงสีให้กับมังงะก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่กินเวลาพอสมควร อย่างในฝั่งโลกตะวันตก คนที่ลงสีให้กับคอมิค ก็ไม่ใช่คนเดียวกับคนวาด นั่นหมายความว่าตัวหนังสือจะต้องมีต้นทุนเพิ่มจากการ จ้าง ‘คนลงสี’ ตามมา และจะต้องให้เวลากับในการลงสีเพิ่ม กับ ต้องให้คนเขียนมังงะต้นฉบับ และ กองบรรณาธิการ โอเคอีกด้วย
และถ้าเอาข้อมูลจากงาน Manga Translation Battle Symposium ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมปี 2019 มีสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นหลายเจ้าออกปากในงานว่า พวกเขาตัดสินใจที่จะลงสีภาพกับมังงะของพวกเขาเพื่อดึงดูดใจนักอ่านจากโลกตะวันตกแต่ตอนนี้เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่เพิ่งจะพูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังก็คงจะเป็นอะไรที่น่าแปลกตาอยู่ไม่น้อยสำหรับโลกที่มังงะญี่ปุ่นเดิมทีเคยมีแค่การพิมพ์ขาวดำกลายเป็นว่าทุกเรื่องเป็นภาพสี่สี
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ในยุคนี้จะไม่เคยมีมังงะแบบหน้าสี่สีทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เรื่องที่ทำออกมาก็มักจะเป็นมังงะที่ดังระดับค้างฟ้า อย่าง Dragon Ball Z หรือ Akira ฉบับที่วางขายในอเมริกาที่มีการปรับภาพจากต้นฉบับเดิมไปเล็กน้อย เป็นอาทิ
เรียบเรียงจาก: Answerman – Why Are Most Manga Published in Black and White?
Leave a Reply