Answerman : ทำไมถึงมีการ์ตูนจีนถูกทำเป็นอนิเมชั่นเยอะขึ้น แล้วเรายังจะเรียกมันว่า “อนิเมะ” ได้เหรอ ?

Share

Wayland ถาม :

ช่วงไม่กี่ปีนี้ผมสังเกตว่ามีนิยายออนไลน์กับการ์ตูนจีนถูกสร้างเป็นอนิเมะโดยมีบริษัทญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น Spirit Blade Mountain (Reikenzan: Goshikuzu-tachi no Utage), Hotori no Shita: the outcast, Silver Guardian (Gin no Guardian) และ เทพยุทธ์กลอรี่ (Quan Zhi Gao Shou) คุณคิดอย่างไรที่มีการร่วมมือกันระหว่างสองประเทศนี้ที่เดิมที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อน ? แล้วผลงานเหล่านี้จะเรียกมันว่า “อนิเมะ” แบบที่คนเรียกแบบนี้มักจะใช้เรียกผลงานอนิเมชั่นจากประเทศญี่ปุ่น

 

Answerman ตอบ :

ตัวอย่างอนิเมะผลงานร่วมจีน-ญี่ปุ่น

ยุคนี้มีอนิเมะหลายเรื่องที่ดัดแปลงมาจากเรื่องที่ดังในฝั่งจีน หรือได้ทุนส่วนหนึ่งมาจากบริษัทประเทศจีนอาทิ Bloodivores (ดัดแปลงการ์ตูนออนไลน์จากเว็บไซต์ Tencent บริษัทใหญ่ยักษ์ในจีน จัดทำอนิเมชั่นโดย Creators in Pack), Soul Buster (ดัดแปลงจากการ์ตูนจีน ทำอนิเมชั่นโดย Studio Pierrot ของญี่ปุ่นโดยมี Youku Tudou บริษัทบันเทิงขนาดใหญ่จากประเทศจีนร่วมผลิต), Hitori no Shita the outcast (เนื้อเรื่องมาจากการ์ตูนออนไลน์ภาษาจีน บนเว็บไซต์ของ Tencent อีกหนึ่งเรื่อง ส่วนการผลิตเป็นการร่วมผลิตของ Emon Animation Company บริษัทอนิเมชั่นจากจีนที่มีสาขาในญี่ปุ่น กับ NAMU Animation บริษัทอนิเมชขั่นเกาหลีที่มีสาขาในญี่ปุ่น) รวมถึงอนิเมะที่กำลังจะออกอากาศอย่าง RoboMasters: The Animated Series (บริษัท Da-Jiang Innovation ผู้ผลิตสินค้าจำพวกโดรนและหุ่นยนต์ร่วมผลิตกับ Dandelion Animation ของประเทศญี่ปุ่น), วันวุ่นๆ ของคุณเซนทอร์ (ตัวการ์ตูนต้นฉบับเป็นของญี่ปุ่นแต่บริษัทจัดทำอนิเมะคือ Emon Animation Company บริษัท) แล้วก็เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง – ถ้าว่ากันตรงๆ แทบทุกซีซั่นก็จะมีผลงานจากจีนออกฉายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การร่วมผลิตแบบเล็กน้อย หรือมีการร่วมทุนแบบหนักๆ ก็ตาม

ไม่ใช่ความลับอะไรที่ประเทศจีนเป็นจอมทุ่มเงินทำธุรกิจในปัจจุบันนี้ ธุรกิจหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในฝั่งฮอลลีวูดหรือธุรกิจบันเทิงอื่นๆ มีพี่จีนเป็นคนเปย์เงินลงทุนมาราวๆ 5 ปีขึ้นไปได้แลว เช่นเดียวกับฝั่งธุรกิจอนิเมะที่รื่นเริงกับการเข้ามาโปรยเงินซื้อรายการจากบริษัทที่สร้างคอนเทนท์บนโลกออนไลน์ในฝั่งประเทศจีน แบบที่บริษัทTencent ที่เรากล่าวถึงไปก่อนหน้าแล้วทำอยู่ ถ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับธุรกิจวงการอนิเมะจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี่ รายได้ของวงการมาจากต่างประเทศมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่แค่ว่าจะมีเว็บใหญ่ๆ Crucnchyroll, Amazon หรือ Netflix แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินก้อนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนจากนอกประเทศญี่ปุ่นนั้น ส่งตรงมาจากประเทศจีนต่างหาก

สองผู้เล่นใหญ่ในตลาดคอนเทนท์ออนไลน์ของประเทศจีน

เรื่องนี้อาจจะฟังดูน่าแปลกใจสำหรับแฟนอนิเมะนอกญี่ปุ่นที่อาจจะมองว่า “พี่จีนเขาดูแต่ของเถื่อนมากกว่าหรือเปล่า” ซึ่งตรงกันข้ามกันเลย ด้วยความที่ประเทศจีนเองก็มีผู้ให้บริการด้านเนื้อหาทางอินเตอร์เน็ตเจ้าใหญ่ๆ หลายเจ้า อย่างเช่น Youku, bilibil ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย เว็บไซต์เหล่านี้ยอมเปย์เงินหนักเพื่อซื้อสิทธิ์อนิเมะไปฉายในจีน ค้านกับภาพของคนนอกประเทศญี่ปุ่นที่คิดว่า คงมีเจ้าใหญ่แค่ Netflix หรือ Crunchyroll ที่กล้าลงทุนอะไรในฝั่งอนิเมะขนาดนั้น แต่ความจริง พี่จีนก็ทุ่มเทการเปย์ซื้อ LC อยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

แต่แน่ล่ะ บริษัทจีนก็คิดเห็นไม่ต่างกับบริษัทอื่นๆ (อย่าง Netflix หรือ Amazon) ที่สุดท้ายแล้วก็คิดว่าการเปย์เงินรัวๆ มันไม่ได้ยืนยันว่าคนดูจะมาดูเยอะ หลายเรื่องที่ทุ่มเงินไปแพงเพราะการเปิดตัวก่อนฉายดูดี แต่พอมาฉายจริงแล้วเจ๊งก็มีให้เห็นเป็นประจำ ด้วยการนี้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกจึงชะลอการซื้อสิทธิ์ Simulcast มันทุกเรื่องไป ถ้าเซฟตัวหน่อยก็จะพยายามเล็งซื้อ LC ที่สามารถทำตลาดต่อได้มากขึ้น ส่วนอีกทางหนึ่งก็คือ การลงทุนร่วมผลิตผลงานให้เป็นเนื้อหากึ่งๆ Exclusive มันเสียเลย

The Silver Guardians อนิเมะร่วมผลิตระหว่าง จีนกับญี่ปุ่น ที่มีฉายอยู่ในประเทศไทย

อย่างในฝั่งประเทศจีนนั้น ถึงจะมีคนดูอนิเมะญี่ปุ่นอยู่เยอะก็จริง ถึงกระนั้นรสนิยมของคนจีนก็แตกต่างจากคนญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนที่มีเงินพร้อมเปย์อยู่แล้ว (อย่าง Tencent) ก็จึงตัดสินใจที่จะโยกย้ายการเปย์มายังการสร้างผลงานที่ “คนดู(ชาวจีน)อยากดู” โดยการจับเอาอะไรก็ตามแต่ที่ดังอยู่แล้วในจีนไปสร้างเป็นอนิเมะ แล้ก้แน่นอนว่าบริษัทจีนไม่ได้คิดจะสร้างงานเอาใจคนดูในบ้านเกิดเท่านั้น พวกเขาก็คิดทำผลงานให้เผื่อขายนอกบ้านตัวเองได้ด้วย เพราะฉะนั้นงานอนิเมร่วมทุน/ร่วมผลิต ในยุคปัจจุบันจึงยังให้ทางญี่ปุ่นช่วยออกแบบและวางแผน รวมถึงตัวผลงานก็ยังถูกผลิตโดยทีมงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ (จึงเกิดการตั้งบริษัทอนิเมชั่นจีนสาขาประเทศญี่ปุ่นขึ้นหลายเจ้า) แล้วหลายๆ ครั้งก็มีการนำเอา อนิเมะร่วมทุน/ร่วมผลิต ไปฉายให้ชาวตะวันตกได้ดูกันโดยผ่านผู้ให้บริการอย่าง Crunchyroll เป็นต้น หรืออย่างในไทย ณ เวลานี้ ทาง DEX ก็นำเอาอนิเมะร่วมผลิตมาฉายทางเว็บไซต์รับชมอนิเมะออนไลน์ของพวกเขาอยู่

ประเทศจีนก็นิยมอิคคิวซังไม่แพ้บ้านเรา จนถึงขั้นร่วมทุนสร้างกับ Toei Animation เพื่อสร้างภาคใหม่สำหรับฉายในจีนโดยเฉพาะ

ในอดีตเราอาจจะไม่ค่อยเห็นภาพการผลิตงานแบบ ชิโนแจเปนนิส (Sino-Japanese) อย่างนี้เท่าใดนัก ตัวอย่างที่พอจะหาเจอในช่วงก่อนหน้านี้เล็กน้อยก็คงเป็นการร่วมมือของ Toei Animation กับทาง Shanghai Media Group และ Toonmax เพื่อสร้างอนิเมะยอดฮิตเรื่อง อิคคิวซัง เป็นภาพยนตร์ตอนพิเศษที่เจ้าหญิงจากจีนเดินทางมาประลองปัญญากับอิคคิวซัง และออกฉายในประเทศจีนไปในช่วงปี 2012

และถ้าบอกว่าประเทศจีนไร้ประสบการณ์ในการทำอนิเมะก็บอกได้ว่าไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะพวกเขาก็ทำอนิเมะออกฉายทั้งในแบบซีรี่ส์และภาพยนตร์เรื่อยๆ แบบที่เคยฉายในไทยก็มีเรื่อง Blazing Teen 3 ศึกชิงแชมป์โยโย่เพชร เป็นอาทิ

หรือถ้าอย่างอนิเมชั่นจากฝั่งฮ่องกงหลายคนก็น่าจะพอผ่านตาเรื่อง Old Master Q , เหล่าฟู่จื่อ, ลุงเชย 108 ฮา มาบ้างแล้วเช่นกัน

มาถึงตรงนี้แล้ว เราคงขีดเส้นให้ไม่ได้ว่าผลงานร่วมกันผลิตของประเทศจีนนี้จะยังพอเรียกคำว่า “อนิเมะ” ได้หรือไม่ แต่หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของการ์ตูนหลายๆ เรื่องเองนั้นก็เกิดจากการร่วมมือกันของหลายประเทศ ตัวอย่างที่พอจะหาเจอก็ดังเช่น อนิเมชั่นในอเมริกาช่วงยุค 1980-1990 อย่าง Thundercats, SilverHawks, G.I. Joe : A Real American Hero (ฉบับปี 1983-1986), My Little Pony : The Movie (ฉบับปี 1986) ฯลฯ  ก็เป็นการจ้างให้บริษัทญี่ปุ่นทำการผลิตอนิเมชั่นให้

ในเมื่อการร่วมกันสร้างไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด การที่คนดูจะลองเปิดใจรับชมการ์ตูนชิโนเจแปนนิสแล้วค่อยตัดสินผลงานที่ออกฉายจริงจึงน่าจะเป็นการเปิดกว้างแล้วก็ Make Sense กว่า เพราะอย่างไรเสียสำหรับคอการ์ตูนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็อยากจะถกถึงผลงานการ์ตูนที่สนุกและมีสไตล์น่าจดจำกันอยู่แล้ว และในอนาคตการสร้างอนิเมะแบบร่วมทุนระหว่างหลายประเทศก็จะมีมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

เรียบเรียงจาก : Answerman – Why Are There So Many Chinese Anime Co-Productions These Days?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*