คำถาม:
ฉันพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างลำบากระหว่างที่พยายามจะกลับไปเสพอนิเมะกับมังงะอีก ในจังหวะที่ฉัน ‘สลับ’ สับเปลี่ยนแฟนด้อมที่ฉันอยู่ ฉันก็พบว่าฉันชอบอ่านมังงะแบบอีบุ๊คมากกว่าแบบตัวเล่มจริงๆ ในขณะที่ฉันไม่เคยต้องกังวลว่าคอมิคตะวันตกจะไม่ออกแบบอีบุ๊ค แต่ฝั่งมังงะกลับมีปัญหากันคนละเรื่องเลยแฮะ
ในขณะที่มังงะเรื่องดังมีให้หาซื้อกันแบบง่ายๆ แต่พวกมังงะสายรองที่ฉันสนใจมากกว่าหาซื้อไม่ง่ายเลย ฉันคิดว่าเรื่องนี้เกิดปัญหาจากเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ญี่ปุ่นกลัวจะถูกละเมิดลิขสิทธิ์ใช่ไหม แต่พอคิดแบบนี้แล้วก็สงสัยขึ้นมาว่า ทำไมพวกเขาถึงยอมให้เรื่องยอดฮิตแบบ ผ่าพิภพไททัน หรือ My Hero Academia มาขายแบบดิจิตอลล่ะ? มีทางไหมที่คนธรรมดาแบบฉันจะทำให้สำนักพิมพ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ว่ามีคนจำนวนมากที่รอซื้อการ์ตูนแบบอีบุ๊คอยู่น่ะ?
คำตอบ:
จากที่ซื้อมังงะมาหลายๆ ปี (หรือที่บางคนบอกว่า โดนผีสิงให้ไปซื้อ, โดนบังคับให้ไปซื้อ) ฉันพอจะเข้าใจว่าทำไมคุณอยากจะซื้อมังงะแบบอีบุ๊คมากกว่าแหละ มันทั้งประหยัดที่เก็บแล้วก็ทำให้เราพกพามังงะที่เราชอบไปได้ง่ายๆ ด้วย
ถ้างั้นทำไม มังงะบางเรื่องถึงมีขายแต่แบบอีบุ๊คเท่านั้น, บางเรื่องก็ขายเฉพาะแบบเล่มจริง แล้วก็มีอีกหลายเรื่องที่ขายเฉพาะพิมพ์เป็นเล่มอย่างเดียวเท่านั้น? คำถามที่ถามมาคงทำให้คุณเชื่อว่า ‘เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นเป็นคนห้ามไว้เพราะกลัวโดนละเมิดลิขสิทธิ์’ ใช่ไหมล่ะ แต่ความจริงการตัดสินใจในการทำมังงะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมีรายละเอียดที่มากมายกว่านั้น
ต้องอธิบายก่อนว่า ตามปกติแล้ว ลิขสิทธิ์สำหรับตีพิมพ์แบบเล่มจริง กับ ลิขสิทธิ์สำหรับตีพิมพ์แบบดิจิตอล (หรืออีบุ๊ค) เป็นลิขสิทธิ์ที่แยกกัน แม้ว่าสำนักพิมพ์ต่างประเทศที่พยายามติดต่อทางญี่ปุ่นเพื่อซื้อสิทธิ์จัดทำทั้ง แบบเล่มจริง และ แบบดิจิตอล ไปพร้อมๆ กัน ก็ใช่ว่าทางเจ้าของสิทธิ์ที่ญี่ปุ่นจะยอมอนุญาตให้จัดทำทุกเรื่องไป ดังนั้นในขั้นต้นก็ต้องลุ้นก่อนว่า ทางสำนักพิมพ์ต้นฉบับยินยอมจะให้จัดทำหรือไม่ ตัวอย่างในประเทศไทยที่เห็นได้ชัดเจนน่าจะเป็นกรณี มังงะของทาง Shokakukan ที่มีเรื่องดังๆ จำนวนมาก ทั้ง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน, ซิลเวอร์สปูน, ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องดัง แต่แทบจะไม่มีเรื่องไหนจัดทำแบบอีบุ๊คขึ้นมา จึงพออนุมานได้ว่ามีปัญหาบางประการที่ต้นสังกัดระบุมาทำให้ไม่มีใครจัดทำอีบุ๊คได้ เป็นอาทิ
เหตุผลรองลงมาที่ทำให้ไม่มีอีบุ๊คออกมาขาย ก็มาจากตัวของผู้วาดหรือเจ้าของผลงานเองที่ไม่โอเคกับการอนุญาตให้จัดทำในแบบอีบุ๊ค เหตุการณ์ตามปกติมักจะเกิดกับฝั่งนิยายเสียมากกว่า แต่ในฝั่งมังงะก็พอจะมีตัวอย่างให้เห็นบ้าง เช่น อาจารย์อุราซาว่า นาโอกิ เจ้าของผลงานอย่าง 20th Century Boys กับ Pluto เคยให้สัมภาษณ์กับทาง Anime News Network ออกปากอย่างชัดเจนว่า “งานของผมทุกเรื่องไม่มีขายแบบดิจิตอล (แบบถูกกฎหมาย) ผมชอบหนังสือเล่มมากกว่า” หรืออาจารย์อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ ผู้เขียน Slam Dunk กับ Vagabond ก็ยังไม่อนุญาตให้จัดทำอีบุ๊ค ซึ่งเหตุผลของนักเขียนที่ไม่อนุญาตให้จัดทำอีบุ๊คนี้มีหลายๆ สาเหตุ ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง แต่ส่นมากจะเป็นเพราะความรักต่อสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่า เพราะนักเขียนมังงะบางคนรู้สึกว่างานของพวกเขาจะเปล่งประกายที่สุดเมื่อถูกนำเสนอตามรูปแบบที่ตั้งใจแต่เริ่ม คือการตีพิมพ์เป็นฉบับหนังสือเล่มจริงนั่นเอง
ในขณะที่เราอาจจะพูดให้อาจารย์อุราซาว่า หรือ อาจารย์อิโนอุเอะเปลี่ยนใจ หรือ อาจจะเดาไมได้ว่าพวกอาจารย์จะเปลี่ยนใจไหม แต่ก็มีหลายสิ่งที่ส่งผลดีถ้ามีงานมังงะออกมาให้อ่านกันแบบอีบุ๊ค อย่างหนึ่งก็คือผู้อ่านอีบุ๊คที่เติบโตมากขึ้น เมื่อผู้อ่านมากขึ้นก็ย่อมหมายความยอดขายน่าจะเพิ่มขึ้นด้วย
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการทำอีบุ๊ค ที่หลายคนจะเข้าใจกันไม่ถูกต้องนักก็คือ การตีพิมพ์แบบอีบุ๊คอาจจะไม่ต้องมีค่าตีพิมพ์ลงกระดาษหรือมีค่าวางจำหน่ายหน้าร้าน (ค่า GP) แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ร้านขายอีบุ๊คทั้งหลาย ก็ยังมีค่าวางจำหน่ายหน้าร้าน รวมถึงว่าตัวร้านก็ต้องมีค่าดูแล (ดูแลเซิร์ฟเวอร์ ฯลฯ) ดังนั้นต้นทุนบางอย่างในการวางจำหน่ายก็ยังไม่ลดลง เช่นเดียวกับต้นทุนอื่นๆ อย่าง ค่าจ้างนักแปล, กองบรรณาธิการ, คนแต่งภาพ, คนใส่ตัวอักษร รวมไปถึงว่าค่าลิขสิทธิ์ ก็ยังคงต้องจ่ายอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นในบางกรณีที่ค่าใช้จ่ายการพิมพ์เล่มแทบไม่ต่างจากอีบุ๊คเลย การวางขายแบบเล่มอย่างเดียวจะเป็นคำตอบอะไรที่ต่อผู้จัดทำมากกว่า
ย้อนกลับไปพูดถึงปัจจัยที่ทำให้อีบุ๊คในยุคนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดโลก เพราะเดิมทีในยุคแรกๆ ที่อีบุ๊คเพิ่งเปิดตลาดเคยมีปัญหาในการจัดทำ เนื่องจากการที่สำนักพิมพ์ต้นสังกัดของทางญี่ปุ่นเองที่ยังไม่มีไฟล์อีบุ๊คพร้อมจัดจำหน่าย (ด้วยความที่ว่าในขั้นตอนการเขียนจริงก็เป็นต้นฉบับกระดาษ ไม่ได้จัดทำแบบแก้ไขลงในคอมพิวเตอร์) แต่ในปัจจุบันเรื่องนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว สำนักพิมพ์หลายๆ เจ้ามีไฟล์เตรียมไว้ให้ตั้งแต่แรกเริ่ม กระนั้นบริษัทในญี่ปุ่นหลายๆ แห่งก็อาจจะชาร์จเงินเพิ่มเติมสำหรับการขอไฟล์แบบนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการปรับตัวเพื่อตอบรับลูกค้าฝั่งดิจิตอลที่ขยายตัวมากขึ้น
อีกปัจจัยที่ทำให้อีบุ๊คได้รับความนิยมมากขึ้น ก็คือเทคโนโลยีของอุปกรณ์อ่านที่สูงมากขึ้น ในช่วงแรกๆ นั้นอีบุ๊คจะมีปัญหาเรื่องการแสดงสกรีนโทนที่ไม่ถูกต้อง, จัดหน้าแบบผิดพลาด เช่นหน้าคู่ไม่สามารถแสดงผลทั้งสองหน้าพร้อมกันได้ แต่เรื่องเหล่านี้ก็ได้ถูกปรับแก้มากขึ้นจนตอนนี้อีบุ๊คสามารถนำเสนอเนื้อหาได้สอดคล้องกับที่ผู้เขียนต้องการมากขึ้นจนนักเขียนมังงะไม่น่ากังวลเรนื่องนี้เท่าใดนัก
ส่วนคำถามที่สองที่ถามว่า ‘มีทางไหมที่คนธรรมดาแบบฉันจะทำให้สำนักพิมพ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ว่ามีคนจำนวนมากที่รอซื้อการ์ตูนแบบอีบุ๊คอยู่น่ะ?’ บอกได้เลยว่า มีทาง และโชคดีมากที่สมัยนี้สำนักพิมพ์แทบทุกเจ้ามีสื่อสังคมออนไลน์ที่เปิดใช้งานอยู่ไม่ว่าจะเป็น Twitter หรือ Facebook แล้วคนทำงานสำนักพิมพ์ก็อ่านข้อมูลพวนี้อยู่ตลอดๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนท์ตามเว็บที่เข้าถึงง่าย, เมนชั่นในทวิตเตอร์, ความเห็นบทหน้าเว็บไซต์หรือแฟนเพจทางการ แม้แต่อีเมล์ที่ลูกค้าส่งไปถึง บางเจ้าก็อาจจะเปิดโพลล์ขอความเห็นจากลูกค้าอยู่บ้างด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีความเห็นเกี่ยวกับผลงานต่างๆ ในใจคุณ อย่าเก็บงำมันไว้ แล้วไปบอกพวกเขา (อย่างมีมารยาทและกาลเทศะ) แม้ว่าทางสำนักพิมพ์อาจจะไม่ได้ตอบอะไรกลับมายาวๆ แต่คนทำงานเหล่านั้นยินดีที่จะรับฟังข้อมูลต่างๆ ไว้เสมอ กระนั้นบางกรณี คุณก็อาจจะต้องไปพูดให้สำนักพิมพ์ต้นสังกัดญี่ปุ่นฟังเผื่อว่าเขาจะได้เข้าใจว่าสภาพลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นจริงๆ เป็นอย่างไรบ้างล่ะนะ
เรียบเรียงจาก – Manga Answerman – Why Isn’t All My Favorite Manga Available Digitally?
Leave a Reply