เผย 5 เหตุผล ที่ร้านอาหารของชาวญี่ปุ่นปฏิเสธการรับ Tip จากลูกค้า

Share

ด้วยวัฒนธรรมอาหารอันเป็นเอกลักษณ์โด่งดังไปทั่วโลก หนึ่งในร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังกลางเมืองนิวยอร์ก ได้ออกนโยบายที่จะไม่รับทิปจากลูกค้าที่มาใช้บริการ ดังภาพใบเสร็จที่ผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งได้แสดงให้โลกโซเชี่ยลได้เห็นจนเป็นกระแสนี้

ส่วนท้ายของใบเสร็จระบุดังนี้

ตามประเพณีของญี่ปุ่นพนักงานบริการของ [ชื่อร้าน] นี้ได้รับการชดเชยเงินเดือนอย่างเต็มที่ ดังนั้นการรับเงินบำเหน็จจึงไม่เป็นที่ยอมรับ
ขอขอบคุณ

จากการเผยแพร่ภาพด้านบนส่งผลให้มีเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากไปทั่วโลกโซเชี่ยล ดังนั้นเรามาดูกันว่าร้านอาหารญี่ปุ่นมีนโยบายการดำเนินการอย่างไรโดยไม่รับเงินทิปเลยซักนิดเดียว

1.การให้ทิปไม่ใช่วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น

หนังสือไกด์บุ๊คหลายๆ ฉบับตีความว่าการให้ทิปนั้นหยาบคาย แต่จริงๆ แล้วมันแค่ดูแปลกเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น คุณเดินเข้า supermarket ซื้อข้าวของเป็นราคา 80 บาท แต่คุณยื่นแบงค์ร้อยแล้วพูดกับแคชเชียร์ว่า “ไม่ต้องทอน” ซึ่งมันไม่ได้เป็นการดูถูกแคชเชียร์แต่อย่างใด เพียงแต่มันก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า คุณจะให้ทิปแคชเชียร์ไปเพื่ออะไร?

ในบางครั้งมันก่อให้เกิดการแบ่งแยกในส่วนของสายอาชีพงาน เช่นการมองว่างานบริการอย่าง เด็กเสิรฟ์ หรือ คนขับแท็กซี่ สมควรได้ทิป ในขณะที่สายอาชีพอื่นไม่สมควรได้รับ แต่กับญี่ปุ่นนั้นเลือกที่จะไม่ให้มีการทิปสำหรับงานบริการเลย ดังนั้นเจ้าของกิจการส่วนใหญ่จึงใช้อัตราจ้างในการดึงดูดคนเข้ามาทำงานในตำแหน่งเหล่านี้แทน

 

2.ญี่ปุ่นนั้นยังมีบริการรูปแบบคล้ายๆ ทิปอยู่

ในญี่ปุ่นปกติแล้วคุณไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายอะไรนอกเหนือจากที่ปรากฏอยู่บนใบเสร็จข้างหน้าคุณ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในใบเสร็จนั้นมันตรงตามสิ่งที่คุณสั่งทั้งหมด ในหลายๆ ร้านอาหารญี่ปุ่นนั้นหลังจากที่คุณได้ที่นั่ง มักจะมีอาหารเรียกน้ำย่อย หรือ Otoshi มาเสิร์ฟในทันที ซึ่ง Otoshi นั้นไม่ได้เป็นบรรณาการจากทางร้านเหมือนอย่างพวกผ้าเช็ดมือร้อนแต่อย่างใด คุณยังต้องชำระเงินในส่วนนี้แม้ว่าคุณจะต้องการหรือไม่ก็ตาม

Otoshi โดยทั่วไปนั้นจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 500 เยน ต่อคน หรืออาจจะขึ้นไปถึง 1000 เยนสำหรับร้านอาหารที่หรูหรายิ่งขึ้น ซึ่ง Otoshi เหล่านี้มักจะเป็นอาหารทานง่าย มีขนาดเล็กเช่นสลัด หรือของเสียบไม้ ซึ่งถ้าคุณมองว่ามันเป็นเหมือนกับ service charge หรือทิป มันก็คงจะดูไม่แตกต่างกันซักเท่าไหร่

ทั้งนี้สำหรับร้านอาหารทั่วไปในลักษณะ Family Resturant หรือร้านจำพวกราเมน โอโคโนมิยากิ และซูชิสายพาน หรือกระทั่งร้านในรูปแบบ Izakaya นั้นจะไม่มีรูปแบบการเสิร์ฟ Otoshi  แต่อย่างใด

 

3.ร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนมากมักใช้เวลาพักยาวในช่วงบ่าย

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนในการจ้างพนักงานบริการ คือช่วงพักหลังจากช่วงพักกลางวันอันแสนวุ่นวาย มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ร้านอาหารจะต้องให้บริการลูกค้าอย่างหนักหน่วงในช่วง14.00 -16.00 น. ซึ่งเจ้าของกิจการเองก็คงไม่จ้างพนักงานด้วยเงินเดือนสูงลิ่วมายืนเฉยๆ ในช่วงเวลานั้นหรอก จริงไหม?

บางครั้งจะเห็นได้ว่าร้านอาหารญี่ปุ่นบางแห่งจะปิดให้บริการในช่วงบ่ายและกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงเย็นเพื่อรองรับลูกค้าวัยทำงานโดยเฉพาะ กระทั่งร้านจำพวก Izakaya หรือ ภัตจาคารระดับสูง บางแห่งนั้นไม่มีการเปิดให้บริการในช่วงกลางวัน แต่จะรองรับลูกค้าในช่วงกลางคืนไปเลยเท่านั้น

 

4.Makanai

แน่นอนว่าคนทำงานทั่วไปรับเงินเดือนมาเพื่อซื้ออาหารมารับประทาน และการทำงานในร้านอาหารนั้น การได้รับทิปมันก็ช่วยทุ่นแรงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อคุณทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่น อย่างน้อยคุณก็หมดห่วงเรื่องอาหารไปได้ 1 มื้อแล้วล่ะ

Makanai คืออาหารที่ทำขึ้นในครัวของร้านเพื่อให้พนักงานของร้านได้รับประทานกันฟรีๆ แน่นอนว่ามันไม่ใช่อาหารหรูหราในเมนูอย่างแน่นอน (ส่วนมากนั้น Makanai เป็นเมนูง่ายๆ ที่ทำจากวัตถุดิบในครัว) แต่อย่างน้อยคุณก็มั่นใจได้ว่ามันทำมาจากวัตถุดิบคุณภาพดีจากในครัว ซึ่งเป็นเกรดเดียวกับที่ทำให้ลูกค้าได้รับประทาน ซึ่งบางร้านนั้น Makanai ยังมีรสชาติดีมากจนนำมาขายในเมนูปกติของทางร้านอีกด้วย

 

5.การให้บริการที่ไม่ดีนั้น ไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ทั้งจากมุมมองของผู้ให้บริการและลูกค้า

ในวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่นนั้น ไม่มีความรู้สึกว่าลูกค้าจำเป็นต้องจ่ายเงินมากกว่าค่าอาหารเพื่อให้ได้สิ่งที่ควรได้รับ มันเป็นเหมือนความภาคภูมิใจในหน้าที่ ที่จะให้บริการลูกค้าเต็ม 100% มากกว่าการที่จะมารอเงินบำเหน็จเพื่อทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ เพราะหากคุณบกพร่องในหน้าที่ มันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะหาคนที่พร้อม 100% มาทำหน้าที่แทนในตำแหน่งนั้น ในขณะเดียวกันลูกค้าชาวญี่ปุ่นมักมีมาตรฐานเกี่ยวกับการบริการที่สูงมาก ซึ่งถ้าการบริการไม่ดีเพียงพอเพียงแค่ครั้งเดียว พวกลูกค้าก็อาจไม่ย่างเท้ากลับไปยังร้านนั้นอีกเลย ซึ่งมันส่งผลกับอาชีพการงานของพนักงานเหล่านั้นอย่างแน่นอน มันจึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้ที่มีอาชีพบริการทำงานอย่างเต็มที่มากกว่าที่จะมารอทิปไม่กี่สตางค์

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารูปแบบการงดรับทิปจากร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนมากเกิดขึ้นได้อย่างไร นโยบายเหล่านี้เองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการให้เงินเดือนของพนักงานแต่อย่างใด หากแต่อยู่ในรูปแบบของวัฒนธรรมและประเพณีเสียมากกว่า

ที่มา :twitter.com/bluenile

ภาพ: Pakutaso

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*