Answerman : ไหงรายการทีวีญี่ปุ่นรายการอื่นชอบใช้เพลงอนิเมะอ่ะ ?

Share

Henpaku ถาม :

ฉันสังเกตว่ารายการทีวีประเทศญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่มักจะเป็นสายบันเทิงที่จับเอาดาราคนดังมาแข่งอะไรประหลาดๆ) ใช้เพลงประกอบจากอนิเมะอยู่หลายเพลงเลยทีเดียว จริงๆ แล้วรายการที่ฉันดูเมื่อหลายวันก่อนใช้เพลงของเรื่อง Majestic Prince แล้วบางครั้งก็ได้ยินเสียงเอฟเฟคท์ที่เคยใช้ใน กันดั้ม หรือ อีวานเกเลี่ยน  เพลงประกอบของอนิเมะเรื่องต่างๆ เหมือนจะถูกเปิดในรายการ ทั้งรายการที่ดังยันรายการที่ค่อนข้างจะโนเนม ใครเป็นคนดูแลเรื่องนี้ ? แล้วมันมีขั้นตอนยังไง? นี่รวมอยู่ในค่าสิทธิทั้งหมด หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อครั้ง?

 

Answerman ตอบ :

เมื่อผู้ผลิตรายการทีวีอยากจะขอใช้สิทธิ์ในรายการทีวี หรือ ภาพยนตร์ พวกเขาจะต้องซื้อสิทธิ์สามขั้นตอน อย่างแรกก็คือ “สิทธิ์ในการนำเผยแพร่ต่อสาธารณชน (Performance Rights)”  หรือสิทธิ์ที่เพื่อจะใช้หรือทำการแสดงเพลง (ไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ  รวมถึงจะแบบคัฟเวอร์หรือการอัดเสียงร้องใหม่ก็ตาม) ให้สาธารณชน ไม่ว่าจะในกรณีเป็นการแสดงส่วนตัว หรือผ่านการออกอากาศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สิทธิ์ในลักษณะนี้ค่อนข้างง่ายในการได้รับมือ ขอเพียงคุณจ่ายค่าสิทธิให้ใครก็ตามแต่ที่ดูแลสิทธิ์เหล่านี้ในประเทศของคุณ

JASRAC ชื่อที่คนอ่านการ์ตูนน่าจะเคยเห็นกันบ้างในหน้าหนังสือการ์ตูน หน้าที่ของหน่วยงานคือการดูแลสิทธิ์ต่างๆ ของเพลงในประเทศญี่ปุ่น ทั้งในด้านเนื้อเรื่องและทำนอง

ในอเมริกาจะมีหน่วยงาน ASCAP (American Society of Composers, Authors and Publishers)  ในญี่ปุ่นจะมี JASRAC (Japanese Society for Rights of Authors, Composers and Publishers) ในแคนาดาผ่านหน่วยงาน SOCAN ส่วนฝั่งสหราชอาณาจักร PRS ทางฝั่งภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค CISAC (International Confederation of Societies of Authors and Composers) ทั้งนี้ในแต่ละภาคส่วนอาจจะมีบริษัทที่เป็นสมาชิกของหน่วยงานเหล่านี้เพื่อทำหน้าที่ในประเทศที่ไม่มีหน่วยงานโดยตรงอีกที

หน่วยงานที่กล่าวถึงเหล่านี้เป็นหน่วยงานที่ดูแลการเก็บค่าสิทธิของเพลงต่างๆ จากการนำไปใช้งานสาธารณะ ก่อนที่จะนำเอาเงินค่าสิทธิเหล่านี้ไปให้กับผู้แต่งเพลงอีกครั้ง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีระบบราคาที่มีหลักและเหตุผลอย่างมากในการกระทำการเก็บค่าสิทธิ์

สิทธิ์ที่สองที่จะต้องทำการขอก็คือ “สิทธิ์ในการนำเพลงไปประกอบกับภาพเคลื่อนไหว (Synchronization Rights)” สิทธิ์ตัวนี้เป็นสิทธิ์ในการนำเพลงไปตัดต่อรวมกับภาพยนตร์ หรือคลิปวิดีโอที่มีเพลงประกอบ การเจรจาสิทธิ์นี้ ซึ่งการเจรจาลิขสิทธิ์แบบนี้จะถูกแยกกันทั้งฝั่งผู้ดูแลลิขสิทธิ์ของเพลงเหล่านั้น รวมถึงค่ายเพลงที่เป็นเจ้าของเพลงที่คุณอยากจะนำไปใช้งาน

ลิขสิทธิ์ประเภทที่สองนี้มักจะเก็บค่าใช้ลิขสิทธิ์การใช้งานต่อครั้ง แบ่งแยกไปตามลักษณะพื้นเพของตัวผลงาน และจำนวนเพลงที่จะใช้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เพลงในคลิปความยาว 30 วินาที สำหรับรายการทอลค์โชว์ในทีวีชุมชนท้องถื่นที่ไม่ได้ออกอากาศที่อื่นนอกจากพื้นที่จังหวัดเล็กๆ นั้นจะมีค่าลิขสิทธิ์ที่มีราคาถูกกว่าการใช้เพลงความยาว 30วินาที เพลงเดียวกันในภาพยนตร์ฮอลลีวูดแน่นอน

สิทธิ์อย่างที่สามที่จะต้องขอก็คือ “สิทธิ์ในการบันทึกลงสื่อชนิดใดก็ตาม (Mechanical Rights)” หรือสิทธิ์ในการบันทึกเพลงไปจำหน่ายต่อไม่ว่าจะเป็นลักษณะแผ่น CD หรือแบบดิจิตอลก็ตาม  ลิขสิทธิ์ส่วนนี้มักจะเป็นสิทธิ์ที่เกี่ยวกับค่ายเพลงต่างๆ สิทธิ์ส่วนนี้มีความจำเป็นต่อการขายแผ่น DVD, Blu-ray หรือแม้แต่แบบดิจิตอลที่มีเพลงอยู่ในเรื่อง และที่สำคัญก็คือสิทธิ์ส่วนนี้จำเป็นต่อการออกอากาศรายการต่างๆ ด้วย

ตัวอย่างการจ่ายสิทธิ์เพลงในประเทศไทยผ่านบริษัทตัวแทนที่รับสิทธิ์

(ในประเทศไทยการจ่ายสิทธิ์ทั้งสามอย่างนี้อาจจะจบที่บริษัทลิขสิทธิ์เพลงตามที่กล่าวถึงข้างต้น หรือค่ายเพลงที่เดียว หรืออาจจะจบที่คนแต่งเพลงแต่ละคน เนื่องจากว่ายังไม่มีหน่วยงานกลางที่ดูแลในประเศเสียทีเดียว หลายๆ ครั้งจึงอาจจะต้องเช็คก่อนว่าลิขสิทธิ์เพลงนั้นตกไปอยู่กับฝ่ายใดกันบ้าง)

มันมีขั้นตอนทางด้านกฎหมายจำนวนมากที่ต้องจัดการ แหงล่ะว่ามันยุ่งยากมาก แต่สำหรับรายการทีวีที่ไม่ได้มีเป้าหมายจะออกอากาศนอกญี่ปุ่นหรือทำเป็นแผ่น DVD, Blu-ray ค่าสิทธิ์สำหรับรายการเหล่านั้นย่อมถูกกว่าการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ด้วย แล้วถ้าคุณเป็นรายการโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่น มันก็ย่อมเป็นการง่ายยิ่งขึ้นสำหรับการขอสิทธิ์จากค่ายเพลงในประเทศกันเองมาใช้ประกอบรายการ เพราะไม่มีปัญหาด้านภาษาหรือปัญหาด้านวัฒนธรรม และไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลถึงความแตกต่างกันของวัฒนธรรมญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมประเทศอื่นที่ต้องไปซื้อสิทธิ์เพลง

(ในไทยนั้นถือว่าเป็นผลพลอยได้ไปเพราะการซื้อสิทธิ์รายการในไทยส่วนใหญ่มักจะได้เทปตัวท้ายสุดมาพากย์เสียงทับเฉยๆ ทำให้เรายังพอจะมีโอกาสได้เจอรายการญี่ปุ่นที่แข่งขันกันเพื่อชิงที่หนึ่งแล้วมีเพลงของกันดั้มประกอบเป็นอาทิ…ส่วนเพลงที่นำมาใช้ในละครไทยนั้น ส่วนมากจะมีลงเครดิตค่ายเพลงที่ถือสิทธิ์ไว้ในเครดิตช่วงท้ายรายการแต่ไม่มีข้อมูลประกอบชัดเจนว่ามีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางใดให้เราเห็นเท่าใดนัก)

อนิเมะ นั้นถือเป็นรายการจำนวนมากที่มีกำหนดการออกฉายในญี่ปุ่นอยู่ทุกปีไป และเพลงที่ใช้ประกอบอนิเมะก็เป็นดนตรีประกอบฉาก (Incidental Music) ด้วยเหตุนี้ฝ่ายดูแลดนตรีในรายการโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่นจึงมักจะหยิบเอาเพลงประกอบของอนิเมะและมักจะหาเพลงที่น่าสนใจมาใช้กับฉากที่ประหลาดหรือฉากตลกๆ ในรายการทีวี แน่นอนว่านักแต่งเพลงอย่าง Sagisu Shiro ผู้แต่งเพลงประกอบให้อีวานเกเลี่ยนเคยแต่งเพลงที่น่าจดจำได้มากมาย แต่ฝ่ายดูแลดนตรีในรายการโทรทัศน์ก็ไม่ได้พยายามหาเพลงแบบลงลึกมากนักและมักจะใช้เพลงดังๆ ที่เหมาะสมเสียมากกว่า

เมื่อฝ่ายดูแลดนตรีในรายการโทรทัศน์เลือกเพลงที่จะใช้ได้เสร็จแล้ว แล้วก็ไล่เคลียร์เรื่องสิทธิ์จนเรียบร้อย นักแต่งเพลงกับค่ายเพลงก็มักจะแฮปปี้กับค่าสิทธิ์ที่ได้รับ เพราะเงินรายได้เหล่านี้จะทำให้พวกเขาสามารถไปสร้างผลงานใหม่ๆ ต่อได้ นักแต่งเพลงบางท่านมักจะได้กินค่าสิทธิ์อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยเหตุผลที่ว่าเงินที่จ่ายกับเพลงที่ได้มันเวิร์คกับรายการที่จะต้องใช้ ด้วยเหตุนี้ต่อให้เป็นเพลงของอนิเมะที่ถูกลืมไปแล้วแต่เพลงประกอบในเรื่องนั้นยังคงสร้างรายได้อยู่อย่างต่อเนื่องนับทศวรรษ จึงไม่น่าแปลกนักที่วงการดนตรี(ประกอบ)ของอนิเมะถึงมีการพัฒนาและแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง

เรียบเรียงจาก : Answerman – How Do Japanese TV Shows Use So Much Anime Music?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*