ทุกครั้งที่มีการจัดงานอีเวนท์สายการ์ตูน และมีช่วงเปิดให้สอบถามเหล่ากองบรรณาธิการ หรือ คนแปล ในวงการมังงะลิขสิทธิ์จากทางญี่ปุ่น คำถามหนึ่งที่หลายๆ คนคาใจ หยิกบยกไปถามก็คงจะไม่พ้นคำถามที่ว่า
‘ทำไมมังงะ [ใส่ชื่อเรื่องที่คุณชอบ] ถึงยังไม่มีลิขสิทธิ์สักที’
คำถามง่ายๆ นี้กลับมีปัจจัยที่ยุ่งยากอยู๋หลายตัว ซึ่งในวันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ Answerman จะนำมาบอกเล่าให้ฟังกัน เพียงแค่ว่า คำตอบที่เรานำมาบอกกล่าวในวันนี้นั้น เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น และในอนาคตเรื่องการจัดทำลิขสิทธิ์เหล่านี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกตามกระแสตลาด หรืออาจจะด้วยเหตุผลอื่นๆ อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในอนาคต เป็นอาทิ
มังงะเรื่องนั้นมันเก่าไป
ถ้าสังเกตกันดีๆ ในสมัยนี้มังงะลิขสิทธิ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะเป็นมังงะที่ออกตามกระแสของต้นฉบับในญี่ปุ่น ดังนั้น LC มังงะส่วนใหญ่ในยุคนี้ก็มักจะเป็นมังงะที่ออกตามหลังญี่ปุ่นไม่เกิน 1-5 ปี เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งที่บริษัทจัดทำหนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์พยายามเลี่ยงการจัดทำมังงะรุ่นเก่าๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วคำนึงถึงเรื่องวัตถุดิบ หรือ Material ต้นทาง ควรจะมีไฟล์ดิจิตัลที่ดีพอ หรือเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์มาอย่างชัดเจนมากพอ
ซึ่งมังงะยุคเก่าๆ นอกจากที่เนื้อเรื่องจะตกยุค และมักจะไม่ได้มีต้นฉบับเป็นไฟล์ดิจิตอลมาให้ แม้ว่าจะมีการจัดทำต้นฉบับด้วยการนำเอามังงะต้นฉบับมาทำดัมพ์สแกนเป็นไฟล์ แต่ถ้าต้นฉบับหนังสือเก่าเกินไปวิธีนี้ก็จะใช้งานได้ไม่ดีพอเช่นกัน จึงทำให้มังงะที่เก่าสักหน่อย แล้วยังไม่มีเล่มรีมาสเตอร์ขาย (ไม่ว่าจะเป็นในแบบ Wide-Ban หรือ Kanzen-Ban ก็ตามที) จะถูกเลี่ยงการจับมาทำลิขสิทธิ์ไปโดยปริยาย
เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่โหดร้ายพอสมควรก็คือ เส้นที่เก่าไปบางครั้งดูไม่สวยจนคนทั่วไปไม่คิดจะซื้อ และถ้าจะทำให้คนอ่านมังงะตัวจริงก็อาจจะขายได้ไม่เกินหลักร้อยเล่ม
แต่ถ้างานแนวคลาสสิก อย่างผลงานของอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ, อาจารย์มัตสึโมโต้ เลย์จิ หรือนักเขียนชื่อดังข้ามยุคท่านอื่นๆ มักจะมีต้นฉบับญี่ปุ่นทำเป็นดิจิตอลมาแลจึงไม่แปลกที่คนอ่านยังพอจะหามังงแนวนี้มาอ่านได้
ดังนั้นถ้าเห็นมังงะสายคลาสสิคที่ไม่น่าจะออก LC มีการออกเล่มมาขาย การอุดหนุนหนังสือตัวจริงมี LC ก็จะทำให้ทางสำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์กล้าจัดทำมังงะแนวคลาสสิคที่ยังพอมีต้นฉบับคุณภาพดี ส่วนมังงะที่ไม่มีต้นฉบับนั้นก็อาจจะต้องทำใจบอกคำอำลาไปโดยปริยาย
มังงะเรื่องนั้นมันยาวเกิ๊น
ปัจจัยนี้เป็นอะไรที่ชวนปวดกระดองใจจริงๆ แม้ว่ามังงะที่มีจำนวนเล่มยาวจะยืนยันได้ดีว่างานเรื่องนั้นได้รับความนิยมระดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องซื้อลิขสิทธิ์มาทำแล้ว งานยาวๆ นี่แหละเป็นอะไรที่ทำให้คนทำงานลิขสิทธิ์อาจจะเจ๊งได้ด้วยผลงานแค่เรื่องเดียว
ถ้าจะยกตัวอย่าง ก็คงจะไม่พ้นมังงะระดับชั้นครูอย่าง Golgo 13 หรือ Kochikame (ตำรวจป้อมยาม) ที่จำนวนของฉบับรวมเล่มบานตะไทไปเกินหลักร้อยทั้งสองเรื่อง (Golgo 13 ตอนนี้ยอดรวมอยู่ที่ 188 เล่ม ส่วน Kochikame อยู่ที่ 200 เล่ม) ซึ่งเราคงแทบจะไม่เห็นโอกาสที่จะได้เห็นฉบับลิขสิทธิ์ของมังงะทั้งสองเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นแบบภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ตามที
ถ้าบังเอิญว่ามังงะเรื่องนั้นถูกตีพิมพ์ในต่างประเทศมาตั้งแต่ต้น อย่างเรื่อง One Piece หรือ บากิ ในบ้านเราที่จัดทำกันมาตั้งแต่ภาคแรก ก็อาจจะพอเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นฉบับรวมเล่มวางขายทั้งหมด แต่ถ้าพูดถึงเรื่องธุรกิจการขายหนังสือ ก็จะบอกได้ว่า หนังสือชุดยาวนั้นโดยส่วนใหญ่แล้ว เล่มแรกก็จะเป็นเล่มที่ขายดีที่สุด ก่อนที่เล่มต่อๆ ไปจะมียอดที่ลดลงเรื่อยๆ ตามจำนวนเล่ม จนถึงจุดที่ถ้าพิมพ์ต่อไปแล้วก็จะขาดทุนแน่นอนตั้งแต่ยังไม่วางขาย ดังนั้นการเสี่ยงเอาซีรีส์ใหม่ที่มีจำนวนเล่มมากมายก่ายกองมาตั้งแต่เริ่มจึงไม่ใช่แนวทางการทำเงินที่ดีนัก
จริงอยู่ในยุคนี้การออก E-Book จะพอช่วยลดปัญหานี้ไปได้บ้าง ซึ่งก็เป็นโชคดีของผู้อ่าน แต่ก็ไม่ใช่ข้อดีเสมอไปเช่นกัน เพราะนั่นหมายความว่าโอกาสในการออกเล่มจริงลดลงไป ปัญหานี้อาจจะไม่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับชาติอื่นที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดทำต่อ และถึงต้นทุนในการจัดทำจำลดค่าพิมพ์เล่ม, ค่าจัดจำหน่าย, ค่าสายส่ง, ค่าจัดเก็บ ไปมากก็จริง การทำ E-Book ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอย่าง ค่าการแปล รวมถึงค่าบริการจากแอพพลิเคชั่นต่างๆ (ไม่ว่าจะทำแอพของตัวเองหรือฝากขาย) อยู่นะ
‘ต้นสังกัดประเทศญี่ปุ่น’ ไม่ยอมให้ LC เพราะเหตุผลเชิงมารยาททางธุรกิจ
จริงอยู่ว่าในโลกธุรกิจทุนนิยม ขอให้มีเงินถึงคุณก็มีโอกาสที่จะซื้อลิขสิทธิ์มาจัดทำในแบบที่คุณต้องการแล้ว แต่เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีมารยาทในเชิงทำธุรกิจอยู่มาก ดังนั้นหลายๆ ครั้งการขอลิขสิทธิ์ก็ต้องดูเรื่องราวเหล่านี้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เราจะได้เห็น วิบูลย์กิจ ออกงานของ Kodansha เยอะกว่าสำนักพิมพ์อื่นๆ มากเสียหน่อย เพราะความสัมพันธ์อันดีนับตั้งแต่ที่เขาทำมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้า, สยามอินเตอร์ จะได้งานลิขสิทธิ์จากฝั่ง ชูเอย์ฉะ ที่ลงในนิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ ค่อนข้างจะเยอะกว่าเจ้าอื่นๆ เพราะพวกเขาเคยทำ C-Kids มาก่อน ส่วน เนชั่นเอดูเทนเมนท์ ก็ยังมีโอกาสได้ลิขสิทธิ์จากนักเขียนที่พวกเขาเคยจัดทำงานลิขสิทธิ์แปลไทยมาก่อนเจ้าอื่นๆ ถ้างานเรื่องใหม่ของนักเขียนเหล่านั้นยังอยู่ในต้นสังกัดเดิม, Luckpim ได้งานของ อาจารย์อิโต้ จุนจิ โดยส่วนมากไปเพราะมีการทำผลงานของอาจารย์ออกมาจำหน่ายต่อเนื่อง, Phoenix Nextได้จัดทำเรื่องดังในเครือคาโดคาว่าที่สร้างเป็นอนิเมะ ซีรีส์ หรือ หนัง แบบไม่ต้องลุ้น ฯลฯ
เรื่องเหล่านี้ยังมีอะไรแบบแปลกประหลาดอีกมาก อย่างเช่น ต้นสังกัดลิขสิทธิ์อาจจะบอกว่าคุณออกหนังสือของเราได้นะแต่มีเงื่อนเวลากำหนดให้คุณต้องออกห่างจากต้นทางกี่เดือนกี่ปีก็ว่าไป หรือ บางทีการขอมังงะเรื่องหนึ่งจำเป็นต้องคุยกับบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายเจ้าทำให้ต้องเสียเวลาคุยตามมารยาทอีกระยะใหญ่ (ที่กลายเป็นผลพวงในการดองอีกที) และก็ยังมีกรณีที่ติดต่อผ่านเอเจนซี่คนกลาง รวมถึงกรณีที่บริษัทหน้าใหม่ไม่เคยมีประวัติการทำงานด้านลิขสิทธิ์กับทางญี่ปุ่นไปติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ ก็มีโอกาสที่ต้นสังกัดลิขสิทธิ์จะหาเหตุผลสวยๆ มาปฏิเสธ เช่นกัน
โดยสรุปของหัวข้อนี้ก็คือต้องรู้จักมารยาทของประเทศต้นสังกัด และในหลายๆ ครั้ง ก็ต้องพึ่งพาดวงไปด้วยในการจัดทำ LC
ตัวผลงานมีความสุ่มเสี่ยงต่อด้านกฎหมายและสังคมของประเทศที่จะซื้อลิขสิทธิ์
กฎหมายและกรอบสังคมก็เป็นอะไรที่ทำให้การจัดทำลิขสิทธิ์มังงะบางเรื่องไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กรณีนี้สำหรับประเทศไทยถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ก็จะเป็นมังงะอย่าง Saint Onii San ที่แม้ว่าผู้เขียนจะค้นข้อมูลเชิงศาสนามาอย่างหนักก่อนจะกลั่นกรองออกมาเป็นผลงาน แต่การนำเสนอออกมานั้น ต่อให้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีคนในสังคมออกมาติเตียนที่นำเอาศาสดาศาสนาสำคัญของโลกมาตีความในลักษณะเชิงโปกฮานั่นเอง หรือ มังงะเรื่อง Mujaki No Rakuen แม้พลอทเรื่องจะเป็นแนวย้อนเวลาที่ตัวเอกตกสระน้ำแล้วกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งอาจจะดูไม่มีพิศภัยใดๆ แต่ด้วยมุมกล้องของเรื่องที่เกินจำเป็น ทำให้หลายชาติเลือกที่จะไม่จัดทำมังงะเรื่องนี้ ด้วยความสุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมายสื่อลามกเด็กของแต่ละประเทศที่มีกฎข้อห้ามไม่ตรงกันนั่นเอง
การตัดสินใจไม่จัดทำลิขสิทธิ์แบบนี้ ไม่ใช่แค่การตัดสินใจของประเทศปลายทางอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีหลายกรณีที่ตัวประเทศญี่ปุ่นเองที่เกิดความเป็นห่วงว่าเนื้อหาในมังงะจะก่อให้เกิดดราม่าได้ และบอกกลับมาเองว่า คงให้ทำลิขสิทธิ์ไม่ได้จริงๆ
เป็นแนวมังงะที่ขายไม่ค่อยดีในชาติปลายทางอยู่แล้ว
กรณีแปลกๆ อย่างนี้ก็พอมีให้เห็นอยู่บ้างเหมือนกัน กรณีของบ้านเราที่น่าจะเห็นภาพคงเป็นมังงะแนวกีฬาเบสบอล ที่ในญี่ปุ่นมีจำนวนมหาศาลอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับนอกประเทศญี่ปุ่นแล้วกีฬาชนิดดังกล่าวเป็นแค่กิจกรรมสำหรับคนส่วนน้อยมากๆ ของประเทศเท่านั้น หรือแม้แต่ในชาติที่เบสบอลได้รับความนิยมอย่างอเมริกา ก็ยังไม่ได้ยืนยันว่ามังงะจากกีฬาประเภทนี้จะขายได้อยู่ดี ในไทยเราอาจจะโชคดีได้เห็นมังงะการ์ตูนเบสบอลผ่านงานของอาจารย์อาดาจิ มิทสึรุ มากหน่อย (เพราะเรื่องไม่ได้เน้นการแข่งเบสบอลเพียวๆ) หรือถ้าเอามังงะเบสบอลแบบจริงจังก็มี Ace Of Diamonds วางขายอยู่ แต่น่าจะไม่มีใครคิดจะเอาเรื่อง Kyojin No Hoshi หรือ Dokaben มาจัดทำแน่ๆ
เมื่อยอดขายมันพิสูจน์ตัวเองมาก่อนแล้ว บริษัทต้นสังกัดที่เห็นแวว(เจ๊ง)ก็พร้อมที่จะตัดสินใจบอกลาไม่ให้จัดทำ เพื่อไม่ให้ทั้งตัวเจ้าของลิขสิทธิ์กับคู่ค้าต้องเสียเงินและเวลาในงานที่ขายไม่ออกแน่ๆ นั่นเอง
‘อินดี้’ ปั้ย!
มังงะบางเรื่องแม้ว่าจะมีแนวคิดดีแสนดี แต่ไม่ยักมีใครจะ LC ก็มีเหตุผลที่ไม่ซับซ้อนเลย …เพราะมังงะเรื่องนั้นมันอินดี้ไปยังไงล่ะ! คือการทำธุรกิจมันต้องเผื่อให้ Mass สำหรับขายด้วย บางเรื่องนั้นอาจจะมีคอนเซปท์ที่ดีมากๆ แต่บางทีมันก็ไม่เหมาะสำหรับคนอ่านทุกคน และถ้าหาข้อยืนยันที่ไม่ใช่แค่ยอดไลค์ยอดแชร์ ว่าเรื่องนั้นมีคนอ่านเยอะจริง โอกาสที่ LC มังงะเรื่องอินดี้จึงน้อยนิดริบหรี่
ผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างมังงะเรื่องนั้น หรือ ต้นสังกัดบอกว่า ‘ไม่’
คำง่ายๆ แต่ความหมายสุดลึกซึ้ง เพราะมันคือการปฏิเสธตั้งแต่หน้าบ้านจนหมดลุ้นไปเลยทีเดียว แล้วสาเหตุของการ Say No ของต้นสังกัดบางครั้งมันไม่ได้เป็นเหตุผลที่เราเล่าไปก่อนหน้า บางทีอาจจะเป็นเล่นเกมธุรกิจเพื่อให้คนซื้อลิขสิทธิ์ที่มาพร้อมกันหลายๆ เจ้าขยับเงินค่าลิขสิทธิ์ให้มากขึ้นบ้าง, แกล้งทำเงียบทำเนียนเพราะอยากให้มังงะจบก่อนแล้ว หรือบางทีก็เป็นเหตุผลอย่าง ‘ไม่คิดว่างานของเราจะเหมาะกับประเทศอื่น’ หรือบางทีก็ไม่มีเหตุอะไรพิเศษแค่ไม่อยากให้เท่านั้นแหละ
ถึงจะฟังดูโหดร้าย แต่การบอกว่าไม่แบบนี้ก็ทำให้เรื่องมันจบลงอย่างชัดเจน ซึ่งถือว่าดีกว่ากรณีที่ ‘อยู่ๆ ดีก็หาย’ หรือ ‘ลืมตอบ’ อยู่นะ และในกรณีออกปากปฎิเสธไม่ขายลิขสิทธิ์ก่อนแบบนี้ ส่วนใหญ่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วระยะหนึ่ง งานที่เคยไม่ยอมขายนอกประเทศนั้นก็มีโอกาสยินยอมพร้อมใจให้จัดทำได้อยู่ …ปัญหาคือต้องรอนานแค่ไหนเท่านั้นเอง
เหตุผลที่มาบอกเล่ากันในคราวนี้ก็เป็นเหตุผลแค่ส่วนหนึ่งของการไม่ยอมทำลิขสิทธิ์มังงะเรื่องที่คุณชอบ (จริงๆ จะรวมถึงฝั่งนิยายก็ได้นะ) ที่น่าจะทำให้คุณผู้อ่านเห็นภาพโดยคร่าวว่าการทำงานวงการลิขสิทธิ์้นั้น หลายทีก็อยากจะออกให้เร็วทันกัน แต่ก็มีเรื่องราวหลายอย่างที่ทำให้มันมีขั้นมีตอนและใช้เวลากันสักนิดนั่นล่ะ
เรียงเรียงจาก: Answerman – Why Isn’t My Favorite Manga Licensed In America
Leave a Reply