Answerman – การคลุมถุงชนยังเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่นหรือเปล่า

Share

Jacob ถาม:

ฉันเพิ่งดู Aggretsuko ซีซั่นที่สอง ที่พาฉันไปสู่โลกของการแต่งงานและมุมมองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ฉันค่อนข้างประหลาดใจทีเดียวที่เห็นมุมมองของคนหนุ่มสาวกับคนรุ่นเก่าที่มีมุมมองที่แตกต่างกันจนเกือบจะไม่เห็นหัวกัน อย่างหนึ่งที่ฉันคิดว่ารู้สึกแปลก ก็คือเรื่องที่แม่ของ Retsuko พยายามจับคู่คลุมถุงชนให้กับลูำกสาวของเธอโดยไม่สนใจความเห็นใดๆ แถมยังบอกลูกสาววัย 25 ปี ว่าเธอควรจะหาผู้ชายดีๆ มาแต่งงานด้วยก่อนที่จะสายเกินไป ในฐานะคนยุคมิลเลนเนียล ความคิดที่จะต้องแต่งงานตอนอายุ 25 ปี มันออกจะมากไปหน่อยนะ ลองคิดดูว่าหลายๆ คนเพิ่งเรียบจบมหาวิทยาลัย แล้วยังไม่ได้เริ่มใช้ชีวิตอะไร พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นนี่มักจะกดดันให้ลูกๆ รีบแต่งงานงั้นเหรอ? แล้วการหาคู่กับการคลุมถุงชนยังเป็นเรื่องปกติอยู่หรือเปล่า? แล้วคนหนุ่มสาวก็ไหลตามคนหมู่มากงั้นเหรอ?

 

Answerman ตอบ:

เพราะนี่เป็นวิถีชีวิตของชาวเอเซีย

ภาพจาก – TheVerge

ต้องเข้าใจก่อนว่า ครอบครัวชาวเอเซียนั้น พ่อแม่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตของลูกๆ มากกว่าครอบครัวชาวตะวันตก โดยเฉพาะฝั่งแม่ ที่มีสิทธิ์ในการกุมชีวิตของลูกที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่เสียด้วยซ้ำ ซึ่งอิทธิพลที่ว่าก็นับตั้งแต่ สิทธิ์ในการเลือกเรียน เลือกงาน และยังพาลครอบคลุมไปถึงเรื่องการคบหาแฟน กับ การแต่งงานอีกด้วย ตามแนวคิดของคนเอเซียอยากจะให้ลูกที่เป็นเชื้อสายตรง ไปแต่งงานสร้างทายาท แล้วก็พยายามหาคู่ครองดีๆ ไปแต่งงาน ในเวลาที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่ทำได้ จริงอยู่ว่าทุกครอบครัวอาจจะไม่ใช่แบบนี้ แต่เป็นแนวคิดและวัฒนธรรมของคนเอเซียที่การแต่งงานสร้างทายาทเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่ง

ส่วนประเด็นว่า ‘การคลุมถุงชน’ ในญี่ปุ่นนั้นยังเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ถ้าตอบในแง่ภาพรวม ก็ต้องบอกว่า ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ยิ่งถ้ามองลึกลงในเชิงรายละเอียดนั้นภาวะคลุมถุงชนของญี่ปุ่นนั้นยังถือว่าอ่อนโยนกว่าอีกหลายๆ ประเทศที่มีความเคร่งครัดและบีบคั้นให้ลูกๆ ต้องรีบแต่งงานระดับที่เกิดการส่งลูกเข้าเรือนหอแถมเติมด้วยเงินแบบในบางประเทศด้วยซ้ำ

กิจกรรมอย่างที่ปรากฎในอนิเมะ Aggretsuko นั้นออกจะเป็นการ Miai (見合い) หรือ Omiai (お見合い) ซึ่งในภาษาไทยจะมีคำว่า ‘การดูตัว’ ที่เป็นคำแปลสอดคล้องกับกิจกรรมนี้ แต่ในหลายๆ ภาษา อาจจะแปลทั้งสองคำนี้เป็นคำว่า ‘คลุมถุงชน’ ที่ดูมีความหมายแรงกว่าไป

 

ประวัติและที่มาของ ‘การดูตัว’

การดูตัว แบบญี่ปุ่นนั้น จริงๆ แล้วออกจะเป็นเหมือนบริหารหาคู่เสียมากกว่า เพราะกิจกรรมนี้มักจะต้องทำผ่านตัวกลางที่เรียกว่า Nakado (仲人) ที่มักจะมีคอนเนคชั่นระหว่างครอบครัวที่สนใจอยากให้ลูกหลานหาคู่แต่งงานที่เหมาะสม แล้วก็นัดแนะเวลามาพบปะชิทแชทกัน กระนั้นทั้งสองคนจะลงเอยกันหรือไม่นั้นก็สุดแล้วแต่ชายหนุ่มกับหญิงสาว และแน่นอนว่าการดูตัวแบบไม่ต้องมี Nakado ก็เป็นไปได้เช่นกัน อย่างที่เราเห็นกันใน Aggretsuko ซีซั่นที่สอง ที่แม่ของ Retsuko จัดการเกือบจะทุกอย่างนั่นล่ะ

การดูตัว ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ในญี่ปุ่น ตามที่พอหาบันทึกกันได้มีการพบว่า การดูตัว นั้นเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 เดิมทีแล้วจะจัดขึ้นในกลุ่มชนชั้นซามูไร หรือ ขุนนาง (หรือเป็นการดูตัวเพื่อแต่งงานทางการเมืองนั่นเอง) ก่อนที่วัฒนธรรมนี้จะแพร่มาสู่ประชาชนทั่วไปและในปัจจุบันนั้นก็ถือว่ามีการจัดขึ้นน้อยลงมากกว่าสมัยก่อน นับตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่อิทธิพลของชาติตะวันตกเข้ามาถึงญี่ปุ่น ทำให้การเลือกคู่ชีวิตแบบสมัครใจมีมากขึ้นเรื่อยๆ

กล่าวกันว่าในช่วงยุค 1940 การแต่งงานกว่า 70% ของญี่ปุ่นนำพามาจากการดูตัว แต่ในปัจจุบันนี้เชื่อกันว่ายอดการแต่งงานจากการดูตัวนั้นมีอยู่แค่ราวๆ 6% เท่านั้น และที่ยังพอจะเห็นได้เยอะก็จะเป็นพื้นที่ห่างไกล ซึ่งยังยึดถือคติธรรมจากยุคเก่าอย่างเข้มแข็งอยู่

แต่เราจะได้เห็นการดูตัว ผ่านอนิเมะ ละครซีรีส์ หรือ ภาพยนตร์ อยู่บ่อยๆ เพราะว่าเรื่องราวแบบนี้มักจะเป็นการเปิดปมปัญหาระหว่าง ลูก กับ พ่อแม่ ได้ดี อย่างที่เราเห็นกันในเรื่อง Aggretsuko ซีซั่นที่สอง หรือถ้าเอางานคลาสสิกหน่อยก็จะเป็น Maison Ikkoku

และในปัจจุบันนี้การแต่งงานในญี่ปุ่นเองก็มีความเปลี่ยนแปลงไปไม่ต่างจากที่อื่นบนโลก คนแต่งงานกันช้าลง พ่อแม่ที่แก่ตัวลงก็มักจะเร่งเร้าให้รีบแต่งบงานเสีย ก่อนที่จะถึงภาวะ ‘รถด่วนขบวนสุดท้าย’ ที่ไม่มีใครเอา แต่ในทางกลับกัน หลายคนก็ไม่อยากจะแต่งงาน ถ้าในกรณีของฝ่ายหญิงมักจะมีมูลเหตุมาจาก การแต่งงานนั้นจะนำพาไปสู่การมีลูก ที่ทำให้สาวทำงานต้องกลายมาเป็นแม่บ้านเต็มเวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้ (ส่วนหนึ่งมาจากบริการพื้นฐานของรัฐไม่ค่อยสนับสนุนพ่อแม่วัยทำงานเท่าใดนัก และการทำงานในญี่ปุ่นก็ยังติดอยู่ในวัฒนธรรมที่่ต้องใช้เวลาเพื่อบริษัทอย่างมาก จึงเป็นไปได้ยากที่พ่อแม่วัยทำงานจะทำหน้าที่สองฟากฝั่งได้อย่างสมบูรณ์)

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่อาจจะทำให้ ‘การดูตัว’ กลับมาป๊อปอีกครั้งในญี่ปุ่น

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการทารกถือกำเนิดใหม่น้อยลง และยังมีรายงานที่ระบุว่าคนหนุ่มสาวของญี่ปุ่นมีความกระหายต่อเพศสัมพันธ์ลดลง (อ้างอิงจากรายงานการศึกษาในช่วงนี้ ระบุว่า 25% ของคนในช่วงอายุ 18-39 ทั้งเพศกำเนิดหญิงและชาย ได้ระบุว่าพวกเขายังบริสุทธิ์อยู่ และมีแนวโน้มที่ตัวเลขนี้จะพุ่งมากขึ้น) ระดับที่นักข่าวนักเขียนหลายๆ คน ทำการปรามาสของหนัง AV กับ งานสำหรับโอทาคุทั้งหลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ความกระสันนั้นเบาบางลงไปจากยุคก่อน บางท่านยังประณามยาวไปถึงอุปกรณ์หลายชนิดที่ทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์น้อยลง ทั้งนี้ในด้านการติติงส่วนนี้นั้นไม่มีตัวหลักฐานชัดเจนนัก ดังนั้นให้ถือว่าเป็นแค่เรื่องราวของสื่อบางสำนักที่พยายามหาอะไรให้มีประเด็นเสียมากกว่า

และเหตุการณ์ข้างต้นนี้ก็ทำให้ การดูตัว ได้รับความสนใจมากขึ้น แม้ว่ายุคนี้จะมีแอพพลิเคชั่นหาคู่เพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ต้องยอมรับว่าผลการหาคู่ผ่านบริการออนไลน์นั้นให้ผลไม่ประทับใจเท่าใดนัก (โดยส่วนใหญ่กลายเป็น ‘แอพนัดยิ้ม’ เสียมากกว่า) และด้วยความเป็นคนญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมฝังรากแน่น แอพพลิเคชั่นพวกนี้ก็เลยพาลไม่ฮิตไปด้วย แต่กลับมีบริการอย่าง Speed Dating ที่มักจะนัดชายหญิงจำนวนมากมาสนทนากันในเวลาสั้นๆ (อย่างที่ปรากฎใน Aggretsuko ซีซั่นที่สอง) และมีอาชีพอย่างนักหาคู่ดูตัว อย่าง Kekkon Katsudo (結婚活動) หรือ Konkatsu (婚活 – แปลตรงตัวว่า ‘นักจับคู่’) ได้รับความนิยม ในช่วงเวลาภายหลังนี้ และผู้ใช้บริการก็มักจะเป็นกลุ่มคนที่อายุเข้าหลักสามหลักสี่แล้ว

ทั้งนี้เราของลงท้ายด้วย ข้อมูลอายุเฉลี่ยของแต่งงานในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2013 ซึ่งอยู่ที่ 30.1 ปี และแนวโน้มในอนาคตอายุเฉลี่ยนี้ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นการต่อไป

เรียบเรียงจาก: Answerman – Do Arranged Marriages Still Happen In Japan?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*