Answerman: ทำไมงานที่แฟนคลับทำบางอันถึงโดนสั่งให้เลิกขาย แต่บางอันยังทำต่อได้

Share

James ถาม:

ผมสังเกตว่ามีหลายบริษัทยอมให้เขียน แฟนอาร์ต, แฟนฟิค แล้วก็คอสเพลย์ ผลงานของพวกเขา แต่ไม่ยอมทำให้ ภาพยนตร์แฟนเมด หรือ เกมแฟนเมด ในมุมของผมดูเหมือนพวกเขาจะมีมาตรฐานแบบสุ่มมาก ทำไมบริษัทต่างๆ ถึงยอมให้มีงานบางอย่างได้ แต่บางอย่างไม่ยอมให้ทำต่อ ?

Answerman ตอบ:

คุณกินไม่โอเคใช่ไหมครับ!

เรื่องนี้ ฟังดูเข้าใจยากสักหน่อย แต่สิ่งสำคัญก็คืองานที่แฟนเขียนต่างๆ ทั้ง คอสเพลย์, แฟนฟิค, แฟนซับ, ภาพยนตร์แฟนเมด หรืองานแบบใดๆ ก็ตาม แทบจะทุกชิ้นจริงๆ แล้วเป็นการละเมิดลิขสิทธิทั้งสิ้น แม้ว่างานบางกลุ่มอาจจะอยู่ในกลุ่ม ‘Fair Use’ ตามคำตัดสินของศาลของสหรัฐอเมริกา แต่ตามมาตรฐานกฏหมายลิขสิทธิ์ในระดับนานาชาติ สิทธิ์ขาดทั้งหมดยังถือว่าอยู่กับผู้ถือลิขสิทธิ์ อยู่ดี การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ถึงอย่างนั้น บริษัทโดยส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไม่ดำเนินการทางกฎหมายใดๆ กับงานของกลุ่มแฟนคลับส่วนใหญ่ เพราะมันดูจะไร้ประโยชน์ไปเสียหน่อย ไหนจะต้องเสียเงินค่าดำเนินการทางกฎหมาย ไหนจะต้องเสี่ยงสูญเสียฐานแฟนคลับ (แถมยังต้องเจอความหัวร้อนของใครหลายๆ คนโดยไม่จำเป็นอีก) แล้วยิ่งถ้ามีแฟนคลับที่ฟิตอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวงานที่ถูกผลิตออกมาจะมีปริมาตรมหาศาลมากกว่าจำนวนงานที่ถูกสั่งฟ้องไป และโดยสวนใหญ่งานที่แฟนคลับสร้างมามักจะไมมีพิษภัยใดๆ ต่อตัวผลงานลิขสิทธิ์นัก โดยส่วนใหญ่งานที่แฟนสร้างสรรค์นั้นมักจะเป็นสัญญาณที่ดีว่ามีคนติดตามอยู่จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เจ้าของผลงาน มังงะ/ซีรีส์คนแสดง/ภาพยนตร์/หนังสือ ที่ฮิตติดตลาด มักจะเชียร์ให้แฟนๆ สร้างผลงานออกมา ก่อนที่สุดท้ายจะทำการชงเรื่องให้แฟนๆ มาอุดหนุนผลงานต้นฉบับอีกทีหนึ่ง

จริงอยู่ว่า แม้งานที่แฟนสร้างขึ้นมามักจะส่งผลที่ดี แต่มันก็มีผลกระทบที่ส่งผลตรงต่อการทำเงินของสินค้าตัวหลักเช่นกัน อย่างเช่น สิทธิ์ในการจัดทำสินค้า, เสื้อผ้า, วิดีโอเกม, ดัดแปลงป็นภาพยนตร์ และสิทธิ์ในการจัดทำในต่างประเทศ ซึ่งสิทธิ์ทั้งหมดที่กล่าวถึงไปนั้นเป็นสิทธิ์ที่สร้างเงินจำนวนมากให้กับผู้สร้างผลงานหรือบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ ถ้าหากมีการปล่อยให้ ‘แฟน’ ทำสินค้าเหล่านี้มากเกินไป นั่นอาจจะหมายถึงการเสียผลประโยชน์ รวมถึงเป็นการเสียผลประโยชน์ของผู้ที่ซื้อสิทธิ์ไปทำสินค้าอย่างถูกต้องอีกด้วย

ยกตัวย่างง่ายๆ ถ้าคุณเป็นบริษัทเสื้อผ้าแล้วอยากทำสินค้าจากอนิเมะเรื่องดัง สมมติว่าเป็น เสื้อจาก กันดั้มภาค Iron Blooded Orphans คุณจะต้องเสียเงินค่าสิทธิ์ในการจัดทำเสื้อแบบถูกลิขสิทธิ์ ทว่าพอคุณทำสินค้าออกขายแล้วพบว่าในตลอดมี ‘เสื้อกันดั้มที่แฟนๆ ทำ’ ออกขายอยู่ในตลาด แต่คุณก็ต้องออกขายสินค้าลายที่เจ้าของสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ์เท่านั้น ทำให้คุณขายเสื้อได้ไม่มากเท่าที่ควร และนั่นทำให้คุณค่าของสินค้าลิขสิทธิ์ในของสินค้าต้นฉบับมีมูลค่าน้อยลงทันที นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมในช่วงหลายปีหลังมานี้ กลุ่มแฟนอาร์ตได้ตกเป็นเป้าหมายจากผู้ถือสิทธิ์ในการร้องเรียนยุติการเผยแพร่ผลงาน และนี่ทำให้เห็นชัดว่า ‘Fair Use’ เองก็มีขอบข่ายที่ชัดเจนว่า ถ้าผลงานของแฟนมาแข่งขันด้านการค้าโดยตรงกับผลงานต้นฉบับ งานเหล่านั้นก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เรื่องสินค้าที่แฟนๆ ทำโดยไม่ได้ขออนุญาตก็เรื่องหนึ่ง และสินค้าที่แฟนสร้างเรื่องต่อยอดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ กรณีอย่าง แฟนฟิค หรือ โดจินชิ นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่นักสำหรับเจ้าของผลงาน เพราะของเหล่านั้นที่ต่อยอดมาจากผลงานต้นฉบับมักจะไม่ได้ทำเงินเวอร์วังอะไรมากนัก และไม่ค่อยมีคนเข้าใจผิดว่าเป็นงานของคนเขียนตัวจริงอีกด้วย ส่วนกรณีของ ภาพยนตร์, เกม หรือ งานไซด์สตอรี่แบบอื่นๆ มักจะไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องร้ายนัก เพราะผลงานในรูปแบบนี้มักจะมีทุนต่ำคุณภาพออกมาไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่ถ้างานสไตล์นี้ทำให้มากขึ้น ดูดียิ่งขึ้น ละม้ายคล้ายของจริงมากขึ้น ถ้าเป็นกรณีเจ้าของสิทธิ์มักจะแสดงความสนใจเพราะงานดังกล่าวอาจจะกระทบต่อผลกำไรของสินค้าต้นฉบับในอนาคต เจ้าของสิทธิ์มักจะติดต่อผู้ที่ทำงานคุณภาพนี้ให้ยุติการพัฒนา ไม่อย่างนั้นก็คือเชิญชวนให้เข้ามาพัฒนาภาคสปินออฟไปเสียเลย ด้วยเหตุที่ว่าสิทธิ์ในการสร้างวิดีโอเกม กับภาพยนตร์คนแสดงนั้นมีมูลค่าอย่างมากสำหรับเรื่องที่ได้รับความนิยม ดังนั้นเวลาเจ้าของสิทธิ์จะขยับตัวแรงเวลาที่มีผลงานแฟนเมดคุณภาพสูงออกมาให้เห็น

ในฝั่งตัวเจ้าของผลงานผู้ถือสิทธิ์นั้นมีวิธีการฟ้องได้หลายระดับ ตามแต่คุณค่าและความสำคัญของตัวสินค้าแต่ละชนิด ร่วมกับศักยภาพของฝ่ายกฎหมายที่จะทำได้ ผู้ถือสิทธิ์บางเจ้าอาจจะมีเงินจ่างทนายได้แบบชิลๆ แต่บางเจ้าก็เลือกว่าจะฟ้องใครเป็นพิเศษ เจ้าของสิทธิ์บางคนอาจจะอ่านภาษาปลายทางไม่ออก (แบบอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้) จึงทำให้บางทีพวกเขาอาจจะมองข้ามงานละเมิดลิขสิทธิ์บางตัวไปช่วงหนึ่ง เจ้าของลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่งมีแผนกหรือมีบริษัทที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการดูแลลิขสิทธิ์โดยเฉพาะ

ด้วยความที่่คดีลิขสิทธิ์นั้น โดยส่วนใหญ่เจ้าของสิทธิ์แต่ละเจ้าจะพิจารณาเป็นคดีๆ ไป ตามตัวแปรที่แตกต่างกันตามแต่ละประเภทของผลงาน และก็เป็นจุดนี้เองที่ทำให้ตัวมาตรฐานของคดีลิขสิทธิ์จึงไม่เคยมีความสม่ำเสมอกัน

ตัวอย่างเด่นๆ ของการเลื่อใช้สิทธิ์กับผลงานบางชิ้น คงจะเป็น โดจินชิ ‘โดราเอมอนตอนจบ’ ด้วยความที่รูปเล่มและลายเส้นใกล้เคียงกับต้นฉบับ รวมถึงว่าข้อมูลในเรื่อง และตัวเนื้อหาก็เหมือนจะต่อยอดจากภาคหลักโดยสมบูรณ์ และมีข่าวว่าตัวโดจินชิเล่มดังกล่าวมียอดขายที่ค่อนข้างดี ทาง Shogakukan  จึงตัดสินใจใช้อำนาจทางกฎหมายระงับการจำหน่ายโดจินชิเล่มดังกล่าว แม้ว่าจะเคยมีโดจินชิโดราเอมอนออกมาจำหน่ายมาก่อนหน้านี้เป็นจำนวนมหาศาลแล้วก็ตาม

หรือถ้าในฝั่งอนิเมะก็มีกรณีของ Studio Ghibli ที่คุณมีโอกาสเกือบจะ 100% ที่คลิปของคุณจะโดนลบทิ้ง ถ้าคุณเผลอไผลใส่คลิปตัวอย่างบางฉากบางตอนของอนิเมะจาก Studio Ghibli ไว้บนวิดีโอของคุณ แต่ในขณะเดียวกันคุณกลับสามารถหาเสื้อลายตัวละครจาก Studio Ghibli แบบไม่ถูกลิขสิทธิ์ขายอยู่เกลื่อนไปหมดในโลกอินเตอร์เน็ต แต่ก็ดูเหมือนว่าทาง Studio Ghibli จะสนใจการรักษาสิทธิ์ของตนในฝั่งภาพยนตร์อนิเมะมากกว่าฝั่งสินค้าอื่นๆ จนทำให้ตัวเสื้อลายตัวละครจาก Studio Ghibli ยังหาได้ไม่ยากเย็นนัก

ในกรณีตรงข้าม ผลงานของบริษัทใหญ่ระดับ ดิสนีย์ อาจจะไม่ได้ซีเรียสตัวคลิปเชิงออกความเห็นบน Youtube มากนัก แต่พวกเขาจะทำการแจ้งความเป็นเจ้าของสิทธิ์กับสิ่งของอื่นๆ ทั้งโดจินชิ, แฟนฟิค, สินค้าต่างๆ และพวกเขามีเงิน, กำลังพล และเวลาที่มากพอจะขจัดผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าของพวกเขาเสียด้วย

หรือถ้าสรุปๆ สั้นๆ ก็คือ สินค้าที่แฟนคลับสร้างขึ้นโดยพื้นเพนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าของสิทธิ์นั้นจะเล่นงานเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแค่โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าของสิทธิ์นั้นจะทำการฟ้องร้องในกรณีที่ทรัพย์สินของพวกเขาโดนละเมิดมากจนเกินขอบเขตไปนั่นล่ะครับ

เรียบเรียงจาก: Answerman – Why Are Some Fan Works OK, But Some Get Shut Down?

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*