[Review 3D] Ghost in the Shell (Movie) ปลุกจิตของมนุษย์ภายในเปลือกของร่างไซบอร์ก

Share

เมื่อคืนวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ทางทีมข่าว NewsDexclub ได้รับเชิญจากบริษัท United International Pictures ให้ร่วมรับชมภาพยนตร์ Ghost in the Shell ฉบับคนแสดง ในระบบ IMAX 3D รอบสื่อมวลชนที่โรงภาพยนตร์ Paragon Ciniplex ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งวันนี้ทีมงานก็จะมารีวิวให้เพื่อนๆ ได้รับชมกันจ้า

Ghost in the Shell คืออะไร?

ก็เหมือนทุกทีนะครับ ว่าก่อนอื่นเราจะมาทำความรู้จักกับเรื่องนี้กันก่อนว่ามีทีมาที่ไปอย่างไร ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากผลงานหนังสือการ์ตูนเรื่อง 攻殻機動隊: Ghost in the Shell (โคคาคุ คิโดไต: โกสต์อินเดอะเชล) วาดโดย อ.ชิโร่ มาซามุเนะ ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1989 – เดือนพฤศจิกายน 1990 ในนิตยสาร Young Magazine ก่อนจะตีพิมพ์ขายแบบรวมเล่มเดียวจบโดยสำนักพิมพ์ Kodansha

ฉบับหนังสือการ์ตูนแบบรวมเล่มยังออกตามมาอีก 2 ภาคภายหลังในชื่อภาค Ghost in the Shell 2: Man-Machine Interface และภาค Ghost in the Shell 1.5: Human-Error Processor

เนื้อเรื่องนั้นเกิดขึ้นในยุคอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวล้ำถึงขนาดสร้างอวัยวะเทียมเพื่อใช้ในการแพทย์, ดัดแปลงร่างกายบางส่วนของมนุษย์ที่เสียหายให้เป็นไซบอร์ก หรือแม้กระทั่งสร้างแอนดรอยที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้

ทว่าบริษัท Hanka Precision Instruments ได้พยายามสร้างไซบอร์กชนิดพิเศษที่เรียกว่า Tomliand Prototype โดยใช้สมองของมนุษย์และร่างกายสังเคราะห์ โดยมีความเชื่อว่าหากมีไซบอร์กที่สามารถใช้สมองคิดวิเคราะห์ได้ละเอียดเหมือนมนุษย์ (Ghost) ควบคู่กับร่างกายสังเคราะห์ที่แข็งแกร่งและซ่อมแซมได้ (Shell) จะสามารถสร้างสุดยอดไซบอร์กที่มีความแข็งแกร่งและความสามารถเหนือมนุษย์ได้ และผลงานชิ้นนั้นก็คือผู้พัน (Major) ตัวละครเอกของเรื่องนี้ และเธอก็ได้รับการบรรจุเข้ามาในหน่วยเฉพาะกิจประจำองค์กรต่อต้านผู้ก่อการร้ายไซเบอร์ที่มีชื่อว่า เซ็คชั่น 9 และออกปฏิบัติภารกิจเรื่อยมาตลอด

แต่เมื่อนานวันเข้า เธอกลับพบสิ่งผิดปกติเมื่อมีความทรงจำบางส่วนที่เธอรู้สึกคุ้นเคยแทรกเข้ามาในสมองเป็นครั้งคราว จนเธอเริ่มสงสัยถึงที่มาและชาติกำเนิดของเธอเอง ซึ่งดูเหมือนว่าบริษัท Hanka เองก็ปิดบังอะไรบางอย่างกับเธอไว้ด้วยเช่นกัน เธอจึงพยายามค้นหาความลับนั้นด้วยตัวของเธอเอง…

แล้วความลับนั้นคืออะไร? อดีตของเธอคือใครกันแน่? มาร่วมหาคำตอบในโรงภาพยนตร์ได้แล้ววันนี้!

กราฟิก

ตัวผู้เขียนได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในระบบ IMAX 3D ซึ่งเป็นอะไรที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะแค่ช่วงอินโทรของเรื่องที่แสดงให้เห็นฉาก Bird Eye View ของเมืองนั้นมีมิติความลึกสมจริงแบบสุดๆ เหมือนกับมองเมืองทั้งเมืองได้สุดสายตา

ยิ่งพอมารวมกับ ภาพโฆษณาโฮโลแกรมที่เห็นอยู่ทั่วทั้งเมืองแล้ว มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่อลังการ และดูมีชีวิตชีวามาก และเราจะได้เห็นฉากที่สวยงามนี้แทบทั้งเรื่องเลยแบบไม่มีกั๊กเลยล่ะครับ

ไม่ใช่แค่ฉากเมืองที่สวยงามอย่างเดียว แม้แต่ฉากทั่วไปที่ CG มาเป็นส่วนประกอบ ก็เก็บรายละเอียดยิบย่อยได้เป็นอย่างดีแม้บางทีผู้ชมอาจจะไม่สังเกตก็ตาม อย่างเช่นฉากซ่อมแซมร่างกายของผู้พันเป็นต้น

นอกจากนี้ผู้เขียนขอยอมรับเลยว่า ฉากส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ทำออกมาได้เหมือนกับฉบับภาพยนตร์อนิเมชั่นเมื่อปี 1995 มาก ซึ่งแฟนๆ รุ่นนั้นเห็นแล้วจะต้องนึกถึงแน่นอน แต่ขอบอกว่าเนื้อหาในช่วงท้ายจะแตกต่างไปจากฉบับอนิเมชั่นนะครับ

การเรียบเรียงเนื้อหา

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า ช่วงแรกจะดูรวบรัดไปหน่อยทั้งเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในเรื่อง ไม่ได้มีการอธิบายอย่างละเอียดไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจสับสนได้

ซึ่งทีมงานก็เข้าใจในเรื่องของเวลาในการฉาย และตัวหนังเองก็ไม่ได้โหดร้ายกับมือใหม่จนเกินไปนัก เพราะจะค่อยๆมีการอธิบายเสริมอยู่เรื่อยๆ ตลอดเรื่อง โดยต้องดูและพยายามทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีของเรื่องนี้ไปสักพักถึงจะเริ่มจับต้นชนปลายได้ครับ

เนื้อเรื่องมีการเรียบเรียงมาอย่างดี ช่วงบู๊ก็มีให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง พอสลับไปช่วงดำเนินเนื้อหาก็มีปริศนาให้ชวนติดตามและลุ้นไปด้วย ยิ่งดูควบคู่ไปกับฉาก CG งามๆ แล้วเรียกได้ว่าทำได้ดีไม่มีน่าเบื่อเลยทีเดียว

สรุป

ในมุมมองของผู้เขียน ถือว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนและอนิเมชั่นที่ทำออกมาได้ดี ลบคำสบประมาทว่าหนังที่สร้างจากการ์ตูนหรือเกมมักจะออกมาห่วยไปได้เลย

ด้านสการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน ที่รับบทผู้พันก็แสดงได้ดีสมบทบาทด้วย แม้ตั้งแต่ตอนแคสต์นักแสดงช่วงแรกจนถึงตอนนี้ เธอจะโดนกระแสแง่ลบโจมตีมาตลอดว่าหน้าเธอไม่ใช่คนญี่ปุ่นก็ตาม

ถ้าเป็นไปได้ผู้เขียนแนะนำให้ชมระบบ 3D ไปเลยครับ เพราะถือว่าฉาก 3มิติมีให้เห็นทั้งเรื่องเต็มอิ่มคุ้มราคามากๆ ส่วนระบบ MX4D นั้นเห็นว่าทางโรงภาพยนตร์ใส่เอฟเฟคให้เต็มๆ อัดแน่นถึง 15 แบบด้วย นับว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ
บริษัท United International Pictures
ผู้สนับสนุนบทความ Review ในครั้งนี้ด้วยครับ