Fred ถาม:
แถวที่ผมอาศัยอยู่ไม่มีร้านราเม็งดีๆ เลย พอเห็นตัวละครในอนิเมะลองสั่งราเม็งหลายๆ ประเภทก็เลยไม่เก็ตว่ามันเป็นยังไง พอจะช่วยอธิบายได้ไหม?
Answerman ตอบ:
ก่อนอื่นเลย ผมรู้สึกเสียดายแทนมาก อย่างตัวผมเอง (Answerman) กว่าจะได้กิน ‘ราเม็งของแท้’ ก็เมื่อประมาณอายุ 20 นี่เอง มันเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนโลกของผมมาก จากที่เคยกินราเม็งสำเร็จรูป หรือ ราเม็งแช่แข็งมาก่อน มันทำให้ผมตกหลุมรักอาหารประเภทนี้่ทันที
ราเม็งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายๆ ประเทศทั่วโลกในช่วงทศวรรษนี้ ทำให้คุณน่าจะหาร้านราเม็งรับประทานได้ไม่ยากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าราเม็งทุกร้านจะอร่อยเสมอไป ตามปกติแล้ว ราเม็งจะถูกแบ่งออกตามประเภทของน้ำซุปพื้นฐาน ที่แบ่งแบบง่ายๆ ได้สี่ประเภทก็คือ ชิโอะ (เกลือ), โชยุ (ซอสถั่วเหลือง), มิโสะ และ ทงคตสึ (กระดูกหมู) น้ำซุปของ ชิโอะ กับ โชยุ จะมีความใสกว่า ส่วน มิโสะ กับ ทงคตสึ จะมีความเข้มกว่า และแต่ละร้านนั้นก็จะมีสัดส่วนสูตรของน้ำซุปเฉพาะตัวตามแต่ละร้าน
ทงคตสึราเม็ง (หรือราเม็งกระดูกหมู และอย่าสับสนกับ ทงคัตสึ หรือข้าวหน้าหมูทอด) หรือที่ถูกเรียกว่า ฮากาตะราเม็ง จะเป็นน้ำซุปที่ซับซ้อน ทำให้รสชาตดีได้ยาก และเป็นน้ำซุปที่ร้านราเม็งในหลายๆ ประเทศ ที่ไม่ได้สูตรต้นตำรับหรือเชฟจากญี่ปุ่นมา จะทำพังได้มากที่สุด ด้วยความที่ซุปประเภทนี้ต้องค่อยๆ เคี่ยวกระดูกรวมกับวัตถุดิบอื่นๆ อยางช้าๆ บางร้านที่มีสูตรเป็นของตัวเองจะทำการเคี่ยวซุปแบบนี้นานถึง 36 ชั่วโมง ซึ่งถ้าทำออกมาได้สมบูรณ์ก็จะได้นำซุปเข้มข้นด้วยคอลลาเสนและมีรสอุมามิเต็มที่
ส่วนเนื้อสัตว์ที่ถูกใส่ในราเม็ง โดยทั่วไปก็จะเป็น ชาชู หรือ เนื้อส่วนท้องของหมูที่ถูกต้ม/เคี่ยวจนนุ่ม แต่ก็มีบางร้านเหมือนกันที่ใช้เนื้อสัตว์แบบอื่นแทน นอกจากนี้ก็จะใส่ไข่ต้มโชยุ, สารหร่ายโนริ, สาหร่ายวากาเมะ, เม็นมะ หรือหน่อไม้ดอง และอาจจะเครื่องแบบอื่นๆ ใส่ลงไปในชาม
ถ้าไปอยู่ที่ญี่ปุ่น ราเม็งในแต่ละท้องที่ก็จะแตกต่างกันไปด้วย อาทิ ฮอกไกโด ซึ่งถือว่าเป็นบ้านเกิดของมิโสะราเม็ง ก็จะมีการเอาผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมอื่นๆ มาผสมด้วย อาทิ เนย, ข้าวโพด หรือ อาหารทะเล ส่วนฝั่งโตเกียวก็จะเน้นหนักไปทาง โชยุราเม็ง แต่ถ้าอยากกิน ทงคตสึราเม็งก็ควรจะไปแถวเกาะคิวชู ซึ่งจะมีบางพื้นที่ใส่งาขาวกับน้ำมันงาลงไปปรุงกลิ่นรสเพิ่มเติม ส่วนฝั่งโทคุชิมะจะมีราเม็งที่เป็นลูกผสมน้ำซุปของ ทงคตสึกับโชยุ หรือบางร้านก็จะใส่กระดูกหมูมาในชามด้วย
อย่างไรก็ตาม ต่อให้คุณไปไม่ถึงบ้านเกิดของราเม็งแต่ละประเภท แต่ในตอนนี้ก็มีร้านหลายๆ ร้านที่เปิดเฟรนไชส์ไปทั่วประเทศญี่ปุ่น อาทิ ร้าน Kyushu Jangara จะเป็นเฟรนไชส์ร้านราเม็งสไตล์คิวชูที่มีร้านเปิดอยู่หลายสาขาในกรุงโตเกียว แน่นอนว่าร้านเฟรนไชส์ร้านใหญ่ก็จะมีวาไรตี้ของราเม็งมากมายหลายหลาก แต่สำหรับแฟนราเม็งตัวจริงจะรู้ดีว่าการเดินทางไปกินจานเด็ดเฉพาะของแต่ละร้านจะเป็นอะไรที่ดีกว่าแน่นอน
นอกจากราเม็งแล้วยังมีอาหารเส้นแบบอื่นๆ อีกอย่าง ทสึเคเม็ง ที่ให้เส้นราเม็งเปล่าๆ มาจิ้มซอสเข้มข้นอุ่นๆ สักหน่อย แต่ถ้าเป็นอาหารเส้นฝั่งของเกาหลีจะเอาหินร้อนใส่ลงไปในซุปเผ็ดแล้วโรยหน้าด้วยชีสเยิ้มๆ ไว้
กระแสความคลั่งไคล้ราเม็งแทบจะไม่ชะลอตัวลงเลย อย่างตอนนี้ก็มีร้านราเม็งที่ได้รับดาวมิชลินมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ร้านราเม็งหลายๆ สาขาจะมีรสชาติโอเคทุกร้าน อย่างเช่น ร้านที่ขายทงคตสึบางแห่งมักจะผสมน้ำกะทิเข้าไปในซุปโดยไม่จำเป็น, ซุปรสจืดชืด, หมูชาชูถูกต้มนานเกินไป, ไข่ต้มนานเกินไป ฯลฯ
ถ้าว่ากันตรงๆ เราคงบอกไม่ได้ว่าราเม็งร้านไหนที่จะรสชาติถูกปากคุณ แต่ถ้าคุณเจอร้านราเม็งที่สามารถทำออกมาได้ดี (ไม่มีอะไรต้มนานเกินไปเป็นอาทิ) รสชาติพอจะโดนใจ เราขอให้คุณแวะเวียนไปร้านนั้นบ่อยๆ หรือถ้ายังไม่ชัวร์ แนะนำให้หาข้อมูลออนไลน์ก่อนเพราะสังคมคนกินราเม็งในสมัยนี้ก็ใหญ่โตขึ้นแล้ว ขอให้โชคดีในการหาอาหารมื้ออร่อยนะ
เรียบเรียงจาก: Answerman – What Are The Different Types of Ramen?
Leave a Reply