Answerman – พิมพ์เล่มจริง, ลง E-Book, ไม่ก็ขายทั้งสองแบบ อะไรที่ทำให้สำนักพิมพ์ตัดสินใจเลือกทำแบบนั้น

Share

คำถาม:

สำนักพิมพ์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจว่า มังงะเรื่องนี้พิมพ์แบบเล่ม, เรื่องนี้มีแค่ E-Book แล้วบางเรื่องก็ขายแค่ E-Book กับแบบเล่ม ฉันเข้าใจว่าการออกขายแบบ E-Book ใช้ต้นทุนน้อยว่า เลยมีมังงะบางเรื่องที่เจ๊งแน่ถ้าพิมพ์เล่มเลือกมาตีพิมพ์แบบดิจิตอลอย่างเดียว แต่ว่ามีปัจจัยอะไรกันแน่ที่ตัดสินใจในการเลือกเหล่านั้นล่ะ ? อย่างตอนนี้ก็ที่อยากจะเก็บ E-Book ของ Full Metal Alchemist แขนกลคนแปรธาตุ กับ เจ้าสาวเส้นทางสายไหม ของ อาจารย์โมริ คาโอริ แต่ว่าดันมีขายแต่แบบเล่มจริงแบบเดียวเนี่ยสิ

คำตอบ:

เนื่องจากสำนักพิมพ์ต่างๆ คงไม่น่าจะตอบทางเราแบบตรงๆ เกี่ยว ปัจจัยที่แท้จริงที่พวกเขาใช้ในการเลือกว่าจะพิมพ์แค่แบบเล่ม หรือจะลงแค่ E-Book เพราะแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะมีนโยบายส่วนตัวที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเราจะขอพูดถึงเรื่องเหล่านี้โดยภาพรวมจากข้อมูลที่พอจะรับทราบอยู่บ้างให้ฟังกัน

โดยหลักการทำงานลิขสิทธิ์แล้วมีปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดขั้นต้นได้ว่า มังงะลิขสิทธิ์แต่ละเรื่องจะออกตีพิมพ์แบบไหนได้บ้าง ปัจจัยนั้นก็คือ 1- สำนักพิมพ์ที่จัดทำนั้นจัดกลุ่มของเรื่องที่จะพิมพ์ไว้แบบไหน โดยอ้างอิงจาก ยอดขาย / กระแสความนิยม / อัตราการทำกำไร ของมังงะแต่ละเรื่อง กับ 2- ต้นสังกัด/เจ้าของลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นอนุญาตให้จัดทำแบบไหนบ้าง

ถ้าคุณติดตามข่าวสารวงการอนิเมะ หรืออ่าน Answerman มาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าการจัดทำผลงานแบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอนิเมะหรือมังงะ จะสามารถจัดทำได้เร็วกว่า และลดความเสี่ยงในการลงทุนเพิ่มด้านการตีพิมพ์, การจัดส่งไปหน้าร้าน และการเก็บสต็อค อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจัดทำในรูปแบบเล่มจริงหรือแบบดิจิตอล ก็ยังมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากอยู่ดี ทั้ง ค่าแปล, ค่าแต่งภาพ, ค่ากำไรขั้นต้น หรือค่า GP, ค่าการตลาด และแน่นอนว่าต้องมี ค่าลิขสิทธิ์ ด้วย

เพราะฉะนั้นการทำงานแบบดิจิตอลก็ไม่ใช่งานฟรีๆ แบบที่บางท่านเข้าใจ และการจัดจำหน่ายแบบดิจิตอลเองก็มีความยากลำบากในอีกรูปลักษณ์หนึ่ง กระนั้นการวางจำหน่ายแบบดิจิตอลก็เป็นตัวหยั่งความนิยมของผลงานมังงะจากคนอ่านได้ดี เมื่อพบว่ามังงะเรื่องไหนขายในแบบ E-Book ได้ดี เรื่องเหล่านั้นก็จะมีโอกาสได้ตีพิมพ์แบบเล่มพิมพ์สูงด้วย

วิบูลย์กิจเป็นสำนักพิมพ์ในไทยที่รุกตลาด E-Book หนักหน่วง ทั้งการนำเอาผลงานเก่าๆ จับมาลงในแบบดิจิตอล / ผลงานที่ตีพิมพ์ทั้งแบบเล่มและแบบดิจิตอล และ ผลงาน Simul-Pub ที่ลงแบบ E-Book ก่อน

กรณีตัวอย่างที่น่าจะยกให้เห็นภาพได้ดีสำหรับประเทศไทยก็คงไม่พ้นผลงานมังงะที่จัดทำโดย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ซึ่งผู้อ่านสามารถสังเกตได้ว่า ตัวมังงะที่ขึ้นลิสทืเป็น ‘เรื่องขายดี’ บนบริการจำหน่ายหนังสือดิจิตอลต่างๆ อย่างเรื่อง Q.E.D. / C.M.B / My Home Hero / ถล่มเรือนอสูรโซโบเท ล้วนแล้วแต่ออกเล่มพิมพ์อย้างต่อเนื่องคู่กับฝั่งดิจิตอลมาโดยตลอด หรืออาจจะมีบ้างที่ออกตัวเล่มพิมพ์ช้า แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นลงแค่ E-Book เพียวๆ อย่างเรื่อง เมื่อวานเจ๊ทำอะไร นอกจากนี้ยังมีมังงะเรื่องดังๆ ที่ลงตีพิมพ์ในแบบ E-Book ก่อนและเป็นการพิมพ์ที่่ตามหลังต้นฉบับญี่ปุ่นไม่นานมากนัก อย่างเรื่อง Eden’s Zero ของอาจารย์มาชิมะ ฮิโระ เป็นอาทิ

วิบูลย์กิจยังประกาศว่า มีมังงะส่วนหนึ่งที่จะวางจำหน่ายในรูปแบบ E-Book เพียงอย่างเดียว แต่งานเหล่านั้นมักจะเป็นผลงานเก่า อาทิ ผลงานของ อ. เทะสึกะ โอซามุ หรือ เมจิคไนท์เรย์เอิร์ท ของ CLAMP ซึ่งก็พอเข้าใจได้อยู่ว่างานเหล่านี้ถ้าออกเล่มพิมพ์มาก็อาจจะขายไม่ได้มากเท่าใดนัก ส่วนในกรณีของมังงะใหม่ที่วางจำหน่ายแค่ E-Book เท่านั้น ในฝั่งฉบับภาษาไทยเราก็พอมีตัวอย่างอยู่บ้าง อย่างเช่น มังงะโชโจของทาง Harlequin Comics ที่จัดทำฉบับภาษาไทยจำหน่ายเป็น E-Book ผ่านทาง Amazon และ Google Store และช่องทางอื่นๆ

นอกจากวิบูลย์กิจแล้ว สำนักพิมพ์อื่นๆ ยังถือว่าจัดทำ E-Book จำนวนน้อยกว่า (ฝั่งบงกชทำเยอะเป็นจำนวนรองมา แต่ก็ยังถือว่าน้อยหากเทียบกับสัดส่วนเรื่องดังๆ ที่บงกชถือสิทธิ์อยู่) และก็มีบางเรื่องของทางวิบูลย์กิจเองที่ประกาศออกมาชัดเจนว่า จะมีแค่เล่มพิมพ์โดยไม่มีการลง E-Book หรือเรื่องดังที่อยู่ในส่วนคำถามอย่าง Full Metal Alchemist แขนกลคนแปรธาตุ กับ เจ้าสาวเส้นทางสายไหม ก็ยังมีจำหน่ายแต่รูปแบบเล่มพิมพ์เท่านั้น

ซึ่งนั่นก็นำทุกท่านมาสู่คำอธิบายของคำถามที่ว่า ‘ทำไมมังงะหลายเรื่องยังไม่ยอมทำ E-Book ฉบับภาษาท้องถิ่น’ เหตุผลหลักๆ ของการไม่ปรับมาสู่โลกดิจิตอลนี้ ส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของบริษัทเจ้าของสิทธิ์กับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ หรือที่สำนักพิมพ์หลายๆ แห่งจะตอบรวมๆ ด้วยคำว่า ‘เจ้าของลิขสิทธ์ไม่อนุญาต’ แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ที่เจ้าของผลงานเองที่เป็นคนส่งสัญญาณไม่โอเคที่จะขายในรูปแบบ E-Book ซึ่งพอจะบอกเหตุผลได้สองข้อ นั่นคือ 1- ความกลัวที่จะถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้โดยง่าย และ 2- เจ้าของผลงานต้องการให้นำเสนอชิ้นงานของพวกเขาในสื่อรูปแบบที่พวกเขาต้องการ ซึ่งนั่นก็คือการออกเล่มพิมพ์จริงนั่นเอง

มังงะจากฝั่ง Harlequinn ที่ดัดแปลงจากนิยายของอเมริกา ซึ่งมาทำตลาดด้วยการแปลภาษาไทย แต่ถูกนำไฟล์ไปลงจำหน่ายแบบละเมิดลิขสิทธิ์

ความต้องการที่มาจากตัวนักเขียนเองนั้นอาจจะฟังดูเรื่องมาก หรือ ดราม่า ไปสักนิดหน่อย แต่ก็เป็นเหตุผลที่พอจะฟังขึ้นในหลายๆ กรณี อย่างในกรณีแรกนั้นใน หลายคนอาจจะมองว่าสุดท้ายถ้าออกเล่มก็จะมีคนหยิบไปแสกนอยู่ดี แต่บ้านเราก็มีกรณีที่ว่าออกแค่ E-Book อย่างเดียวแบบมังงะของทาง Harlequin Comics ก็ยังมีคนเอาไฟล์ E-Book ถูกกฎหมายมาแปลงเป็นไฟล์ JPG ออกแชร์หรือออกขายกันแบบเถื่อนๆ กันอีกทอดหนึ่ง ส่วนในกรณีที่สองนั้น อาจจะฟังดู ‘ติสท์’ ไปสักหน่อย แต่ก็มีนักเขียนรุ่นกลางจนถึงรุ่นเก่าหลายคนที่ยังพึงพอใจให้คนอ่านได้สนุกกับลูกเล่นบางอย่างที่พวกเขาตั้งใจวางไว้สำหรับรวมเล่มจึงมีเหตุผลนี้ขึ้นมา แต่ในช่วงหลังนี้นักเขียนหลายท่านก็ยอมให้งานตัวเองได้ขึ้นโลกดิจิตอลแบบถูกกฎหมายเพิ่มมากขึ้น

ข้ามมาพูดคุยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของบริษัทเจ้าของสิทธิ์กับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นเรื่องด้านสัญญาระหว่างบริษัท ที่ทำให้มังงะลิขสิทธิ์ในประเทศปลายทางไม่สามารถออกแบบ E-Book ได้แต่ต้น อย่างในกรณีของมังงะเก่าที่เขียนมายาวนาน ตัวสัญญานั้นอาจจะเขียนมาก่อนยุคดิจิตอลจะมาถึง การจะทำ E-Book ไปลงเลยก็จะพาลกลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไปแทน ก็เลยต้องรอปรับเปลี่ยนสัญญา ซึ่งขั้นตอนการ ‘ปรับเปลี่ยนสัญญา’ หรือใช้คำว่า ‘ร่างสัญญาใหม่’ หลายทีมันก็มีการชงสัญญาไปชงสัญญากลับระหว่างต้นสังกัดกับผู้ซื้อสิทธิ์ เพื่อเจรจาต่อรองค่าลิขสิทธิ์ให้เหมาะสม จบเรื่องเงินแล้วก็ต้องมาสานเรื่องอื่นต่อ อย่างการทำสัญญานี้ จะถูกบังคับให้พิมพ์ขั้นต่ำกี่เล่ม แล้วก็ต้องเช็คด้านกฎหมายของทั้งสองประเทศให้ลงตัวเสียก่อน จุดนี้เองที่มักจะเสียเวลานาน และหลายครั้งเป็นนานเวอร์จนเกิดภาวะ ‘ดอง’ ที่ไม่มีใครต้องการขึ้นมา แต่ถ้าผ่านจุดเหล่านี้ไปได้ มังงะส่วนก็จะได้จัดทำแบบดิจิตอลตามยุคสมัยไป

มังงะฉบับสะสมนี้ ทั้งฝั่งไทยกับอเมริกายังไม่มีแบบ EBook ออกมา

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่ามังงะทุกเรื่องจะผ่านขั้นตอนได้จัดทำ E-Book แบบผ่านฉลุย มังงะดังบางกลุ่มก็มีการร้องขออะไรมากเกินไปจนผู้ซื้อลิขสิทธิ์ปลายทางยอมตัดใจจากการทำ E-Book เช่นกัน แล้วก็มีในกรณีของรวมเล่ม ‘ฉบับสมบูรณ์ ‘ นั้นก็มักจะมาพร้อมกับสัญญาที่ระบุชัดเจนว่าทำได้แบบตีพิมพ์เท่านั้น ซึ่งก็ค่อนข้างเข้าใจได้ เพราะมังงะชุดนี้จะทำรูปเล่มที่อลังการเกินกว่าปกติและมีเป้าหมายให้คนอ่านซื้อไปสะสมอยู่แล้ว ถ้าออก E-Book ซ้ำซ้อนมาคงดูแหม่งๆ อยู่ไม่เบา แล้วก็มีมังงะบางเรื่องที่ต้นสังกัดจะระบุออกมาชัดๆ เคลียร์เลยว่า ขอสงวนสิทธิ์ให้กับประเทศบ้านเกิด ไม่ก็ ให้สิทธิ์กับทางบริษัทที่ตัวเองมีส่วนร่วมก่อน หรือถ้าเรียกในลักษณะของคนเล่นเกมก็คือ Time Exclusive (สงวนให้เฉพาะถิ่นในระยะเวลาหนึ่ง) นั่นล่ะ

ถ้าพูดสรุปรวมๆ การที่มังงจะมีโอกาสได้ทำฉบับดิจิตอลในสมัยนี้นั้นมีโอกาสสูงมากขึ้น ปัจจัยหลักก็ยังมีเรื่องเงินของผู้ซื้อลิขสิทธิ์ว่ามีมากขนาดไหน (ยิ่งเปย์เยอะก็ได้สิทธิ์เยอะกว่า อันนี้ไม่แปลกนัก) และก็ยังมีเหตุประหลาดบางประการที่ทำให้สุดท้ายแล้วไม่สามารถทำ E-Book ออกมาได้ อย่างเช่น ‘ไม่มีต้นฉบับของมังงะเรื่องนี้สำหรับทำแบบดิจิตอล’ หรือเหตุผลอื่นๆ ที่สำนักพิมพ์จัดทำลิขสิทธิ์ไม่อยากจะเอามาพูด (ฮา) เพราะมันฟังดูไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยในโลกของการทำงาน โดยเฉพาะกับชาติที่ดูทำงานจริงจังมากๆ แบบญี่ปุ่น

แล้วก็ยังมีเรื่องหนึ่งที่ช่วยตัดสินให้การจัดจำหน่ายควรจะออกมาแบบใด ซึ่งนั่นก็คือ ‘การซื้อสินค้าลิขสิทธิ์’ เพราะสุดท้าย ยอดขายเป็นอำนาจต่อรอง ทั้งต่อสำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์ในไทยและเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่จะได้รับรู้ว่าตอนนี้เทรนด์ของคนอ่านที่ยินดีเสียเงินให้ไปอยู่ทิศไหนแล้ว และพวกเขาจะปรับตัวเข้าหาลูกค้าอย่างแน่นอน

เรียบเรียงจาก: Answerman – Digital, Print or Both? How Do Manga Publishers Decide? 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*