Answerman – จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นเจ๊ง?

Share

Tristan ถาม:

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นปิดกิจการลงไปในขณะที่รายการที่พวกเขาเคยถือสิทธิ์อยู่? ยกตัวอย่างแบบ Funimation ซื้อลิขสิทธิ์ Fullmetal Alchemist มา แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเกิด Aniplex ปิดกิจการไป? Funimation จะถือลิขสิทธิ์ต่อไปไหม หรือว่าลิขสิทธิ์จะกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น?

Answerman ตอบ:

มันเคยเกิดมาแล้วหลายครั้งล่ะ ที่บริษัทเจ้าของสิทธิ์ปิดกิจการไประหว่างที่อนิเมะหรือมังงะยังถูกจัดทำนอกประเทศญี่ปุ่น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นงั้นเหรอ? มันมีคำตอบอยู่สองประการสำหรับเหตุการณ์แบบนี้: เรื่องที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย กับ เรื่องที่เกิดขึ้นตามจริง

ถ้าว่ากันตามกฎหมาย เวลาที่เจ้าของสิทธิ์ได้ขายลิขสิทธิ์ของอนิเมะหรือมังงะไปแล้ว ผู้ที่่ถือสิทธิ์สามารถทำอะไรกับสินค้านั้นก็ได้ตามรายละเอียดและเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ตาม และสัญญาลิขสิทธิ์โดยส่วนใหญ่มักจะมีข้อปฏิบัติบางอย่างในกรณีที่ผู้ซื้อลิขสิทธิ์เลิกกิจการ แต่ไม่ค่อยมีสัญญาที่ระบุว่าถ้าฝั่งเจ้าของลิขสิทธิ์ปิดตัวลงจะต้องทำอะไร ดังนั้นหากว่ากันโดยง่าย ฝั่งผู้ซื้อลิขสิทธิ์ก็ยังทำงานเหมือนเดิม เพียงแค่ว่าพวกเขาไม่ต้องส่งไปให้ต้นสังกัดตรวจสอบงาน ไม่ต้องส่งค่าสิทธิ์ไปให้ ไม่ต้องซีเรียสกับการกระทำใดๆ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งอิสระเสรีในการทำตลาดอย่างถูกกฎหมายนั่นเอง

แต่ถ้ามองกลับไปในโลกแห่งความจริงแล้ว เมื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งปิดตัวลง สินทรัพย์ ของบริษัทที่ปิดตัวลงไปนั้นจะตกไปอยู่กับบริษัทที่รับช่วงต่อ (ไม่ว่าจะเข้ามาเทคโอเวอร์บริษัท หรือ ซื้อสิทธิ์แยกเฉพาะซีรีส์ก็ตามที) ซึ่งบริษัทเจ้าของสิทธิ์ใหม่อาจจะไม่เคยติดต่อเจ๊าะแจ๊ะกับบริษัทที่ซื้อสิทธิ์มาก่อนเลย แต่เมื่อบริษัทได้กลายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของสินทรัพย์ที่รับช่วงต่อมา ก็ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ใหม่ ต้องกลับมาทำการติดต่อกับบริษัทที่ซื้อสิทธิ์ต่ออีกครั้ง

เมื่อบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ใหม่ ไปติดต่อกันกับบริษัทผู้ซื้อสิทธิ์ ส่วนใหญ่ก็มักจะสอบถามผู้ที่ซื้อสิทธิ์ว่าเคยติดต่ออะไรกันมาก่อนบ้างกับบริษัทเดิม ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการพูดคุยว่าจะทำตามสัญญาใบเดิม ไม่ก็อาจจะมีการแก้สัญญาในช่วงภาคผนวกเพื่อให้เชื่อมโยงสัญญาใบเก่ามีผลต่อบริษัทใหม่แทน หลังจากนั้นขั้นตอนการทำงานก็จะเหมือนเดิมกับก่อนหน้า ทั้งการจ่ายค่าลิขสิทธิ์, การขอไฟล์ต้นฉบับ การขออนุญาตในการกระทำต่างๆ ก็กลับมาทำเหมือนกับที่เคยเป็นมา แค่เปลี่ยนมาติดต่อกับเจ้าของลิขสิทธิ์คนใหม่ก็เท่านั้น

แต่ก็มีบางกรณีที่บริษัทที่เข้ามาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์คนใหม่ บอกกับคนที่เคยซื้อสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้ว่า สัญญาเดิมนั้นถือว่าสิ้นสุดลง ถ้าจะทำจะต้องมาเริ่มเจรจาใหม่ทั้งหมด และถ้าผู้ที่เคยซื้อสิทธิ์เดิมต้องการจะทำผลงานต่อมาในกรณีแบบนี้ พวกเขาเจรจาใหม่หมดตั้งแต่เริ่ม และมีโอกาสที่สัญญาใหม่อาจจะบีบบังคับให้คนซื้อสิทธิ์ต้องทำอะไรบางอย่างที่กดดันตัวเอง ซึ่งถ้าคนซื้อสิทธิ์ยอมทำตามก็ถือว่าจบเรื่องและได้ออกสินค้าต่อไป แต่ถ้าการเจรจาไมได้เป็นไปได้ด้วยดีก็จะเกิดเหตุการณ์ ‘ลอยแพ’ และ ‘ย้ายค่าย’ ได้แบบหนึ่ง

(ตัวอย่างของกรณีนี้ ก็ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ มังงะเรื่อง กายเวอร์ ที่สำนักพิมพ์เจ้าของสิทธิ์เดิมเจ๊ง จนทำให้ สำนักพิมพ์ในไทยเจ้าแรกต้องหยุดทำเรื่องนั้น ก่อนจะมีอีกสำนักพิมพ์อีกเจ้ามารับช่วงต่อ และต้องทำใหม่ตั้งแต่เล่มแรก)

นอกจากกรณีนี้ก็กรณีโหดๆ ที่เห็นกันไม่บ่อย อย่างเช่นกรณีของสำนักพิมพ์ BIBLOS ที่ชำนาญการจัดทำหนังสือแนว Yaoi ได้ล้มละลายลงไป ทำให้มังงะที่เคยอยู่กับสำนักพิมพ์แห่งนี้ถูกซื้อไปโดยทาง Animate และถูกโอนถ่ายไปให้บริษัทแห่งใหม่ชื่อ Libre และในฝั่งอเมริกาก็มีบริษัทหลายๆ เจ้าที่เคยซื้อสิทธิ์กับทาง BIBLOS ก็มาต่อสัญญากับทาง Libre ต่อแทน ยกเว้นกรณีของทาง Central Park Media ในอเมริกาที่ผู้บริหาร ณ เวลานั้นยึดมั่นถือมั่นว่าสัญญาใบแรกสุดนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และทำการออกหนังสือการ์ตูนที่ตัวเองเคยซื้อลิขสิทธิ์ต่อไปโดยไม่ติดต่อกับทาง Libre ทำให้ทางบริษัทญี่ปุ่นที่ได้ลิขสิทธิ์ต่อจากเจ้าเดิมต้องประกาศออกสาธารณะว่า ผลพวงจากการล้มละลายของ BIBLOS ทำให้สัญญาเก่าที่เคยทำมาก่อนนั้นถูกยกเลิก และมีการระบุว่าทาง Central Park Media ที่ออกหนังสือต่อโดยไม่อนุญาตกับทาง Libre เป็นการออกหนังสือแบบ ‘เถื่อน’

น่าเสียดายนิดหน่อยที่เรื่องที่เราเล่าให้ฟัง ณ ที่นี้ ไม่ได้จบลงด้วยการฟ้องร้อง และเรื่องโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการเจรจาอยู่หลังฉาก แต่สิ่งที่คนนอกในฐานะลูกค้าพอจะเห็นไดชัดเจนก็คือ สุดท้ายแล้วทาง Central Park Media ก็มีชื่อเสียไปแล้ว พวกเขาไม่สามารถกลับไปร่วมงานกับ Libre ได้อีกเลยไม่ว่าจะงานใดก็ตาม (เช่น ถ้ามีอีเวนท์ที่ Libre เป็นโต้โผใหญ่ Central Park Media ก็จะไม่ได้รับเชิญให้มางานอย่างเด็ดขาด) นอกจากนั้นแล้วการตัดสินใจทำตามใจตัวเอง จนกลายเป็นภาวะเล่นไม่ซื่อของ Central Park Media ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้บริษัทจัดทำการ์ตูนลิขสิทธิ์ต้องล้มละลายในเวลาต่อมา

เรียบเรียงจาก: Answerman – What Happens When A Japanese Licensor Goes Out Of Business?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*