Answerman – มีนิตยสารมังงะในญี่ปุ่นกี่เล่มกันนะ?

Share

นิรนามถาม:

ในญี่ปุ่นมีนิตยสารมังงะกี่เล่มกันแน่นะ? แล้วมีเล่มไหนที่อนุญาตให้ลงการ์ตูนสำหรับผู้อ่านทุกกลุ่มไหม? แล้วเล่มไหนที่ลงผลงานที่ถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะมากที่สุด?

Answerman ตอบ:

เข้าใจสภาวะปัจจุบันของนิตยสารมังงะในญี่ปุ่น

ภาพจาก – https://dannychoo.com

คำถามที่ถามกันในครั้งนี้ ต้องบอกเลยว่าในสมัยนี้ ตอบได้ไม่ง่ายนัก เพราะจำนวนนิตยสารมังงะในสมัยนี้ไม่ได้มีจำนวนคงตัวแบบในอดีต เพราะในช่วงหลายปีหลังๆ มานี้ เราจะได้เห็นข่าวนิตยสารมังงะปิดตัวลงแทบจะทุกเดือน แต่ถ้าเป็นนิตยสารมังงะไซส์ ‘สมุดหน้าเหลือง’ อันนี้ก็ยังมีตีพิมพ์อยู่เยอะอยู่ ถึงอย่างอดการตีพิมพ์ก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทศวรรตก่อนแล้ว

นิตยสารไซส์สมุดหน้าเหลืองที่ปิดตัวไปก็มีมากเช่นกัน ตัวอย่างเด่นๆ อาทิ นิตยสารสายเซย์เน็น (Seinen – นิตยสารเจาะกลุ่มวัยรุ่นชายตอนปลายจนถึงวัยเริ่มทำงาน) แบบ IKKI กับ Hibana ของทาง โชกาคุคัง, นิตยสารสายโชโจ (Shojo) อย่าง Bessatsu Hana To Yume และ นิตยสารแนวโจะเซย์ (Josei – นิตยสารเจาะกลุ่มวัยรุ่นหญิงตอนปลายขึ้นไปจนถึงวัยทำงาน) You ของทาง Shueisha ฯลฯ ซึ่งนิตยสารที่ปิดตัวส่วนใหญ่ก็จะเปลี่ยนไปตีพิมพ์แบบเล่มไปสู่แบบออนไลน์ ไม่ว่าจะในเว็บหรือผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ (เช่นเดียวกับทาง เกาหลีใต้ ที่เปลี่ยนผ่านการเสพนิตยสารจากเล่มพิมพ์เป็นแบบออนไลน์ไปก่อนแล้ว) สิ่งที่พอจะบอกได้ก็คือ สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว นิตยสารมังงะในรูปแบบดิจิตัลคงไม่อาจมาแทนที่แบบกระดาษได้ทั้งหมด

นอกจากที่ในช่วงปีหลังๆ จะมีการปิดตัวนิตยสารลงเยอะแล้ว นิตยสารมังงะเจ้าใหญ่ๆ ที่ยังตีพิมพ์อยู่ในตอนนี้ก็มียอดพิมพ์ต่อเล่มลดลง อาทิ โชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์ของทางชูเอย์ฉะ (ยอดตีพิมพ์ปัจจุบันราว หนึ่งล้านเจ็ดแสนเล่ม), โชเน็นแมกกาซีนรายสัปดาห์ของทางโคดันฉะ ที่ตีพิมพ์ Eden’s Zero (ยอดตีพิมพ์ปัจจุบันราว เจ็ดแสนเก้าหมื่นเล่ม) และนิตยสารเด็กแบบ CoroCoro ของทาง โชกาคุคัง ที่ตีพิมพ์เรื่อง โดราเอมอน กับ โปเกมอน (ยอดตีพิมพ์ปัจจุบันราว เจ็ดแสนสองหมื่นหกพันเล่ม) แต่ทั้งหมดก็มียอดตีพิมพ์ลดลงมาราวปีละ 50,000 – 100,000 เล่ม

 

แล้วนิตยสารมังงะมีประมาณกี่หัว แบ่งแยกกลุ่มลูกค้าอย่างไรบ้าง

ถ้าให้ประเมินจำนวนนิตยสารมังงะในตลาดตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 125-150 หัว โดยนับรวมทั้งแบบตีพิมพ์รายสัปดาห์และรายเดือน นิตยสารมังงะในกลุ่มที่ว่านั้นก็มีทั้ง นิตยสารที่เจาะกลุ่มเด็กกับวัยรุ่นทั้งชายและหญิง (โขเน็น, โชโจ) ผู้ใหญ่ (โจะเซย์, เซย์เน็น)

นิตยสารมังงะเฉพาะทางก็มีให้เห็นในญี่ปุ่นไม่น้อย อย่างในภาพนี้คือ นิตยสารเนโกะพันจิ ที่ในเล่มมีแต่มังงะที่เกี่ยวข้องกับแมวๆ / ภาพจาก – http://www.shonengahosha.co.jp

แล้วก็จะมีนิตยสารมังงะเฉพาะอีกหลายประเภท เช่น นิตยสารมังงะยงโคมะ (4-Koma การ์ตูนแก๊กสี่ช่องจบ), นิตยสารมังงะแนว BL / ยาโอย, นิตยสารมังงะแนว ยูริ, นิตยสารมังงะเกย์ (แตกต่างจาก ยาโอย ที่เจาะตลาดผู้หญิง นิตยสารมังงะเกย์ คือเน้นตลาดเกย์) แล้วก็ยังมีนิตยสารมังงะเฉพาะทางอื่นๆ อาทิ นิตยสาร Hero’s รายเดือน (ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อลงแต่เรื่องแนวฮีโร่ อย่าง อุลตร้าแมน, มาสค์ไรเดอร์ ฯลฯ) นิตยสารคินไดมาจอง (Kindai Mahjong) ที่เน้นมังงะแนวเล่นไพ่นกกระจอก หรือ เนโกะพันจิ (Neko-Panchi เล่นคำกับคำว่า เนโกะพันช์) ของทางสำนักพิมพ์ โชเน็นกาโนฉะ ที่มังงะทุกเรื่องในเล่มเป็นเรื่องเกี่ยวกับแมว

นิตยสาร Corocoro ที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านเป็นเด็ก / ภาพจาก – http://www.cdjapan.co.jp

แล้วก็เป็นความจริงที่มีนิตยสารมังงะรองรับคนเกือบทุกช่วงอายุในญี่ปุ่น อย่างเช่น นิตยสาร โคโรโคโระ หรือ ไซเคียวจัมพ์ เป็นนิตยสารสำหรับเด็กประถม แต่เท่าที่ทราบ กับ เท่าที่มีข้อมูล ณ เวลานี้ ยังไม่มีนิตยสารมังงะเล่มไหนที่ตีพิมพ์เพื่อเจาะกลุ่มตลาดคนชราขึ้นไป ยกเว้นแต่การออกหนังสือมังงะรุ่นเก่าๆ อย่าง Lupin III หรือ กอลโก้ 13 ในรูปแบบใหม่ เพื่อเอาใจนักอ่านยุคเก่า

นิตยสารเล่มไหนที่มีการดัดแปลงมังงะภายในเล่มเป็นอนิเมะเยอะ

คำถามนี้ถ้าจะนับจำนวนเรื่องจริงๆ อาจจะไม่ง่ายนัก แต่ถ้าให้คาดการณ์ นิตยสารมังงะที่มักจะมีคนเอามังงะไปทำอนิเมะในเรื่องบ่อยครั้ง ก็จะเป็นนิตยสารมังงะแนวโชเน็น อย่าง นิตยสารโชเน็นแมกกาซีน ทั้งแบบรายสัปดาห์และรายเดือน ของทางโคดันฉะ, นิตยสารในตระกูลโชเน็นจัมพ์ (ทั้งโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์, ยังก์จัมพ์, จัมพ์ SQ, ไซเคียวจัมพ์ ฯลฯ) ของทางชูเอย์ฉะ, นิตยสารโชเน็นซันเดย์ ของทางโชกาคุคัง หรือ นิตยสาร Gangan ของทาง Square Enix ซึ่งนิตยสารที่กล่าวไปเหล่านี้ ก็มีมังงะดังๆ ลงตีพิมพ์อย่าง One Piece (ตีพิมพ์ในโชเน็นจัมพ์), ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน (ตีพิมพ์ในโชเน็นซันเดย์), แฟรี่เทล (ตีพิมพ์ในโชเน็นแมกกาซีน) เป็นอาทิ

ส่วนฝั่งมังงะสำหรับผู้หญิงอาจจะเห็นภาพไม่ชัดเจนนักเพราะมังงะที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารสายโชโจ กับ โจะเซย์ แล้วถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะมีจำนวนน้อยกว่า ที่โดดเด่นก็คงเป็นนิตยสารนากาโยชิ ที่ตีพิมพ์ผลงาน เซเลอร์มูน กับ การ์ดแคปเตอร์ซากุระ, เบทซัทสึ มากาเร็ต (Bessatsu Magaret) ที่ตีพิมพ์เรื่อง ฝากใจไปถึงเธอ หรือ นิตยสารมังงะ Ribon ที่ตีพิมพ์เรื่อง จิบิมารุโกะจัง เป็นอาทิ

ในทางกลับกันก็จะมีมังงะบางเรื่องที่่มีการพัฒนาบทไปพร้อมๆ กับการสร้างอนิเมะเลย แต่ตัวมังงะอาจจะจบกันคนละทางกับอนิเมะ อย่างเรื่อง อีวานเกเลียน มหาสงครามวันพิพากษา หรือ อุเทนะ พลิกฟ้าตามหารัก เป็นอาทิ

เห็นแบบนี้ เดิมทีก็เป็นเว็บคอมิกส์มาก่อนนะ! /ภาพจาก – Nstore.net

ด้วยเหตุทั้งหลายนี้จึงยากทีจะบอกได้ว่านิตยสารเล่มไหนกันแน่ที่โดนนำไปสร้างเป็นอนิเมะเยอะที่สุด และเมื่อมองวิธีการหยิบเรื่องมาทำเป็นอนิเมะสมัยนี้ ก็ไม่ได้หยิบจับแค่ฝั่งมังงะเท่านั้น สมัยนี้ยังมีช่องทางอื่นๆ อย่างเช่น เว็บคอมิกส์ (Webcomics) มาสร้างเป็นอนิเมะด้วย ตัวอย่างเช่นเรื่อง ReLIFE กับ One Punch Man เดิมทีก็เป็นเว็บคอมิกส์มาก่อน

หรือถ้ามองไปในสื่อประเภทอื่นๆ ไลท์โนเวลเองก็มักจะถูกสร้างเป็นอนิเมะเช่นกัน และหลายๆ ครั้ง ไลท์โนเวลมักจะถูกดัดแปลงเป็นมังงะก่อน แล้วตัวมังงะนั้นถึงอาจจะไปเข้าตาคนอ่าน จึงได้โอกาสสร้างเป็นอนิเมะอีกต่อในภายหลัง

อีกประการหนึ่งก็คือเทรนด์ในการสร้างอนิเมะจากมังงะนี้ก็เปลี่ยนไปเล็กน้อย จากเดิมที่อนิเมะอาจจะพยายามเกาะกระแสของมังงะดังๆ เลยต้องสร้างตอนไล่จี้ตามต้นฉบับ แต่ในช่วงหลังเราจะเห็นได้ว่า ทีมสร้างอนิเมะพร้อมจะอดใจรอเวลาให้ตัวมังงะเดินเรื่องไปถึงจุดเข้มข้นสักช่วงหนึ่งก่อน แล้วทำอนิเมะออกมาจนจบช่วงที่เร้าใจ หรืออาจจะอดทนรอให้มังงะจบทั้งเรื่องแล้วค่อยสร้างอนิเมะตามแบบรวดเดียว เลยยิ่งทำให้การนับจำนวนว่านิตยสารมังงะเล่มไหนทำอนิเมะเยอะกว่าใครนับยากขึ้นอีก

แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็เห็นได้ต่อให้ทิศทางของนิตยสารมังงะจะเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวนิตยสารมังงะก็น่าจะยังเป็นแหล่งหาเรื่องเด็ดในการสร้างอนิเมะอยู่ดี

เรียบเรียงจาก: Answerman – How Many Manga Magazines Are There In Japan?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*