Answerman – ทำไมนักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นถึงมาออกงานอีเวนท์นอกประเทศไม่เยอะนัก?

Share

นิรนาม ถาม:

ทำไมนักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นถึงมาออกงานอีเวนท์นอกประเทศไม่เยอะนักล่ะ?

Answerman ตอบ:

เรื่องนี้มีปัจจัยหลายอย่าง โดยหลักๆ ก็คือ เวลา, ความสะดวก และ เงิน

ปัจจัยเวลานี้ มาจากการที่นักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มนักเขียนที่ทำงานลงนิตยสารรายสัปดาห์มักจะมีตารางงานที่ยุ่งเหยิงอยู่แล้ว ต่อให้มีผู้ช่วยมือดีมาช่วยมากขนาดไหน ส่วนใหญ่ก็ยังปั่นงาน 20-30 หน้ากระดาษทันกันในช่วงเส้นตายของแต่ละสัปดาห์อยู่ดี

การเดินทางไปต่างประเทศนั้น ต้องใช้เวลาเตรียมตัวค่อนข้างมาก อย่างน้อยแค่นั่งเครื่องบินไปประเทศหนึ่งก็กินเวลา 6-12 ชั่วโมง, พอถึงสถานที่ก็ต้องทำเวลาในการท่องเที่ยวแล้วก็ต้องเดินทางไปออกงานต่อ แล้วก็นั่งเครื่องบินกลับประเทศอีกราว 6-12 ชั่วโมง ซึ่งจำนวนเวลาขนาดนี้ค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงไปสักหน่อยสำหรับนักเขียนที่มีงานตีพิมพ์รายสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเงื่อนเวลาเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้นักเขียนที่เพิ่งเขียนผลงานของตัวเองจบแล้วยังไม่มีงานใหม่ หรือนักเขียนที่ตีพิมพ์งานแบบรายเดือนขึ้นไป จึงมีโอกาสที่จะถูกเชิญไปต่างประเทศได้ง่ายกว่า ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่มีการจัดงาน ANICO ในปี 2016 นักเขียนที่ถูกเชิญมาที่ประเทศไทย อย่าง อ.ฟูจิซาวะ โทรุ ผู้เขียน GTO, อ.ยาซุโอะ โอทากาคิ ผู้เขียนการ์ตูน Mobile Suit Gundam Thunderbolt และ  อ.ซากาอิ มายุ ผู้เขียน Sugar Soldier,Rockin Heaven ที่สองในสามท่านอยู่ในช่วงเตรียมเขียนเรื่องใหม่ และอีกท่านนั้นเป็นงานเขียนในลักษณะรายเดือน/รายสองเดือน หรือถ้าในระดับสากล กว่าที่เราจะได้เห็นอาจารย์คิชิโมโตะ มาซาชิ ออกทัวร์ไปหลายๆ ประเทศ ก็เป็นช่วงหลังอาจารย์เขียน Naruto จนจบแล้ว เป็นอาทิ

ถ้าแจงย่อยลงไปอีกนิด ก็จะมี ปัญหาเรื่องสุขภาพ ทำให้นักเขียนบางท่าน (โดยเฉพาะฝั่งที่่อายุมากพอสมควร) จะปฏิเสธการเดินทางไกลจนเกินไป หรือถ้าคิดในแง่ร้าย เกิดว่าศิลปินท่านนั้นเดินทางไปไกลจากญี่ปุ่นมากๆ เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพ อาจจะต้องใช้เวลานานเกินไปในการเดินทางกลับไปหาคุณหมอที่คอยดูแลติดตามอาการปวยอยู่

ปัจจัยที่สองที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญรองจากเงื่อนเวลาก็คือ ความสะดวก (หรือจะพูดหยาบๆ ว่า ความว่าง) ของบุคคลที่ถูกเชิญ นักเขียนบางคนอาจจะไม่ต้องการออกสื่อเลย ก็ปฏิเสธการเชิญออกงานทุกรูปแบบ บางคนนั้นก็อาจจะอยากไปตามคำเชิญมากๆ แต่ก็จังหวะไม่ดีเพราะมีงานซ้อนกับช่วงเวลาที่ถูกเชิญ หรือบางทีก็เป็นความสะดวกใจของผู้ที่ถูกเชิญที่อาจจะอยากไปประเทศหนึ่งมากกว่าอีกประเทศหนึ่ง

ปัจจัยสุดท้าย ที่สำคัญมากๆ ก็คือเรื่อง … เงิน

อาจจะฟังดูไม่ดีนัก แต่ต้องยอมรับสักเล็กน้อยว่าการเชิญคนดังเหล่านี้มา ไม่ใช่ราคาค่างวดที่ถูกนัก ฝั่งทีมงานที่เชิญมาจะต้องออกค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าที่พัก, ค่ากินอยู่, ค่าเอนเตอร์เทน และแน่นอนว่านักเขียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้มาคนเดียว ถ้าโชคดีหน่อยก็จะมี กองบรรณาธิการอีกคนหนึ่งติดตามมาดูแลด้วย แต่ถ้าโชคร้าย ทีมงานอีเวนท์การ์ตูน จะเจอการขนมาทั้ง นักเขียน, บรรณาธิการของนักเขียน, ผู้ดูแลลิขสิทธิ์ และนั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายก็จะทวีคูณเพิ่มขึ้นไปตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงจะได้เห็นว่า ในงานที่เชิญนักเขียนมาหลายๆ งานจะทำการเก็บเงินเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่อยากให้ศิลปินที่ถูกเชิญมาเซ็นลายเซ็นบนชิกิชิ (ป้ายลายเซ็น)

เพราะฉะนั้น การที่มีนักเขียนปรากฎตัวออกมานอกประเทศนั้นถือว่าเป็นเหตุการณ์พิเศษไม่เบาทีเดียว ด้วยความที่ว่าศิลปินในสายงาน มังงะ,อนิเมะ หรือ อนิซอง นั้นไม่ได้มีผลงานให้เดินทางไปประเทศซอื่นถี่ๆ แบบที่เราเห็นนักร้องนักแสดงสาขาอื่น ถ้ามีโอกาสแฟนคลับก็ไม่ควรพลาดเหตุการณ์แบบนี้ ด้วยเหตุที่ว่าการมาครั้งนั้น อาจจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของศิลปินคนดังกล่าวก็เป็นได้

แล้วก็แน่นอนว่า การอุดหนุนให้ผู้จัดงานมีความรู้สึกว่า อีเวนท์สายนี้ยังมีคนสนใจ ก็จะทำให้โอกาสที่จะเชิญศิลปินในสายงาน มังงะ,อนิเมะ หรือ อนิซอง มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

เรียบเรียงจาก: Answerman – Why Don’t More Japanese Manga Artists Come to North American Conventions?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*