อดีตผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูนร้องเรียนขอให้มีการจ่ายเงิน O.T. เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม

Share

นักเขียนการ์ตูนอย่าง Shunsuke Kakuishi (ผู้วาดเรื่อง Yawara No Michelanangelo) ได้ทำการโพสท์บล็อกส่วนตัวของเขาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ตัวเขาเองไม่เคยได้รับเงินค่าจ้างล่วงเวลาตอนที่เป็นผู้ช่วยให้กับอาจารย์ Norifusa Mita (ผู้วาดเรื่อง Investor Z ตามภาพทางด้านขวา และ Dragon Zakura ครูซ่าท้าเด็กแนว) ตลอดช่วงเวลา 11 ปี กับอีก 7 เดือน ที่ทำงานให้กับอาจารย์ ตัว Kakuishi ระบุว่าเขาทำงานล่วงเวลาให้กับอาจารย์ Mita มาตลอดช่วงระยะเวลานั้น และการที่เขาเขียน Blog บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อที่จะเปิดเผยปัญหาในการทำงานที่เหล่าผู้ช่วยต้องเผชิญหน้าในอุตสากรรมมังงะและคาดหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

อาจารย์ Mita เคยให้สัมภาษณ์กับทาง Yahoo! News Japan เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ผู้ช่วยของเขาได้วันหยุดสัปดาห์ละสามวันและถูกห้ามทำงานล่วงเวลา เพื่อที่ผู้ช่วยจะได้มีเวลาพักผ่อนที่มากเพียงพอ และเพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ อาจารย์ Mita ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้จ้างบริษัทออกแบบให้รับงาน Outsource ในการวาดภาพฉาก ซึ่งตัวอาจารย์เชื่อว่าเป็นนักเขียนคนแรกของอุตสาหกรรมมังงะของญี่ปุ่นที่เลือกใช้ระบบ Outsource เช่นนี้

ส่วน Blog ของ Kakuishi ที่โต้ตอบการสัมภาษณ์ของอาจารย์ Mita ว่าตัวของ Kakuishi ที่ทำงานกับอาจารย์มาจนถึงเดือนเมษายนปี 2017 ไม่เคยได้รับค่าทำงานล่วงเวลาเลย “สักครั้ง” เขาระบุใน Blog ว่า ตอนที่เขาทำงานกับอาจารย์ Mita เขาทำงานวันจันทร์ถึงวันพุธ วันละแปดชั่วโมง ตามที่อาจารย์ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Yahoo! News Japan แต่อย่างไรก็ตามตัวของเขากับผู้ช่วยคนอื่นๆ จะต้องทำงานยาวขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่กลุ่มผู้ช่วยจะได้พักกินข้าวเย็นกันสักพักก่อนที่จะกลับมาทำงานกันต่อถึงราวๆ 22.00 – 23.00 น. และถ้าเป็นวันศุกร์จะต้องทำงานถึงราวๆ เที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง Kakuisihi บอกว่าเขาเก็บใบตอกเวลาทำงานเอาไว้ทำให้มีบันทึกเรื่องเวลาทำงานตอนที่ทำงานกับอาจารย์ Mita แบบชัดเจน

ตัว Kakuishi ยังได้โพสท์ลงใน Blog ว่า แม้ตัวเขาเองจะไม่เคยต้องปั่นงานข้ามคืนโดยไม่ได้หลับได้นอนอย่างที่ผู้ช่วยบางคนเคยเล่าให้เขาฟัง และรู้ดีว่าการทำงานกับอาจารย์ Mita ก็ยังดีกว่าผู้ช่วยส่วนมากในอุตสาหกรรมมังงะในปัจจุบัน

“แม้ว่าจะดีกว่าบรรทัดฐานของอุตสาหกรรมมังงะ แต่ผมก็บอกไม่ได้ว่าเป็นธรุกิจที่ ‘ขาว’ ไปทั้งหมด ผมบอกไม่ได้หรอกนะว่าสถานที่ทำงานที่ผมเคยทำนั้นสอดคล้องกับพระราชบัญญัติมาตรฐานแรงงานญี่ปุ่นหรือไม่” ในจุดนี้ที่ Kakuishi พูดถึงคำว่า ‘ขาว’ นั้นเป็นการเทียบเคียงกับการแบ่งบริษัทในญี่ปุ่นว่าเป็น ‘บริษัทดำ (Black Company)’ หรือ ‘บริษัทขาว (White Company)’ ซึ่งตัว ‘บริษัทดำ’ นั้นหมายถึงบริษัทที่ให้พนักงานทำงานหนักในเวลานานยากโดยจ่ายค่าจ้างเพียงเล็กน้อย และเป็นแหล่งบ่มเพาะให้เกิดอาการ คาโรชิ (ทำงานเหนื่อยจนตาย) ส่วน ‘บริษัทขาว’ หมายถึงบริษัทที่ให้คุณค่าพนักงานและมีสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงาน

นอกจากนั้นใน Blog ของ Kakuishi ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลานั้นยังบอกด้วยว่าเป้าหมายของเขาคือการช่วยให้สถานที่ทำงานของเหล่าผู้ช่วยในอุตสาหกรรมมังงะนั้นดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นปัจจุบัน เขาได้บอกว่า “จะทำอย่างไรให้ผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูนทำงานได้อย่างสบายใจขึ้น ? เราจะปรับเวลาทำงานให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของแรงงานทั่วไปหรือ ? เมื่อผมคิดถึงเรื่องเหล่านี้ แล้วผมก็นึกขึ้นมาได้ และนั่นคือเหตุที่ผมมาเขียนเรียกร้องให้จ่ายเงินค่าล่วงเวลาจากนักเขียนการ์ตูน”

Kakuishi คาดหวังว่าการที่เขาออกมาเรียกร้องขอเงินค่าทำงานล่วงเวลาในครั้งนี้จะเป็นการจัดประกายให้ผู้ช่วยนักเขียนคนอื่นๆ กล้าออกมาพูดถึงปัญหาที่พวกเขาเจอในการทำงานมากขึ้น เขายังบอกว่าเขาหวังว่าความพยายามนี้จะช่วยให้คนที่คิดจะห้ามปรามให้เหล่าผู้ช่วยที่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้ ตัวของเขายังเชื่อว่า การออกมาร้องเรียนขอเงินค่ราทำงานล่วงเวลานี้เป็น “การตอบแทนให้กับชุมชนอย่างหนึ่ง” และเขายังเชื่อว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นตัวจุดประเด็นที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมมังงะต่อไป

นักเขียนการ์ตูนอย่าง Kyosuke Usuta (ผู้วาด Pyu to Fuku! Jaguar, Sexy Commando Gaiden: Sugoi yo!! Masaru-san) ยังได้ทวิตตอบ Kakuishi ก่อนที่จะลบไปใจความว่า ตัวของ Kakuishi เข้าใจอุตสาหกรรมมังงะผิดไป อาจารย์ Usuta กล่าวว่า คนจำนวนไม่มากที่มีความสามารถเท่านั้นที่จะทำงานในฐานะ ผู้ช่วยนักเขียนมืออาชีพ ที่จะ “ได้รับเงินเดือนที่สูงพอจะเลี้ยงทั้งครอบครัวได้” อาจารย์ Usuta ยังบอกว่าคนเรามีอิสระที่จะเลือกการทำงาน และขอแนะนำให้ผู้ช่วยที่ไม่พึงพอใจในการทำงานควรไปหางานใหม่

ตัว Kakuishi ตอบกลับทวิตเตอร์ของอาจารย์ Usuta ไปว่า “รุ่นพี่ Usuta ครับ ผมคิดว่าคนที่เข้าใจเรื่องนี้ผิดเป็นฝั่งของนักเขียนการ์ตูนครับ” Kakuishi เชื่อว่าทวิตของอาจารย์ Usuta เป็นตัวยืนยันว่า ผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูน นั้นเป็นบุคลากรที่สำคัญยิ่งในอุตสาหกรรมมังงะ

Kakuishi ได้ออกการ์ตูนของตัวเองที่ชื่อว่า Yawara No Michelangelo (ภาพด้านซ้ายบน) ในนิตยสาร Young Animal ของทาง Hakusensha มาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

Sources: Nikkan SportsComic Natalie via Buzz Plus NewsYaraon!

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*