[Review] the KILLING of a SACRED DEER (เจ็บแทนได้ไหม) บาปในอดีตกับการล้างแค้นที่เจ็บปวดแทบขาดใจ

Share

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางทีมงาน News Dexclub ได้รับเกียรติให้รับชมภาพยนตร์เรื่อง the KILLING of a SACRED DEER รอบสื่อมวลชนเมื่อเวลา 20.00น. และก็ตามเคยที่เราจะมารีวิวให้เพื่อนๆ ได้รับชมกันครับ

ผลงานเขียนบทและกำกับของ Yorgos Lanthimos ที่เคยฝากผลงานหนังอินดี้สร้างชื่อในบ้านเราไว้อย่าง ‘the Lobster โสด-เหงา-เป็นล็อบสเตอร์’

ตัวอย่างภาพยนตร์

กลับมาคราวนี้กับคอนเซปหนังเรื่องใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์ป่า หรือความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ตามชื่อเรื่อง แต่ได้แรงบรรดาใจรวมทั้งชื่อที่มาของหนังมาจากบทละครเรื่อง ‘Iphigenia in Aulis’ ของ ยูรีพิดิส (Euripides) นักเขียนบทละครโศกนาฎกรรมผู้ยิ่งใหญ่ชาวกรีก เกี่ยวกับ กษัตริย์อกาเมมนอน ผู้นำทัพกองเรือกรีกที่ไม่สามารถยกพลไปตีกรุงทรอยได้ เนื่องจากก่อนออกศึกได้ออกไปล่าสัตว์และเผอิญไปฆ่ากวางศักดิ์สิทธิ์ของเทพีอาร์เทมิสเข้า พระองค์พิโรธมากจึงใช้พลังอำนาจระงับคลื่นลม จนทัพเรือไม่สามารถออกเรือได้ อกาเมมนอนอับจนหนทางต้องยอมสละ อิฟีจีไนอา ธิดาอันเป็นที่รักไปสังเวยเพื่อชดใช้หนี้ชีวิต และขอให้มีชัยในศึกสงครามโทรจัน

เรื่องนี้ยอร์กอส ถ่ายทอดแนวคิด ‘การชดใช้หนี้ชีวิต’ ใหม่ในมุมมองโลกยุคปัจจุบันโดยผ่านตัวละคร สตีเว่น แพทย์ผ่าตัดฝีมือดี ผู้มีพร้อมทั้งฐานะและครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่ด้วยปมบางอย่างในอดีตทำให้เขายังต้องคอยดูแลความเป็นอยู่ของ มาร์ติน เด็กหนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่งอยู่เรื่อยมา โดยหารู้ไม่ว่ามันนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เขาจะต้องเสียใจในความพลาดพลั้งและจะฝังใจเขาไปตลอดชีวิต

เฉกเช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนหน้านี้ของผู้กำกับยอร์กอส ที่จะมีรูปแบบการนำเสนอที่ค่อนข้างเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวของเขาเอง นั่นคือ ‘เรียบ เงียบ นิ่ง’ ทั้งในการเดินเรื่องรวมไปถึงการต่อบทของตัวละคร แต่ในความเรียบเงียบนิ่งนั้น หลายครั้งแฝงไปด้วยอารมณ์ที่ครุกรุ่นของบรรยากาศจนเราสัมผัสได้ และจะยิ่งชัดเจนมากเมื่อมาพร้อมกับ Sound ประกอบฉากที่บีบเค้นความรู้สึกและกดประสาทเราได้ไปพร้อม ๆ กัน

รวมไปถึงการเลือกที่จะแช่ภาพในฉากหรือสถานการณ์ที่ไม่น่าโสภานักกับสามัญสำนึกของคนปกติทั่วไป ซึ่งมันค่อนข้างจะกระทบเสถียรภาพทางอารมณ์ จนเรารู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะมองดูแบบตรง ๆ คล้ายกับว่าหนังต้องการจะทดสอบขวัญ สั่นคลอนประสาทของคนดูอย่างเรา ๆ ว่าจะรับการโจมตีทางอารมณ์แบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน นี่ยังไม่นับรวมฉากรุนแรงหลาย ๆ ฉากในหนังที่มันช่างท้าทายกรอบความคิดทางด้านศีลธรรมอันดีที่เราควรจะมีกันเสียเหลือเกิน ซึ่งผู้เขียนถือเป็นจุดเด่นของผู้กำกับที่กล้ามาก (จนบ้าบิ่น) ที่ใส่ฉากเหล่านั้นเข้ามาในหนัง

อีกส่วนที่ขอชมคือไอเดียการนำเสนอ ที่ผู้กำกับและเขียนบทจะใส่ฉากเชิงสัญลักษณ์ที่แฝงนัยยะความหมายลงในฉากที่ดูธรรมดา ๆ ไว้หลายจุดตลอดทั้งเรื่อง อยู่ที่เราคนดูจะตีความสาส์นในฉากนั้น ๆ ตามได้มากน้อยแค่ไหน

และถึงแม้หนังจะยืนพื้นอยู่บนโลกความเป็นจริง แต่ก็ยังมีส่วนของความ Surreal ที่มักจะทิ้งคำถามคาใจที่ไม่สามารถหาคำอธิบายตามหลักเหตุ-ผลได้ผสมอยู่ด้วย และในหนังเองก็ไม่ได้ให้คำอธิบายไว้เสียด้วยสิ ซึ่งแท้จริงแล้วหลักใหญ่ใจความที่หนังต้องการจะสื่อ น่าจะอยู่ตรงที่การกระทำและผลที่ตามมาของตัวละครเสียมากกว่า

ที่ถูกใจที่สุดคงหนีไม่พ้นช่วงท้ายก่อนจบ ที่ทิ้งท้ายไว้อย่างมีความหมาย สื่อได้ถึงแนวคิดตามหลักธรรมทางพุทธศาสนาได้เลยทีเดียว นั่นทำให้ประเด็นของหนังดูมีน้ำหนักมากขึ้น จนผู้เขียนยกให้เป็นหนึ่งใน 10 หนังที่โดนใจของปีนี้เลย

ขอขอบคุณสหมงคลฟิล์ม
ที่สนับสนุนภาพยนตร์รอบสื่อมวลชน

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*