อาจารย์คิชิโมโตะ มาซาชิ เขียนมังงะเรื่อง Naruto นินจาคาถาโฮ้โฮเฮะ มาต่อเนื่อง 15 จนกระทั่งเรื่องนี้อวสานลงในเดือนพฤศจิกายนปี 2014 มังงะเรื่องนี้รวมถึงอนิเมะที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันได้กลายเป็นการ์ตูนเรื่องใหม่ที่นำพาเด็กยุค 2000 เข้าสู่โลกแห่งมังงะกับอนิเมะ ไม่แตกต่างกับ Dragonball Z หรือ Sailor Moon ในยุคก่อนหน้าเลย ด้วยความที่อนิเมะยังมีต่อ และนิยายที่เล่าเรื่องรายล้อมจากตอนจบของฉบับมังงะก็กำลงจะโดนทำเป็นอนิเมะ ดูเหมือนว่ายุคสมัยของนารูโตะยังไม่จบสิ้นโดยสมบูรณ์แม้ว่าอาจารย์คิชิโมโตะจะขยับไปทำผลงานชิ้นใหม่ของเขาแล้วก็ตาม จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาพูดถึงเรื่องของเรื่องราวขอเขาที่อาจจะถูกความดังของผลงานบดบังเอาไว้
6. อาจารย์คิชิโมโตะเป็นลูกแฝด และคู่แฝดของเขาก็เป็นนักเขียนการ์ตูนเช่นกัน
อาจารย์คิชิโมโตะ มาซาชิ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 1974 ส่วนน้องชายฝาแฝดของเขาก็คือ คิชิโมโตะ เซอิชิ คู่แฝดทั้งสองมีความนิยมในเรื่องหนึ่งตรงกันนั่นคือ เรื่องของ มังงะ กับ อนิเมะ ด้วยความที่ทั้งสองคนโตมากับการรับชม คินิคุแมน กับ Dragon Ball นั่นเอง และส่วนที่ทั้งสอคนชอบเหมือนกันไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้นเพราะทั้งสองคนก็กลายเป็นนักเขียนการ์ตูนเหมือนกันทั้งคู่ แถมยังมีลายเส้นที่ใกล้กัน ในขณะที่แฝดคนพี่วาดผลงานอย่าง Naruto นินจาคาถาโฮ้โฮเฮะ แฝดคนน้องเป็นผู้สร้างผลงานเรื่อง 666 ซาตาน, หมาป่าโลหิตกับแกะกระหายเลือด, Blazer Drive เป็นอาทิ
5 . Akira นำพาให้อาจารย์คิชิโมโตะกลายเป็นนักเขียนการ์ตูน
ภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง Akira ของผู้กำกับ โอโทโมะ คัทสึฮิโระ เป็นงานที่ทำให้ชาวโลกได้รู้สึกศาสตร์และศิลป์ของอนิเมะ กับ มังงะ แล้วก็เป็นภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ที่นำพาให้อาจารย์คิชิโมโตะสนใจในการเขียนมังงะ จากเดิมที่เจ้าตัวในช่วงเรียน ม.ปลาย สนใจจะเดินทางไปงานสายกีฬาอย่างเบสบอลหรือกีฬาอื่นๆ มาก่อน จนกระทั่งเขาได้เห็นโปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงปลายยุค 1980 จึงทำให้อาจารย์คิชิโมโตะกลับมาจับปากกาวาดรูปอีกครั้ง ซึ่งตัวอาจารย์เองก็เคยออกปากอยู่หลายครั้งว่า Akira เป็นงานที่มีผลกระทบต่อตัวเขามากที่สุด
4. ร้านราเม็งร้านโปรดของ นารูโตะ ในการ์ตูนมีอยู่จริง
อย่าแปลกใจถ้าเราจะบอกว่าคุณว่าอาหารโปรดของอาจารย์คิชิโมโตะคือ ราเม็ง เพราะเขาส่งต่อความชอบนี้ไปยังตัวละครหลักในเรื่อง นารูโตะ ที่จริงๆ ก็ใช้ชื่อจากของกินอย่างหนึ่งที่ปรากฎในเมนูราเม็งก็ตาม แล้วความชอบของ นารูโตะ ต่อราเม็ง ในการ์ตูนมีการสะท้อนภาพจริงอื่นใดอีกหรือเปล่า? คำตอบก็คือมี เพราะร้านราเม็งร้านโปรดของนารูโตะที่ชื่อ อิชิราคุ นั้นมีอยู่จริงไงล่ะ! อิชิราคุ เป็นร้านราเม็งที่ตั้งชื่อตามร้านที่ที่อาจารย์คิชิโมโตะชอบไปกินในช่วงที่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคิวชูซันเกียวนั่นเอง
ภาพร้านราเม็งจาก https://rocketnews24.com/2016/08/22/777994/
3. อาจารย์คิชิโมโตะ เป็นแฟนกันดั้ม
นอกจาก คินิคุแมน, Dragon Ball แล้วก็ Akira แล้ว อาจารย์คิชิโมโตะยังเป็นแฟนตัวยงของอนิเมะเรื่อง โมบิสูทกันดั้ม ผลงานของผู้กำกับโทมิโนะ โยชิยูกิ อาจารย์ใช้เวลาช่วงวัยเด็กในการวาดรูปตัวละครกับหุ่นจากกันดั้ม ซึ่งความชื่นชอบนั้นยังตามมาถึงในผลงานอย่าง นารูโตะ ด้วย ที่เห็นได้ชัดแจ้งก็คือ ชื่อท่าไม้ตายของ คาคุซึ หนึ่งในกลุ่มแสงอุษา ที่มีชื่อญี่ปุ่นมาจากชื่อหุ่นในเรื่องกันดั้ม อย่าง ท่า Jiongu ถูกทำชื่อมาจากหุ่น MSN-02 Zeong, ท่า Zukoki ที่นำมาจาก Z’Gok, ท่า Gian ที่นำชื่อมาจากหุ่น YMS-15 Gyan เป็นอาทิ
2. ฉากจูบนั้นเป็นอะไรที่ชวนเชินมากมาย
แฟนๆ เรื่อง นารูโตะ ต่างสนใจในความรักสามเส้าระหว่าง นารูโตะ, ซาสึเกะ กับ ซากุระ ดังนั้นอาจารย์คิชิโมโตะเลยสนุกสนานกับการปั่นหัวคนอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนกระทั่งถึงเวลาที่อาจารย์คิชิโมโตะจะต้องเดินเรื่องราวให้นารูโตะได้ลงเอยกับใครสักคนจริงๆ ตัวอาจารย์กลับมีปัญหาในการเดินเรื่องไปเสียอย่างนั้น ตัวอาจารย์เองยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าตัวรู้สึกเขินๆ ทุกครั้งเวลาเขียนฉากโรแมนติก ซึ่งฉากส่งท้ายในมังงะก็สะท้อนเรื่องนี้อย่างมากเพราะคู่ของ นารูโตะ กับ ฮินาตะ มีช่วงเวลาหวานแหววอยู่ไม่มากบนหน้ากระดาษ ก่อนที่ทั้งสองจะได้มีโมเมนท์หวานๆ ในภาพยนตร์ The Last -Naruto the Movie- นารูโตะ เดอะมูฟวี่ ปิดตำนานวายุสลาตัน ที่ทั้งสองได้จุมพิตแสดงความหวานออกมา ซึ่งอาจารย์คิชิโมโตะผู้เขียนโครงเรื่องของฉบับหนังโรงด้วยก็ยังเขินเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งยังประกาศว่า ตัวเขาไม่แน่ใจว่าจะกล้าดูฉากจูบในหนังนั่นอีกครั้งไหม
1. ตัวอาจารย์คิชิโมโตะ มีมูลค่าทรัพย์สินราวๆ 20 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากเขียนมังงะดังมาต่อเนื่อง 15 ปี และยังมีอนิเมะ, ภาพยนตร์อนิเมะ, หนังคนแสดง(ที่กำลังวางแผนสร้าง), วิดีโอเกม, ของเล่นของสะสมอีกเพียบ ส่งผลให้มูลค่าของตัวอาจารย์คิชิโมโตะ อยู่ที่ประมาณ 20 ล้านเหรียญ ทั้่งยังส่งให้อาจารย์คิชิโมโตะติดทำเนียบนักเขียนมังงะเงินล้านเทียบเคียง อาจารย์โอดะ เออิจิโร่, อ.โทริยาม่า อากิระ, อ.ทาคาฮาชิ รูมิโกะ, อ.โทงาชิ โยชิฮิโระ, อ.ทาเคอุจิ นาโอโกะ และ อ.โคโนมิ ทาเคชิ
Leave a Reply