Skerlly ถาม:
จากที่คุณโทริชิมะ คาซุฮิโกะ (อดีต บ.ก. ของนิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์) เคยกล่าวไว้ว่า จะต้องใช้เงินมากไปขนาดไหนเพื่อดูแลการสร้างภาพยนตร์ Dragonball: Evolution จนกลายเป็นความอับอายว่าฝั่งฮอลลีวูดดัดแปลง อนิเมะ/มังงะ ล้มเหลวในการจับประเด็นหลักของต้นฉบับขนาดไหน เจ้าของผลงานต้นฉบับในญี่ปุ่นมีสิทธิ์ห้ามปราม หรือเป็นที่ปรึกษาในการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้ขนาดไหนกันแน่?
Answerman ตอบ:
แทบจะไร้การแอพพรูฟ เมื่อขายสิทธิ์ให้ฮอลลีวูด
โอกาสแทบจะเป็นศูนย์เลยครับ
ผู้วาดมังงะเกือบจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงว่าฝั่งฮอลลีวูดควรจะดัดแปลงภาพยนตร์ไปในแนวทางไหน หลังจากที่มีการเซ็นสัญญาซื้อสิทธิ์และเช็คค่าสิทธิ์อนุมัติเรียบร้อยแล้ว การทำงานหลังจากนั้นก็จะขึ้นอยู่กับโปรดิวเซอร์ และผู้กำกับภาพยนตร์ว่าจะมาปรึกษาเจ้าของผลงานต้นฉบับอย่างไรบ้าง ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดของระบบ ‘Gensakusha’ ที่มีในญี่ปุุ่น ระบบซึ่งผู้เขียนมังงะ และ/หรือ ต้นสังกัดมีอำนาจในการตรวบสอบผลงานทุกขั้นตอนก่อนที่จะปล่อยงานออกไป
ระบบ Gensakusha นี่เป็นได้ทั้ง ยาดี หรือ พิษร้าย จุดดีของระบบดังกล่าวก็คือ: เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถป้องกันให้ งานที่ทำไม่ถึงมาตรฐาน ไม่ออกไปสู่สายตาของมวลชน ซึ่งอาจจะทำให้ผลงานต้นฉบับเสียหายตามไปด้วย ระบบนี้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการออกผลงานนอกประเทศญี่ปุ่นที่ช้ากว่าต้นสังกัด เพราะต้องมีการแอพพรูฟผลงาน และเจ้าของผลงานแต่ละคนก็มีความละเมียดในการตรวจสอบที่ไม่เท่ากัน บางคนอาจจะมองว่า แค่แปลภาษาอื่นก็ยินดีแล้ว แต่เจ้าของผลงานบางทันอาจจะคอมเมนท์ถึงขั้นว่า ต้องใช้วัสดุผลิตสินค้าตามที่กำหนดเท่านั้น เป็นอาทิ
กระนั้นต้องมองย้อนกลับไปว่า นักเขียนมังงะ โดยส่วนใหญ่ ไม่ได้เข้าใจระบบการสร้างผลงานทุกสิ่งอย่าง ยกตัวอย่างเช่น นักเขียนมังงะ ย่อมไม่เข้าใจ การสร้างภาพยนตร์ และมีโอกาสที่ นักเขียนที่หลงในชื่อเสียง ทั้งยังเป็นหน้าใหม่ในวงการภาพยนตร์จะเกิดอาการจ้ำจี้จ้ำไช จนทำให้การสร้างภาพยนตร์ล่าช้า หรือ อาจจะถึงระดับที่หยุดสร้างไปเลย (เหตุการณ์นี้พอจะเกิดขึ้นให้เห็นบ้างในการสร้าง ภาพยนตร์และอนิเมะ ในประเทศญี่ปุ่นกันเอง)
ข้ามมายังฝั่งฮอลลีวูด ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมในฟากนี้นั้นพยายามที่จะสร้างงานจากมังงะหรือศิลปินดังๆ มากขึ้น สตูดิโอภาพยนตร์ยอมทุ่มเงินซื้อค่าสิทธิ์เพื่อไปสร้างผลงาน แต่ก็มีงานอยู่จำนวนมากเช่นกันที่มีการเปย์เงินไปแล้วไม่ได้สร้างผลงานใดๆ ออกมา จนลิขสิทธิ์ตัวนั้นหมดลงไป (เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับ Akira ที่มีการซื้อสิทธิ์แล้วไม่สามารถทำหนังได้จนเกิดการดองการสร้างมานับสิบปี) จริงๆ แล้ว การที่ลิขสิทธิ์หมดอายุไปก่อนมีงานใดๆ ออกมา ก็ถือเป็นกำไรสำหรับเจ้าของผลงาน และ ต้นสังกัด (คือได้เงินฟรี ภาพลักษณ์ไม่เสียหาย) แต่ถ้ามีการสร้างหนังขึ้นมาจริงๆ นั่นก็กลายเป็นผลดีอีกแบบ เพราะสามารถเอาไปโปรโมท (หรือโม้) ได้ว่านี่เป็นงานที่ไปถึงฮอลลีวูดมาแล้ว!
การได้เงินกับช่องทางโปรโมทแบบนี้ ก็ต้องแลกกลับมาด้วยการที่ไม่สามารถเข้าไปควบคุมงานได้ (แบบระบบ Gensakusha) นั่นเอง และถ้ามีการเตรียมสร้างภาพยนตร์มาระดับหนึ่งแล้ว บุคลากรในการสร้างภาพยนตร์ (ผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์ ฯลฯ) ก็ไม่ค่อยอยากให้ใครมายุ่มย่ามกับมุมมองในการสร้างภาพยนตร์ของพวกเขาเช่นกัน ด้วยเหตุที่่ว่ากว่าจะมาถึงขั้นตอน Pre-Production คนทำหนังก็เสียเงินกับเวลามาระยะหนึ่งแล้วนั่้นเอง — หรือถ้าจะเสวนากันในช่วงเริ่มถ่ายทำแล้ว การติดต่อก็ต่อทำผ่านตัวกลางที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องใช้เวลาจูนกันอีกระยะหนึ่งอีก ด้วยเหตุเหล่านี้ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่มีการสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดจากมังงะ เหล่าเจ้าของผลงานกับต้นสังกัดก็ทำได้เพียงแค่ภาวนาว่ามันจะไม่ออกมาแบบเละเทะเท่านั้น
เรื่องราวหลัง Dragonball: Evolution และจะทำอย่างไรให้เจ้าของผลงานคุมการสร้างได้
หลังจาก Dragonball: Evolution ออกฉายด้วยสภาพที่ย่ำแย่ ทั้งแฟนมังงะ หรือ คอหนัง ต่างก็เบือนหน้าหนีให้กับหนังที่แสนจะแย่ (ไหนตัวละครจะแปลกๆ ไหนจะต้องย้อมสีพิคโคโร่จากเท่าให้เป็นเขียว ฯลฯ) เหล่านักเขียนมังงะ และ ต้นสังกัด จากประเทศญี่ปุ่น ก็คิดแบบระแวดระวังมากขึ้น เพราะสำหรับผู้สร้างผลงาน ณ แดนอาทิตย์อุทัยแล้ว การเห็น Dragonbal ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด ให้ความรู้สึกเหมือนมองเพื่อนที่เรารู้จักมาตั้งแต่สมัยเด็ก ได้โอกาสขึ้นจรวดทะยานไปให้ห้วงอวกาศ แต่จรวดเจ้ากรรมนั้นดูปุโรทัง แถมเมื่ออกตัวไปแล้วจรวดดังกล่าวก็ระเบิดตู้มไปเสียอีก นักเขียนมังงะ กับ ต้นสังกัด แทบทุกคนจึงได้แต่คิดว่า ‘ถ้าเกิดเหตุแบบนี้กับงานสุดรักของเราจะเป็นไงบ้างล่ะ’ และการยอมขายสิทธิ์ไปฝั่งฮอลลีวูดจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด
แม้ว่าจะเกิดอุปัทวเหตุไปแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ดัดแปลงจากมังงะจะออกมาแย่เสมอไป อย่างเช่น Alita: Battle Angel ก็มีงานสร้างที่ออกมาดูดีไม่น้อย ซึ่งทำให้คนดูทั่วไป และผู้คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมังงะ รู้สึกโอเคมากขึ้นกับการจะโดนจับงานไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่ถ้าให้ดีที่สุดก็คือ เจ้าของผลงาน หรือ ต้นสังกัดของงาน ควรจะมีส่วนในการควบคุมงานสร้าง ถึงจะรับประกันว่าตัวงานที่ออกมาไม่หลุดโลกไปจากเดิมมากนัก
จึงมีคำถามตามมาว่า แล้วจะทำอย่างไร ให้ผู้เจ้าของผลงานมีโอกาสได้ควบคุมทิศทางการสร้างภาพยนตร์?
วิธีแรกก็คือ ใช้เกมการเมืองในการต่อรองให้ควบคุมการสร้าง ตัวอย่างเด่นของเคสนี้ ก็คือกรณีของ E.L. James ผู้เขียนนิยายชุด 50 Shades Of Grey ที่เธอคนนี้แสดงความประสงค์มาตั้งแต่เริ่มว่าจะยอมขายสิทธิ์นิยายของเธอให้กับค่ายหนังที่ยอมให้เธอเป็นโปรดิวเซอร์เท่านั้น และต้องยอมรับกับความจริงสักเล็กน้อยว่า มังงะกับอนิเมะ ของญี่ปุ่นยังไม่มีแรงดึงดูดใจโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชาวอเมริกายอมให้ทำตามใจแบบที่เกิดขึ้นกรณีของ E.L. James
อีกวิธีที่จะได้มีอำนาจในการร่วมออกความเห็นในการสร้างภาพยนตร์ก็คือการร่วมเป็น Co-Producer ของตัวภาพยนตร์เลย ซึ่งวิธีการนี้เองคือสิ่งที่ คุณโทริชิมะ คาซุฮิโกะ พูดถึง อย่างตอนสร้างภาพยนตร์ Dragonball: Evolution นั้น ทางชูเอย์ฉะจะต้องยอมทุ่มเงินประมาณ 5,000 ล้านเยน เพื่อที่คว้าสิทธิ์นั้นมา ซึ่งยอดเงินขนาดนั้นเป็นยอดเงินขนาดนั้นเป็นยอดกำไรราว 60-70% ของชูเอย์ฉะ (ณ ตอนที่สร้างภาพยนตร์) ทางชูเอย์ฉะเลยยอมถอยจากการทุ่มเงินก้อนนี้ไป และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณโทริชิมะ รู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดของเขาเองที่ไม่ยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่ แล้วค่อยดีลว่าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายในเอเซีย ซึ่งถ้าเลือกทำแบบนั้นจะทำให้มีอำนาจในการควบคุมการสร้างและมีโอกาสได้เงินลงทุนกลับมา
กระนั้นก็ยังมีเรื่องอีกมากที่คนนอกไม่รับรู้ จนยากที่จะ ‘จิ้น’ ภาพสมมติว่า ถ้าทางญี่ปุ่นมีอำนาจในการควบคุมการสร้างภาพยนตร์แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเราก็ไม่ทราบได้ว่า คุณโทริชิมะ เจรจาให้จ่ายค่าสิทธิ์น้อยลงไหม หรือว่าตอนนั้นทางชูเอย์ฉะไม่มีเงินก้อนใหญ่ขนาดนั้นจริงๆ เลยยอมแพ้เอาดื้อๆ และต่อให้ชูเอย์ฉะมีเงินลงทุนจริง หนังก็อาจจะออกมาไม่ได้ดีกว่าที่เป็นตอนนี้ก็ได้
แนวโน้มในอนาคตของการดัดแปลงมังงะ กับ อนิเมะ เป็นภาพยนตร์ กับ ซีรีส์คนแสดงในอเมริกา
สำหรับมังงะกับอนิมะหลายๆ เรื่อง อย่าง Ghost In The Shell, Alita: Battle Angel หรือ Akira ที่กำลังถ่ายทำกันอยู่นั้น อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนักแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะภาพยนตร์เหล่านี้ ถูกเซ็นสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ก่อนที่ Dragon Ball: Evolution จะถ่ายทำกันเสียอีก (ฝั่ง Akira ต้องลุ้นให้ทีมสร้างภาพยนตร์จะมาปรึกษาคุณโอโตโมะ คัตสึฮิโระ ผู้เขียนและผู้กำกับ Akia ต้นฉบับเยอะๆ ก่อนถ่ายทำจริง)
แต่สำหรับโครงการดัดแปลงภาพยนตร์หลายๆ เรื่องอย่าง Gundam, Cowboy Bebop, One Piece และ Naruto นั้นอาจจะมีโอกาสที่ดีกว่าภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า เพราะต้นสังกัดของเรื่องเหล่านี้ อย่าง Sunrise และ ชูเอย์ฉะ ตัดสินใจที่จะนั่งเก้าอี้ Co-Produce ไปด้วยแล้ว รวมถึงการที่ทีมงานที่สร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์คนแสดง ก็เริ่มมีคนที่เคยทำงานในอุตสาหกรรม มังงะกับอนิเมะ มาร่วมทำงานด้วยมากขึ้น หากเทียบกับยุคก่อนหน้าที่คนทำงานสองอุตสหากรรมนี้จะแยกกันทำงานโดยสมบูรณ์
นอกจากนั้นการพัฒนาภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ ลงในแอพพลิเคชั่นเฉพาะอย่างการลงใน Netflix ก็ทำให้ ภาพยนตร์หรือซีรีส์คนแสดง ที่ดัดแปลงจาก มังงะกับอนิเมะ ได้รับความเสียหายน้อยกว่า ตอนที่เกิดเหตุร้ายกับ Dragon Ball: Evolution ที่เป็นการออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก ที่ต้องเสียเงิน PR อีกระดับหนึ่ง ต่างกับการฉายในแอพพลิเคชั่นรับชมรายการจอเล็กที่ส่วนใหญ่ที่มีการคุมงบการสร้างและงบการโปรโมทมาก่อนแล้วนั่นเอง
เรียบเรียงจาก: Answerman – How Much Control Do Manga Artists Have Over Hollywood Adaptations?
Leave a Reply