Answerman – มุดไปซื้อหรือไปดูเว็บเมืองนอกผิดไหม กับความวุ่นวายในการซื้อสินค้าสายการ์ตูนบบดิจิตอล

Share

นิรนาม ถาม :

ทำไมการไปซื้อหนังสือการ์ตูนแปลภาษาอังกฤษที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ (อย่างเช่นในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หรือในไทยก็ตามที) ผ่านตามร้านหนังสือใกลบ้าน (กรณีของผู้ถามจะเป็นการพรีออเดอร์เท่านั้น) หรือผ่านร้านค้าออนไลน์อย่าง Amazon, Yahoo หรือเว็บสั่งซื้อสินค้าอื่นๆ จากสำนักพิมพ์การ์ตูนที่ได้ลิขสิทธิ์เฉพาะพื้นที่ (ตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์ Vertical ได้ลิขสิทธิ์มังงะเรื่อง Buddha ของ เทะซึกะ โอซามุ ในอเมริกา ส่วนในเกาะอังกฤษลิขสิทธิ์ของเรื่องนี้เป็นของ สำนักพิมพ์ Harper Collins แต่ชาวไทยสามารถไปซื้อได้ที่ร้านหนังสือนำเข้าอย่าง Kinokuniya หรือสั่งผ่านเว็บไซต์ออนไลน์)  แต่เมื่อเป็นกรณีซื้อ E-Book มักจะมีการล็อคโซนอย่างชัดแจ้งจนถึงขั้นต้องเปลี่ยน IP ปลอมที่อยู่ สร้าง ID iTunes หรือ Kindle ต่างชาติ เพื่อไปอุดหนุนมังงะฉบับดิจิตอล ? คุณพอจะอธิบายเหตุผลที่เกิดความแตกต่างกันแบบนี้ให้ไขกระจ่างไดไหม ?

Answerman ตอบ :

Crunchyroll เป็นบริการรับชมอนิเมะแลมังงะออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ แต่หลายๆ เรื่องนั้นต้องมุด IP ไปเป็นอเมริกาถึงจะสามารถรับชมได้

อาจจะยากที่ตัดสินได้ว่าการปลอมที่อยู่ไปสร้าง ID ปลอมเป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือผิดกฎหมายหรือไม่นั้น เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำตั้งแต่เริ่ม ด้วยเหตุที่ว่าการซื้อสินค้าตัวจริง กับ การซื้อบริการให้อ่านออนไลน์ นั้นมันมีข้อแตกต่างกันที่ชัดแจ้งอยู่ เมื่อไหร่ที่คุณซื้อสินค้าแบบจับต้องได้ตัวเป็นๆ แล้ว จะถือว่าคุณเป็น ผู้ใช้ปลายทาง (End User) ซึ่งคุณสามารถจะปู้ยี้ปู้ยำสินค้าที่คุณครอบครองไว้แล้วอย่างไรก็ได้ (ตราบเท่าที่ไม่นำไปละเมิดกฎหมายประการอื่นๆ) ส่วนการซื้ออ่านแบบดิจิตอลหรืออีบุ๊คนั้นเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนและยุ่งยากมากกว่านั้น โดยเฉพาะในแง่กฎหมาย (หมายเหตุ : ทั้ง Answerman และผู้เรียบเรียงบทความต่างก็เป็นเพียงผู้ศึกษาข้อมูลด้านกฎหมาย แต่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถฟันธงในแง่การกระทำบางประการที่ไม่เคยมีคำตัดสินอันเป็นที่สิ้นสุดจากศาลได้)

สำหรับในอเมริกาแล้ว สินค้าสื่อบันเทิงที่มีขายเป็นชิ้นเป็นอันจะมี ‘หลักการสิ้นสิทธิ’ หรือ ‘หลักความระงับสิ้นไปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา’ (Doctrine Of First Sale / First-Sale Doctrine) ที่เป็นกฎหมายระบุชัดเจนบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์นั้นมีสิทธิ์ในการขายสินค้าอยู่ในระดับหนึ่ง (อาทิ ประเทศที่บริษัทมีสิทธิ์ในการวางขายสินค้า, สิทธิ์ในการตั้งราคาสินค้าของบริษัท ฯลฯ) แต่เมื่อสินค้าตัวนั้นถูกขายให้กับผู้บริโภคไปแล้ว สิทธิ์ยิบย่อยเหล่านี้จะถือว่าจบสิ้นไป ผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้ว สามารถนำไปขายต่อให้ใคร ราคาเท่าไหร่ จะขายแบบไหนก็ได้ (ตราบเท่าที่ไม่ทำซ้ำและดัดแปลง)

สำหรับหลายๆ ประเทศการไปซื้อหรือสั่งหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นเรื่องไ่แปลกนัก / ภาพจาก –
https://thailand.kinokuniya.com/

ด้วยเหตุทำนองนี้นี่เอง การขายหนังสือการ์ตูนมังงะ หรือ แผ่นบลูเรย์แบบข้ามประเทศจึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งในประเทศอื่นๆ นั้นอาจจะไม่ได้มีกฎหมายแบบเดียวกับอเมริกา แต่ก็อาจจะมีกฎหมายข้างเคียง รวมถึงข้อสัญญาต่างๆ ของบริษัท ที่ทำให้เกิดเงื่อนไขคล้ายๆ กันแบบนี้ขึ้นมาเช่นกัน (ในหลายๆ ประเทศจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มเติมเพื่อป้องกันการขายซ้ำแบบนี้จากการนำเอา ‘สินค้าสำหรับเช่า’ มาจำหน่ายต่อ อาทิแผ่น Blu-ray กับ DVD ของประเทศญี่ปุ่นที่จะมีระบุหลังปกไว้ชัดเจนว่า ‘แผ่นนี้สำหรับเช่าเท่านั้น’ หรือไม่ก็ ‘แผ่นสำหรับขายเท่านั้น’)

ส่วนบริการแบบดิจิตอลนั้นไม่ได้ใช้กฎกติกาอะไรแบบที่กล่าวไปข้างต้น อันเนื่องจากว่า คุณไม่ได้ครอบครองวัตถุหรือสินค้าตัวนั้นเอาไว้จริงๆ  – คุณเพียงแค่ซื้อบริการที่จะเข้ารับชมสื่อบันเทิงต่างๆ ที่มีให้บริการเท่านั้น นั่นหมายความว่า บริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์นั้นใจกว้างให้คุณเข้าไปรับชม และคุณก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของพวกเขา

การที่ใช้ที่อยู่ปลอมๆ ในประเทศอื่นที่คุณไม่ได้อาศัยอยู่นั้น อย่างไรก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ถามว่าเป็นเรื่องใหญ่ไหม ? ก็คงจะไม่ใช่ แล้วก็มีโอกาสสูงมากที่จะไม่มีใครถูกฟ้องร้องจากการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การใช้ตัวตนปลอมๆ ในการสมัครบริการออนไลน์หรือบริการรับชมสื่อบันเทิงแบบดิจิตอลนั้นเป็นการละเมิดเงื่อนไขการใช้บริการ (Term Of Service) ไม่ว่าจะเป็นบริการรับชมออนไลน์ของเว็บหรือแอพพลิเคชั่นถูกกฎหมายที่ไหนก็ตามบนโลก จึงเป็นสิทธิ์ของเจ้าของสถานที่ (เว็บ หรือ แอพพลิเคชั่น) ที่สามารถบอกได้ว่า “เฮ้ย ไอ้หมอนี่มันทำผิดข้อตกลงว่ะ แบนไอดีแม่มเลย!”

และในแง่การทำงานบนโลกแห่งความจริง บริการให้รับชมแบบออนไลน์หรือดิจิตอล มิสิทธืทุกประการที่จะทำแบบนั้น เพราะการซื้อลิขสิทธิมาฉายออนไลน์, ขายแบบให้โหลดไปดู (จะแบบเก็บไว้อย่างถาวรแบบติด DRM หรือแบบที่ต้องผ่านการถอดรหัสแบบอื่นๆ ก็ตาม) บริษัทเหล่านี้มักจะซื้อสิทธิ์ในการฉายเฉพาะประเทศเท่านั้น ยิ่งฉายเยอะประเทศก็ต้องยิ่งจ่ายค่าลิขสิทธิ์แพงขึ้น (หรือต้นทุนสูงขึ้นนั่นเอง) ฉะนั้นแล้วผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาให้บริการฉายออนไลน์ก็ต้องทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงมั่นใจว่า ผลงานที่เจ้าของลิขสิทธิ์ขายสิทธิ์ในการฉายมาต้องอยู่ในพื้นที่ที่ครอบคลุมตามตัวสัญญจาจริงๆ เท่านั้น และสุดท้ายผู้ให้บริการจึงต้องเข้มข้นในการตรวจสอบลูกค้าที่มาซื้อบริการอีกทอดหนึ่ง

ด้วยเหตุวุ่นวายแบบนี้ บริการรับชมออนไลน์บางเจ้าจึงใช้วิธีแก้ปัญหาแบบต่างๆ เพื่อให้การให้รับชมหรืออ่านออนไลน์ง่ายขึ้นสำหรับผู้ให้บริการที่มีผู้ใช้งานอยู่ทั่วโลก อาทิ ไปร่วมลงทุนในผลงานที่จะนำมาฉายและยึดสิทธิ์ในการฉายออนไลน์ไว้แค่เพียงที่เดียว ตัวอย่างเช่น ทาง Netflix ที่ทำแบบนี้ค่อนข้างบ่อยจนถึงขั้นมี Netflix Originals เป็นจุดขาย จนทำให้ผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ (อย่าง Hulu หรือ Amazon) ต้องเริ่มทำตาม

อีกกรณีหนึ่งที่พบเห็นได้ก็คือ ผู้ผลิตไม่ว่าจะมังงะหรืออนิเมะในญี่ปุ่นทำการเปิดให้บริการเอง อาทิ Shonen Jump แบบ E-Book ภาษาอังกฤษที่ทาง Viz Media ที่ถือว่าเป็นบริษัทลูกจากทางชูเอย์ฉะเปิดให้บริการอยู่ในตอนนี้ หรือ อย่างเว็บไซต์ Daisuki.net ที่เป็นการให้บริการรับชมอนิเมะแบบถูกลิขสิทธิ์ ที่มีทั้ง Bandai Namco, Asatsu-DK, Aniplex, กองทุน Cool Japan, Toei Animation, Sunrise, TMS Entertainment, Nihon Ad Systems, Dentsu, Kodansha, Shueisha, Shogakukan, Kadokawa, Bushiroad และ Good Smile Company ก็ต่างมีส่วนร่วมในเว็บไซต์แห่งนี้ (แม้ว่าผู้บริหารหลักจะเป็นทาง Bandai Namco ก็ตาม)

และยังมีรายละเอียดเรื่องปลีกย่อยอีกหลายอย่างเกี่ยวกับสิทธิ์ในการเผยแพร่แบบดิจิตอล หรือ ออนไลน์ ที่ไม่ได้ฉายอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตได้ตลอดกาลหรือตลอดไป อย่างกรณีของ Netflix เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ได้ทำการลบภาพยนตร์กับซีรี่ส์ไปหลายสิบเรื่อง แม้ว่าทาง Netflix จะไม่ประกาศอย่างชัดแจ้งว่าด้วยเหตุผลกลใด แต่จากภาพยนตร์กับซีรี่ส์ส่วนใหญ่ที่ลบไปนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์คือทาง 20th Century Fox จึงคาดได้ว่าน่าเป็นการไม่ต่อสัญญาลิขสิทธิ์ของ Netflix เองเสียมากกว่า เพราะยังมีบางเรื่องที่เป็นลิขสิทธิ์ของ 20th Century Fox ที่ยังมีให้รับชมบน Netflix

อีกความยุ่งยากและชวนมึนงงอีกกรณีก็คือหากบริการเหล่านี้มาทีหลัง ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปก่อนหน้า สิ่งที่พวกเขาพอทำได้ก็คือการไม่ไปทำร้ายตลาดเก่าก่อน (ตัวอย่างอาทิ ทาง Daisuki ไม่เปิดฉาย Gundam The Originในประเทศไทย) หรือบางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ให้บริการสองเจ้า แต่จัดทำกันคนละรูปแบบ (อาทิ การ์ตูนบางเรื่องที่สำนักพิมพ์หนึ่งจัดทำรูปเล่ม แต่อีกผู้ให้บริการหนึ่งให้บริการ E-Book)

แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบไหนในการเข้าปล่อยเนื้อหาให้ผู้ชม ก็ไม่ได้แปลว่าตัวสื่อบันเทิงเหล่านี้จะได้กำไรแทบทุกครั้ง รวมถึงว่าต่อให้ผู้ให้บริการรับชมสื่อออนไลน์ทำการการล็อกโซนหรือทำการลบผู้ใช้งานที่ปลอมที่อยู่เข้ามาแล้ว มันก็ยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์ให้เห็นอยู่ดี

ดังนั้น ในความเห็นของเรา (ทั้ง Answerman และ ผู้เรียบเรียง) เห็นว่า ถ้าคุณไม่อยากต้องลุ้นในภายหลังว่าคุณจะยังดูมังงะหรืออนิเมะที่คุณชอบได้ต่อไปหรือไม่นั้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ซื้อสินค้าตัวเป็นๆ จากเรื่องที่คุณชอบจริงๆ ไปเก็บไว้ด้วยน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

เรียบเรียงจาก : Answerman – Why Is It “Wrong” To Buy Digital Manga From Other Countries?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*