Answerman : คำแปล/ซับไตเติ้ลนี้เพื่อใครหนอ ?

Share

Asiko ถาม :

ฉันสังเกตมานานแล้วว่าเวลาตัวละครในอนิเมะคุยกันเนี่ย คนแปลมักจะทับศัพท์คำบางคำที่ภาษาอังกฤษ (หรือภาษาไทยก็ตาม) มีคำที่แปลได้อยู่ ตัวอย่างแบบ ในเรื่อง นารูโตะ ที่คำแปลของพวก Jutsu ต่างๆ ในซับไตเติ้ลจะใช้ชื่อญี่ปุ่นแล้วมีคำแปลหรือคำอธิบายมาแปะไว้บนด้านบนของจอแทน (ในฉบับภาษาไทยแปลชื่อวิชาหรือคาถาเป็นไทยไปทั้งหมด) ทำไมคนแปลหรือคนทำซับถึงเลือกจะทำแบบนี้กัน ?

 

Answerman ตอบ :

สำหรับคนที่ดูอนิเมะแบบมีคำบรรยาย หรือ ซับไตเติ้ลจะพอเห็นได้ว่า คนแปลมือสมัครเล่น, กลุ่มแฟนซับ มักจะมีการแปลชื่อเฉพาะหรือคำอ่านให้ทับศัพท์เสียงภาษาญี่ปุ่น แล้วเพิ่มเชิงอรรถหรือคำบรรยายเข้าไปในหน้าจอเพื่ออธิบายคำศัพท์เหล่านั้น แต่สำหรับนักแปลมืออาชีพนั้นจะพยายามหลีกเลี่ยงการแปลที่จะต้องใส่เชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แน่นอนว่ามันอาจจะมีกรณีที่จะต้องใส่ลงไปจริงๆ แต่ก็จะสงวนไว้สำหรับส่วนที่มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องหลักเท่านั้น

(ตัวอย่างคลาสสิคของกรณีที่นักแปลมืออาชีพกับแฟนซับเคยถกกันในฝั่งบอร์ดฝรั่งก็ดังเช่น การแปลประโยค ‘Just As Keikaku’ โดยไม่ปรับเป็น  ‘Just As Planned (เป็นไปตามแผน)’ ตามที่คำศัพท์สามารถแปลได้ …ใช่ครับ คำพูดตอนที่ ยางามิ ไลท์ ในเรื่องเดธโน้ต ทำหน้ายิ้มชั่วๆ นั่นล่ะ เคยเป็นดราม่าครั้งใหญ่ในฝั่งฝรั่งมาแล้ว)

ดราม่าล่าสุดเกี่ยวกับคำแปลในบ้านเรา / ภาพจาก : https://pantip.com/topic/36452376

การถกเถียงประเด็นนี้มักจะเป็นดราม่ายิ่งใหญ่อลังการอยู่เสมอๆ แล้วตัวของผม (Answerman) ก็รู้สึกหน่ายมากที่จะมาถกกันเรื่องนี้ เพราะส่วนใหญ่คนที่จะมาดราม่ากันประเด็นนี้ก็มักจะกระโดดเข้ามาโลกไซเบอร์ด้วยอาการหัวร้อนเต็มสูบ แล้วบ่นทุกสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจด้วยความโมโห พยายามยกเหตุผลที่ผมเข้าไม่ถึง อีกมุมหนึ่งมันจะมีประเด็นกว้างๆ ประเด็นหนึ่งที่ถูกเหวี่ยงออกไปจากโจทย์ทุกครั้งที่มีการพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับการแปล

 

ประเด็นที่ว่าก็คือ : สรุปแล้วทำซับหรือคำแปลให้ใครอ่านกันแน่ ?

 

ประเด็นนี้อาจจะเป็นคำถามแปลกๆ ที่จะหยิบมาถกกัน แต่คำตอบของคำถามนี้จะช่วยตอบทุกประเด็นที่คนเถียงกันในเน็ตว่า “ทำไมทำแบบนี้” หรือ “วิธีของฉ้นเจ๋งกว่า” นั่นก็เพราะ นักแปล ถือว่าเป็นงานของผู้มีความสามารถสองภาษาที่ทำงานตามการว่าจ้าง แล้วภาษาญี่ปุ่นนั้นก็มีโครงสร้างลักษณะของภาษาและบริบทในการใช้งานที่แตกต่างจากภาษาอังกฤษที่คนทั่วโลกสามารถแปลและเข้าถึงได้ง่ายกว่า และการเป็นนักแปลนั้นก็ถือว่าเป็นลูกจ้างไม่ต่างกับอาชีพอื่นๆ ที่จะต้องทำงาน (การแปล) ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ว่าจ้างคาดหวังด้วย

ความวุ่นวายเล็กๆ ของการแบ่งระดับขั้นของการใช้คำเรียกในภาษาญี่ปุ่น / ภาพจาก – http://goinjapanesque.com/honorific/

กลุ่มเป้าหมาย หรือ คนดู ที่กล่าวถึงก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอีกเช่นกัน ในกรณีของอเมริกานั้นช่วงยุค 90 เป็นช่วงที่อนิเมะยังใหม่มาก คนดูส่วนมากยังไม่เข้าใจว่า -จัง, -คุง หรือ -ซามะ ที่ใช้ต่อท้ายชื่อตัวละครต่างๆ มีความหมายว่าอะไรกันแน่ คนดูในยุคนั้นส่วนมากยังอ่านออกเสียงภาษาญี่ปุ่นง่ายๆ อย่าง “Jutsu (จุต-สึ)”ไม่ถูกเลย และที่สำหรับกว่านั้น เมื่อคนเข้าได้ประจันหน้ากับเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชิน คนเราก็มักจะไม่ตอบสนองด้วยความรู้สึกดีๆ เท่าไหร่ ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็ ถ้าคุณเดินไปเจอคนที่ไม่คุ้นเคย คุณก็คงต้องมีท่าทีระมัดระวังตัวและปฏิเสธคนแปลกหน้าเหล่านั้นก่อน

การเปลี่ยนแปลงชื่อตัวละครให้เหมาะกับวัฒนธรรมอเมริกา แม้ในปัจจุบันจะลดลงแต่ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่ เช่น โดราเอม่อน ที่ถูกเปลี่ยนชื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

ผม (Answerman) เคยไปรับชมภาพยนตร์อนิเมะกับผู้ชมที่มีอายุมากกว่านับครั้งไม่ถ้วน และความเห็นของพวกเขาเกี่ยวกับหนังก็มักจะมีมุมมองในเชิงต่อต้าน อย่างนักวิจารณ์ภาพยนตร์มืออาชีพจะตั้งคำถามเกี่ยวกับอนิเมะของทางสตูดิโอจิบลิว่า “ฉันน่าจะไม่เข้าใจประเด็นวัฒนธรรมในหนังสักแห่ง” แล้วก็จะหาเหตุผลงี่เง่ามาอ้างในการพูดคุยจนไม่กลับไปสนใจว่า ธีม หรือ นัยยะ ที่ตัวภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนั้นจะสื่อออกมาจริงๆ เป็นอย่างไร ก็เลยเป็นเหตุผลที่ในช่วงยุค 90 อนิเมะ (รวมถึงเกม)  ที่ออกขายในอเมริกา มักจะถูกปฏิบัติอย่างเกินเลยไปมาก อย่างเช่น ตัดเครดิตผู้สร้างชาวญี่ปุ่นออกจากหนังไป, ตัดฉากที่ดู “ต่างช๊าติต่างชาติ” ไป, แปลงชื่อตัวละครให้ดูฝรั่งมากขึ้น ซึ่งผู้จัดจำหน่ายในยุคนั้นก็ต้องพยายามเบนประเด็นที่จะทำให้คนดูเขวไปจากเนื้อหาหลักของอนิเมะเรื่องนี้ออกไป เพื่อให้คนดู ณ ยุคนั้นเปิดใจรับชมกัน

ไม่ใช่แค่การ์ตูนเท่านั้น แม้แต่เกมที่จำหน่ายในอเมริกาอเมริกาเคยไปไกลถึงขั้นที่เปลี่ยนตัวละครให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมตัวเอง ในภาพนี้เป็นตัวอย่างจากเกม Persona ภาคแรกที่เทียบฉบับญี่ปุ่นกับอเมริกา / ภาพจาก Youtube Channel : Censored Gaming

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล็กน้อยแต่ส่งผลมหาศาล อันเกิดจากมุมมองต่อเรื่องใหม่ที่ไม่เข้าใจ อย่างคนมีอายุสักหน่อย พอได้อ่านหรือเจออะไรที่ไม่เข้าใจก็มักจะไม่พยายามตีความว่าเรื่องราวแท้จริงเป็นอย่างไรแต่จะหงุดหงิดโมโหกับความไม่รู้นั้นไปแทน ความคิดแบบนี้ทำให้พวกเขาไม่สนใจเรื่องราวจริงๆ ที่เสนออยู่ภายในเรื่อง แล้วก็ขึ้นอยู่กับความหวาดระแวงของแต่ละบุคคลที่อาจจะนำพาไปถึงจุดที่คิดขึ้นมาว่า “รายการโง่ๆ แบบนี้จะดูไปทำไมให้เสียเวลา” ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยเสียยิ่งกว่าบ่อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในฝั่งการ์ตูนกับอนิเมะ ที่พอผู้ใหญ่รับชมจนถึงระดับที่ไม่สามารถทำความเข้าใจเนื้อเรื่อง พวกเขาก็จะถอยหนีจากมัน แล้วถ้าเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยล่ะก็จะยิ่งเห็นสื่อพวกนี้เป็นสิ่งอันตรายแล้วห้ามปรามไม่ให้ลูกหลานได้รับชมด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่แบ่งแยกกลุ่มแฟนอนิเมะโดยเฉพาะกลุ่มแฟนแบบฮาร์ดคอร์ กับ “คนทั่วไป” ก็คือ การที่คนทั่วไปจะไม่คุ้นเคยเรื่องบางอย่างในอนิเมะหรือจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากนัก ทำให้ฝั่งนักแปลอาชีพหรือฝั่งคนทำงานในธุรกิจการ์ตูนกับอนิเมะต้องตอบสนองความอยากทำความเข้าใจของคนทั่วไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วก็แน่นอนว่ากลุ่มแฟนอนิเมะก็จะต้องทำแฟนซับออกมา ซึ่งแฟนซับส่วนใหญ่ก็จะถูกกลุ่มแฟนอุทิศตนในการแปลออกมา แล้วก็จะมีการพยายามแปะเชิงอรรถอธิบายทั่วไปพร้อมทั้งความหมายแฝงที่ถูกซ่อนเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะพวกเขาทำการแปลเพื่อให้กลุ่มแฟนๆ ดู ซึ่งแฟนๆ ที่ดูก็จะเป็นคนที่มีความรู้เรื่องอนิเมะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่บ้าง รวมไปถึงว่ากลุ่มแฟนกลุ่มนี้ต้องการรับประสบการณ์ที่ “บริสุทธิ์” ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เช่นกัน และกลุ่มผู้รับสื่อกลุ่มแฟนนี้จะเป็นกลุ่มคนที่อยากรับรู้เรื่องที่ทำให้พวกเขาเข้าใจอนิเมะกับประเทศญี่ปุ่น

วนกลับมาคุยเรื่อง นักแปลมืออาชีพ ผู้ที่เป็นนักแปลมืออาชีพจะไม่สามารถทำผลงานให้เหมือนกับฝั่งแฟนซับ เนื่องจากพวกเขาต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ชมทั่วไปที่มีมากกว่า การแปลและคำแปลของพวกเขาจึงต้องคำนึงผู้ชมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ : ไม่ว่าจะ เด็กๆ หรือ คนแก่, คนที่พร้อมเรียนรู้ กับ คนที่ไม่คิดจะรับรู้อะไรเพิ่ม, จะโอทาคุ หรือ ชนชั้นแรงงาน ก็ตามที ถึงยุคนี้จะมีโอทาคุจำนวนมากอยู่ในสังคมแล้ว แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีความสนใจในประเทศญี่ปุ่นแม้แต่นิดเดียว, มีคนที่ได้ลองกินซูชิสไตล์ฟิวชั่นแล้วชอบมันมากกว่าซูชิแนวต้นตำหรับ แล้วก็ยังมีคนที่แยกไม่ออกว่าภาษาญี่ปุ่นต่างกับจีน, เกาหลี หรือภาษาอื่นๆ ในทวีปเอเซียอย่างไรด้วย

ตัวอย่างการแปลแบบไม่แคร์ปริบท ที่คนอ่านคงรู้สึกขัดๆ ที่ตัวละครยุคสามก๊กพูดจาเฮ้วซ่าขนาดนี้

นักแปลมืออาชีพจึงต้องทำการแปลเพื่อกลุ่มคนจำนวนมากที่กล่าวถึง ซึ่งนั่นหมายถึงการลดกำแพงทางวัฒนธรรมลงให้มากที่ด้วยการแปลทุกสิ่งอย่างในอนิเมะหรือการ์ตูนเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คำลงท้ายชื่อเอย, มุกทางภาษาต่างๆ เอย, เรื่องที่ไม่จำเป็นต้องแปลเอย, การตัดการแปลบางคำออกไปเนื่องจากภาษาที่แปลไม่ได้มีวัฒนธรรมการใช้คำแบบนั้น (อย่างที่ภาษาญี่ปุ่นมีสรรพนามบุรุษที่ 1 หลากหลายแบบ และมีการแบ่งระดับการใช้ภาษามากชั้นกว่าหลายๆ ภาษา), การแปลงคำแปลบางส่วนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมปลายทาง (อาทิ การแปลสำนวนญี่ปุ่นมาเป็นสำนวนภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงกัน) หรือ ถ้าเนื้อเรื่องไม่ได้อยู่ในยุคปัจจุันก็อาจจะต้องแปลให้มีปริบที่ตรงกับช่วงเวลาของเนื้อเรื่องและทำให้คนอ่านในปัจจุบันเข้าใจ

นักแปลมืออาชีพจะต้องทำงานให้ดีที่สุดเพื่อให้คำแปลสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากที่สุดแต่ก็ยังไม่เสียเนื้อหาเดิมของตัวอนิเมะหรือการ์ตูนต้นฉบับเอาไว้ได้ แน่นอนว่าการแปลแบบนี้บางครั้งอาจจะออกมาถื่อๆ บื้อๆ ไปบ้าง (อย่างเช่นซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษที่จะเรียกตัวละครห้วนกว่าภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาไทย) ซึ่งการทำงานแบบนี้มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งต้องอาศัยทั้งทักษะการแปลของนักแปล, ความซับซ้อนของอนิเมะที่แปล (อย่างการแปลการ์ตูนเด็กๆ แบบ โปเกม่อน ย่อมง่ายกว่าการ์ตูนซับซ้อนแบบ หงสาจอมราชันย์) และหลายๆ ครั้งก็ต้องพึ่งพาดวงด้วยว่าคำแปลที่แปลออกไปนี้จะถูกใจผู้คนหรือเปล่า

(นอกจากนี้ก็ต้องให้เครดิตคนที่ทำงานต่อจากนักแปล อย่าง คนเคาะซับ, คนตรวจซับ, คนตรวจหนังก่อนออกฉาย หรือ กองบรรณาธิการ (ในกรณีหนังสือการ์ตูน) เพราะกลุ่มคนนี้จะเป็นกำแพงด่านสุดท้ายก่อนที่คำแปลจะหลุดสู่สายตาของลูกค้าจำนวนมาก  และหลายๆ ครั้งการปรับแก้ให้ทุกฝ่ายพอใจก็เกิดจากคนกลุ่มนี้ด้วย)

ขอบคุณโลกนี้ที่มี Google / ภาพจาก – http://andrewjameson.com/

กระนั้นเรื่องทัศนคติของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ก็ไม่ได้แย่แบบถาวรไปเสียทีเดียว อย่างในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้ คนดูก็ปรับตัวมากขึ้นไม่ได้เอาแต่หงุดหงิดที่ไม่เข้าใจแล้วปิดใจไม่ดูรายการที่ตัวเองไม่เก็ต เพราะในยุคนี้คนที่ดูที่รู้สึกไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมที่แตกต่างก็สามารถโทรศัพท์ไปหาเพื่อนที่รู้เรื่อง, ตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ด หรือหารายละเอียดเพิ่มเติมจาก Google ได้ด้วย ซึ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจสำหรับคนที่อยากเผยแพร่อนิเมะให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่คนส่วนมากสังเกตเห็น แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง อย่างสมัยนี้ซีรี่ส์ทั้งของอเมริกาหรือของประเทศไทยนั้นดำเนินเรื่องที่ซับซ้อนต่อเนื่องยาวๆ จนอาจจะมี “จักรวาล” ของตัวเรื่องเอง พอคนดูเข้าใจความซับซ้อนได้มากขึ้นและสามารถหาข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ได้ และเมื่้อคนดู (โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่หรือคนที่หัดใช้ Google จนเป็นกิจวัตรปกติ) รู้สึกว่าสามารถหาข้อมูลหรือมีคนพร้อมป้อนข้อมูลให้ พวกเขาก็จะไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องหงุดหงิดแบบสมัยก่อน แล้วพร้อมเปิดใจดูอะไรแปลกใหม่จนทำให้เรื่องราวแนวนั้นฮิตขึ้นมาเป็นกระแสปกติไปในที่สุด (ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ภาพยนตร์ของ Marvel) ซึ่งอนิเมะและการ์ตูนรวมถึงเกมก็เป็นที่นิยมมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย

และแน่นอนว่าแฟนพันธ์แท้ แฟนเดนตาย รวมถึงกลุ่มแฟนซับ และนักแปลมืออาชีพ ทั้งหมดก็มีส่วนในการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราพูดถึง รวมไปถึงการเรื่องต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนการอ่านให้เป็นแบบญี่ปุ่น, ระบบ Google Translate ที่แม้จะแปลห่วยแต่ก็ทำให้มีการหาข้อมูลต่างๆ ง่ายขึ้น รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วง 15- 20 ปีนี้ที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้จนถึงขนาดนี้ ทำให้ การ์ตูน อนิเมะ และเกม ที่เคยเป็นสังคมกลุ่มเล็กๆ และน่ารำคาญสำหรับคนทั่วไปกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้น และมีคนพยายามทำความเข้าใจมากขึ้น แม้แต่มือใหม่ในโลกฝั่งโอทาคุก็สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่เยี่ยมอยู่ทีเดียว

ภาพจาก Facebook Fanpage : M Pictures

ทั้งนี้ นักแปลมืออาชีพ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำอนิเมะหรือการ์ตูนลิขสิทธิ์ นั้นแม้ว่าจะมีความรู้ ความติ่ง หรือความโอทาคุไม่แพ้ฝั่งแฟนซับ แต่ด้วยข้อจำกัดในการทำงานก็จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่อาจจะทำการแปลแล้วลงรายละเอียดระดับที่แฟนซับทำได้ (แล้วถ้าว่ากันตรงๆ หลายครั้งฝั่งแฟนซับก็ใส่มาจนเยอะเกินงามไปหน่อย) อย่างที่กล่าวไปขั้นต้นว่าพวกเขาต้องเผื่อที่ให้คนดูกลุ่มใหญ่ และจะพึ่งพาเอาพลังโอทาคุแบบเต็มกำลังก็คงจะไม่ได้ เพราะพวกเขาต้องนำเสนอให้กระแสหลักยังรู้สึกเข้ามาดูได้ด้วย (ตัวอย่างเช่น การขายภาพยนตร์ของ ชินไค มาโคโตะ ด้วย ‘ความเหงา’ แทนที่จะบอกเล่าว่าชินไคเก่งกาจในด้านไหน เพราะคนเข้าใจเรื่องเหงาใจอยากมีรักได้ง่ายกว่า) กระนั้น เหล่าคนทำงานมืออาชีพในยุคนี้่ก็สามารถปล่อยความโอทาคุหรือความติ่งทิ้งไว้ในงานมากขึ้น (อย่างเช่น ในยุคนี้จะการ์ตูนหรืออนิเมะ สามารถทับศัพท์คำว่า ซึนเดเระ, ยันเดเระ ฯลฯ ไว้ในคำแปลได้โดยไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่ม) ทั้งหมดนั่นก็เพราะว่าเป็นความต้องการของที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคนั่นเอง

 

เรียบเรียงจาก : Answerman – Who Are Subtitles Written For?

1 Comment on Answerman : คำแปล/ซับไตเติ้ลนี้เพื่อใครหนอ ?

  1. เป็นบทความที่เสียเวลาชีวิตในการอ่านมาก
    รู้สึกถึงแต่การแสดงทัศนคติในด้านลบ
    และมีข้อแก้ตัวที่โทษไปที่คนดูเต็มไปหมด
    ปล่อยให้บทความแบบนี้ออกมาคิดว่าดีแล้วหรือ?

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*