Answerman – ทำไมนักเขียนมังงะหลายคนถึงไม่ค่อยถ่ายรูปโชว์ตัวกัน

Share

คำถาม:

ทำไมนักเขียนมังงะหลายคนถึงไม่ค่อยถ่ายรูปตามงานอีเวนท์ต่างๆ อย่างในงานการ์ตูนแบบ Asia Comic Con / Bangkok Comic Con หรือตามงานเซ็นลายเซ็นหนังสือต่างๆ?

คำตอบ:

เรื่องง่ายๆ ที่คนทั่วไปก็ทำกันแบบนี้ กลับมีปมซ้อนมากมายอยู่ไม่น้อย อย่างกรณีของตัว Answerman ที่มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์นักเขียนมังงะจากประเทศญี่ปุ่นอยู่หลายครั้งนั้น ก็ทำการสอบถามนักเขียนหายๆคนว่า OK หรือเปล่าถ้าจะทำการถ่ายรูปเพื่อใช้ภาพประกอบบทสัมภาษณ์เหล่านั้น ซึ่งราวๆ 75% ของนักเขียนมังงะที่ Answerman เคยสัมภาษณ์จะไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ไม่อย่างนั้นก็อาจจะอนุญาตแต่ไม่ให้ถ่ายติดหน้า

อ.เออิจิโร่ โอดะ ตอนให้สัมภาษณ์ทางทีวีเมื่อปี 2016 ที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายหน้า / ภาพจาก – Crunchyroll.com

ด้วยเหตุนี้การถ่ายรูปในการสัมภาษณ์จึงมักจะเป็นรูปที่เห็นอยู่เหนือไหล่ หรือ ก้มหัว ระหว่างที่นักเขียนมังงะกำลังเซ็นลายเซ็น ไม่เช่นนั้นก็ต้องเลี่ยงไปใช้รูปถ่ายแทนตัวซึ่งทางตัวแทนจากต้นสังกัดของนักเขียนท่านนั้นมาใช้เป็นการทดแทน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และไม่ใช่แปลกมากนักสำหรับการสัมภาษณ์กับคนเขียนมังงะเหล่านี้ ในทางกลับกันการแอบถ่ายรูปแล้วเอาไปออกสื่อโดยไม่ได้รับคำอนุญาตจากนักเขียนเสียอีกที่เป็นเรื่องเสียมารยาท ถึงอย่างนั้นก็ฟังดูแปลกๆ เสียหน่อยหากเทียบกับนักเขียนในประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหากับการถ่ายรูปหรือแสดงตัวเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปกับแฟนคลับ หรือแม้แต่การสัมภาษณ์กับทางสื่อ เมื่อมองแบบนี้แล้วการกระทำของนักเขียนมังงะจากญี่ปุ่นที่ไม่ยอมออกสื่อออกจะดูแปลกแตกต่างและเหมือนจะไม่ค่อยส่งผลดีต่อตัวเองเท่าไหร่ จนชวนสงสัยว่าทำไมเขาถึงไม่ยอมพลิกเอาจังหวะที่ออกสื่อแบบนี้มาเป็นการโปรโมทงานตัวเองไปเสียล่ะ ?

เรื่องนี้มีปัจจัยหลายประการและคงสรุปเป็นคำตอบชัดๆ ข้อเดียวไม่ได้ แต่เราพอจะมีข้อสรูปจากหลายๆ เหตุการณ์ตามรายละเอียด้านล่างนี้

 

กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว อันเป็นผลจากบรรทัดฐานของสังคมญี่ปุ่น

เรื่องความเป็นส่วนตัวในญี่ปุุ่นนั้นเป็นอะไรที่จริงจังมากๆ คุณไมสามารถเดินไปแล้วถ่ายรูปใครแบบดื้อๆ ได้ถ้าไม่ได้รับคำอนุญาตจากผู้ถูกถ่าย และมีคดีความในญี่ปุ่นเกี่ยวกับ ‘สิทธิ์ในการปฏิเสธการถ่ายรูป’ อยู่หลายคดี และถ้าสังเกตกันจะเห็นว่าเวลามีรูปถ่ายที่คนญี่ปุ่นถ่ายมาลงตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ มักจะทำการเบลอหน้าของคนที่เดินไปมาแล้วติดเข้าเฟรมออกไป

 

นักเขียนมังงะอยากจะให้คนอื่นๆ โฟกัสกับผลงานมากกว่าประเด็นชีวิตส่วนตัว

เป็นคำตอบอีกอันที่นักเขียนหลายท่านบอกกลับมาว่าพวกเขาอยากจะให้สนใจอยู่กับผลงานของพวกเขามากกว่าที่จะมาสนใจกับชีวิตส่วนตัวหรือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลงานการ์ตูน

 

กลัวที่จะถูก ‘โม่ง’ ในโลกอินเตอร์เน็ตโจมตี

ส่วนนี้เป็นเรื่องที่นักเขียนบางคนเคยมาบอกเล่าให้ฟัง โดยเฉพาะนักเขียนที่เป็นผู้หญิง ที่เวลามีรูปส่วนตัวหลุดเข้าไปก็จะมีคนไปโพสท์ในอินเตอร์เน็ตแลวก็วิจารณ์ตั้งแต่หน้าตา ยาวไปจนถึงเรื่องส่วนตัวที่หลายๆ ทีอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับงานของพวเธอ ยิ่งในกรณีประเทศที่ผู้ชายเป็นใหญ่กว่าแบบญี่ปุ่น

 

ตั้งใจสร้างความลึกลับให้กับผู้อ่าน

มีอยู่บ้างเหมือนกันที่นักเขียนการ์ตูนบางท่านตั้งใจที่จะไม่เปิดเผยตัว หรือเปิดเผยตัวแต่ไม่เปิดเผยสถานะที่แท้จริง เพราะพวกเขาอยากให้นักอ่านวัยรุ่นจิ้นภาพในมโน ที่บางทีอาจจะสวนทางกับความจริงว่านักเขียนมังงะแนวโรแมนติกหวานแหววอาจจะเป็นชายหนุ่มอายุมาก หรือในทางกลับกันมังงะแอคชั่นดุเดือดเลือดสาดไส้ไหลอาจจะเป็นสาวจิ้มล้มโมเอะเป็นคนเขียน เป็นอาทิ

 

อยากจะแยกชีวิตการทำงานออกจากชีวิตส่วนตัว

เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก แต่เหตุผลนั้นเรียบง่าย เพราะหลายๆ ท่านอาจจะแค่ทำงานจนประสบความสำเร็จในคนหมู่มากแต่ไม่ได้อยากกลายเป็นเซเลปแต่อย่างไร พวกเขายังอยากใช้ชีวิตอย่างปกติ อยากเดินไปซื้อของตามห้างแล้วไม่มีคนกลุ่มใหญ่เดินตาม (หรือสตอลค์!) ในบางกรณีก็มีบ้างที่ตัวคนเขียนไม่อยากให้ครอบครัวหรือเพื่อน (ไม่สนิท) รู้ว่าตัวของเขาเป็นนักเขียนการ์ตูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนมังงะสำหรับผู้ใหญ่ (ทั้งแบบติดเรทและไม่ติดเรท) ซึ่งเหตุผลข้อหลังก็ยิ่งไม่แปลกนักที่คนในวงการมังงะหลายคนจะตัดสินใจใช้นามแฝง/นามปากกาแทนชื่อจริง

 

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่านักเขียนมังงะทุกคนจะแอนตี้การถ่ายรูปนะ นักเขียนบางคนก็โอเคกับการให้ถ่ายรูปหรือบางคนก็เข้าใจภาวะของตัวเองที่ไม่ต่างจากเซเลปดาราเท่าไหร่นัก ตัวอย่างนักเขียนมังงะที่ยินดีจะให้ถ่ายรูป ก็อย่าง มัตสึโมโต้ เลย์จิ (กัปตันฮาร์ล็อค, กาแล็กซีเอ็กซ์เพรส 999 ฯลฯ), อิโนอุเอะ ทาเคฮิโกะ (Slam Dunk), ฮากิโอะ โมโตะ (Otherworld Barara), โคโนมิ ทาเคชิ (Prince Of Tennis) และก็มีนักเขียนอีกหลายๆ คนที่อาจจะเกร็งๆ กับการให้ถ่ายรูปในตอนแรกแต่ก็จะยินยอมมากขึ้นเมื่อพวกเขาได้ออกนอกประเทศบ่อยขึ้นอย่าง มาชิมะ ฮิโระ (แฟรี่เทล) ที่ออกงานนอกญี่ปุ่นในช่วงแรกๆ ก็จะใส่แว่นกันแดดตลอด แต่ในช่วงหลังๆ ก็จะเปิดหน้าเต็มให้ถ่ายกันแบบเต็มอิ่มมากขึ้น

P_20160724_114408
อาจารย์โอตากาคิ ยาสุโอะ เป็นนักเขียนอีกท่านที่ออกงานต่างประเทศบ่อย และทำให้อาจารย์ค่อนข้างโอเคกับการถ่ายรูปออกสื่อพอสมควร

หรือถ้าพูดอีกแง่หนึ่งก็คือนักเขียนมังงะที่มีโอกาสได้ออกหน้าสื่อกับนักข่าวต่างชาติ หรือเดินทางไปอย่างต่างประเทศจะเปิดรับการถ่ายรูปมากกว่านักวาดที่ยังไม่เคยออกนอกประเทศ (ไม่ว่าจะเพราะงานยุ่งเกินไปหรือเหตุผลอื่นก็ตาม)

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าคุณจะเจอกับเซเลปคนใดก็ตาม ทุกท่านควรจะเคารพความเห็นของพวกเขาหากเขาออกปากว่า ‘ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป’

 

เรียบเรียงจาก: Manga Answerman – Why Do So Many Manga Artists Avoid Being Photographed?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*