Keisuke Iwata ประธานของบริษัทเครือข่ายทีวีอนิเมะ AT-X ประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวในงาน Digital Hollywood University ที่โตเกียวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาในเรื่องความเป็นไปได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนมาใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในวงการอนิเมะ ด้วยประสบการณ์กว่าสิบปีในอุตสาหกรรมอนิเมะของคุณ Iwata กล่าวว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่กระบวนการผลิตอนิเมะจะถูกแทนที่ด้วย AI”
Iwata เคยรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับอนิเมะที่เป็นที่นิยมหลายเรื่อง เช่น Pokémon, Prince of Tennis, และ Shaman King เขาได้เข้าทำงาน TV Tokyo ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ AT-X เมื่อปี 1979 ที่ในเวลานั้นรู้จักกันในชื่อ Tokyo Channel 12
ประธานเครือข่ายกล่าวว่า เขาเชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะใช้ AI มาทำงานแทนคนในด้านการผลิตอนิเมะ เพราะความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์คือหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์อนิเมะมาแต่เดิมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้าน AI สามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้ในอนาคต การเรียนรู้เชิงลึกนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเครื่องกล อันมีพื้นฐานอยู่บนอัลกอริทึ่มที่ใช้ในโครงสร้างข้อมูลที่ซับซ้อน เป็นหนึ่งในเทคนิคที่จะทำให้ AI สามารถผลิตงานที่มีรายละเอียดใกล้เคียงแรงงานมนุษย์
ปีที่ผ่านมาหลายบริษัท เช่น Microsoft และ Dutch bank ING ได้ร่วมมือทำโปรเจค The Next Rembrandt AI โดยใช้ AI มาวิเคราะห์ภาพเขียนของ Rembrandt จำนวน 346 ภาพเพื่อที่จะผลิตภาพวาดสไตล์ศตวรรษที่ 17 (ภาพซ้าย) ขึ้นมา
ในอนาคตเทคโนโลยีที่คล้ายกันนี้ อาจนำไปใช้สำหรับวิเคราะห์ผลงานเรื่อง Neon Genesis Evangelion, Shin Godzilla และงานอื่นๆ ของคุณ Hideaki Anno โดยตัว AI สามารถเลียนแบบและสร้างผลงาน “สไตล์ Anno” ได้ออกมาอย่างสมบูรณ์จากผลงานศิลปะของเขา คุณ Iwata เชื่อว่าอีกไม่นาน AI จะเข้ามาแข่งขันกับมนุษย์ในด้านความคิดสร้างสรรค์
เขายังกล่าวอีกว่า “AI เริ่มที่จะเข้ามายึดพื้นที่ของการทำงานและดูเหมือนว่า AI จะสามารถสนับสนุนการทำงานด้านการออกแบบตัวละคร, สตอรี่บอร์ด, ออกแบบศิลป์, ฉาก, ผลิตเสียง และตั้งค่าสีได้ด้วย, ต่างจาก AI มนุษย์มี “ฟังก์ชั่นที่ทำให้ลืม” และฟังก์ชั่นนี้ก็เติบโตต่อเนื่องไปพร้อมกับสมอง แต่ถ้า [คุณ] ฝึกฝนการใช้สมองอย่างต่อเนื่อง คุณก็จะยังแสดงออกซึ่งความสร้างสรรค์เหล่านี้ได้ (แน่นอนว่าไม่แพ้ AI)
Iwata ทำนายไว้เมื่อปี 2009 ว่า “ตลาดอนิเมชั่นญี่ปุ่นในทั่วโลกจะหดตัวลงตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป” จะเป็นจริงตามคำทำนายหรือไม่ก็ตาม ตลาดอนิเมะก็จะยังคงเติบโตไปเรื่อยๆ ตัวแปรปัจจุบันคือคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมอนิเมะก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิต
อุตสาหกรรมอนิเมะมักจะต้องทำงานในสภาวะกดดันและค่าตอบแทนต่ำ, สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และชั่วโมงการทำงานที่เกินกว่ากฏหมายกำหนดไว้สำหรับอนิเมเตอร์ โดยทาง Japan Animation Creators Association (JAniCA) เคยตีพิมพ์รายงานเมื่อปี 2015 ได้ระบุรายได้ของอาชีพอนิเมเตอร์ที่ได้รับประมาณ 980,279 บาท ในญี่ปุ่น (รายได้เฉลี่ยต่อปีชาวญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 1.5 ล้านบาท ข้อมูลปี 2016) เมื่อปี 2013 แต่จากการศึกษาได้รายงานว่านักอนิเมเตอร์หน้าใหม่มีค่าแรงเพียง 322,091 บาทต่อปีในญี่ปุ่นเท่านั้น ถ้าสภาพการทำงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจต่ออาชีพอนิเมเตอร์ชาวญี่ปุ่นต่อไป AI ก็อาจเข้ามาทดแทนงานในอุตสาหกรรมอนิเมะที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้
อีกด้านหนึ่ง อาจารย์ Hayao Miyazaki ผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli ได้กล่าวถึง CG อนิเมชั่นที่ผลิตด้วย AI เมื่อปีที่แล้วว่าเป็นการ “ดูถูกวิชาชีพตัวเอง” อาจารย์ Miyazaki ได้ปรากฏตัวเป็นพิเศษเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนเกี่ยวกับผลงานภาพยนตร์ CG อนิเมชั่นที่กำลังจะเข้าฉายเรื่อง Kemushi no Boro ของเขา ในรายการ ทีม CGI ของ Dwango Artificial Intelligence Laboratory ได้นำเสนอเกี่ยวกับการทดลองโปรแกรมอนิเมชั่นที่เรียนรู้ด้วย AI โดยใช้หลักการเรียนรู้แบบมนุษย์ และโปรแกรมก็เรียนรู้ที่จะทำมันได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่คำนึงถึงคอนเซปบางอย่างเช่น “ความรู้สึกเจ็บปวด” ซึ่งอาจารย์ Miyazaki อาจรู้สึกว่ามันดูยุ่งยากซับซ้อน และเหมือนซอมบี้เกินไป แม้ว่าอาจารย์ Miyasaki จะไม่ได้ผลิตผลงานภาพยนตร์อนิเมะเองแล้วก็ตาม ยังไงก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าภาคอุตสาหกรรมอนิเมะจะตอบสนองต่อมุมมองของเขายังไงในอนาคต
ที่มา: IT Media News (Keisuke Yamaguchi) via Yaraon!